“รับบริจาคเกิน 10 ล้าน” ไม่มีโทษยุบพรรค

For English version please click

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเหตุที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 2 ฉบับ รวมมูลค่า 191.2 ล้านบาท 

ศาลรัฐธรรมนูญมองว่า สัญญากู้ดังกล่าวมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าหรือปกติวิสัย จึงเชื่อว่า เป็นการหลีกเลี่ยงการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง และเป็นการบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากคนคนเดียวเกินกว่า 10 ล้านบาท ขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 พรรคอนาคตใหม่ที่รับเงินนี้มาจึงผิดตามมาตรา 72 และ กกต.สามารถขอให้ยุบพรรคได้ตามมาตรา 92

เมื่อเปิดดู พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตราที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคอนาคตใหม่ มีอยู่ 7 มาตราที่ต้องยกมาพิจารณาด้วยกัน ดังนี้

  • มาตรา 62 ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองจะมีรายได้จากช่องทางใดได้บ้าง
  • มาตรา 66 ที่กำหนดว่า ห้ามคนเดียวบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคจากคนเดียวเกิน 10 ล้านบาทต่อปี
  • มาตรา 72 ที่กำหนดว่า ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • มาตรา 92 ที่กำหนดว่า กรณีที่พรรคการเมืองทำผิดตามมาตรา 72 และมาตราอื่นๆ ให้ กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค
  • มาตรา 124 กำหนดโทษผู้ที่บริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท ให้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
  • มาตรา 125 กำหนดโทษพรรคการเมืองที่รับบริจาคเกิน 10 ล้านบาท ให้ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ให้เงินบริจาคส่วนเกินตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
  • มาตรา 126 กำหนดโทษผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองที่รับเงินบริจาคที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับศาลกำหนด

การใช้กฎหมายเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองและลงโทษกรรมการบริหารพรรคในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้มาตราใดมาตราหนึ่ง แต่หยิบเอาหลายมาตรามาพิจารณาประกอบกัน ความผิดหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้วินิจฉัยพรรคอนาคตใหม่และเป็นเหตุให้ยุบพรรค คือ ความผิดฐาน “รับเงินบริจาคที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

         “มาตรา 72  ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 72 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้เป็น ดังนี้

         1. พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง
         2. รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
         3. โดยรู้หรือควรจะรู้ / หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า
         4. ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย /หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การจะตัดสินว่า พรรคอนาคตใหม่มีความผิดตามมาตรา 72 ได้ ต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อประกอบเข้าด้วยกัน หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งก็จะไม่สามารถเอาผิดพรรคการเมืองนั้นได้

องค์ประกอบข้อ 1 พรรคการเมือง คือ พรรคอนาคตใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง คือ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ … องค์ประกอบข้อนี้ครบถ้วนชัดเจน

องค์ประกอบข้อ 2 เรื่องการ “รับบริจาค” เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด … เป็นเรื่องที่ต้องตีความกันหลายชั้น 

ฝั่งพรรคอนาคตใหม่นำเสนอเอกสารว่า เป็นการ “กู้เงิน” ไม่ใช่การบริจาค

ฝั่ง กกต.ผู้ยื่นคำร้องให้ยุบพรรค ตีความว่าเป็น “นิติกรรมอำพราง” คือ แกล้งทำเป็นกู้เพื่อปิดบังว่า จริงๆ เป็นการบริจาค

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ฟันธงว่า เป็นนิติกรรมอำพรางซึ่งเป็นคำในกฎหมายแพ่งหรือไม่ และจริงๆ สัญญานี้เป็นการกู้เงินหรือการบริจาค แต่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า เนื่องจากสัญญากู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงินและการชําระหนี้เงินกู้ยืม ถือเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” แก่พรรค ตามมาตรา 72 (ดูด้านล่าง) 

จะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเลี่ยงที่จะชี้ชัดว่า การทำสัญญากู้นี้เป็นนิติกรรมอำพรางของการ “บริจาคเงิน” ทั้งจำนวน 191.2 ล้านบาทหรือไม่ แต่พิจารณาจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ต่ำและวินิจฉัยว่าเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” ในเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ “น้อยผิดปกติ” เท่านั้น 

องค์ประกอบข้อ 3 เรื่องการรู้หรือควรจะได้รู้ หรือมีเหตุอันควรสงสัย ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ แต่น่าจะไม่มีปัญหาที่เห็นต่างกัน เนื่องจากเป็นการทำสัญญากู้ระหว่างธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค กับพรรคอนาคตใหม่โดยตรง กรรมการบริหารพรรคคงจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ และที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้ปฏิเสธในประเด็นนี้

องค์ประกอบข้อ 4 เงินหรือประโยชน์นั้นได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า เมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับจากเงินกู้ยืมดังกล่าวกับเงินที่ธนาธรได้บริจาคให้แก่ผู้ถูกร้องในปี 2562 จํานวน 8,500,000 บาทแล้ว ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่า “ประโยชน์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรา 72 โดยอ้างอิงกับการให้ประโยชน์เกิน 10 ล้านบาทที่ขัดต่อมาตรา 66 ซึ่งการตีความเช่นนี้เป็นการใช้ มาตรา 72 ในทางที่ผิด 

         “มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
         พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้”

คำว่า “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 นั้นจะต้องพิจารณาที่มาของเงินนั้น “ก่อน” ที่จะนำมาบริจาคให้พรรคการเมือง ไม่ได้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายจาก “วิธีการ” การนำมาบริจาคให้พรรคการเมือง เช่น หากเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือฉ้อโกง แล้วนำมาบริจาคให้พรรคการเมือง เช่นนี้ หากพรรคการเมืองรู้ที่มาของเงินอยู่แล้วยังรับบริจาคจึงจะถือเป็นความผิดตามมาตรา 72 

แต่ในกรณีของคดียุบพรรคอนาคตใหม่ เงินหรือทรัพย์สินของธนาธรไม่ปรากฏว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนำมาให้ประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่ใช่ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เท่ากับ ขาดองค์ประกอบข้อที่ 4 ตามมาตรา 72 และไม่สามารถนำมาตรา 72 มาใช้กับกรณีการทำสัญญาเงินกู้ในคดีนี้ได้

หากธนาธรให้ประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่เกิน 10 ล้านบาทจริง ก็เป็นการให้ประโยชน์ที่ผิดตามมาตรา 66 เท่านั้น และผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ก็ต้องถูกลงโทษตามที่เขียนไว้ในมาตรา 124 และ 125 (อ่านด้านล่าง) แต่การให้ประโยชน์เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งผิด “วิธีการ” ในกรณีนี้คือคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับต่ำกว่าปกติ ไม่ทำให้ประโยชน์ที่ให้นั้นกลายเป็นประโยชน์อื่นใดที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 ไปด้วย 

มีหลักฐานอันเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 3 ประการที่แสดงให้เห็นว่า การใช้ มาตรา 72 ต้องใช้ในความหมายดังที่กล่าวมา 

ประการแรก ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้เอง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 72 ได้กําหนดข้อห้ามไว้ “เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเหล่านั้น อันจะทําให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุน หรือช่วยเหลือในการกระทําความผิดไปด้วย และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทย อันเป็นมาตรการที่สําคัญเพื่อเสริมสร้างสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน”

ศาลได้อธิบายแล้วว่า มาตรา 72 มีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้พรรคการเมือง “มีส่วนร่วม” หรือ “สนับสนุน” หรือ “ช่วยเหลือ” การกระทำความผิด จึงหมายความว่า มาตรา 72 ต้องการกันพรรคการเมืองให้อยู่ห่างจาก “การกระทำความผิดอื่นๆ” ที่อาจเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการนำเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมาบริจาค เจตนารมณ์ของมาตรา 72 ไม่ใช่เพื่อกันพรรคการเมืองไม่ให้ทำผิดเองในแง่ “วิธีการ” รับเงินบริจาคด้วยตัวของพรรคการเมืองเอง

ประการที่สอง มาตรา 66 วรรคสอง ได้เขียนชัดอยู่แล้วว่า พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นเกิน 10 ล้านบาทไม่ได้ ดังนั้น หากผู้ร่างกฎหมายต้องการกำหนดให้การรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นเกิน 10 ล้านบาท มีโทษให้ยุบพรรคก็จะต้องเขียนในมาตรา 92 (3) ไว้เลยว่า ให้ กกต.มีอำนาจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนมาตรา 66 วรรคสองด้วย แต่มาตรา 92 (3) ไม่ได้เขียนเช่นนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การที่พรรคการเมืองรับประโยชน์เกิน 10 ล้านบาท ฝ่าฝืนมาตรา 66 วรรคสอง กกต.ไม่อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้

การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ฝ่าฝืนมาตรา 66 วรรคสอง จึงต้องอ้างอิงโดยเชื่อมโยงไปยังมาตรา 72 อีกชั้นหนึ่ง นี่จึงเป็นการใช้มาตรา 72 มาซ้อนทับกับความผิดตามมาตรา 66 ซึ่งไม่ถูกต้อง

ประการที่สาม การฝ่าฝืนมาตรา 66 มีบทกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว ในมาตรา 124 และ 125 สำหรับผู้บริจาคมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี สำหรับพรรคการเมืองที่รับบริจาค ให้มีโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง 5 ปี

ส่วนการฝ่าฝืนมาตรา 72 นอกจากจะถูกส่งเรื่องให้ยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 (3) แล้ว ยังมีบทกำหนดโทษเขียนไว้ในมาตรา 126 สำหรับกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ หมายความว่า ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ได้

เมื่อการฝ่าฝืนมาตรา 66 และ มาตรา 72 ต่างมีบทกำหนดโทษของแต่ละฐานความผิดคนละมาตรา และมีบทลงโทษที่ต่างกัน จึงเห็นได้ว่า มาตรา 66 และ มาตรา 72 เขียนขึ้นเพื่อให้ใช้แยกต่างหากจากกัน ไม่ได้ให้ใช้ประกอบกัน เมื่อการกระทำของพรรคการเมืองผิดตามมาตรา 66 วรรคสองแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 72 อีก 

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีโดยเอามาตรา 66 และมาตรา 72 มาใช้ประกอบกัน และพิจารณาองค์ประกอบที่ว่าประโยชน์อื่นใดที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และโยงไปให้หมายความถึง “วิธีการ” ที่พรรคการเมืองได้รับมานั้นไม่ชอบตามมาตรา 66 จึงเป็นการตีความที่ผิดอย่างชัดแจ้ง

หากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บริจาคเงินหรือให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ขัดต่อมาตรา 66 ธนาธรย่อมถูกดำเนินคดีตามมาตรา 124 ส่วนพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 125 ซึ่งเป็นคดีอาญา และต้องดำเนินคดีต่อศาลอาญา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่อาจโยงเงื่อนไขในมาตรา 66 มายังมาตรา 72 และสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ เพราะความผิดฐาน “ให้ประโยชน์เกิน 10 ล้านบาท” ตามมาตรา 66 ไม่มีโทษให้ยุบพรรคการเมือง


พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

              มาตรา 62 พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
              (1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง
              (2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ
              (3) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
              (4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
              (5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
              (6) เงินอุดหนุนจากกองทุน
              (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
              การได้มาซึ่งรายได้ตาม (2) (3) (4) และ (5) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ  ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
              การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม (3) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (4) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
              รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้

              มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
              พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้

              มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

              มาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
              (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
              (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
              (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
              (4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
              เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

              มาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
              ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย

              มาตรา 125 พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน

              มาตรา 126 ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
 
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์