#คนไทยต้องได้กลับบ้าน ยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนเงื่อนไขเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ (Fit to fly)

25 มีนาคม 2563 อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ชาวไทยซึ่งพำนักอยู่ ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ที่กำหนดให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องมีเอกสารตามเงื่อนไข คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit to fly) และหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้

ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อภาระในการดำเนินการทั้งทางค่าใช้จ่าย ทางเวลา และความเสี่ยงในทางสุขภาพ

โดยในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลปกครองอธิบายเหตุผลว่า เงื่อนไขดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกประกาศมาโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องเสรีภาพในการเดินทาง และเรื่องการห้ามเนรเทศคนไทยออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 39, 38 และ 25

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิผลที่จะบ่งชี้ถึงสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารได้ แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศ เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร กระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างไม่ได้สัดส่วน

พร้อมกันนี้ ผู้ฟ้องคดียังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับนี้โดยฉุกเฉิน โดยยกเหตุผลว่า หากให้มีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง โดยได้รับความเสียหายแก่เวลาและโอกาสต่างๆ ที่ต้องเดินทางเพื่อดำเนินการจัดหาและแสดงเอกสารต่างๆ ตามประกาศ อีกทั้งก่อภาระอย่างเกินสมควรเพราะบังคับให้ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา อันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ สำหรับคนไทยที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีมาตรการห้ามการเดินทางออกนอกเคหสถานอย่างเคร่งครัด ประกาศนี้อาจส่งผลให้ผู้โดยสารมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้นด้วย

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ต้องการคัดค้านนโยบายคัดกรองของรัฐบาลและเห็นความสำคัญของการควบคุมโรคติดต่อที่อาจมาจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แต่เราน่าจะมีวิธีการอื่นที่ไม่ใช่เป็นการผลักให้คนไทยที่เดือดร้อนต้องลำบากอยู่ต่างประเทศ “ผมและคนไทยอื่นๆ ยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในการกักตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว”

นอกจากนี้ อาทิตย์ยังเปิดกิจกรรมรณรงค์แคมเปญ “#คนไทยต้องได้กลับบ้าน รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ Fit To Fly #BringThaiHome” ผ่านเว็บไซต์ Change.org/bringthaihome ด้วย

สรุปคำฟ้องโดยย่อ            

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้ฟ้องคดีคือ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล สัญชาติไทย ซึ่งพำนักอยู่ ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 เวลา 00:00 นาฬิกาของประเทศไทย และให้คดีนี้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 โดยยกเหตุผลดังต่อไปนี้

ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจาก ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ต้องมีเอกสารตามเงื่อนไข คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit to fly) และหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ ซึ่งก่อภาระในการดำเนินการทั้งทางค่าใช้จ่าย ทางเวลา และความเสี่ยงในทางสุขภาพในการเดินทาง และยังเป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้โดยสารด้วย

ผู้ฟ้องคดียกเหตุผลว่า ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก

         (1) เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

         (2) เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 39 วรรคหนึ่งเกี่ยวกับการห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น (ประกอบข้อ 12(4) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งรับรองเสรีภาพในการเดินทาง อีกทั้งขัดต่อมาตรา 25 วรรคหนึ่งอันรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ได้จำกัดไว้

         (3) เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ โดย

  • ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนในหลักความสัมฤทธิผล เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่สามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของประกาศว่าด้วยการบ่งชี้ถึงสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารแต่เป็นเพียงเอกสารที่ระบุถึงสภาพความพร้อมในการเดินทางทางอากาศของผู้โดยสาร ณ ขณะที่เข้ารับการตรวจเท่านั้น
  • ขัดต่อหลักความจำเป็น เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีมีทางเลือกในการดำเนินมาตรการอื่นตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ ในการจัดให้มีมาตรการตรวจสอบสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารขาเข้า
  • ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ประการใดแก่มหาชน และยังส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีและผู้โดยสารจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศ

         (4) เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร โดยผลักภาระในการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้แก่ผู้โดยสารเกินสมควร อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (good governance) ด้วย

 

สรุปคำขอคุ้มครองชั่วคราว            

พร้อมกันนี้ ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศที่พิพาทโดยฉุกเฉิน ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ประกอบข้อ 69 และข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ โดยยกเหตุผลว่า เงื่อนไขที่ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับไว้เป็นการชั่วคราวนั้นครบถ้วนแล้ว ดังนี้

         (1) ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศที่พิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายตามเหตุผลที่อธิบายในคำฟ้อง

         (2) การให้ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศที่พิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป

  • จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งต่อผู้ฟ้องคดี กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับความเสียหายแก่เวลาและโอกาสต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีอยู่อย่างจำกัดในการเดินทางเพื่อมาดำเนินการจัดหาและแสดงเอกสารต่างๆ ตามประกาศ
  • ก่อภาระอย่างเกินสมควร อีกทั้งการดังกล่าวเป็นการบังคับให้ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา อันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ในส่วนของผู้โดยสารนอกเหนือจากปัญหาที่ต้องประสบเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดี รัฐบาลในบางประเทศได้ใช้มาตรการห้ามการเดินทางออกนอกเคหสถานอย่างเคร่งครัด ข้อกำหนดของประกาศที่พิพาทจึงอาจส่งผลทำให้ผู้โดยสารมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้น
  • จะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนตามมาอีกหลายประการ เช่น ความสับสนจากการทับซ้อนของอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและเกิดปัญหาและความเสียหายด้านงบประมาณ 

         (3) การทุเลาการบังคับตามข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศที่พิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงาน ของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีทางเลือกในการดำเนินมาตรการอื่นตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจแก่ตนอย่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ ในการจัดให้มีมาตรการตรวจสอบสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารขาเข้า ณ ท่าอากาศยานปลายทางที่ประเทศไทยได้ รวมถึงมีมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาของหน่วยงานของรัฐอื่นในแง่การบริหารงานของรัฐ (administration of state’s affairs) อยู่แล้ว

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว