แก้รัฐธรรมนูญ: ตั้ง กมธ. สำเร็จ แต่พลังประชารัฐคุมเสียงข้างมาก แนวโน้มธงคือ “ไม่แก้”

18 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยคะแนนเสียง 445 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เรียกได้ว่า เห็นชอบด้วยกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยกำหนดเวลาพิจารณา 120 วัน และตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 49 คน มาจากการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ด้วยข้อบังคับการประชุมสภาทำให้พรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากในกรรมาธิการซึ่งอาจจะส่งผลต่อการกำหนดตัวประธาน กมธ. ชุดดังกล่าว ทั้งนี้จากรายชื่อที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งพบว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในกมธ.มากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบชื่อบุคคลที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่น่าสนใจอย่าง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้บริหารสื่อเครือเนชั่น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. รวมถึงอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่าง อุดม รัฐอมฤต และปกรณ์ นิลประพันธ์ 
อย่างไรก็ดี จากการอภิปรายของ ส.ส.แต่ละพรรค โจทย์ร่วมสำคัญของแต่ละพรรคการเมืองคือ "ระบบการเลือกตั้ง" รวมถึงสูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ซึ่งทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ โจทย์ร่วมถัดมาคือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก รวมถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหา เช่น การมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่ถูกคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
อภิปรายสองวัน โจทย์ร่วมคือปัญหาระบบเลือกตั้ง
ญัตติตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 และมีการยกญัตติดังกล่าวมาพิจารณาต่อในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 พร้อมกับลงมติในที่ประชุมสภาในวันเดียวกัน 
ตลอดสองวันที่มีการอภิปรายในญัตติดังกล่าว ผู้อภิปรายหลักมาจากฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ควบคู่ไปกับพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคพลังประชารัฐ ส่วนสาระเนื้อหาที่มีการอภิปรายมากที่สุด เป็นปัญหาเรื่องระบบการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเลือกตั้งและวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ที่ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค หรือสภาเสียงปริ่มน้ำที่ทำงานล่าช้าและส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
ประเด็นรองลงมาที่มีการกล่าวถึง คือ เรื่องความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่ที่มาของรัฐธรรมนูญที่ขาดการมีส่วนร่วม กระบวนการออกเสียงประชามติที่มีการปิดกั้นและจำกัดเสรีภาพคนที่เห็นต่างจากคสช. รวมถึงกลไกทางการเมืองที่ช่วยให้ คสช. สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระ หรือ ส.ว.ที่ คสช. เป็นคนคัดเลือกเข้ามาด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ดี ฝ่ายพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ สุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทยและประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อภิปรายตรงกันว่า กมธ.ชุดดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต และจำเป็นจะต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการหาคำตอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาอย่างไรและจะถูกร่างขึ้นใหม่โดยใคร และจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2560 วางเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญไว้อย่างยุ่งยากซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. แต่งตั้งของ คสช. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแล้ว ในบางประเด็นยังจำเป็นจะต้องผ่านการออกเสียงประชามติเสียก่อน เป็นต้น
"พีระพันธุ์-โภคิณ" ผู้ท้าชิงประธาน กมธ. 
ตำแหน่งประธาน กมธ. แก้ไขรัฐธรรมนูญเคยเป็นกระแสที่หลายคนให้ความสนใจ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอชื่อ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชิงตำแหน่งประธานก่อนที่พรรคจะเปลี่ยนใจในภายหลัง แต่ก็ทำให้พรรคอื่นๆ วางตัวคนเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระแสข่าวเตรียมเสนอชื่อ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในยุคคสช. ของพรรคพลังประชารัฐ
คนที่กำลังมาแรงอีกคนหนึ่ง คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตผู้พิพากษา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงเป็น อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะย้ายมารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทำให้ถูกจับตาว่า จะเป็นตัวเต็งเก้าอี้ กมธ. แก้รัฐธรรมนูญ
ด้านพรรคฝ่ายค้าน ตัวผู้ท้าชิงหลัก คาดว่าน่าจะเป็น 'โภคิณ พลกุล' ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านนโยบายและแผนงาน รวมถึงเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ประกาศว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทางฟากอนาคตใหม่ก็คงหนีไม่พ้นปิยบุตร แสงกนกกุล แต่ทางพรรคฝ่ายค้านก็อาจร่วมกันเสนอเพียงคนใดคนหนึ่ง
"พลังประชารัฐ" ครองเสียงข้างมากในกมธ.
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562 ข้อ 91 กำหนดให้ การตั้ง กมธ.วิสามัญ ตั้งจากบุคคลที่ ครม. เสนอชื่อไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด นอกจากนั้นให้ที่ประชุมสภาเลือกจาก ส.ส. ในสภา โดยต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคในสภา 
ด้วยเหตุนี้ทำให้จำนวน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 49 คน แบ่งออกเป็น
รายชื่อที่ ครม. เสนอ จำนวน 12 คน ได้แก่
1.พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์)
2.ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 
3.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 
4.ดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 
5.อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
6.กฤษ เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. 
7.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ 
8.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา 
9.ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 
10.สัมพันธ์ เลิศนุวัตร หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย 
11.โกวิทย์ ธาราณา สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 
12.ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีตกรธ.
รายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอ จำนวน 10 คน ได้แก่
1.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม 
2.จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น 
3.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. 
4.โภคิน พลกุล 
5.ชัยเกษม นิติสิริ 
6.ชูศักดิ์ ศิรินิล
ุุ7.พงศ์เทพ เทพกาญจนา 
ึ8.ประยุทธ์ ศิริพานิช 
9.วัฒนา เมืองสุข
10.ยงยุทธ ติยะไพรัช 
รายชื่อที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอ จำนวน 9 คน ได้แก่
1.วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.สุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.
4.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.
5.นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์
6.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส. นครศรีธรรมราช
7.ทศพล เพ็งส้ม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
8.วลัยพร รัตนเศรษฐ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ
9.สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้บริหารเครือเนชั่น
รายชื่อที่พรรคอนาคตใหม่ เสนอ จำนวน 6 คน ได้แก่
1.ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
4.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
5.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6.ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  
รายชื่อที่พรรคภูมิใจไทย เสนอ จำนวน 4 คน ได้แก่
1.ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่
3.ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง
4.บุญดำรง ประเสริฐโสภา อดีต ส.ส.ราชบุรี
รายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ จำนวน 4 คน ได้แก่
1.บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค
4.เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 
รายชื่อที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอ 1 คน ได้แก่ นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
รายชื่อที่พรรคเสรีรวมไทยเสนอ 1 คน ได้แก่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รายชื่อที่พรรคประชาชาติเสนอ 1 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
รายชื่อที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เสนอ 1 คน ได้แก่ มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่
อย่างไรก็ดี หากดูรายชื่อที่ ครม. เป็นผู้เสนอ จะพบว่า มีรายชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐอีกอย่างน้อย 3 คน และพรรคประชาธิปัตย์อีกอย่างน้อย 2 คน ทำให้สัดส่วน กมธ. ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐเพิ่มเป็น 11 คน และเป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากที่สุดใน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ 
พบชื่อ "ผู้บริหารเนชั่น-อดีต กรธ." เข้าร่วมเป็น กมธ. ด้วย 
จากรายชื่อที่เสนอมา พบว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองอย่างน้อย 41 คน และมีบุคคลที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองอย่างน้อย 8 คน จาก 49 คน ประกอบไปด้วย นักวิชาการจำนวน 4 คน ได้แก่ วุฒิสาร ตันไชย สมชัย ศรีสุทธิยากร เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ถัดมาเป็น อดีต กรธ. สองคนก็ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเข้ามา ได้แก่ ปกรณ์ นิลประพันธ์ และอุดม รัฐอมฤต ถัดมาเป็นข้าราชการประจำ อย่าง กฤษ เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. 
และที่น่าจับตาที่สุดคือ 'สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม' ผู้บริหารสื่อเครือเนชั่น และหนึ่งในผู้ก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย ซึ่งเข้ามาด้วยโควต้าพรรคพลังประชารัฐ
สุดท้ายแล้ว จากรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอเป็น กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ พอจะทำให้เห็นได้ว่า ทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญในทางหนึ่ง คือ "ไม่แก้" ด้วยการตั้งบรรดาองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ประกาศจุดยืนจะไม่แก้อย่างชัดเจนก่อนหน้านี้เข้ามามากหน้าหลายตา อย่าง อดีต กรธ. ผู้บริหารเนชั่น หรือ ไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ หรืออีกทางหนึ่งคือ "ถ้าจะแก้" ก็ต้องแก้ตามทิศทางของเสียงข้างมากที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง