ภาคประชาชนเสนอกฎหมาย “เพิ่มโทษ-สร้างกลไก” ป้องกันการอุ้มหายซ้อมทรมาน

คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการต่อหกผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ที่ต่อมาถูกพบเป็นศพ ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างของกรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ทำให้ปัญหาช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 'การอุ้มหาย' ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง
 
ปัญหาสำคัญของคดีอุ้มหายที่สำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมที่ขาดความสม่ำเสมอและมีหลายมาตรฐาน รวมถึงขาดกลไกและผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาที่ขาดกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้เป็นการเฉพาะ เช่น ไม่มีบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานการทรมาน และการไม่มีกลตรวจสอบควบคุมการกระทำความผิดหรือกลไกพิเศษในการรับมือกับความซับซ้อนของคดี
 
ด้านองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมตัวกันจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ขึ้นมา เพื่อปรับปรุงกฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED)
 
 
อุ้มหายจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-อุ้มฆ่าจำคุกตลอดชีวิต
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 4 วรรคห้า ให้นิยามคำว่า "การบังคับให้บุคคลสูญหาย" หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐ จับ ขัง ลักพา ควบคุมตัว หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้กระทำปฏิเสธว่า มิได้มีกระทำการนั้น หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น
 
โดยความหมายของคำว่า เจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ในมาตรา 4 วรรคหก ซึ่งระบุว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย หรือ เจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2561 ได้แก่ 
  • ข้าราชการหรือพนักงานที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ 
  • ผู้บริหาร รองผู้บริหาร ผู้ช่วยผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  • กรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หรือบุคคลและคณะบุคคลซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครอง 
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำให้บุคคลสูญหายไว้ใน มาตรา 44 ว่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึง 25 ปีและปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท และถ้าการกระทำนั้นป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต
 
ซ้อมทรมานจำคุก 5 ปี-ห้ามศาลรับฟังข้อมูลจากการทรมาน
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดนิยามคำว่า "การทรมาน" หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดๆ ให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล คำสารภาพ หรือลงโทษผู้กระทำนั้นจากการกระทำที่ถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือข่มขู่ขูเข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม หรือเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกตั้งปฏิบัติจากถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธ์ ภาษา หรือเพศ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การซ้อมทรมานแต่ครอบคลุมไปถึงการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งอยู่ในมาตรา 10 และให้ห้ามให้รัฐส่งตัวบุคคลกลับไปเผชิญอันตรายนอกราชอาณาจักร ถ้ามีความเสี่ยงถูกทรมาน ลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือท่ีย่ำยีศักดิ์ศรี หรือ บังคับให้สูญหาย ซึ่งอยู่ในมาตรา 18
 
แต่จุดที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ที่มาตรา 34 โดยกำหนดให้ศาลห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน หรือการกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี หรือทำให้บุคคลสูญหาย เว้นแต่เป็นพยานหลักฐานสำหรับคดีตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมานเพื่อรีดเค้นข้อมูล หรือเพื่อบังคับให้รับสารภาพ
 
ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้กระทำการทรมาน อยูในมาตรา 45 คือ ต้องระวางโทษจำคุก 5 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 300,000 บาท ถ้า การกระทำดังกล่าวเป็นเห็นให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึง 25 ปีและปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท และถ้าการกระทำนั้นป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
 
ส่วนผู้ที่กระทำความผิดฐานกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
 
การควบคุมตัวต้องแจ้งสิทธิ ลงบันทึก เปิดเผยข้อมูล 
 
การควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นปราการด่านแรกที่อาจจะนำไปสู่การบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการซ้อมทรมาน ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว ในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน จึงกำหนดมาตรการในการควบคุมตัวไว้ ดังนี้
 
เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวและญาติทราบถึง วัน เวลา สถานที่ ในการควบคุมตัว วิธีการเคลื่อนย้าย และเหตุแห่งการควบคุมตัว รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจมีสิทธิติดต่อ เข้าเยี่ยม และให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถปรึกษาทนายความที่ตนเลือกได้
  • ในการสอบปากคำ สอบถาม ซักถามต้องมีทนายความเข้าร่วม และมีการบันทึกภาพและเสียงที่ถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องทุกครั้ง
  • เจ้าหน้าท่ีต้องแจ้งให้ญาติทราบถึงสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัว และให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการตรวจร่างกายและรักษาพยาบาลโดยเร็ว
  • ให้มีการทำบันทึกข้อมูลที่ต้องแจ้งแก่ญาติหรือผู้ถูกควบคุมตัว เช่น วัน เวลา สถานที่ควบคุมตัว ข้อมูของผู้ถูกควบคุมตัว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นต้น
  • ในการปล่อยตัวต้องมีข้อมูลสภาพร่างกายก่อนควบคุมตัวและก่อนปล่อยตัว ต้องระบุวัน เวลา และสถานที่ปล่อยตัว ผู้รับผิดชอบในการปล่อยตัว และญาติหรือบุคคลที่มารับตัว หากไม่สามารถติดต่อญาติได้ให้บันทึกวิธีการติดต่อญาติไว้ และให้ผู้รับผิดชอบในการปล่อยตัวจัดหาพยานในการปล่อยตัว
ทั้งนี้ ในมาตรา 47 กำหนดด้วยว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐคนใดจงใจขัดขวาง ไม่แจ้งสิทธิก่อนและระหว่างการควบคุมตัว หรือ ไม่บันทึกข้อมูลการควบคุมตัวตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
ศาลมีอำนาจตรวจสอบและสั่งให้ปล่อยตัวหากการควบคุมตัวขัดต่อกฎหมาย
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 6 วรรคสาม วางหลักไว้ว่า ผู้ได้รับความเสียหายจากการบังคับให้บุคคลสูญหายหรือการทรมาน มีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ระงับหรือเพิกถอนการกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ได้
 
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้เป็นศาลยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหน้าที่ของศาลเป็นเป็นสามส่วน ได้แก่
 
หนึ่ง ศาลมีอำนาจพิจารณาให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีการร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยข้อมูลแต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธ โดยการไม่เปิดเผยข้อมูลจะทำได้ในกรณีเดียวคือ ให้ผู้ถูกควบคุมตัวมาชี้แจ้งต่อหน้าศาลด้วยตัวเองว่ามีหลักประกันว่าจะไม่ถูกทรมาน และการเปิดเผยข้อมูลอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ถูกควบคุมตัวเอง (มาตรา 29 วรรคสอง)
 
สอง ศาลมีอำนาจตรวจสอบการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทรมาน การกระทำโดยโหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรี โดยให้ศาลดำเนินการไต่สวน หากเห็นว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าว ให้ศาลมีอำนาจสั่งเจ้าหน้าที่รัฐพาตัวผู้ได้รับความเสียหายมาศาล รวมไปถึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว ยุติการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว ให้สิทธิพบญาติ ทนายความ ให้สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาล เป็นต้น (มาตรา 31 กับ 32)
 
สาม ศาลมีอำนาจพิจารณาบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน ฟื้นฟู เยียวยา แก่ผู้ได้รับความเสียหาย (มาตรา 25)
 
การเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวต้องเร่งชันสูตรและให้ญาติมีส่วนร่วม
 
โดยปกติการเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพอยู่แล้วเพื่อหาสาเหตุการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ใน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 33 ได้เพิ่มเติมหน้าที่ของรัฐเข้ามาอีก ดังนี้
  • เก็บรักษาสถานที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อเก็บและรวบรวบพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ
  • ติดต่อครอบครัวหรือญาติของผู้ตายเพื่อให้มีส่วนร่วมในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตาย 
  • ประสานงานกับคณะกรรมการหรือสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมานในระหว่างควบคุมตัว
พ่อแม่-ลูก-คู่ชีวิต นับเป็นผู้เสียหายในคดี มีสิทธิตามกฎหมาย
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 4 กำหนดให้ ผู้ได้รับความเสียหาย คือ ผู้ที่ถูกกระทำ รวมถึงสามี ภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือผู้อยู่ในอุปการะทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยมีสิทธิร้องขอต่อศาลตรวจสอบ คุ้มครอง การอุ้มหายหรือซ้อมทรมาน
 
โดยผู้ได้รับความเสียหาย คู่ชีวิต ครอบครัว จะได้รับสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติม เช่น
  • มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว เช่น สถานที่ควบคุม สภาพร่างกายจิตใจ
  • สิทธิร้องข้อต่อศาลให้ตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • สิทธิทราบถึงผลความคืบหน้าของคดีการบังคับให้สูญหายหรือทรมานอย่างต่อเนื่อง
 
ทหารทำผิดไม่ให้ขึ้นศาลทหาร ใช้ระบบไต่สวน อายุความ 50 ปี 
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 26 กำหนดให้คดีเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายหรือการซ้อมทรมานอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม หากไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดเช่นนี้ บางคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารต้องขึ้นศาลทหารซึ่งผู้ฟ้องคดีคืออัยการทหาร และผู้พิจารณาคดีก็คือตุลาการศาลทหาร และมีกระบวนการพิจารณาคดีที่ล้าช้า ไม่สะดวกที่ประชาชนจะเข้าร่วมติดตามคดี
 
โดยในมาตรา 20 กำหนดให้การกระทำความผิดฐานการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็น "ความผิดต่อเนื่อง" จนกว่าจะเปิดเผยชะตากรรมหรือปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว และไม่ให้เริ่มนับอายุความจนกว่าจะพบบุคคลที่สูญหาย หรือปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อว่า บุคคลนั้นเสียชีวิต 
 
อีกทั้งในมาตรา 21 ยังระบุด้วยว่า ให้ความผิดฐานกระทำทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหายมีอายุความห้าสิบปี แต่ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่มีลักษณะอย่างกว้างขวางและเป็นระบบให้ความผิดดังกล่าวไม่มีอายุความ
 
ส่วนวิธีการดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 22 กำหนดว่า ให้การซ้อมทรมานและอุ้มหายเป็น 'คดีพิเศษ' ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษที่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ และให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน หรือหมายถึงการให้อัยการมีหน้าที่สอบสวนตั้งแต่ต้นด้วย 
 
อีกทั้ง การดำเนินคดีฐานอุ้มหายและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถือว่าไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 
 
ส่วนในกรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี มาตรา 23 ระบุว่า ให้การทำความเห็นแย้งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน
 
ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชาต้องรับโทษด้วย
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 12 และ 13 กำหนดให้ผู้ที่สบคบ ผู้ที่ใช้ สนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องระหว่างโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น และให้ผู้บังคับบัญชาที่ทราบหรือจงใจเพิกเฉยต่อการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น 
 
นอกจากการขยายขอบเขตของตัวผู้กระทำความผิดแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็น "ความผิดสากล" โดยในมาตรา 15 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร (ก่อเหตุนอกประเทศ) ต้องถูกดำเนินคดีและรับโทษในราชอาณาจักร และในมาตรา 16 ได้กำหนดให้การกระทำความผิดดังกล่าวไม่เป็นความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้สามารถส่งตัวผู้กระทำความผิดที่อยู่ต่างแดนมารับโทษได้
 
ทั้งนี้ ยังมี "บทหนัก" หรือการเพิ่มโทษไว้ด้วยในมาตรา 11 ซึ่งระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ กระทำแก่บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี หรือ ผู้พิการทางร่างกายและจิตใจ หรือผู้ที่พึ่งตนเองไม่ได้เพราะอายุหรือเจ็บปวด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ 
 
ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีตัวแทนผู้เสียหายและภาคประชาสังคม
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 36 ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบไปด้วย
  • ประธาน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • รองประธาน คือ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
  • กรรมการโดยตำแหน่ง ปลัดทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ 
  • กรรมการจากผู้แทนผู้ได้รับความเสียหาย 2 คน
  • กรรมการจากผู้แทนองค์กรภาคประชาชน 3 คน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตรวจจดพยานหลักฐาน 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติเวชศาสตร์ 1 คนผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยา 1 คน 
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอยู่ในมาตรา 42 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
  • กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันการทรมาน และการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม
  • กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคลกำหนดนโยบายและมาตรการการฟื้นฟูเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายทั้งทางการเงินและจิตใจ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
  • ติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือทำให้บุคคลสูญหาย ด้วยการให้คำปรึกษาและแนะนำทางกฎหมาย ทางทนายความ และการตรวจทางการแพทย์ 
  • มีอำนาจตรวจเยี่ยมหน่วยงานหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ระบุชื่อผู้ร้อง และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
การให้ข้อมูลหรือการร้องเรียนต้องไม่ถูกดำเนินคดี
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 35 ระบุว่า บุคคลซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความหรือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือท่ีย่ำยีศักดิ์ศรีและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ย่อมได้รับความคุ้มครอง ซึ่งรวมทั้งจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง
 
คดีที่เกิดก่อนกฎหมายนี้ ก็ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด
 
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน มาตรา 48 กำหนดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แม้การปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวได้เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ไฟล์แนบ