ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นกฎหมายสูงสุดอีกต่อไป ไร้ฉันทามติ และลดอำนาจประชาชน

5 ตุลาคม 2562 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นับหนึ่งกับการสร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ด้วยการจัดเสวนา “สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ถอดสรุปปาฐกถาหัวข้อ “ปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” โดยปาฐกสองคน คือ สุรพล สงฆ์รักษ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) หัวข้อ "รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในสายตาประชาชน" และ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ปาฐกถา 1 สุรพล สงฆ์รักษ์: สี่ปัญหารัฐธรรมนูญทำพี่น้องประชาชนไม่มีสิทธิอำนาจและการมีส่วนร่วม
สุรพล กล่าวว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายประการทั้งทางด้านเนื้อหาและวิธีการที่สลับซับซ้อนเชื่อมไปมาระหว่างมาตราจนน่าเวียนหัว อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน แบ่งเป็นเรื่องที่สำคัญได้ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กระบวนการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครอง ดังที่ทราบกันแล้วว่า นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง เพียงแต่อาศัยเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดก็สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งในจำนวนนั้นมีเสียง ส.ว. 250 คน สนับสนุนอยู่แล้ว 
ส.ว. เหล่านี้มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ส.ว. แต่งตั้งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ คนเดียวกันกับหัวหน้า คสช. ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ส.ว. แต่งตั้ง ได้ยึดครองพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนในรัฐสภา ถ้ากล่าวในเชิงปริมาณอย่างน้อยก็ครองพื้นที่ 1 ใน 3 แต่ความจริงในทางการเมืองนี้ คือ “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ที่พิทักษ์ปกป้องรัฐบาลนี้ 
ในส่วนขององค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร ไม่ว่าจะเป็น กกต. ซึ่งคัดเลือกโดยคนของ คสช. ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ 3 คนก็เลือกจากที่ประชุมวุฒิสภา ป.ป.ช. 9 คน คตง. 7 คน กสม. 7 คนล้วนแต่ผ่านการเลือกสรรจากที่ประชุมวุฒิสภา ก่อนที่จะเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไทยแต่งตั้ง สรุปว่า การเข้าสู่อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐทั้งทางบริหารและการปกครองมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยมากจนกระทั่งไม่มีเลย 
รูปธรรมที่เป็นปัญหาทางด้านจริยธรรมของนักการเมืองด้วย ก็คือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบ ไม่ยอมพูดว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” รัฐบาลนี้จึงผูกผันและรับผิดชอบต่อประชาชนน้อยมาก ประชาชนไม่อาจคาดหวังความอยู่ดีกินดีภายใต้รัฐบาลนี้ เพราะว่า พยายามไม่ผูกผันใดๆ แม้แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
ประเด็นที่สอง กระบวนควบคุมและตรวจสอบทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการถอดถอนผู้มีอำนาจออกจากตำแหน่ง จริงอยู่ประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คน ถอดถอน ป.ป.ช. ได้ แต่การเข้าชื่อถอดถอนนักการเมือง ส.ส. ส.ว. ประชาชนทำไม่ได้ อำนาจตรงนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมิได้มีที่มาจากประชาชนแต่อย่างใด หากแต่มีที่มาจาก คสช. ดังนั้น การใช้สิทธิทางตรงหรือประชาธิปไตยทางตรงก็เป็นอันงดเว้นสำหรับพี่น้องประชาชนทั้งหลาย สรุปว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่รับรองสิทธิการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมือง ผู้มีอำนาจออกจากตำแหน่ง
ประเด็นที่สาม การสืบทอดอำนาจของ คสช. คสช. แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้ง ป.ป.ช. แต่งตั้ง ส.ว. แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  29 คน ซึ่งมีองค์ประกอบนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี มีรองประธานสภา มีทหาร ตำรวจ มี ผบ.เหล่าทัพ รวม 6 คน ประธานสภาหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานการท่องเที่ยว ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งล้วนแล้วมาจากภาคธุรกิจ และนายธนาคาร  
องค์กรอิสระที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมามีบทบาทสำคัญคอยกำกับควบคุมรัฐบาล โดยเฉพาะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ จากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีบทบาทกำกับควบคุมให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องกระทำการต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างไว้แล้ว
ประเด็นที่สี่ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 255-256 ทำได้ยาก กระทั่งทำไม่ได้เลย และการสืบทอดอำนาจของ คสช. ภายใต้มาตรา 279 อำนาจ คสช. ยังแฝงเร้นดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง ซึ่งเสมือน “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” ที่ปิดบังลักษณะเผด็จการที่เป็นเนื้อแท้ เพราะว่าคำสั่งคสช. ประกาศ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ได้ถูกรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำสั่งและประกาศทั้งหลายที่มีแนวโน้มละเมิดสิทธิ ซึ่งมีปฏิบัติการละเมิดสิทธิประชาชนมาโดยตลอดก็ยังดำเนินต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน 
 
 
โดยสรุป รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้นำอำนาจเหนือรัฐมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ทำให้อำนาจเหนือรัฐที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีตำแหน่งแห่งที่ในทางกฎหมายและทางการเมือง คือ ทำให้มีความชอบธรรมในการบังคับใช้คำสั่ง คสช. หรือประกาศ คสช. ต่างๆ ดังนั้น เหตุปัจจัยมูลฐานและรูปธรรมอำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้น 
นัยยะของรัฐธรรมนูญและผลกระทบต่อการเมืองภาคประชาชน หนึ่ง รัฐธรรมนูญได้ปิดล้อมปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของพี่น้องเกษตรกร สอง ปิดกั้นการเข้าถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ สาม ปิดล้อมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่โหยหาประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ดังที่เป็นข่าวแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับนักการเมืองและนักวิชาการที่เปิดอภิปรายแก้ไขปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
อีกทั้ง รัฐธรรมนูญได้ควบคุมลดทอนยึดคืนพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การใช้อำนาจของประชาชนโดยตรงในการมีส่วนร่วมกำหนดหรือตัดสินใจทางการเมือง การเมืองจึงถูกสงวนไว้โดยชนชั้นนำและภาครัฐเท่านั้น ประชาชนเป็นเพียงมดงานที่ทำงานในทางเศรษฐกิจและให้ชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครองได้เก็บภาษีอากรขูดรีดต่างๆ จากประชาชนต่อไป 
นอกจากนี้ อำนาจอธิปไตยที่บัญญัติว่า เป็นของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสมือนบทบัญญัติที่เป็นเพียงตัวอักษรเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง อำนาจสูงสุดนี้ตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจที่ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชน 
ปาฐกถา 2  เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง: รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีฉันทามติร่วมของประชาชนอีกต่อไปแล้ว 
เข็มทองกล่าวว่า เราพูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เมื่อดูจากสถิติทั่วโลก รัฐธรรมนูญมีการแก้ไขได้ตลอดเวลา อายุเฉลี่ยรัฐธรรมนนูญทั่วโลกอยู่ที่ 9 ปี และอายุเฉลี่ยรัฐธรรมนูญไทย 4.5 ปี ฉะนั้น ถ้าไม่นับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอุดมคติมากๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติ ทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด
“เป็นความย้อนแย้ง ถ้าเราบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตย นั้นแปลว่า ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่สิทธิที่จะคิด หรือปรึกษา หรือริเริ่ม หรือคุยกันว่าควรจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่”
ถ้าเราเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญจริง เราต้องมีสิทธิคิดหรือพูด ว่าเราจะแก้หรือไม่แก้ แน่นอนว่าจากการพูดไปสู่การทำจริงเป็นหนทางยาวไกล และมีรายละเอียดมากว่าจะแก้อะไร แก้ยังไง แก้ถูกหรือแก้ผิดศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคนตัดสิน ตามกลไกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
“แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด เสรีภาพในการแสดงออก การคุยกันในแต่ละมาตรา ไม่ใช่อาชญากรรม มันพูดได้” 
คำถามใหญ่ คือ เรามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอะไร เป็น “กฎหมายสูงสุด" หรือ “คู่มืออำนาจ”? แต่ละคำตอบมีปัญหาและวิธีการแก้คนละเส้นทาง ถ้าตอบว่า คู่มืออำนาจ รัฐธรรมนญก็ไม่ต่างจากกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป เป็นการใช้อำนาจของภาครัฐ เช่น รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการจะแก้วันนี้เลยก็ได้ ถ้าตอบว่า เป็นกฎหมายสูงสุด แลัวรัฐธรรมนูญมีเจตจำนงร่วมของประชาชนหรือไม่ ปัญหาก็คือความชอบธรรมและวิธีการแก้ไขยุ่งยาก 
ถ้าพูดถึงความชอบธรรม คนคงเชื่อกันน้อยเต็มที่แล้วว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรคิดว่า เป็นกติกาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้กำกับสังคม แต่ความสงสัยใดๆ ว่า เป็นกติกาของทุกคนหรือเปล่าก็หมดไปในวันที่มีคนพูดว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเขา" เท่ากับว่า มีคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ถูกนับรวม 
เราคิดว่า มันคงไม่มีเจตจำนงร่วม ซึ่งเห็นตั้งแต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแล้วที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และไม่มีเสรีภาพที่จะพูดว่า ไม่เอารัฐธรรมนูญ คดีความต่างๆ ในช่วงประชามติยืนยันเรื่องนี้ได้ดี แล้วผลของประชามติเราก็เห็นแล้วว่า เป็นเช่นไร
“ถ้าบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นลูกหรือเป็นทายาท มันก็เกิดจากการสมรสที่เป็นพิษ (Toxic) ระหว่างความไร้เดียงสากับความฉลาดแกมโกง” 
คนจำนวนมากที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดว่า “รับๆ ไปเถอะ” แล้วค่อยโหวตตอนเลือกตั้ง ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่เป็นจริงเพราะคนที่ร่างก็คิดเหมือนกันว่า จะอยู่ในอำนาจต่อไป 
ถามว่าวันที่ออกเสียงประชามติโดยข้อมูลไม่ครบ เราเลือกรัฐธรรมนูญฉบับไหน? รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับบทเฉพาะกาล หรือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่แปลงร่างมาอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังให้ คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือการล้างสมาชิกภาพของพรรคการเมือง
“อะไรที่ คสช. ใช้ไม่มีเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เราคิดไว้ว่าเป็นมาตราที่ 1 ถึงมาตรา 260 กว่าๆ เลยเพราะมันเป็นรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่แฝงตัวเข้ามา แล้วเราก็คิดว่า เรากำลังโหวตรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับเต็ม แต่จริงๆ สิ่งที่เอามาใช้ตอน 5 ปีแรก คือ ฉบับบทเฉพาะกาล”
การทำประชามติไม่ได้ช่วยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิไตยมากขึ้นเลย พอพูดถึงฉบับประชาชนคนคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งไม่มีการทำประชามติ นี่ก็เป็นความ “กลับหัวกลับหาง” ของระบอบรัฐธรรมนูญ 
ลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญเป็นเหมือน “โครงกระดูก” แต่รัฐธรรมนูญจะมี “เนื้อหนัง” เป็นระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ต้องใช้งานนานมากพอ นิ่ง และสม่ำเสมอ แล้วระบอบจะมีความหมาย ถ้าร่างใหม่อยู่เรื่อยเช่นนี้ โดยไม่ยึดโยงกับฉบับเก่าเลย อย่างมากก็เป็นแต่คู่มืออำนาจที่ใครหยิบฉวยได้ทันก็นำมาแสวงหาประโยชน์ 
เราพูดกันบ่อยถึงระบบเลือกตั้ง หรือที่มา ส.ว. จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ เรายังไม่ “ลิ้มรส” รัฐธรรมนูญนี้อย่างเต็มตัว หากเริ่มกลไกนิติบัญญัติอีกสักระยะหนึ่งจะมีเรื่องวินัยการคลัง แปรญัติงบประมาณ เราจะได้รู้กันเลยว่า คู่มืออำนาจนี้ใช้งานได้ดีหรือเกิดข้อพิพาทกันแน่
ถึงกระนั้น สำคัญที่สุดคือสิ่งที่เราไม่ได้เถียงกันตั้งหาก ซึ่งเป็นเรื่อง “ความรับผิดรับชอบ”  (Accountability) ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เราพูดกันอยู่แค่ครึ่งเดียว คือ "ส.ว. และ ส.ว." แต่สิ่งที่หายไปเลยคือ ศาลและองค์กรอิสระ 
องค์กรอิสระมีปัญหา ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกถวงถามความเป็นกลาางและถูดลดเกรดลงในระดับนานาชาติ
“ไม่น่าเชื่อว่า กกต. ชุดการเลือกตั้งกุมภาปี 2557 เราคิดว่า กกต. ชุดนั้นปฏิบัติงานได้แย่มาก มาวันนี้อดีต กกต. จากชุดนั้น กลายเป็นฮีโร่ในการสอนมวย กกต. ชุดนี้ เราคิดว่า สุดแล้วยังมีสุดอีก ไม่รู้ฉบับหน้าจะไปสุดที่ไหน”
ถ้าเราไม่แก้ปัญหาเรื่องความรับผิดรับชอบ จะใช้รัฐธรรมนูญแล้วเกิดผลอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ ถ้าป.ป.ช. ไม่ตรวจสอบทุจริต ถ้ากรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้า กกต. ไม่จัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่มีความหมาย
ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างพื้นที่ศักสิทธิ์ขึ้นมาที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปไม่ได้นั่นคือ “พื้นที่การปราบปรามทุจริต” เราแก้ที่มา ส.ว. ไม่ได้ เพราะทำให้ระบบตรวจสอบในสภาเสียไป พื้นที่ศักสิทธิ์ถูกขยายไป ระบบเลือกตั้งเป็นระบบตรวจสอบทุจริตแบบหนึ่ง พอจะแก้มาตราไหนก็เป็นเรื่องการตรวจสอบทุจริต แล้วก็จะขยับไม่ได้ ทำอย่างไรให้ฝ่าด่านนี้ไปเป็นโจทย์ให้กับพรรคการเมือง
สุดท้ายนี้ ปัญหาที่ยากที่สุด คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีฉันทามติร่วมของประชาชนอีกต่อไปแล้ว และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเราจะสร้างฉันทามตินี้ขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร ปาฐกถานี้ไม่มีทางออกของปัญหา แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือขออวยพรให้โชคดี