เปิดประชุมสภาสมัยที่สอง: ฝ่ายค้านดันแก้รัฐธรรมนูญ-ศึกษาผลพวงรัฐประหาร

6 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันนัดประชุมครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนับเป็นการประชุมสภาทั่วไปสมัยสามัญครั้งที่สอง ซึ่งมีเวลาการประชุมสภาทั้งสิ้น 120 วัน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาประชุมสมัยสามัญได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี แต่สามารถขยายเวลา หรือ ประชุมนอกรอบที่เรียกว่าวิสามัญได้ 
 
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งแรกมีญัตติที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 เรื่อง ที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ การขอตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ศึกษาผลกระทบจากการใช้ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาเรื่องการทำร้ายนักกิจกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
หนึ่ง เสนอตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการใช้อำนาจพิเศษยุคคสช.
 
ญัตติ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 เป็นเรื่องที่อยู่ในวาระเร่งด่วนเรื่องแรกที่สภาจะต้องพิจารณาในเกิดเปิดประชุมสภาสมัยที่สอง โดยคนเสนอการตั้ง กมธ.วิสามัญ คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ยื่นหนังสือให้สภาพิจารณาขอตั้ง กมธ.ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2562 โดยให้เหตุผลในการตั้ง กมธ. ว่าเนื่องจากเห็นว่าประกาศ คำสั่ง ที่ คสช. ออกยังบังคับใช้เป็นกฎหมาย และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยังส่งกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ต้องมี กมธ.ขึ้นมาศึกษาผลกระทบดังกล่าว
 
สอง เสนอตั้งคณะทำงานศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
 
ญัตติดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วนเรื่องที่สองของการเปิดประชุมสภา โดยคนเสนอการตั้ง กมธ. ดังกล่าวคือ สุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ประสานงานเจ็ดพรรคฝ่ายค้าน และปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยให้เหตุผลในการยื่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้นมีปัญหาถูกวิจารณ์ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ และการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขณะทำประชามติ อีกทั้งตัวรัฐธรรมนูญเองก็มีปัญหาที่เห็นได้ชัดเช่นเรื่องระบบการเลือกตั้งเป็นต้น และเสียงของประชาชนจาก “นิด้าโพล” ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญโดยด่วน ซึ่งปัญหาก็คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ยาก จึงต้องขอตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ก่อน
 
หลังจากนั้นต้นเดือนกันยายน 2562 พรรคประชาธิปัตย์มีมติยื่นญัตติขอจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนามีมติพรรคเช่นเดียวกัน
 
ตามมาด้วย ส.ส. พลังประชารัฐ ยื่นญัตติด่วน ขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
 
สุดท้าย ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ทีประชุมสภาผู้แทนฯ มีมติเอกฉันท์คะแนน 436 เสียง ต่อ 0 เสียง ให้เลื่อนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับที่ 6 ซึ่งก่อนปิดการประชุมสภาสมัยแรกเรื่องเร่งด่วน 5 ลำดับก่อนเรื่องนี้ได้พิจารณาเสร็จสิ้นหมดแล้ว ในการเปิดประชุมสภาสมัยที่สอง วาระการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องได้เข้ารับการพิจารณาจากสภาแน่นอน
     
สาม เสนอตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง
 
ในระเบียบวาระที่ 3, 4 และ 5 ของการประชุมสภาสมัยที่สอง มีญัตติเรื่องขอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาเรื่องการทำร้ายนักกิจกรรม ซึ่งแยกเป็นสามวาระคือ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบและศึกษาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกทำร้าย ที่เสนอโดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย วาระขอตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เสนอโดย สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.พรรคประชาชาติ และอีกวาระคือ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง เสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคต โดยทั้งสามวาระมีเหตุผลในการขอไปในทางเดียวกันคือ เนื่องจากมีนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช. ถูกทำร้ายหลายคนเช่น เอกชัย หงส์กังวาน และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถสืบสวนหาตัวคนผิดได้ จึงทำให้ต้องตั้ง กมธ. เพื่อติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และกมธ.สืบสวนเรื่องราวดังกล่าว