รัฐธรรมนูญ 60 ดีไซน์ให้รัฐบาลอ่อนแอ “คสช. 2” ติดกับสภาเสียงปริ่มน้ำผ่านงบปี 63

“การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ประโยคนี้เป็นจริงเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้การได้เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสองของพล.อ. ประยุทธ์ จะไม่ยาก แต่การนำรัฐบาล "คสช. 2” บริหารประเทศไม่ง่ายนัก
“คสช. 2” เป็นรัฐบาลผสมเกือบยี่สิบพรรคการเมืองแต่มีคะแนนเสียงเพียง “ปริ่มน้ำ” ในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนมากกว่า ส.ส. ฝ่ายค้านไม่เกินสิบคน ทำให้ ส.ส. จำนวนเพียงหลักหน่วยมีผลมหาศาลต่อความเป็นไปของรัฐบาล ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นจากไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คสช. ออกแบบขึ้นมาเอง ที่ในตอนแรกหวังสร้างรัฐบาลผสมที่อ่อนแอเพื่อลดบทบาทนักการเมือง แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบัน คสช. ต้องเผชิญปัญหานี้เสียเอง 
พล.อ. ประยุทธ์ ขอเปิดประชุมสภาสมัย “พิเศษ” เพื่อพิจารณาผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี 2563 ในวันที่ 17-19 ตุลาคม 2562 ซึ่งที่ผ่านมาในสมัย “คสช. 1” ก่อนการเลือกตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คสช. แต่งตั้งขึ้นเป็น “สภาตรายาง” จะผ่านกฎหมายให้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่ในคราวนี้รัฐสภามี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่มีจุดยืนหลากหลาย การพิจารณากฎหมายงบประมาณครั้งนี้จึงอาจไม่ง่ายนักและหากทำไม่สำเร็จ ตามธรรมเนียมทางการเมืองก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
คสช. 2 ตั้งรัฐบาลช้า ต้องพิจารณางบในประชุมสภาสมัยพิเศษ
โดยทั่วไปแล้ว รัฐสภาหรือสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภามีการประชุมสภา “ปกติ” 2 ครั้งต่อปี ครั้งละ 120 วัน เรียกว่า “สมัยประชุมสามัญ” แต่หากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศก็สามารถเปิดประชุมสภาสมัย “พิเศษ” เรียกว่า “สมัยประชุมวิสามัญ” ได้ ตามมาตรา 122 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้” 
อย่างไรก็ดี หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้เวลาถึง 45 วัน กว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ อีกทั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสูตรคำนวณที่นั่งของ กกต. ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีการคำนวณให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่พรรคจะได้ ส.ส. 1 คน
ด้วยปัญหาข้างต้น ทำให้การประชุมสภาสามัญสมัยแรกเริ่มในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และสภาได้เริ่มลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 แต่ทว่า แม้จะมีเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คสช. 2 ยังต้องใช้เวลาประมาณ 35 วัน กว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี ก็ปาเข้าไปวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หรือ ใช้เวลากว่า 108 วัน หรือ 3 เดือนเศษ นับจากวันเลือกตั้งถึงจะมี ครม. ชุดใหม่ การเลือกตั้งสามครั้งหลังสุดในปี 2548 ปี 2550 และปี 2554 ใช่ระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนเท่านั้นนับจากวันเลือกตั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรี 
จนสุดท้าย ครม. ต้องขอเปิดประชุมสภาสมัยพิเศษเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยตราพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2562 ประกาศให้ประชุมตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะประชุมสภากัน 3 วัน จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม
พ.ร.บ. งบปี 63 ให้งบกลางและกองทัพติดอันดับสูงสุด
ในร่างพ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2563 ห้าอันดับที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ หนึ่ง งบกลาง 518,770 ล้านบาท สอง งบกระทรวศึกษาธิการ 368,660 ล้านบาท สาม งบกระทรวงมหาดไทย 353,007 ล้านบาท สี่ งบกระทรวงการคลัง 249,676 ล้านบาท และ ห้า งบกระทรวงกลาโหม 233,353 ล้านบาท
งบกลาง แตกต่างจากงบอื่นตรงที่เป็นเงินที่ไม่ได้ระบุชัดว่าใช้ทำอะไร รัฐบาลจึงนำไปใช้จ่ายได้ค่อนข้างอิสระ  ซึ่งร่างพ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางมีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 47,238 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นในส่วนเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ถึง 41,954 ล้านบาท และเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก 6,000 ล้านบาท 
ส่วนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดห้าอันดับ ได้แก่ หนึ่ง กระทรวงมหาดไทยมีงบเพิ่มขึ้น 25,264 ล้านบาท สอง กระทรวงแรงงานมีงบเพิ่มขึ้น 8,284 ล้านบาท สาม กระทรวงพัฒนาสังและความมั่นคงของมนุษย์มีงบเพิ่มขึ้น 7,938 ล้านบาท สี่ กระทรวงการคลังมีงบเพิ่มขึ้น 6,727 ล้านบาท และ ห้า กระทรวงกลาโหมมีงบเพิ่มขึ้น 6,226 ล้านบาท 
นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร งบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นทุกปี และติดอยู่ในห้าอันดับแรกที่ได้รับงบประมาณสูงสุดตลอด ดังนี้
1. งบประมาณกองทัพปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท
2. งบประมาณกองทัพปี 2559 จำนวน 2 แสนล้านบาท
3. งบประมาณกองทัพปี 2560 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท
4. งบประมาณกองทัพปี 2561 จำนวน 2.22 แสนล้านบาท
5. งบประมาณกองทัพปี 2562 จำนวน 2.27 แสนล้านบาท
6. (ร่าง) งบประมาณกองทัพปี 2563 จำนวน 2.33 ล้านบาท
คสช. 2 ผ่านกฎหมายไม่ง่ายใน ‘สภาเสียงปริ่มน้ำ’
การผ่านงบประมาณประจำปี 2563 ไม่ใช่ครั้งแรกของพล.อ. ประยุทธ์ ในการผ่านงบประมาณประจำปี เนื่องจากตลอด 5 ปีหลังรัฐประหารปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้นำรัฐบาล “คสช. 1” เสนอ พ.ร.บ. งบประมาณปีงบประมาณต่อรัฐสภามาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง รวมเป็นวงเงินกว่า 14 ล้านล้านบาท ได้แก่
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาท
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 5.9 หมื่นล้านบาท 
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 2.73 ล้านล้านบาท
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท                             
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท
๐ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท 
๐ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท
แน่นอนว่า รัฐบาล “คสช. 1” ผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณฯ ได้รวดเร็วทันใจและสะดวกสบายกว่ารัฐสภาหลังเลือกตั้งอย่างมาก เพราะรัฐสภาหลังรัฐประหารเป็น “สภาตรายาง” สภาเดี่ยวที่เรียกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คสช. แต่งตั้งขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งมีทหารเกินครึ่ง เช่น ในปี 2561 สมาชิก สนช.จำนวน 248 คน มีทหารอยู่ 144 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งสภา กล่าวได้ว่านี้คือ “สภาท็อปบู๊ท” ก็ยังได้ 
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าสนช. จะพิจารณาผ่านงบประมาณให้คสช. อย่างรวดเร็วและปราศจากผู้ไม่เห็นด้วย ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 สนช. ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2562 ในวาระสองและสามโดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น โดยในวาระสาม สมาชิกสนช. ลงมติเห็นชอบ 206 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง
แต่ทว่า สภาพของสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันมีความแตกต่างจากสภาแต่งตั้งในอดีตของคสช. กล่าวคือ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถึง 25 พรรคเข้าสภาซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยย้อนหลังไปอย่างน้อย 30 ปี และในจำนวนนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ ส.ส. เพียง 1 คน ถึง 13 พรรค และไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากเด็ดขาด โดยระหว่างการลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ฝ่ายรัฐบาลมีที่นั่งในสภา 252 เสียง ส่วนฝ่ายค้านและฝ่ายค้านอิสระมีที่นั่งในสภา 245 เสียง จาก 248 เสียง เนื่องจากมี ส.ส.ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย และ ส.ส. ลาออก 1 ราย  หรือ เรียกได้ว่าเป็น ‘สภาเสียงปริ่มน้ำ’ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 
อย่างไรก็ดี แม้ คสช. 2 จะมีตัวช่วยอย่าง ส.ว.แต่งตั้ง แต่ทว่า ส.ว. จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณได้ ก็ต่อเมื่อสภาผู้แทนฯ ได้พิจารณาเสร็จก่อน ซึ่งการพิจารณาในชั้น ส.ว. คงไม่เป็นอุปสรรคมาก เนื่องจาก ส.ว. ล้วนได้รับแต่งตั้งจาก คสช. ทั้งสิ้น จนอาจเรียกได้ว่าเป็น "สภาตรายาง ภาคสอง” ก็ได้  ส.ว. ชุดนี้มีจำนวน 250 คน ในจำนวนนี้มีถึง 89 คน เคยรับหน้าที่ สนช. ในยุคคสช. หรือคิดเป็นร้อยละ 35.6 ของส.ว. ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีทหารอยู่ถึง 89 คนในวุฒิสภา
คสช. 2 มีโอกาสล้มปากอ่าว ‘ติดกับดัก’ รัฐธรรมนูญตัวเอง
ประโยคที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ในการตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนผ่านจาก คสช. 1 มาสู่ คสช. 2 ได้สำเร็จ ทั้งนี้ก็เพราะคสช. เป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เอง และได้ออกแบบการเลือกตั้งด้วยตัวเอง และนอกจากเป็นผู้เขียนกติกาเองแล้ว คสช. ยังเป็นผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อตีความและบังคับใช้กติกาเอง รวมถึงเป็นผู้เล่นเสียเองในนามพรรคพลังประชารัฐ
คสช. ได้สร้างระบบเลือกตั้งอันพิสดารที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment MMA) ผสมระหว่าง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวสำหรับ ส.ส. มาคำนวณที่นั่งของ ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปด้วยกัน 
โดยระบบเลือกตั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้พรรคการเมืองที่ประชาชนลงคะแนนให้มากได้จำนวน ส.ส. น้อยลง อีกทั้งบัตรเลือกตั้งใบเดียวยังลดความสำคัญของพรรคการเมืองลง เน้นไปที่ตัวผู้สมัครมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความสับสนรวนเรให้กับประชาชนด้วยนอกจากนี้ ยังมีกติกาการให้ ส.ส. พรรคการเมืองเดียวกันได้รับหมายเลขผู้สมัครหรือเบอร์ต่างกันตามแต่ละเขต
เท่านั้นยังไม่พอ คสช. เตรียมพร้อมและเสริมเครื่องมืออื่นๆ ลงไปทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความได้เปรียบแก่ตนเองและขัดขวางคู่แข่งทางการเมือง อาทิเช่น นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งและมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญให้เกิด “นายกคนนอก” , ส.ว. 250 คน แต่งตั้งโดยคสช. มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับส.ส. และ คสช. ยัฝออกประกาศและคำสั่งจำนวนมาก ที่เป็นตัวการขัดขวางนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยเฉพาะ 
อีกทั้ง ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่า “ดีไซน์” มาเพื่อ “พวกเรา” หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคสช. ก็เป็นการ “ดีไซน์” เพื่อควบคุม “พวกเขา” หรือกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน เรียกว่าได้วาง “กับดัก” เพื่อขัดขวางกลุ่มการเมืองไว้มากมายในรัฐธรรมนูญ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ที่สามารถล้มรัฐบาลได้ หากทำนโยบายไม่สอดคล้อง และมาตรฐานจริยธรรม ที่สามารถถอนสิทธิเลือกตั้งของนักการเมืองได้ 10 ปี หากฝ่าฝืน ฯลฯ 
แต่ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่ากลไกต่างๆ ที่ คสช. วางไว้จะให้ผลร้ายกับ คสช. 2 ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และการตีความสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ของ กกต. ที่ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด และทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากอยู่ในสภา อันเป็นผลให้ คสช. เจออย่างน้อย 2 ปัญหาได้ แก่ สภาพสภาเสียงปริ่มน้ำ และ รัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งทั้งสองปัญหานำไปสู่ปัญหาหลักคือ การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ การเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอทำให้การประชุมสภาสามัญสมัยแรก นอกจากจะเสียเวลาหนึ่งเดือนไปกับการพยายามจัดตั้งรัฐบาลแลัว ยังจบลงไปโดยรัฐบาลเสนอและผ่านกฎหมายไปทั้งสิ้น 2 ฉบับเท่านั้น ได้แก่ พ.ร.บ. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และพ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 
รัฐบาลยังไม่สามารถออกกฎหมายฉบับใดเพื่อทำตามนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลได้สัญญาไว้ตอนหาเสียงได้เลย อีกทั้ง พรรคร่วมรัฐบาลยังลงมติแพ้ถึงสองครั้งในการพิจารณาลงมติแก้ไขร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่งขาดประชุม โดยเฉพาะ ส.ส. ที่เป็นรัฐมตรีและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างๆ 
ก่อนการประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2563 มีทั้งการเลือกตั้งใหม่ในบางเขต และส.ส. จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านโดนคดีความทำให้ขาดคุณสมบัติ ทำให้ พรรคร่วมรัฐบาลมี ส.ส. จำนวน 250 คน ฝ่ายค้านอิสระซึ่งแยกตัวออกจากฝ่ายรัฐบาล 2 คน ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน มี ส.ส. 243 เสียง
ซึ่งถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ในการผ่านวาระแรก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2563 แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่ารัฐบาลต้องลาออก แต่ตามธรรมเนียมทางการเมืองแล้ว เมื่อไม่สามารถผ่านกฎหมายที่สำคัญเช่นนี้ได้ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่หรือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก
งบปี 63 หากรับหลักการแล้ว ต้องผ่านรัฐสภาภายใน 27 ม.ค. 63
งบประมาณแผ่นดินประจำปี คือ แผนการใช้จ่ายและรายได้ของรัฐบาลว่ากระทรวง ทบวง กรมรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะได้รับเงินไปใช้ทำโครงการอะไร เท่าไหร่ ในระยะ 1 ปี ปกติแล้วงบประมาณเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะจัดทำงบประมาณแผ่นดินผ่านการตราเป็น พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งเป็นการขออนุญาตจากตัวแทนของประชาชน ผู้เสียภาษี โดยมาตรา 141 รัฐธรรมนูญระบุว่า ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณฯ ออกไม่ทันปีงบประมาณ ให้ใช้งบประมาณของปีก่อนไปพลางก่อน
กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ มีขั้นตอนหลักสามขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่หนึ่ง การเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งครม. จะเป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ ต่อรัฐสภา ขั้นตอนที่สอง การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนฯ พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณฯ 3 วาระด้วยกัน ได้แก่ วาระที่หนึ่งเป็นการรับหลักการ วาระที่สองเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการ วาระที่สามเป็นการขั้นลงมติเห็นชอบ โดยการลงมติเสียงข้างมากโดยประมาณ (มาตรา 120 รธน l ข้อ 79 ข้อบังคับการประชุม) 
ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะนำไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งพิจารณาสามวาระเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนฯ ถ้า ส.ว. ไม่เห็นชอบด้วย ให้ “ยับยั้ง” ไว้ 10 วัน (มาตรา 138) แล้ว ส.ส. อาจยกร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ กลับมาพิจารณาใหม่ได้ โดยต้องลงมติเห็นชอบด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเท่าที่มีอยู่ หรือมากกว่า 251 เสียง ถ้าสภามีส.ส. ครบ 500 คน 
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ ของรัฐสภาต้องแล้วเสร็จภายใน 125 วัน นับจากวันที่ร่างพ.ร.บ. (มาตรา 143) มาถึงสภาผู้แทนฯ มิเช่นนั้นให้ถือว่าเห็นชอบแล้ว กล่าวคือ ส.ส. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน และ ส.ว. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 25 วัน ส่วนขั้นตอนที่สาม นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้น ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ 
ลำดับเวลาของการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2563 คาดว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำรัฐบาล “คสช. 2”  เสนอร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ พ.ศ. 2563 ให้สภาผู้แทนฯ พิจาราณาวาระที่หนึ่งในวันที่ 17-19 ตุลาคม 2562 ถ้ารับหลักการจะเข้าสู่วาระที่สอง ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างกฎหมายในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 – 3 มกราคม 2563 เสร็จแล้วสภาผู้แทนฯ ให้ความเห็นชอบวาระที่สองและสามในวันที่ 8-9 มกราคม ถ้าสภาผู้แทนฯ มีมติเห็นชอบแล้วก็จะนำไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 20 มกราคม และคาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 27 มกราคม จากนั้นจึงนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป