ประชาชนอยากลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคกู้เงินเป็นเงินจำนวน 191.2 ล้านบาท คดีเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นคดีประเภทหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 

การแก้ไขอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มีเงื่อนไขว่า หลังจากรัฐสภาเห็นชอบแล้วต้องทำประชามติก่อน และก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจวินิจฉัยข้อเสนอนั้นด้วยว่า ข้อเสนอขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 (8) ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน “เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้” หลังรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยจึงให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยได้” 

อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (9) ยังระบุอีกว่า ก่อนนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้า ให้สิทธิ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10  ของแต่ละสภาหรือของสองสภารวมกัน กล่าวคือ ส.ส. 50 คน, ส.ว. 25 คน หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว. รวมกัน 75 คน เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน

โดยประชาชนสามารถริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเอง โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ให้สิทธิประชาชน 50,000 คน รวบรวมชื่อกันเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือ “ฉบับประชาชน” ต่อรัฐสภาได้ ซึ่งการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 เหมือนกับการเข้าชื่อเสนอพระราชบัญญัติ 

ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีด้วยกันสามขั้นตอน ดังนี้

หนึ่ง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 

  • คณะรัฐมนตรี
  • ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส. 100 คน จากสภาผู้แทนฯ 500 คน
  • ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว. 150 คน จากรัฐสภา 750 คน
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

สอง การพิจารณาของรัฐสภา มีสามวาระ ได้แก่

วาระแรก ขั้นรับหลักการ นอกจากต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 เสียงแล้ว ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน

วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3

วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย นอกจากต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 376 เสียงแล้ว ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คนและยังต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ “ส.ส.ฝ่ายค้าน” เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

สาม การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้

และก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้สิทธิ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองสภารวมกันเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ให้เสร็จภายใน 30 วัน โดยในระหว่างนั้น นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ง่าย เพราะมีเงื่อนไขเป็นพิเศษนอกเหนือจากการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา ได้แก่ 1) เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด 2) เสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 ของทุกพรรครวมกัน 3) การทำประชามติ และ 4) อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง