แก้รัฐธรรมนูญ: คุณก็มีสิทธิเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ โดยร่วมกันลงชื่อ 50,000 คน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นนับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยการตั้ง ‘คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ ขึ้น ซึ่งหลังประชุมนัดที่สองไปเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ก็ได้ข้อสรุปว่าควรเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นประชาชนคู่ขนานไปกับการทำงานของสภา

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอาจไม่ต้องรอให้สภาผู้แทนฯ มารับฟังความเห็นก็ได้ เพราะสามารถริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเอง โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 (1) ให้สิทธิประชาชน 50,000 คน รวบรวมชื่อกันเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือ “ฉบับประชาชน” ต่อรัฐสภาได้ ซึ่งการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ทำตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 เหมือนกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชน 

การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนทำได้โดย ขั้นแรกต้องมี “ผู้ริเริ่ม” หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 คน จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ต้องการแล้วยื่นความประสงค์กับประธานรัฐสภา จากนั้นนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปชักชวนประชาชนให้ร่วมกันลงชื่อพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน เมื่อรวมรายชื่อครบ 50,000 คน แล้วให้ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณานำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาต่อไป

ถึงแม้ว่าประชาชนจะรวบรวมรายชื่อกันครบ 50,000 คนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จแล้ว แต่ขั้นตอนหลังจากนี้ก็ไม่ง่ายนัก ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเสนอต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาอีกสามวาระ โดยในวาระสาม ขั้นสุดท้ายต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันหรือ 376 เสียง และในจำนวนนี้ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน รวมถึงต้องมีเสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 อีกด้วย 

แม้เมื่อผ่านรัฐสภามาได้ แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเกี่ยวข้องกับบททั่วไป พระมหากษัตริย์ วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ ต้องผ่านประชามติก่อนจึงจะสามารถประกาศใช้ได้ นอกจากนี้ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองสภารวมกัน 1 ใน 10 หรือ ส.ส. 50 คน, ส.ว. 25 คน หรือ ส.ส. และ ส.ว. 75 คน สามารถเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเรื่องที่แก้ไขเป็นเรื่องต้องห้ามคือเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปแบบรัฐหรือต้องทำประชามติก่อนหรือไม่อีกด้วย

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนอาจต้องผ่านหลายด่านกว่าจะสำเร็จได้จริง แต่ปัจจุบันก็มีประชาชนอย่างน้อยสองกลุ่มที่ได้เริ่มรวบรวมรายชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกัน​แล้ว ได้แก่ “คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน (คกป.)” ซึ่งเสนอแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นให้สภาผู้แทนฯ รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญด้วยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากนั้นให้นำไปทำประชามติโดยประชาชน และ “กลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเสนอให้แก้ไขให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับ

ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คกป. สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเข้าชื่อ คลิกที่นี่ กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม แนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องให้เหมือนกับที่ลงชื่อในแบบฟอร์ม และส่งเอกสารทั้งหมดไปที่ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน (คกป.) 76/121 หลักสี่สแควร์ ซอย 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10200

ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเข้าชื่อ คลิกที่นี่ กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม แนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องให้เหมือนกับที่ลงชื่อในแบบฟอร์ม และส่งเอกสารทั้งหมดไปที่ อนุรักษ์ เจนตวณิชย์ 80/501 หมู่บ้านทิพวัล ถ.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270 โทร. 081-583-6964

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์