กฎหมายเบื้องต้น เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น

เผยแพร่ครั้งแรกใน คู่มือติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง
โดยเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี ANFREL

 

การปกครองส่วนท้องถิ่นและความพยายาม “กระจายอำนาจ” เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรือกว่า 100 ปีที่แล้ว แต่ในช่วงเริ่มต้นความพยายามนี้เป็นไปภายใต้การดำเนินการของรัฐส่วนกลาง การกระจายอำนาจจึงพอจะเกิดขึ้นได้เท่าที่รัฐส่วนกลางรู้สึกว่า มีความพร้อมและต้องการที่จะทำ 
 

การเติบโตของการปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามอำนาจทางการเมืองที่เปลี่ยนไป การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 และหลังการทำรัฐประหารหลายๆ ครั้ง นำมาซึ่งการออกประกาศคณะปฏิวัติเพื่อจัดสรรอำนาจใหม่ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ทิศทางของการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นสะเปะสะปะ และไม่ต่อเนื่อง จนการเกิดขึ้นของกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เริ่มต้นวางโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมกับความฝันในการกระจายอำนาจครั้งใหญ่

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงการ “กระจายอำนาจ” เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนแปลงทิศทางของอำนาจและอิทธิพลกลุ่มต่างๆ เช่น การยุบเลิก หรือควบรวม หน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในเชิงระบบ ก็จะเกิดกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และมีผู้คัดค้านอยู่เสมอ แม้แต่ในยุครัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจก็ยังไม่อาจสั่งการเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเกรงใจอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในยุคของ คสช. มีความพยายามร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณา
ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีทิศทางชัดเจน และการแก้ไขกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง ทำให้นับถึงปี 2562 ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยก็ยังมีความซับซ้อนและสับสน อำนาจหน้าที่ของหลายองค์กรยังคงทับซ้อนกัน ภายใต้พระราชบัญญัติหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบบเหล่านี้ก็จะยังคงถูกปรับปรุงไปเรื่อยๆ ได้อีกตามความคิดเห็นของผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัย
การปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560
รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นโดยคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และถูกบังคับให้ผ่านการทำประชามติ ที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้บัญญัติถึงหมวด “การปกครองส่วนท้องถิ่น” เอาไว้เป็นหมวดที่ 14 ซึ่งหากดูโดยผิวเผินแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงรับรองหลักการกระจายอำนาจเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนด้วยเทคนิคการ “วางกับดัก”​ ให้สามารถออกแบบกลไกที่ลดทอนการกระจายอำนาจได้ในอนาคต
รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงการเพิ่มการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น เขียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น 
ณัฐกร วิทิตานนท์ อธิบายไว้ในหนังสือ “ตุลาการธิปไตย ศาล และการรัฐประหาร” จัดพิมพ์โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เห็นได้ชัดถึงการซ่อนเงื่อนปมหลายประเด็นเอาไว้ เช่น ตัดข้อความ “ความเป็นอิสระแก่ท่้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง” ออก ไม่ปรากฏคำว่า “กระจายอำนาจ” แม้แต่แห่งเดียวในรัฐธรรมนูญนี้ แม้สมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เขียนเปิดทางให้ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถใช้ “วิธีอื่น” ซึ่งผู้บริหารไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งได้ และยังไม่บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นไว้ชัดเจนด้วย 
ตารางเปรียบเทียบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญ
เนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 รัฐธรรมนูญ 2560
เขียนให้มีอิสระกำหนดนโยบาย / / X
ที่มาของสภาท้องถิ่น เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้ง
ที่มาของผู้บริหารท้องถิ่น รูปแบบพิเศษ เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้งหรือวิธีอื่นก็ได้
วาระดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น 4 ปี 4 ปี ไม่กำหนด
คุณสมบัติผู้บริหารท้องถิ่น ห้ามเป็นข้าราชการประจำ ห้ามเป็นข้าราชการประจำ ไม่กำหนด
แม้ว่า รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดรายละเอียดทางปฏิบัติสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดผลขึ้นในทันที เพราะในทางปฏิบัติต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับ แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ได้ “จงใจไม่เขียนถึง” หลักการหลายอย่างที่ควรจะเขียนรับรองไว้เพื่อให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริง
ท้องถิ่น และท้องที่ ความทับซ้อนในกระจายอำนาจของไทย
ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการที่สอนให้กับนักเรียนทั่วประเทศ จะสอนว่า การปกครองของประเทศไทยมีสามระบบ คือ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น 
การปกครองส่วนภูมิภาค แท้จริงแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนกลางที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ แต่ให้ส่วนกลาง คือ กระทรวงมหาดไทย คัดเลือกและส่งคนไปบริหารงานในจังหวัดต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ จึงถือเป็นคนจากส่วนกลาง ที่ไม่ได้มีที่มาและความรับผิดชอบยึดโยงกับคนในท้่องถิ่น แต่มีหน้าที่รับนโยบายจากส่วนกลางมาปฏิบัติในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองเท่านั้น ในความเป็นจริงผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ แม้จะไม่มีความรู้จักหรือคุ้นเคยกับปัญหาในพื้นที่ของตัวเองเลย แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอิทธิพลมากกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสียอีก
ขณะที่ประเทศไทยมีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้นแล้ว แต่ราชการส่วนภูมิภาคก็ยังต้องการมีอำนาจในระดับย่อยลงไปในพื้นที่อีก จึงยังคงให้มีตำแหน่ง กำนัน สำหรับดูแลท้องที่ระดับตำบล และมีผู้ใหญ่บ้าน สำหรับดูแลท้องที่ระดับหมู่บ้านอีก ซึ่งเรียกระบบการปกครองแบบนี้ว่า การปกครองท้่องที่ เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนภูมิภาคที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของส่วนกลางนั่นเอง ไม่นับว่า เป็นส่วนท้องถิ่น
แม้ว่า ระบบปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้าน และกำนันจะมาจากการเลือกของผู้ใหญ่บ้านอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งถือว่า มีจุดยึดโยงกับประชาชนพอสมควร แต่หลังการรัฐประหารในปี 2549 ได้ให้สิทธิพิเศษกับสองตำแหน่งนี้ คือ ให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมีวาระตลอดไป จากเดิมที่จำกัดเพียง 5 ปี แม้ว่า จะมีความพยายามลดบทบาทของตำแหน่งการปกครองส่วนท้องที่เพื่อถ่ายโอนอำนาจให้ระบบท้องถิ่นแทน หรือพยายามจำกัดวาระ แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ระบบการปกครองส่วนท้่องที่ยังคงอยู่ต่อไป ทับซ้อนกับระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำลังพัฒนาตัวขึ้นมา
พระราชบัญญัติที่ “สำคัญ” สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น
กฏหมายระดับพระราชบัญญัติที่ออกโดยรัฐสภา มีมากกว่า 100 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นและให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพิจารณาเฉพาะฉบับที่เป็นเรื่องของการจัดรูปแบบการปกครองโดยตรง พอจะแบ่งได้เป็นสามประเภท ดังนี้
กฎหมายแม่บท
กฎหมายจัดตั้งองค์กร
กฎหมายที่เกี่ยวเนื่อง
ฉบับที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากที่สุด คือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ซึ่งจะกำหนดขั้นตอนวิธีการจัดการเลือกตั้ง คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คุณสมบัติผู้สมัคร กรอบค่าใช้จ่ายและวิธีการหาเสียง การนับคะแนนและประกาศผล ฯลฯ 
และเมื่อจะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละประเภท หรือแต่ละแห่ง จำนวนที่นั่งและระบบการเลือกตั้งก็ต้องพิจารณาตาม “กฎหมายเฉพาะ” ของท้องถิ่นแต่ละประเภทแยกขาดกันไป ซึ่งกฎหมายเฉพาะเหล่านี้ไม่ได้ร่างใหม่ทั้งฉบับในยุคของ คสช. แต่ทุกฉบับถูกปรับปรุงแก้ไขในปี 2562 และกำหนดระบบของการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเภทนั้นๆ เอาไว้ ได้แก่ จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะต้องเลือกตั้ง วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมทั้งคุณสมบัติ ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร
  กฎหมายหลัก กฎหมายเฉพาะ
ชื่อ พ.ร.บ.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

  – พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

  – พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
  – พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
  – พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
  – พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
ขอบเขตเนื้อหา

 – การดำเนินการเลือกตั้ง
 – ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
 – ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
 – ค่าใช้จ่ายและวิธีการหาเสียง
 – การลงคะแนนเลือกตั้ง คัดค้านการเลือกตั้ง
 – การนับคะแนน และการประกาศผล
 – การควบคุมการเลือกตั้ง
 – บทกำหนดโทษ

     – จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
     – ระบบเลือกตั้ง
     – การแบ่งเขตเลือกตั้ง
     – คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

     
     
     
    โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน
     
    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย แบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ 
    • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
    • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
     
    ประชาชนที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา จะอยู่ภายใต้การปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป ซึ่งประชาชนในจังหวัดหนึ่งๆ จะถูกดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสองระดับไปพร้อมๆ กัน คือ  องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีจังหวัดละ 1 แห่ง มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัดซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น และระดับรองลงมา ได้แก่ เทศบาล ซึ่งเป็นองค์กรในเขตชุมชนเมือง หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งต่างก็มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในเขตของตัวเอง โดยเทศบาลยังแบ่งได้อีกสามประเภท คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ และรายได้ของท้องถิ่น
     
     
    กรุงเทพ
    มหานคร
    เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
    เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล อบต.
     
    เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป และมีรายได้พอสำหรับปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลนคร และมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร

     
    เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป และมีรายได้พอสำหรับปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลเมือง และมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง
     
    เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล
     
    องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีเขตพื้นที่ที่ต้องดูแลอยู่นอกเขตเมือง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ตั้งขึ้นเพื่อดูแลทุกข์สุขและให้บริการประชาชนในหมู่บ้านและตำบลแทนรัฐหรือส่วนกลาง ที่ไม่สามารถจัดบริการสาธารณะ หรือดูแลประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
     
    ข้อมูลจากกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง มีอบจ. 76 แห่ง มี เทศบาล 2,442 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 179 แห่ง เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง และอบต. 5,332 แห่ง
     
     
    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง จะประกอบไปด้วยอำนาจสองฝ่ายสำคัญ คือ ฝ่ายสภา หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร 
     
    “สภาท้องถิ่น” มีอำนาจหน้าท่ีสำคัญ เช่น ริเริ่มและพิจารณาออก ‘กฎ’ ท้องถ่ินท่ีเรียกว่า ‘เทศบัญญัติ’ หรือ ‘ข้อบัญญัติ’ เพ่ือปฏิบัติการให้เป็นไปตามภารกิจขององค์กรนั้นๆ กำกับดูแลการบริหารงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามที่ได้แถลงต่อสภา โดยมีเครื่องมือ เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป และการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ รวมถึงพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 
     
    “นายกฯ” หรือฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น บริหารกิจการ อปท. โดยมีหน้าท่ีรับผิดชอบในการบริหารกิจการขององค์กรตามมติของสภา และหน้าท่ีตามที่กฎหมายต่างๆ กำหนด จัดทำร่างแผนพัฒนา ร่างเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติต่างๆ รวมถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพ่ิมเติม เสนอต่อสภาเพ่ือพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ฯลฯ โดยมีปลัดเป็นฝ่ายข้าราชการประจำทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารกิจการทั้งหลาย
     
    อบจ. มีโครงสร้างการบริหารประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เทศบาลมีโครงสร้างการบริหารประกอบด้วยสภาเทศบาล ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและนายกเทศมนตรี ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร อบต. มีโครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาก็แบ่งการใช้อำนาจออกเป็นสองฝ่ายเช่นเดียวกัน
     
     
     
    ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
     
    ในการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ประชาชนจะมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้แทนฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ในบางกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดวาระไม่พร้อมกัน และจัดเลือกตั้งไม่พร้อมกัน ประชาชนก็จะต้องไปเลือกตั้งแยกเป็นสองครั้ง แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายจะถูกเลือกในคราวเดียวกัน เช่น การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนที่ไปเลือกตั้งก็จะได้บัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อกากบาทเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารในคราวเดียวกัน
     
    สำหรับกรุงเทพมหานคร ประชาชนจะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรง และเลือกสมาชิกสภาเขต หรือ ส.ก. เขตละ 1 คน เขตที่มีประชากรมากกว่า 150,000 คน ให้มี ส.ก. เพิ่มขึ้น 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน สำหรับเมืองพัทยา ประชาชนจะได้เลือกตั้งนายกเมืองพัทยาโดยตรง และเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา ทั้งหมด 24 คน
     
    สำหรับ อบจ. ประชาชนจะได้เลือกนายก อบจ. โดยตรง และได้เลือกสมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมีจำนวนระหว่าง 24-48 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ โดยใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้งให้มีสมาชิก อบจ. เขตเลือกตั้งละ 1 คน หรือถ้ามีได้มากกว่านั้นก็ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นหลายเขตในอำเภอเดียวกัน
     
    สำหรับเทศบาล ประชาชนจะได้เลือกนายกเทศมนตรีโดยตรง และได้เลือกสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาเทศบาลได้ไม่เกิน 6 คน ให้เทศบาลตำบล แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภา 12 คน เทศบาลเมืองแบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภา 18 คน เทศบาลนครแบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภา 24 คน 
     
    สำหรับ อบต. ประชาชนจะได้เลือกนายก อบต. โดยตรง และได้เลือกสมาชิกสภา อบต. จากหมู่บ้านละ 1 คน โดยใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง และให้มีสมาชิกสภา อบต. เท่าจำนวนหมู่บ้าน หรืออย่างน้อยให้มี 6 คน
     
     
    ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่น่าสนใจ
     
    พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ในฐานะกฎหมายหลัก ได้กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภทไว้ ความผิดที่น่าสนใจ มีดังต่อไปนี้ 
     
    1. ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูกตัดสิทธิ

    ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิบางประการ ดังนี้ (1) ถูกจำกัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (2) ถูกจำกัดสิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน (3) ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (4) ถูกจำกัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง (5) ถูกจำกัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ฯลฯ
     
    หากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปแจ้งเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ก็จะไม่ถูกจำกัดสิทธิแต่อย่างใด
     
    2. ผู้สมัคร ต้องไม่ใช้เงินหาเสียงเกินที่กำหนด
     
    กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดให้มีเพดานของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคน เพราะไม่ต้องการให้คนที่มีฐานะดีกว่าใช้ทรัพย์สินมาทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งเพดานค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นแต่ละประเภท และแต่ละแห่ง โดยให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนดตามความเหมาะสม การใช้จ่ายเกินจะเป็นความผิดมีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของเงินที่เกินจำนวนที่กำหนด หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบปี
     
    3. ห้ามบริจาคเงิน ห้ามจัดมหรสพ 
     
    กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น บัญญัติห้ามผู้สมัครกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนด้วยการให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ห้ามการให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด ห้ามทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด
     
    การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ถือว่า มีความผิดและมีโทษหนัก จำคุกตั้งแต่หนึ่ง​ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยี่สิบปี และกฎหมายยังให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ด้วย
     
    4. ห้ามหาเสียงนอกเวลาที่กำหนด 
     
    
กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดกรอบระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น
    (1) ในการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากครบวาระ ให้หาเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบวาระ จนถึงเวลา 18.00 นาฬิกาของวันก่อนวันเลือกตั้ง
    (2) ในการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากยุบสภา ให้หาเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันยุบสภาจนถึงเวลา 18.00 นาฬิกาของวันก่อนวันเลือกตั้ง
    (3) ในการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากตำแหน่งว่าง ให้หาเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ตำแหน่งว่างลงจนถึงเวลา 18.00 นาฬิกาของวันก่อนวันเลือกตั้ง
     
    การฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     
    5. ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง
     
    กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น บัญญัติให้ผู้ที่ทำให้บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับมาจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งชำ รุด เสียหาย เป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์สินด้วย
     
     
     
    กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกแก้ไขเมื่อต้นปี 2562
     
    การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากคณะรัฐประหารหลังการปกครองส่วนท้องถิ่นถูก “แช่แข็ง” ไม่ให้มีการเลือกตั้งทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารชุดใหม่ มานานกว่า 5 ปี เต็ม โดยก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจไป ก็ได้ใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งขึ้นมาเอง และไม่มีเสียงคัดค้านผ่านพระราชบัญญัติหลายฉบับ เพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญทุกฉบับ และออกแบบระบบการกระจายอำนาจขึ้นใหม่ตามที่พอใจ โดยเป็นการผ่านกฎหมายในช่วง “โค้งสุดท้าย” ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2562
     
    พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ที่เป็นกฎหมายหลัก เป็นฉบับเดียวที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด ขณะที่กฎหมายเฉพาะอื่นๆ เป็นเพียงการแก้ไข โดยกฎหมายใหมฉบับที่ผ่าน สนช. ในวันที่ 24 มกราคม 2562 กำหนดว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ กกต. แต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐในจังหวัดนั้น ให้เวลาการออกเสียงลงคะแนนเป็นตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. แต่ กกต. จะกำหนดเวลาการออกเสียงสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นอย่างอื่นก็ได้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครคนเดียว จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มึสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด
     
    วันเดียวกับที่ผ่านกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ก็ผ่านทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับแก้ไข และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ฉบับแก้ไข พร้อมๆ กัน โดยสาระสำคัญของทั้งสองฉบับคล้ายกัน คือ เปลี่ยนคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา ให้ต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป และต้องจบการศึกษาปริญญาตรี โดยให้อำนาจตรวจสอบและวินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรณีของกรุงเทพมหานครเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกรณีเมืองพัทยาเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีโดยตรง
     
    ในพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ ยังกำหนดวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้จำนวน ส.ก. มีน้อยลง ส่วน ส.ข. ยังไม่ให้เลือกตั้งจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560
     
    พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล, พ.ร.บ.เทศบาล และพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งสามฉบับผ่านการพิจารณาของ สนช. พร้อมกันในหนึ่งวันต่อมา คือ 25 มกราคม 2562 เพื่อแก้ไขกฎหมายที่ีมีอยู่เดิม เพิ่มคุณสมบัติของบุคคลที่จะสมัครเข้ารับเลือกตั้งต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี เป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามมีผลประโยชน์ได้เสีย หรือผลประโยชน์ทับซ้อน สั่งห้ามใช้งบประมาณไปอบรมหรือดูงานต่างประเทศ
     
    นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเกี่ยวกับเขตเลือกตั้งใหม่ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ให้ถืออำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าอำเภอใดมีสมาชิกได้เกินกว่าหนึ่งคนให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีในอำเภอนั้น ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. ให้ถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง 
     
    ด้านการเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลตำบล" ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็นสองเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลเมือง" ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็นสามเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลนคร" หรือการเลือกตั้งสมาชิก "สภาเมืองพัทยา" ให้แบ่งเขตเทศบาลหรือเขตเมืองพัทยาเป็นสี่เขตเลือกตั้ง และต้องมีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลเท่ากันทุกเขตเลือกตั้ง
     
    สำหรับการเลือกตั้ง อบต. มีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คือ การกำหนดใหม่ให้สมาชิก อบต. มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 1 คน จากเดิมหมู่บ้านละ 2 คน และกำหนดให้หมู่บ้านขนาดเล็กที่มีประชากรไม่ถึง 25 คน ไม่มีสมาชิกอบต. แต่ให้ไปรวมเลือกตั้งกับหมู่บ้านที่ติดกัน
     
     
     
     
     
     
    เลือกตั้งท้องถิ่นก็ยังคงเป็นการเลือกตั้งของ คสช. 
     
    การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กล่าวได้ว่าเป็น “การเลือกตั้งของ คสช. โดย คสช. เพื่อ คสช.” และได้รับผลตามที่ คสช. ต้องการ คือ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งได้สำเร็จ ที่กล่าวเช่นนี้ เป็นเพราะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญที่ คสช. ร่างขึ้น ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มาจากระบบการคัดเลือกในห้องประชุมปิดลับของ คสช. และ สนช. ร่วมมือกัน และ คสช. เองยังตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งโดยใช้กลไกที่มีอยู่เอื้อประโยชน์ให้ตนเอง และเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นทุกประการ จนเกิดเป็นการเลือกตั้งระดับชาติที่คล้าย “โรงละคร” ที่ คสช. จัดฉากขึ้นเท่านั้น
     
    การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีองค์ประกอบเช่นเดียวกัน นอกจากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายท้องถิ่นอย่างน้อย 6 ฉบับ ที่ผ่านออกมาก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจลง คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังเป็นคนชุดเดิมที่ คสช. คัดเลือกเอาไว้ และพรรคพลังประชารัฐก็ยังคงเตรียมส่งผู้สมัครที่คัดเลือกมาเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในขณะที่กลไกภาครัฐทั้งหมดยังอยู่ในมือ เพื่อหวังได้ผู้บริหารท้องถิ่นที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ซึ่งกันและกันกับรัฐบาลของส่วนกลาง 
     
    เราได้พบเห็นความแปลกประหลาดมากมายในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านไปแล้ว เช่น การห้ามบางพรรคการเมืองทำกิจกรรม การออกนโยบายแจกเงินของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง การสั่งตัดสิทธิผู้สมัครแบบเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการนับคะแนนและการรายงานผลคะแนนที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดและไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งก็คาดหมายได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้อำนาจของคนกลุ่มเดิม น่าจะดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน โดยฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. อาจจะมีโอกาสได้รับชัยชนะบ้างในบางพื้นที่ที่ได่้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างถล่มทลาย แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ก็จะเป็นไปเพื่อนำอำนาจกลับไปรวมศูนย์อยู่ที่ คสช. นั่นเอง