ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 4 คน อาจมาไม่ทันอ่านคดียุบพรรคอนาคตใหม่

หลังจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประกาศกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้าน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 อีกด้านหนึ่งในฝั่งของวุฒิสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 จาก 5 คน ไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563

ตามวิธีการทางกฎหมาย “ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทั้ง 4 คน ที่ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภามาหมาดๆ จะมาเพื่อคดียุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่

 

นัดตัดสินคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน มีตุลาการห้าคนหมดวาระแล้ว

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้านนั้น แท้จริงแล้วในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าคน มีตุลาการถึงห้าคนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ แต่สาเหตุที่ยังอยู่ในตำแหน่งต่อมาได้อีกหลายปี ก็เป็นเพราะระบบกฎหมายพิเศษจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ตั้งแต่ในปี 2559 คสช. เห็นว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ในเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการ 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากหมดวาระ เนื่องจากทั้งห้าคนอยู่ในตำแหน่งมาจนครบ 9 ปีแล้วตามรัฐธรรมนูญ 2550 

แต่วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้

แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ “มาตรา 44” อีกครั้ง ออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาลก็พบว่า ตุลาการทั้งชุดยัง “ได้ไปต่อ” ไม่ถูก “เซ็ตซีโร่” คนที่อยู่ในตำแหน่งที่ยังไม่หมดวาระสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อได้ ไม่ต้องทำการสรรหาใหม่ทั้งหมด ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ใช้ “มาตรา 44” ช่วยยืดอายุไว้ ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้วเสร็จ

นับตั้งแต่การเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นเวลากว่า 8 เดือน ที่กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ตุลาการที่หมดวาระทั้ง 5 คน ก็ยังได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำให้ตุลาการบางคนมีอายุการทำงานยาวนานถึง 11 ปี อยู่ยาวมาจนตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ คดีการถือหุ้นบริษัทวีลัคของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คดีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และอาจจะได้ตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ด้วย

 

กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากระบบราชการ 

ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ตุลาการ 3 คน มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
  • ตุลาการ 2 คน มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  • ตุลาการ 1 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
  • ตุลาการ 1 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
  • ตุลาการ 2 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือเคยรับราชการ

โดยมาตรา 17 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

โดยกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือผู้เคยรับราชการ มาตรา 11 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้สรรหาทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 9 คน มาจากฝ่ายข้าราชการ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์กรอิสระอีกองค์กรละ 1 คน ได้แก่ ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงแค่ 2 คน ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน

หลังจากนั้นเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว มาตรา 12 วรรค 8 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งชื่อผู้ได้รับเลือกให้วุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ และวุฒิสภาต้องเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 126 คนขึ้นไป

หลังจากได้รับความเห็นชอบจากประธานวุฒิสภาแล้ว ในมาตรา 12 วรรคสุดท้าย กำหนดให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 

ชุดใหม่ใกล้มาแล้ว แต่อาจไม่ทันยุบพรรคอนาคตใหม่

หลังจากที่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 วุฒิสภามีมติเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับเสนอตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ) ได้ขอเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติมากถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 162 วัน สุดท้ายแล้ววุฒิสภามีมติเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 จาก 5 คน คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา, วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาศาลฎีกา, จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และนภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนคนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบ คือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด

ในกระบวนการสรรหาทั้งหมดตั้งแต่ในช่วงที่ส่งรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ ไปจนถึงขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธย เพื่อแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้มีเพียงขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติเท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อที่ 105 วรรคสอง กำหนดให้การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ต้องกระทำให้เสร็จครบทุกรายภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้งกรรมาธิการสามัญ ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว กมธ.อาจขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

หมายความว่า กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของวุฒิสภาต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่มีข้อยกเว้นให้ขยายระยะเวลาได้ คือ งดใช้ข้อบังคับการประชุม ตามข้อบังคับข้อที่ 186 ซึ่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ชุดนี้ได้ขยายเวลาในการตรวจสอบประวัติไปถึง 150 วัน

หาก กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตามกรอบเวลาปกติของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ก็ควรจะได้รายชื่อตุลาการชุดใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นอย่างช้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสสูงที่ตุลาการชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ก่อนการตัดสินคดีสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ได้ แต่เนื่องจากความล่าช้านี้ ทำให้คดียุบพรรคอนาคตใหม่ยังอยู่ในมือของตุลาการชุดเดิมที่ขยายอายุมาโดย “มาตรา 44”

ขั้นตอนหลังจากตรวจสอบประวัติแล้วเสร็จ คือ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ต้องนำเสนอรายงาน เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้รัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอนไว้ว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบรายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ 4 คน ก่อนวันนัดฟังคำวินิจฉัยพรรคอนาคตใหม่ประมาณ 10 วัน แต่ในขั้นตอนทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ นั้นยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอนได้ จึงมีแนวโน้มว่า ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คน จะไม่สามารถเริ่มดำรงตำแหน่งและเข้ามาตัดสินคดีแทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนที่ตามความจริงต้องพ้นตำแหน่งไปแล้วได้

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ