1 ปี เลือกตั้ง’62 กับ 10 เรื่องน่าสงสัย ที่ กกต.ไม่เคยตอบ

การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผ่านไป 1 ปีเต็มแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ นับตั้งแต่วันจัดการเลือกตั้งเป็นต้นมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมาจากการเลือกโดยกระบวนการของ คสช. ทั้ง 7 คน แทบไม่ทำงานสื่อสารกับสาธารณะ ไม่พยายามตอบคำถามที่เกิดขึ้น และไม่เคยชี้แจงให้ประชาชนหายสงสัยในปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งและการรายงานผลคะแนน ปล่อยไว้ให้เป็นปรากฏการณ์ที่ขาดคำอธิบาย

อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวด้วยตัวเองหนึ่งครั้ง ในช่วงเวลาประมาณ 21.30 น. ของคืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 กล่าวแค่ตัวเลขสถิติและไม่ตอบคำถามใดๆ โดยเลี่ยงการชี้แจงด้วยการบอกว่า “ไม่มีเครื่องคิดเลข” หลังจากนั้น กกต.แถลงข่าวอีกสองครั้งโดยมอบหมายให้เลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเป็นผู้ทำหน้าที่แถลงข่าว 

แม้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านไปจะเต็มไปด้วยริ้วรอยที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น แต่เราก็ยังไม่เคยเห็นกรรมการ กกต. ทั้ง 7 คน ที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบายออกมาสื่อสารอะไรกับประชาชนอีกเลย เสมือนหนึ่งว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนไม่ใช่ปัจจัยหลักในการวัดผลการทำงานของพวกเขา

ครบรอบหนึ่งปี ของการเลือกตั้ง’62 ไอลอว์รวบรวม 10 เรื่อง ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการเลือกตั้ง การนับคะแนน การรายงานผล และประกาศผล ที่สร้างความสงสัยค้างคาใจให้กับประชาชน ซึ่งผ่านมาหนึ่งปีเต็มแล้ว กกต. ก็ยังไม่ตอบคำถามหรือไม่ได้พยายามจะชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาได้

 

1. ทำไมประธาน กกต. บอกยอดผู้มาใช้สิทธิผิด? 

ช่วงเวลาประมาณ 21.30 น. ของคืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 ระหว่างที่การนับคะแนนและการรายงานผลคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวด้วยตัวเองหนึ่งครั้ง โดยแถลงขอบคุณประชาชนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และให้ข้อมูลว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็น 65.96% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด แต่ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2562 ให้รองเลขาธิการ กกต. เป็นผู้แถลงผลคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 100% ซึ่งในเอกสารระบุว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่แท้จริง คือ 74.69% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 

จำนวนผู้มาใช้สิทธิที่แถลงไม่ตรงกันสองครั้ง ต่างกันอยู่ถึง 8.73% ซึ่งเมื่อคิดจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,239,638 คน อัตราส่วนที่ต่างกันนี้คิดเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ต่างกันถึง 4,473,220 คน มากเพียงพอที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ มากกว่าจำนวนคะแนนครึ่งหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐได้ และมากกว่าคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จากทุกเขตทั้งประเทศ

ในการแถลงข่าววันที่ 28 มีนาคม 2562 กฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ตัวเลขที่แถลงในวันนี้สูงขึ้นกว่าที่ประธาน กกต. แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพราะ “วันนั้นเราคิดตัวเลขที่ 93% วันนี้คิดที่ 100% นะครับ” ซึ่งเป็นคำชี้แจงที่คำนวณแล้วยังไม่ถูกต้องในทางคณิตศาสตร์ 

หากคำนวณด้วยตัวเลขตามคำพูดที่กฤชชี้แจงทุกประการ จะเป็นดังนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 51,239,638 คน และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวน 38,268,375 คน หากวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประธาน กกต. แถลงจากตัวเลข 93.00% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เท่ากับคิดจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 35,589,588 คน ซึ่งคิดเป็น 69.46% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ตัวเลข 65.96% ตามที่ประธาน กกต. กล่าวยังคลาดเคลื่อนจากคำอธิบายนี้อยู่อีก 3.5%

หากคำนวณโดยละเอียดขึ้น และพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ระเบียบของ กกต. กำหนดให้ กกต.สามารถประกาศผลคะแนนไม่เกิน 95% ก็ได้ จนถึงช่วงสายของวันที่ 25 มีนาคม กกต.หยุดการรายงานผลต่อสาธารณะที่ 93.87% ของบัตรดีทั้งหมด 35,532,645 ใบ ซึ่งคิดเป็นคะแนนที่นับจากบัตรดี 33,354,459 ใบ หากประธาน กกต.จะนับยอดรวมผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจากการบัตรดี 33,354,459 ใบ ก็คิดเป็นผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 65.09% ไม่ใช่ 65.96% ตามที่ประธาน กกต. กล่าวไปยังคลาดเคลื่อนจากคำอธิบายนี้อยู่อีก 0.85% 

ผลคะแนนการเลือกตั้งเป็นตัวเลขที่ใช้กำหนดว่า พรรคการเมืองใดจะได้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลได้ ภายใต้ระบบการเลือกตั้งนี้ตัวเลขยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นตัวเลขสำคัญที่ใช้ในการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งที่ผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างสูสีอย่างในปี 2562 ตัวเลขที่ต่างกันแม้เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลต่อการเมืองของประเทศในระยะยาวได้ กกต.ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบในการนับคะแนนและรายงานผลคะแนนต้องใส่ใจรายละเอียดตัวเลขทุกตัวไม่ให้เกิดความผิดพลาด และรายงานผลให้เที่ยงตรงแม่นยำสม่ำเสมอ การที่ประธาน กกต.รายงานยอดรวมผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผิดพลาดถึง 8.73% เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เว้นแต่มีคำขอโทษออกมาภายหลัง พร้อมกับแก้ไขความผิดพลาดด้วยข้อมูลชุดใหม่ที่ถูกต้อง และคำอธิบายที่ชัดเจนถึงเหตุผลของความผิดพลาด

แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านมาหนึ่งปีเต็มแล้ว ประธาน กกต. ผู้ที่เคยแถลงตัวเลขผิดไปก็ยังไม่เคยปรากฏตัวและชี้แจงสิ่งใดๆ ต่อสาธารณะอีกเลย ส่วนคำชี้แจงลอยๆ สั้นๆ ของรองเลขาธิการ กกต. ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

 

2. ทำไมระบบรายงานคะแนนล่ม? ถูกแฮกจริงไหม? 

คืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งช้าผิดปกติ และผลคะแนนที่ กกต. ส่งให้กับสื่อมวลชนก็ขาดหายเป็นช่วงๆ ทำให้ผู้ที่ติดตามการรายงานผลการเลือกตั้งต้องรอนานจนผิดปกติและก่อให้เกิดความสงสัยถึงระบบการรายงานผลของ กกต. 

วันที่ 25 มีนาคม 2562 ในการแถลงข่าวของ กกต. ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวเพียงว่า “ก่อนที่จะเริ่มปล่อย Rapid อย่างเป็นทางการ เราถูกโจมตีมาสามครั้ง ล่มไปสองครั้ง แล้วก็ครั้งสุดท้ายต้องมาขอร้องตรงๆ ว่า พี่น้องประชาชนอยากทราบผล เมื่อคืนนี้ก็โดนเหมือนกัน คนเราเก่งจริงๆ อะไรก็ตามชอบแสดงความสามารถแล้วชนะคนอื่นได้ก็จะรู้สึกว่ามีความสุขนะครับ” ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจว่า มีแฮกเกอร์ที่พยายามโจมตีระบบของ กกต. เป็นอุปสรรคให้การรายงานผลคะแนนล่าช้าหรือเกิดปัญหาตามมา 

อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันชานนท์ เงินทองดี Senior IT Manager ของสถานี Voice TV เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงระบบวิธีทำงานในการส่งคะแนนจาก กกต. มายังสื่อมวลชน และแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาด หรือความไม่เตรียมพร้อมปิดช่องโหว่ของทีมงาน กกต. เอง ซึ่งชานนท์เปิดประเด็นว่า การแฮกอาจจะไม่มีอยู่จริง โดยใช้คำกล่าวว่า “กกต.บอกว่า ถูกแฮกหลายครั้ง อย่ามา dy/dx ครับท่าน” 

วันต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ข่าวว่า ได้รับการประสานจาก กกต. ให้ตรวจสอบเรื่องระบบรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง เนื่องจาก ทาง กกต. ตรวจพบระหว่างระบบ Rapid Report ที่รายงานผลคะแนนการเลือกตั้งเริ่มทำงาน ล่มถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าโจมตีระบบของแฮกเกอร์ และตรวจสอบเบื้องต้น ยืนยันพบมีการแฮกระบบจริง โดยมีต้นทางจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมๆ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่า เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดหรือไม่ 

อีกหนึ่งวันต่อมา สำนักงาน กกต. ออกคำชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระหว่างการรายงานผล โดยระบุว่า ระบบต่างๆ ที่ได้รับความสนใจอาจจะถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดีได้ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ระบบการรายงานผลฯ ก็ถูกโจมตีด้วยเช่นกัน แต่ไม่สามารถแฮกเข้าระบบได้ เนื่องจากผู้พัฒนาระบบได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไว้อยู่แล้ว ส่งผลให้ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ระบบการรายงานผลฯ จึงสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยระบบไม่มีการล่มแต่อย่างใด

เห็นได้ว่า กกต. ให้ข้อมูลกลับไปกลับมาในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ขณะที่ณัฏฐ์กล่าวทำนองว่า แฮกเกอร์ทำให้ระบบล่มจน “สุดท้ายต้องมาขอร้องตรงๆ” และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ก็กล่าวว่า ระบบล่มเพราะถูกแฮกเกอร์โจมตี แต่คำชี้แจงจากสำนักงาน กกต. ภายหลังกลับบอกว่า ระบบไม่มีการล่ม ส่วนข้อมูลจากสื่อคนทำงาน IT ในสื่อที่รอรับข้อมูลกลับไม่เชื่อว่ามีการแฮกเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของ กกต.เอง

หลังผ่านมา 1 ปีเต็ม ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์หาตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแฮกเกอร์ที่โจมตีระบบของ กกต.ได้หรือไม่ และไม่มีความชัดเจนว่า สาเหตุที่คะแนนถูกรายงานอย่างขาดๆ หายๆ เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะระบบล่ม เป็นเพราะมีแฮกเกอร์ และเหตุใดสำนักงาน กกต.จึงไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างดีพอเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว หรือไม่ได้มีแฮกเกอร์พยายามเจาะระบบจริง แต่สาเหตุที่ระบบล่มเพราะความไม่มีประสิทธิภาพของ กกต.เอง

 

3. ทำไมบางเขตนับเร็ว มีคะแนนหลายพันตั้งแต่ชั่วโมงแรก?

ในทางปฏิบัติ หลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็จะเริ่มนับคะแนน ซึ่งแต่ละหน่วยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 500-600 คน และมีบัตรให้นับเฉลี่ยประมาณ 300-400 ใบ จำนวนนี้ไม่แน่นอนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เมื่อกรรมการประจำหน่วยนับคะแนนเสร็จ ก็จะต้องตรวจสอบความถูกต้องว่า คะแนนทั้งหมดที่นับได้ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ และนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ให้ตรงกับผลลบของจำนวนบัตรที่รับมากับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ เมื่อสรุปคะแนนว่าถูกต้องแล้วจึงรายงานผลทางแอปพลิเคชั่น Rapid Report แต่หากสรุปแล้วพบข้อผิดพลาดก็อาจจะต้องนับจำนวนบัตรเลือกตั้งซ้ำ หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ

สำหรับการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.30-19.30 น. และใช้เวลาอีกสักช่วงหนึ่งเพื่อรวมคะแนน ตรวจสอบความถูกต้อง และรายงานผลเข้าสู่ระบบ จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติที่คาดหมายได้ว่า คะแนนส่วนใหญ่จะถูกรายงานเข้าสู่ระบบในช่วงเวลาประมาณ 19.30 – 20.30 น.

ข้อมูลที่สื่อมวลชนได้รับมาจากระบบของ กกต. พบว่า มีคะแนนที่เริ่มถูกรายงานเข้าสู่ระบบทันทีในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.30 – 18.00 น. รวมแล้ว 775,970 คะแนน หรือประมาณ 2.18% ของจำนวนบัตรดีทั้งหมด เป็นคะแนนของผู้สมัครอย่างน้อย 7,270 คน ซึ่งถือเป็นการรายงานคะแนนที่เร็วมาก และหลังจากนั้นคะแนนของทุกคนก็เว้นช่วงว่างไปไม่มีรายงานเข้ามาอีกเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง 

ผู้สมัครที่มีคะแนนถูกรายงานเข้าสู่ระบบก่อนเวลาประมาณ 18.00 น. สูงสุดห้าอันดับแรกล้วนเป็นผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นทั้งสิ้น ได้แก่ อุทัยธานี เขต 1 เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ จากพรรคภูมิใจไทย ก่อนเวลา 18.00 น. มี 8,495 คะแนน, ศรีสะเกษ เขต 7 อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ จากพรรคภูมิใจไทย ก่อนเวลา 18.00 น. มี 6,925 คะแนน, นครนายก เขต 1 วุฒิชัย กิตติธเนศวร จากพรรคเพื่อไทย ก่อนเวลา 18.00 น. มี 6,861 คะแนน, ศรีสะเกษ เขต 8 ผ่องศรี แซ่จึง จากพรรคเพื่อไทย ก่อนเวลา 18.00 น. มี 6,441 คะแนน, ร้อยเอ็ด เขต 5 จิราพร สินธุไพร จากพรรคเพื่อไทย ก่อนเวลา 18.00 น. มี 5,779 คะแนน

เพื่อคลายความสงสัยถึงการรายงานผลคะแนนที่เร็วผิดปกติ และเว้นช่วงห่างไปนานผิดปกติหลังจากนั้น กกต.ควรอธิบายได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในระหว่างการนับคะแนนและรายงานผลคะแนน คะแนนส่วนที่ถูกรายงานเร็วนั้นมาจากหน่วยเลือกตั้งใด ซึ่งมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้นับคะแนนเสร็จอย่างรวดเร็ว และสาเหตุที่การรายงานผลคะแนนขาดช่วงไปหลังจากนั้นเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งที่ผ่านมา กกต.ยังไม่เคยชี้แจงถึงประเด็นเหล่านี้เลย

ดูเพิ่มเติมได้ที่ รายงาน “คะแนนที่ถูกจัดการ” ระหว่างการรายงานผลการเลือกตั้ง’62

 

4. ทำไมระหว่างนับ คะแนนของผู้สมัครบางคนถูกปรับลด?

กระบวนการรายงานผลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยถึงการทำงานของ กกต. อย่างมาก นอกจากจะเกิดจากปรากฏการณ์ไร้คำอธิบายที่การรายงานผลเป็นไปอย่างล่าช้า การรายงานคะแนนของผู้สมัครในเขตเดียวกันไม่พร้อมกัน รวมถึงผลแพ้ชนะที่เปลี่ยนแปลงจนถึงช่วงดึกและช่วงเช้า อีกประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสงสัย คือ การปรับลดคะแนนของผู้สมัครอย่างน้อย 3,906 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 11,181 คน หรือประมาณ 34.9% ของผู้สมัครทั้งหมด

การปรับลดในบางกรณีมีคำอธิบายที่รับฟังได้ว่า เกิดจากความผิดพลาดตอนกรอกคะแนนของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือที่เรียกว่า Human Error ทำให้คะแนนของผู้สมัครบางคนสูงผิดปกติจึงต้องแก้ไขให้ถูกต้องภายหลังโดยการปรับคะแนนให้ลดกลับมาที่ความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น คะแนนของพรรคเพื่อนไทยซึ่งผู้สมัครทุกคนถูกตัดสิทธิไปก่อนแล้ว หรือกรณีที่คะแนนของผู้สมัครบางคนสูงผิดปกติจนมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น เช่น กรณีอุดรธานี เขต 3 ในเวลาประมาณ 21.30 น. ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มีรายงานคะแนนสูงถึง 302,305 คะแนน ต่อมาคะแนนก็ถูกปรับลดลงเหลือ 33,428 คะแนน หรือกรณีสุโขทัย เขต 2 ในเวลาประมาณ 21.00 น. ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐมีรายงานคะแนนสูงถึง 305,081 คะแนน ต่อมาคะแนนก็ถูกปรับลดลงเหลือ 38,060 คะแนน

แต่อีกหลายกรณีที่ “คะแนนหาย” ก็ยังไม่มีคำอธิบายและส่งผลต่อการแพ้ชนะในหลายเขต ตัวอย่างเช่น 

  • พัสวี ภัทรพุทธากร ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ กรุงเทพมหานคร เขต 2 เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. คะแนนของพัสวีถูกปรับลดลง 3,901 คะแนน ผลสุดท้ายพัสวีได้ 26,636 คะแนน เป็นอันดับสองแพ้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐไปเพียง 273 คะแนน ถือว่า เป็นเขตที่คะแนนสูสีมากที่สุดเขตหนึ่ง
  • หนูแดง คุ้มกัน ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดนครราชสีมา เขต 8 เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. มีรายงานคะแนนของหนูแดงสูงถึง 35,189 คะแนน พลิกขึ้นนำเป็นอันดับหนึ่ง สูสีกับผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐที่ตามหลังเพียง 35 คะแนน จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.00 น. คะแนนของหนูแดงถูกปรับลดลง 28,150 คะแนน เหลือ 7,039 คะแนน และสุดท้ายหนูแดงได้คะแนนรวมไป 8,556 คะแนน 
  • หรรษธร กำปั่นทอง ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดปราจีนบุรี เขต 2 เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. มีรายงานคะแนนพลิกขึ้นนำเป็นอันดับหนึ่งที่ 24,962 คะแนน แต่เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. คะแนนของหรรษธร ก็ถูกปรับลดลง 10,264 คะแนน เหลือเพียง 14,698 คะแนน อยู่ลำดับที่สาม และสุดท้ายหรรษธรได้คะแนนรวมไป 16,575 คะแนน ได้เป็นอันดับที่สาม 
  • ฯลฯ

หากทาง กกต.จะอธิบายถึงสาเหตุที่คะแนนถูกปรับลดทุกกรณีแบบรวมๆ เพียงว่า เป็นเพราะ Human Error ก็น่าจะสวนทางกับข้อเท็จจริงที่พบว่า มีผู้สมัครถึง 34.9% ที่คะแนนถูกปรับลด และบางคนถูกปรับลดมากกว่าหนึ่งครั้ง บางเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครที่คะแนนติดลบจำนวนมากอย่างผิดสังเกต เรียกได้ว่า ติดลบเกือบทุกคน บางคนคะแนนติดลบในหลักหน่วย บางคนคะแนนติดลบในหลักสิบ หากเกิดความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจในปริมาณที่สูงขนาดนี้ได้ ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ หรือความผิดพลาดในระดับนโยบาย ซึ่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการรายงานผลการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน

ซึ่งประเด็นคะแนนที่ถูกปรับลดนั้น ผู้สมัครจากหลายพรรคการเมืองทวงถามมาตลอดและยื่นคำร้องต่อ กกต. หลายฉบับ แต่กลับไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน หรือไม่มีแม้แต่ความพยายามจะอธิบายจาก กกต.

ดูเพิ่มเติมได้ที่ รายงาน “คะแนนที่ถูกจัดการ” ระหว่างการรายงานผลการเลือกตั้ง’62

 

5. ทำไมคะแนน 100% ของบางคนน้อยกว่าคะแนน 94%

รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (กฎหมายเลือกตั้งฯ) ไม่ได้มีบทบังคับว่า กกต.ต้องเปิดเผยผลการนับคะแนนเพียงแค่ 94% แต่ทาง กกต.ออกระเบียบของตัวเองขึ้นใหม่ คือ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยมีข้อ 169 กำหนดว่า 

         “ข้อ 169 เมื่อสำนักงานได้รับรายงานผลการเลือกตั้งตามข้อ 159 แล้ว ให้จัดให้มีการแสดงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการต่อสาธารณะ โดยให้แสดงผลไม่เกินร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด”

โดยระเบียบฉบับนี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่า การเปิดเผยผลการเลือกตั้งเพียงบางส่วนนั้นจะคัดเลือกส่วนใดที่เปิดเผยหรือไม่เปิดเผย และไม่ได้กำหนดว่า คะแนนส่วนที่ยังไม่ประกาศจะเป็นส่วนของเขตเลือกตั้งใด หรือต้องประกาศทุกเขตเลือกตั้งแต่ให้เก็บคะแนนบางหน่วยเลือกตั้งไว้ก่อน

“คะแนน 94%” ที่ กกต.ประกาศในช่วงสายของวันที่ 25 มีนาคมนั้น เป็นคะแนนที่นับจากบัตรดี 33,354,459 คะแนน ส่วน “คะแนน 100%” ที่ประกาศในวันที่ 28 มีนาคม 2562 คิดจากคะแนนบัตรดี 35,532,645 คะแนน ดังนั้น คะแนน 94% ที่ กกต.ประกาศเปิดให้ประชาชนทราบในเช้าวันที่ 25 มีนาคม คิดเป็น 93.869902% ของบัตรดีทั้งหมด น้อยกว่าจำนวนขั้นต่ำที่ระเบียบของ กกต.กำหนดไว้ คือ การประกาศผลที่ 95% พอดี คิดเป็น 1.13008% หรือเท่ากับ กกต.เก็บผลคะแนนที่นับเสร็จแล้วและควรจะประกาศได้เอาไว้ก่อน 401,553 คะแนน

เมื่อเปรียบเทียบคะแนน 94% และคะแนน 100% ของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายคนแล้วพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ สรุปได้ว่า คะแนนของผู้สมัครทุกคนไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนประมาณ 5-6% เหมือนกันหมด แต่มีทั้งคนที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นและลดลงมากน้อยต่างกันไป โดยไม่มีรูปแบบที่อธิบายได้ชัดเจนว่า เป็นไปตามปัจจัยใด 

จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตทั้งหมด 11,181 คน พบว่า ผู้สมัครอย่างน้อย 320 คน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2.8% ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบคะแนน 94% และคะแนน 100% พบว่า ได้คะแนนลดลง 

ผู้สมัครที่คะแนนลดลงสูงที่สุดห้าอันดับแรก เป็น ดังนี้

  • อันดับที่ 1 สุรณัฐ แนบเนียม ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา ศรีสะเกษ เขต 3 คะแนนลดลง 7,343 คะแนน
  • อันดับที่ 2 พรเทพ เพชรรุ่งทอง ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ เพชรบูรณ์ เขต 2 คะแนนลดลง 2,781 คะแนน
  • อันดับที่ 3 โอฬาร สุตตะนาคา ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ นครศรีธรรมราช เขต 4 คะแนนลดลง 2,032 คะแนน
  • อันดับที่ 4 ธงชาติ วงศ์หาญ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ อุบลราชธานี เขต 5 คะแนนลดลง 1,239 คะแนน
  • อันดับที่ 5 ประธาน คงเรืองราช ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ นครศรีธรรมราช เขต 7 คะแนนลดลง 1,209 คะแนน

เมื่อพิจารณาผลต่างของคะแนน 94% กับคะแนน 100% ของห้าพรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ ส.ส. สูงที่สุด ในภาพรวมของพรรคจะพบว่า ไม่มีความผิดปกติมากนักในการเพิ่มขึ้นของคะแนน เพราะคะแนนของห้าพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส. มากที่สุดได้คะแนนเพิ่มขึ้นไล่เลี่ยกันในอัตราส่วนประมาณ 6%

จากข้อมูลชุดนี้ช่วยให้เห็นได้ชัดเจนว่า กกต. ไม่ได้ใช้วิธีการนับคะแนนให้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้วเลือกประกาศเพียง 94% ก่อน โดยรอประกาศส่วนที่เหลือในอีกสามวันถัดมาเท่านั้น แต่แสดงให้เห็นว่า ระหว่างช่วงเวลาสามวัน กกต. มีกระบวนการ “ทบทวน” และ “แก้ไข” คะแนนก่อนที่จะประกาศคะแนน 100% ต่อสาธารณะ โดยไม่มีคำอธิบายว่า มีการแก้ไขมากน้อยเพียงใดและเป็นเพราะสาเหตุใด ใครเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการตรวจสอบและแก้ไขคะแนนบ้าง

ดูเพิ่มเติมได้ที่ รายงาน “คะแนนที่ถูกจัดการ” ระหว่างการรายงานผลการเลือกตั้ง’62

 

6. ทำไมคะแนนของหกจังหวัดภาคใต้ ถูกรายงานเช้าวันถัดไป?

ในช่วงค่ำของวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่เป็นช่วงเวลาการนับคะแนนและรายงานผลคะแนน ปรากฏว่า คะแนนจากหกจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง ตรัง สตูล รวมแล้ว 19 เขตเลือกตั้ง ไม่ถูกรายงานเข้าระบบเลยจนกระทั่งเวลาประมาณ 9.30 น. ของเช้าวันที่ 25 มีนาคม 2562 โดยไม่ปรากฏว่า เป็นเพราะเหตุผลใด 

สำหรับประชาชนที่ติดตามผลทางโทรทัศน์ก็จะทราบการรายงานผลจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในภาพรวม และทราบการรายงานผลของบางเขตเลือกตั้งตามแต่ที่สถานีโทรทัศน์จะเลือกขึ้นมารายงาน จึงไม่ได้สังเกตว่า คะแนนถูกรายงานครบทุกเขตหรือไม่ ท่ามกลางความวุ่นวายอื่นๆ อีกหลายประเด็นที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งทาง กกต. ก็ไม่เคยอธิบายในประเด็นนี้ และคำถามนี้ยังไม่ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นระดับประเทศมากนัก

คะแนนจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในหกจังหวัด คิดรวมกันได้เป็น 1,887,412 คะแนน คิดเป็น 4.93% ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลได้

เมื่อคะแนนถูกรายงานเข้าสู่ระบบในเวลาประมาณ 9.30 น. ผลการเลือกตั้งในหกจังหวัดที่ได้ทราบกัน คือ พรรคประชาชาติ ได้ 6 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐได้ 4 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 4 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทยได้ 5 ที่นั่ง โดยมีเรื่องน่าแปลกใจ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมกลับเสียที่นั่งให้พรรคภูมิใจไทยในจังหวัดพัทลุง และสตูล ส่วนที่จังหวัดตรัง เขต 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ของชวน หลีกภัย คะแนนที่รายงานเข้ามาช่วง 9.30 น. พบว่า นิพันธ์ ศิริธร จากพรรคพลังประชารัฐ เอาชนะ สุกิจ อัถโถปกรณ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ไปด้วยคะแนน 37,849 ต่อ 36,297

เมื่อดูคะแนนรวมของห้าพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในหกจังหวัดนี้พบว่า

  • พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนรวม 9,086 คะแนน จากการส่งผู้สมัคร 6 เขต
  • พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนรวม 301,886 คะแนน
  • พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนรวม 161,115 คะแนน
  • พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนรวม 372,263 คะแนน
  • พรรคภูมิใจไทยได้คะแนนรวม 323,327 คะแนน
  • และพรรคประชาชาติซึ่งได้รับความนิยมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ได้คะแนนรวม 327,078 คะแนน

การที่คะแนนของหกจังหวัดภาคใต้ไม่ถูกรายงานเข้าสู่ระบบเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การรายงานผลรวมของการเลือกตั้งโดยสื่อมวลชนตลอดคืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะผลรวมคะแนนของแต่ละพรรคที่นำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ โดยที่ยังไม่มีคำอธิบายจาก กกต. ว่า เหตุใดคะแนนของหกจังหวัดนี้จึงไม่ถูกรายงานในช่วงเวลาเดียวกับจังหวัดอื่น หรือไม่ถูกรายงานทันทีที่นับคะแนนเสร็จ

ดูเพิ่มเติมได้ที่ รายงาน “คะแนนที่ถูกจัดการ” ระหว่างการรายงานผลการเลือกตั้ง’62

 

7. เลือกตั้งล่วงหน้า แจกบัตรผิดเขตไปเท่าไร? เสียหายเท่าไร?

ในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต วันที่ 17 มีนาคม 2562 ตามสำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีคนลงทะเบียนใช้สิทธิจำนวนมาก หลายแห่งประชาชนต้องต่อคิวเพื่อใช้สิทธินาน 1-2 ชั่วโมงท่ามกลางอากาศที่ร้อน และการจราจรที่ติดขัด

สาเหตุหนึ่งของความวุ่นวายมาจากระบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกันในเขตต่างกันได้หมายเลขไม่ซ้ำกัน ทำให้บัตรเลือกตั้งของแต่ละเขตใช้ด้วยกันไม่ได้ ต้องพิมพ์ขึ้นเฉพาะสำหรับของแต่ละเขต และในแต่ละสถานที่ที่มีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าก็จะมีประชาชนผู้มีสิทธิจากทั้ง 350 เขตทั่วประเทศมาลงคะแนนล่วงหน้า ทำให้เจ้าหน้าที่ กกต. มีภาระต้องวางระบบให้ไม่เกิดความสับสน และให้ประชาชนที่มาใช้สิทธิได้รับบัตรเลือกตั้งตรงกับเขตของตัวเอง พร้อมกับซองจดหมายที่ใส่บัตรเลือกตั้งจ่าหน้าระบุรหัสตรงกับเขตของตัวเอง

ปรากฏว่า มีประชาชนหลายคนที่ได้รับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับเขตเลือกตั้งของตัวเอง ทำให้ประชาชนหลายคนกากบาทไปในบัตรเลือกตั้งผิดใบ

ผู้ไปใช้สิทธิหลายคนเล่าว่า เมื่อได้ยืนยันและโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ไปอย่างชัดเจนว่า แจกบัตรเลือกตั้งผิด บางคนก็ยอมเปลี่ยนบัตรให้ ในบางแห่งถึงกับเรียกบัตรเลือกตั้งที่กากบาทแล้วคืนเพื่อแจกใบใหม่ที่ถูกต้องให้แทน แต่บางคนได้ขอให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งแล้ว แต่ด้วยเหตุที่อากาศร้อน และมีคนต่อคิวจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงไม่มีเวลาใส่ใจและยืนยันให้ใช้บัตรเลือกตั้งที่ไม่ถูกต้อง ในบางแห่งเจ้าหน้าที่ได้แสดงความรับผิดชอบโดยกล่าวขอโทษมาแล้ว ส่วนคะแนนที่ออกเสียงไปแล้วนั้นไม่สามารถแก้ไขได้

ผลที่เกิดขึ้นสำหรับบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาผิด หากกากบาทเลือกหมายเลขใดหมายเลขหนึ่งแล้ว และใส่ซองที่จ่าหน้าซองถูกต้องเป็นเขตเลือกตั้งที่มีสิทธิจริงๆ ก็จะถูกส่งไปรษณีย์ไปเก็บไว้ยังเขตเลือกตั้งนั้นๆ จนกระทั่งเย็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็จะถูกเปิดออกมานับ หากเจ้าหน้าที่ที่นับคะแนนเห็นแล้วว่า เป็นบัตรเลือกตั้งของเขตอื่น ก็จะขานเป็นบัตรเสีย 

หลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายเรื่องนี้ ไอลอว์ทดลองเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับบัตรผิดเขตส่งข้อมูลเข้ามา และมีผู้ส่งข้อมูลเข้ามาทั้งหมด 109 คน จากสถานที่ออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า 80 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 56 คน กาบัตรผิดเขตไปโดยไม่ได้ทักท้วง 21 คนได้ทักท้วงและเจ้าหน้าที่เปลี่ยนเป็นบัตรที่ถูกต้องให้ และอีก 20 คนทักท้วงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เปลี่ยนบัตรให้ถูกต้อง คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของคนที่ได้บัตรผิดเขต ที่ต้องกากบาทไปทั้งที่บัตรผิด และทำให้เจตนาที่ออกเสียงไปไม่ถูกนับ

ไอลอว์เคยเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบเหตุการณ์การแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขตที่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป และตรวจสอบปริมาณความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอย่างน้อยที่สุดในการนับคะแนนวันที่ 24 มีนาคม 2562 กกต.ต้องทำข้อมูลบันทึกเป็นสถิติไว้ว่า บัตรเลือกตั้งที่ส่งไปผิดเขตและถูกขานเป็นบัตรเสียนั้นมีจำนวนเท่าใด และประชาชนที่ถูกส่งบัตรให้ผิดเขตได้แสดงเจตจำนงอย่างไร 

แต่จนถึงวันนี้ กกต. ก็ยังไม่เคยชี้แจงข้อมูลอะไรต่อสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต

ทำความเข้าใจเรื่องการแจกบัตรผิดเขต เพิ่มเติมได้ คลิกที่
ดูข้อมูลจำนวนบัตรเลือกตั้งผิดเขต เท่าที่ไอลอว์บันทึกได้ คลิกที่

 

8. บัตรเสียกว่าสองล้านใบ เสียเพราะอะไร? เสียเขตละเท่าไร?

กกต.รายงานว่า จากผลการนับคะแนนทั้งหมด มีบัตรเสียคิดเป็น 5.57% หรือ 2,130,327 ใบ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งปี 2554

ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับจำนวนบัตรเสียที่มากถึงกว่าสองล้านใบ ซึ่งหมายถึง มีคนมากกว่าสองล้านคนที่เดินทางมาลงคะแนนแล้ว แต่คะแนนเสียงของพวกเขาไม่ถูกนับ

บัตรเสียส่วนหนึ่งอาจเกิดเพราะการแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต หรือส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความสับสนของผู้ใช้สิทธิที่การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ต่างจากการเลือกตั้ง 4 ครั้งก่อนหน้านี้ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ หรืออาจจะเกิดจากปรากฏการณ์ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากในแต่ละเขต และแต่ละเขตผู้สมัครจากพรรคเดียวกันได้หมายเลขไม่ซ้ำกัน ซึ่งเป็นกติกาใหม่อีกประการหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้

บัตรเสียบางกรณีอาจเกิดจากความผิดพลาดเล็กน้อยที่ผู้มาใช้สิทธิไม่เข้าใจกติกาการออกเสียง เช่น การกากบาทผิดช่อง ไม่ได้กาในช่องว่างแต่กาทับโลโก้ของพรรคการเมือง หรือการใช้เครื่องหมายถูก แทนเครื่องหมายกากบาท ซึ่งแท้จริงแล้วผู้มาใช้สิทธิได้แสดงเจตนาแล้วว่า ต้องการลงคะแนนให้ใคร แต่เป็นเหตุผลทางเทคนิคที่ทำให้คะแนนเหล่านี้ไม่ถูกนับรวมด้วย กกต. จึงควรทำข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจนว่า บัตรเสียที่เกิดจากความผิดพลาดนั้นเป็นเพราะเหตุใดบ้าง เพื่อจะได้จัดวางแผนการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อป้องกันการผิดพลาดซ้ำอีกในครั้งหน้า 

ถ้าหาก กกต.สามารถทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัตรเสียได้ชัดเจนและลงรายละเอียด เช่น หากพบว่า ในเขตใด หรือในหน่วยเลือกตั้งใด มีบัตรเสียที่เกิดจากพฤติกรรมคล้ายๆ กัน ก็อาจแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการให้ความรู้กับประชาชนในท้องที่นั้น หรืออาจนำไปสู่ข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งก็ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ กกต.สามารถศึกษาจากบัตรเสียที่เก็บรักษาไว้ และวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสู่สาธารณชนได้ แต่ กกต.ไม่เคยทำให้ความชัดเจนเหล่านี้เกิดขึ้น

 

9. สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าคนอื่นผิด ทำไมไม่เคยพูด?

หลัง กกต.เปิดเผยผลคะแนนการเลือกตั้ง 100% ไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 สำนักข่าวหรือนักวิชาการต่างก็หยิบผลคะแนนไป “เข้าสูตร” เพื่อคิดคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งคำนวณแล้วได้ผลแตกต่างกันอยู่บ้าง ในระดับ 1-2 ที่นั่ง แต่ภาพรวมไม่ต่างกันมากนัก คือ มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ประมาณ 15-16 พรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งจะต้องได้คะแนนเสียงประมาณ 70,000 คะแนนขึ้นไป ลองดูคำอธิบายวิธีการคำนวณได้คลิกที่

ถ้าหากคำนวณตามสูตรเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้ 7 พรรคการเมืองที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ได้ที่นั่ง ส.ส. รวมกัน 253 ที่นั่ง มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

แต่หลังการประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ทาง กกต.ก็ยังไม่รีบร้อนเปิดเผยผลการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการ จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2562 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ยังยอมรับว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้สูตรใดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากกรรมการ กกต. ยังไม่มีมติในเรื่องนี้ ซึ่งการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีบัญญัติไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง แต่จะต้องไปดูต้นร่างและเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย เพื่อรวบรวมและศึกษารายละเอียด ก่อนที่จะมีคำตอบให้กับสังคม 

กกต.ยังยืดเวลาที่จะให้คำตอบกับสังคมออกไปโดยการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความว่า สูตรคำนวณที่เขียนไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้สังคมยังคงต้องรอคอยต่อไปถึงจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างแท้จริง 

จนกระทั่ง 45 วันหลังการเลือกตั้ง กกต.จึงประกาศวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการ โดยอ้างอิงเอกสารคำอธิบายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่อธิบายวิธีการคำนวณไว้อย่างซับซ้อน โดยวิธีการคำนวณแบบใหม่ที่ กกต. เพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกนี้ทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมากถึง 27 พรรค โดยพรรคที่ได้คะแนนน้อยที่สุดและได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง คือ พรรคไทรักธรรม ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ คือ 33,748 คะแนน และทำให้ 7 พรรคการเมืองที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ได้ที่นั่ง ส.ส. รวมกันลดลงเหลือ 247 ที่นั่ง น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 

คำถามที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์นี้ก็คือ ทำไม กกต.ไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า จะใช้สูตรการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่ออย่างไร และชี้แจงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าใจตรงกันเพื่อจะได้ช่วยกันคิดคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์ที่ตรงกันตั้งแต่วันที่ทราบผลคะแนนการเลือกตั้งทันที การที่ กกต.ใช้เวลาไปหลายวันหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้วเพื่อกำหนดสูตรคำนวณที่จะใช้ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจจากประชาชนอย่างมาก

ตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 ตลอดมาถึงช่วงสัปดาห์แรกหลังการเลือกตั้ง สื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งนักวิชาการต่างก็เอาผลคะแนนเท่าที่ กกต.รายงานให้ทราบมาทดลองคำนวณด้วยสูตรคำนวณที่ทุกคนเข้าใจ ซึ่งได้ผลออกมาใกล้เคียงกัน และใช้เป็นแบบจำลองในการจัดตั้งรัฐบาลมาตลอด แต่ทาง กกต.เองไม่เคยพยายามจะคำนวณออกมาให้เห็น ประธาน กกต.เพียงแต่ตอบคำถามนักข่าวว่า “ไม่มีเครื่องคิดเลข” โดยไม่เคยชี้แจงเลยว่า สูตรคำนวณที่สื่อมวลชนและนักวิชาการกำลังใช้อยู่ทั้งประเทศนั้น ถูกต้องแล้วหรือไม่?

 

10. คะแนนที่ลืมเอามารวม มีเท่าไร? เขตไหนบ้าง?

การใช้สูตรคำนวณแบบใหม่ของ กกต. ทำให้เกิด “พรรคเล็ก” จำนวนถึง 12 พรรค และด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ให้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จากคะแนนของ ส.ส. ระบบแบ่งเขต ทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะคะแนนของ ส.ส. ระบบแบ่งเขตยังอาจเปลี่ยนแปลงได้อีกหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้ว เพราะยังมีการเลือกตั้งซ่อม กรณีที่พบการทุจริตหรือกรณีที่ ส.ส.บางคนลาออก

หลังการเลือกตั้ง’62 มีการเลือกตั้งซ่อมครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 เนื่องจากผู้ชนะเดิมจากพรรคเพื่อไทยถูก กกต.แจก “ใบส้ม” จากการบริจาคเงินให้วัด 2,000 บาท และต่อมาก็มีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครปฐม เขต 5 เนื่องจากผู้ชนะเดิมจากพรรคอนาคตใหม่ลาออก และยังมีการเลือกตั้งซ่อมตามมาอีกทั้งที่ขอนแก่น และกำแพงเพชร โดยกฎหมายเลือกตั้งกำหนดว่า ถ้าคะแนนจาก ส.ส. ระบบแบ่งเขตเปลี่ยนแปลงภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้งให้นำมาคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงคะแนนในบางเขตนั้นย่อมกระทบถึงอัตราส่วนที่นั่งของทุกพรรคการเมืองด้วย 

พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ซึ่งได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 33,748 คะแนน เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลายเป็น ส.ส. ที่ต้อง “เข้าๆ ออกๆ” จากเก้าอี้ หรือเรียกได้ว่า “ผลุบๆ โผล่ๆ” จากสภา เพราะเมื่อครั้ง กกต.ประกาศรายชื่อ ส.ส.ที่ได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อรอบแรก พีระวิทย์ก็ได้เดินเข้าสภาไปรายงานตัวพร้อมกับ ส.ส.คนอื่นๆ แล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีการเลือกตั้งซ่อมที่ จังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 ทำให้ กกต.ต้องเอาผลคะแนนที่ได้มาคำนวณที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อใหม่อีกรอบ และเป็นผลให้พีระวิทย์หลุดจากเก้าอี้ ส.ส. โดยเป็นพรรคประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้เพิ่ม 1 ที่นั่งแทน

หลังจากนั้น พีระวิทย์เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อถามหาความจริงอยู่หลายครั้ง โดยระบุว่า ผลคะแนนรวมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ กกต.รายงานเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 กับผลคะแนนที่ กกต.นำมาใช้คำนวณที่นั่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม เพิ่มขึ้นถึง 9,894 คะแนน และเรียกผลต่างของคะแนนนี้ว่า “คะแนนโขย่ง” เป็นผลให้เมื่อนำมารวมกับคะแนนรวมของการเลือกตั้งซ่อมจากเชียงใหม่แล้วพีระวิทย์ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. จึงต้องการคำตอบจาก กกต. 

17 มิถุนายน 2562 หลังการเปิดสภาและลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือชี้แจงไปถึงหัวหน้าพรรคไทรักธรรม ถึงเหตุที่คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นว่า

“สำหรับผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ได้ประกาศผลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 กกต.พบว่า กกต.ประจำเขตเลือกตั้งบางแห่งไม่ได้นำผลคะแนนที่ออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักรมารวมผลคะแนนด้วย จึงได้สั่งการให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนอีกครั้ง” 

หลังการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดขอนแก่น เป็นผลให้ต้องคำนวณที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อใหม่ วันที่ 29 มกราคม 2563 พีระวิทย์ก็ได้โอกาสกลับเข้าสภาไปเป็น ส.ส. อีกครั้ง และเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล เจ้าตัวจึงไม่มีเหตุติดใจเรื่องวิธีการคำนวณอีกต่อไป

แต่คำชี้แจงที่ กกต.ส่งให้กับพีระวิทย์ ได้แสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญที่ทำให้ทั้งสังคมตกตะลึง เพราะเท่ากับ กกต.ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า คะแนนที่ประกาศไปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 นั้นไม่ถูกต้อง โดยยังมีคะแนนอีกจำนวนหนึ่งจากการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ลืมเอามารวมด้วยในตอนแรก ซึ่งหมายความว่า เมื่อคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนไม่ถูกนับรวมตอนแรก ก็ต้องมีคะแนนของพรรคอื่นที่ไม่ถูกนับรวมด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่า คะแนนที่ไม่ถูกรวมในการประกาศผลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 นั้นแท้จริงแล้วคิดเป็นจำนวนเท่าใด

นอกจากจดหมายที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ส่งให้กับพีระวิทย์ เพื่ออธิบายคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังไม่ปรากฏคำอธิบายเพิ่มเติมจาก กกต.เลยว่า มีความผิดพลาดในการรวมคะแนนเกิดขึ้นอีกอย่างไรบ้าง เป็นคะแนนของพรรคการเมืองใดบ้าง และเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่จากเขตเลือกตั้งใด ซึ่งส่งผลอย่างไรหรือไม่ต่อการคำนวณจำนวนที่สั่ง ส.ส. ในภาพรวม