บอกลาเครื่องถ่ายเอกสาร? พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย

พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้การทำงานและบริการของภาครัฐปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีฐานข้อมูลเชื่อมโยงกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เต็มที่

หลักการของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ อยู่ในมาตรา 4 ที่กำหนดว่า “ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล” เพื่อให้การบริหารและการให้บริการของหน่วยงานรัฐทุกแห่งพัฒนามาตรฐานและโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้สะดวก ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่ถูกบังคับภายใต้กฎหมายใหม่นี้รวมทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานอิสระของรัฐทั้งหมด

 

ยกเลิกถ่ายสำเนาบัตร ให้หน่วยงานของรัฐส่งข้อมูลกันเอง

พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ วางโครงสร้างให้ต้องมีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และหลักเกณฑ์ในรายละเอียดอื่นๆ ตามมาอีกมาก ให้มีสำนักงานทำหน้าที่อำนวยการสนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิด “บริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

โดยมาตรา 11 กำหนดว่า

         “มาตรา 11 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภาครัฐและการบริการประชาชนในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล ในกรณีที่กฎหมาย กฎ หรือระเบียบใดกำหนดให้ผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือใบอนุญาต หรือผู้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้ง หรือผู้แจ้ง ต้องใช้เอกสารหรือหลักฐานของทางราชการที่หน่วยงานของรัฐออกให้ เพื่อประกอบการพิจารณาหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับจดทะเบียน รับจดแจ้ง หรือรับแจ้งนั้น ดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐที่ออกเอกสารหรือหลักฐานของราชการเช่นว่านั้น ส่งข้อมูลหรือสำเนาเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวผ่านช่องทางดิจิทัลมาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบดังกล่าว ในการนี้ ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำสำเนาดังกล่าวจากหน่วยงานของรัฐที่ขอเอกสาร เว้นแต่กฎหมาย กฎ หรือระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
         ในกรณีที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าได้มีการยื่นเอกสารหรือหลักฐานมาแสดงตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐนั้นแล้ว”

ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อกฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องยื่นขออนุญาตในกิจการใดก็ตาม ถ้าต้องใช้เอกสารหลักฐานที่หน่วยงานของรัฐออกให้ในการยื่นนั้นๆ ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนอีกต่อไปที่ต้องถ่ายสำเนาเอกสารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส สำเนาสูติบัตร สำเนาใบขับขี่ ฯลฯ เพื่อนำแผ่นกระดาษไปยื่นประกอบการขออนุญาต แต่ให้หน่วยงานที่เป็นคนออกเอกสารนั้นส่งข้อมูลหรือสำเนาเอกสารผ่านช่องทางดิจิทัลให้กันเลย และห้ามไม่ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการทำสำเนาเอกสารนั้นๆ ด้วย

 

จ่ายค่าปรับออนไลน์ ให้หน่วยงานจัดระบบชำระเงินทางดิจิทัล

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ กำหนดว่า ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐภายในระดับหน่วยงาน โดยต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล มีความสมบูรณ์เชื่อถือได้ และสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีระบบพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน และพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความรู้ความสามารถให้บริการผ่านระบบดิจิทัล

มาตรา 12(3) กำหนดด้วยว่า ให้จัดระบบการชำระเงินทางดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากประชาชนจากการให้บริการของหน่วยงานของรัฐนั้น และอาจตกลงกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นให้จัดเก็บเงินดังกล่าวแทนได้

ดังนั้น เมื่อประชาชนไปติดต่อราชการและมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกรณีที่ต้องจ่ายค่าปรับก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินสดเดินไปชำระที่จุดให้บริการอีกต่อไป แต่สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอจ่ายด้วยระบบดิจิทัลอีกทางหนึ่งได้

 

บอกลาเครื่องถ่ายเอกสาร ต้องเปิดข้อมูลดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงไม่เสียค่าใช้จ่าย

ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมากว่า 20 ปี การเข้าถึงข้อมูลของประชาชนต้องเดินไปยื่นหนังสือที่สำนักงานของหน่วยงานนั้นๆ และต้องรอเป็นเวลานานโดยไม่มีกำหนด เมื่อหน่วยงานรัฐจัดข้อมูลให้ก็จะมาในรูปของเอกสารกระดาษ ซึ่งต้องเสียค่าบริการในการถ่ายเอกสารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางแห่งคิดค่าธรรมเนียมถ่ายเอกสารหน้าละ 3-5 บาท กลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน โดยเฉพาะในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และเมื่อได้เอกสารเป็นกระดาษมาก็ยุ่งยากต่อการจัดการข้อมูล

มาตรา 17 ของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ จึงมุ่งแก้ปัญหานี้ โดยกำหนดว่า

         “มาตรา 17 ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ โดยต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้  ทั้งนี้ มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล”

มาตรานี้เป็นการขยายความและให้หน้าที่กับหน่วยงานของรัฐเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ นอกจากหน่วยงานรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนแล้ว ยังต้องเปิดเผยในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลด้วยเพื่อให้สามารถนำไปประมวลผลต่อด้วยระบบดิจิทัลได้ง่ายขึ้น โดยต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ซึ่งคำว่า “เปิดเผยในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ” ก็ควรจะตีความว่า ข้อมูลการดำเนินงานของภาครัฐควรจะเปิดเผยบนเว็บไซต์ หรือช่องทางที่สาธารณะเข้าถึงได้ “อย่างเสรี” โดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้ประชาชนที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลเป็นฝ่ายเดินทางไปยื่นหนังสือขอรับข้อมูลทุกกรณีไป

 

ยังรอรายละเอียดอีกหลายขั้นตอน โดยมี ‘ประยุทธ์’ นั่งเก้าอี้ประธาน

แม้ว่า พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่การทำงานของหน่วยงานรัฐในระดับปฏิบัติยังไม่อาจปรับเปลี่ยนไปได้ในทันทีทันใด โดยกฎหมายฉบับนี้วางระบบการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลขึ้นจริงไว้หลายชั้น ได้แก่

1. ให้มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วยกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
         1.1 นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
         1.2 กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
         1.3 กรรมการอื่น 5 คน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ, คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

2. ให้มีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบดิจิทัล โดยต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เป็นแผนใหญ่ที่เมื่อประกาศใช้แล้วให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ปรับแผนงานของตัวเองให้เดินตาม ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

3. ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานรัฐ กระบวนการจัดการและคุ้มครองข้อมูล การจัดเก็บ การจำแนกหมวดหมู่ ฯลฯ กฎเกณฑ์การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

4. ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงาน และต้องทบทวนประเมินผลตามแผนนี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

5. ให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ กำหนดนโยบายการเชื่อมโยงข้อมูล ประสานการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

6. ให้มีศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open data center) เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการแก่ประชาชน ประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐและเปิดเผยแก่ประชาชน

 

อยากให้ฝันเป็นจริง ต้องช่วยกันผลักดัน

พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ ประกาศใช้ออกมาโดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และไม่ได้มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการชะลอการบังคับใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งในช่วงเริ่มแรก หมายความว่า ทุกมาตราที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว และในทางกฎหมายก็คือต้องนำไปปฏิบัติได้เลยทันที 

แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติอาจจะยังปรับตัวไม่ทัน หรือยังไม่คุ้นเคยกับการทำงานผ่านระบบดิจิทัลจึงยังใช้ระบบการทำงานแบบเดิมอยู่ อาจจะต้องรอแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงานมีผลบังคับใช้เสียก่อนจึงจะค่อยๆ ปรับตัวไปได้

อย่างไรก็ดี หากประชาชนทราบถึงสาระสำคัญของกฎหมายที่ออกใหม่ สิทธิของประชาชน รวมถึงหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ก็สามารถมีส่วนช่วยกันพัฒนาและผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้นได้ โดยการยืนยันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับปฏิบัติให้ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ

ตัวอย่างเช่น หากเจ้าหน้าที่เรียกให้ส่งมอบเอกสารแสดงตัวที่หน่วยงานของรัฐออกให้ ประชาชนก็อาจอ้างมาตรา 11 และยืนยันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระหว่างหน่วยงานต่างๆ เชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเองได้ หรือถ้าหากประชาชนขอรับข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐก็อาจอ้างมาตรา 17 เพื่อยืนยันที่จะขอรับเอกสารเป็นไฟล์ดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าถ่ายเอกสาร

การยืนยันสิทธิตามกฎหมายนี้อาจทำให้ได้รับบริการไม่รวดเร็วทันใจ หรือทำให้มีอุปสรรคบ้างหากเจ้าหน้าที่ไม่เคยทราบถึงการมีอยู่ของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฯ ฉบับนี้มาก่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานของหน่วยงานของรัฐให้ภาพฝันที่จะเดินหน้าไปสู่สังคมดิจิทัลเป็นไปได้เร็วขึ้น