#ขบวนเสด็จ สนั่นโลกทวิตเตอร์ เปิดกฎหมายเรื่องการจราจรและขบวนเสด็จ

 
ช่วงค่ำของเมื่อวานนี้ (1 ตุลาคม 2562) แฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ประเทศไทย และกระแสกำลังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเที่ยงของวันที่ 2 ตุลาคม กลายเป็นเทรนอันดับหนึ่ง กว่า 250k ทวีต ทิ้งห่างเทรนด์อันอับสองกว่าสิบเท่าตัว
 
 
ประเด็นที่ชาวทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวข้องกับภาพที่อ้างว่า เป็นการปิดกั้นทางจราจรที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยถนนเส้นที่ปิดกั้นนั้นมีรถฉุกเฉินที่กำลังเปิดสัญญาณฉุกเฉินอยู่ในเส้นทางดังกล่าวด้วย แต่หลังจากที่ตำรวจไปลงไปในบริเวณดังกล่าว รถฉุกเฉินกลับปิดสัญญาณฉุกเฉินทั้งไฟฉุกเฉินและเสียงไซเรน ขณะที่บางรายระบุว่า การปิดกั้นทางจราจรเนื่องจากขบวนเสด็จ
 
 
 
ตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว การที่รถฉุกเฉินอย่างรถพยาบาลเปิดสัญญาณไซเรนเช่นนี้ รถที่สัญจรไปมาจะต้องเปิดทางให้รถฉุกเฉินไปก่อน เราจึงลองไปเปิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องดูว่า ตามกฎหมายแล้วหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร
 
 
พ.ร.บ.จราจรฯให้รถฉุกเฉินไปก่อน แต่รถนำขบวนเสด็จอาจไม่ถูกบังคับด้วย
 
 
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก 2562 หรือพ.ร.บ.จราจรฯ นิยามคำว่า “รถฉุกเฉิน” หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้
 
 
โดยพ.ร.บ.จราจรฯ กำหนดให้ผู้ขับรถฉุกเฉินมีสิทธิในการใช้ไฟสัญญาณหรือสัญญาณไซเรนหรือเสียอื่นใดตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด, หยุดรถหรือจอดรถในที่ห้ามจอดหรือขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร
 
ขณะที่ผู้ร่วมสัญจรอย่างคนที่กำลังเดินอยู่บนทางเท้าใกล้เคียงก็ต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง และผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะอื่นจะต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางแยกที่มีถนนสองเส้นตัดกัน นอกจากนี้ยังกำหนดครอบคลุมไปยังผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง
 
 
อย่างไรก็ตามรถนำขบวนบุคคลสำคัญอย่างพระมหากษัตริย์, พระราชินี, พระบรมวงศานุวงศ์, ผู้นำทางการเมืองหรืออาคันตุกะที่มาเยือนประเทศไทย อาจเป็น "รถฉุกเฉิน" ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่า รถนำขบวนบุคคลสำคัญและรถพยาบาลมีสถานะเป็น "รถฉุกเฉิน" เช่นเดียวกัน แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุว่า หากรถฉุกเฉินสองลักษณะมาเผชิญกันจะต้องให้รถลักษณะใดได้ไปก่อน
 
แนวปฏิบัติให้รถพยาบาลวิ่งสวนเปิดไซเรน แต่กฎหมายเปิดช่องเจ้าหน้าที่ห้ามพฤติการณ์ไม่เหมาะสมได้
 
 
การปิดกั้นทางจราจรจากกรณีการเสด็จราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์หรือบุคคลสำคัญทางการเมืองต่างๆ เป็นที่พูดถึงอยู่เรื่อยมา เท่าที่สามารถสืบค้นได้พบว่า ในปี 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เก้าได้มีพระราชปรารภกับพระราชเลขาธิการเรื่องปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดที่มากขึ้น โดยเฉพาะที่มีขบวนเสด็จ หากต้องปิดการจราจรเวลานานจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก จึงมีพระราชกระแสให้ราชเลขาธิการพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดทำแนวทางและคู่มือปฏิบัติไว้แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเจ้าหน้าที่ภาคสนามเกรงกลัวจะถูกตำหนิและถูกลงโทษ
 
 
จนกระทั่งในปี 2553 ราชเลขาธิการได้น้อมพระราชกระแสในเรื่องดังกล่าวมาอีกครั้งหนึ่ง จึงจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน เป้าหมายหลักสำคัญ คือ ถวายความสะดวกการจราจรและถวายความปลอดภัย, อย่าให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือหากจะมีต้องให้น้อยที่สุด และสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
โดยแนวปฏิบัติในเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินในพื้นราบถนนให้ปฏิบัติโดยหลัก ดังนี้
 
หนึ่ง ขบวนเสด็จฯ ผ่านถนนที่มีช่องทางคู่ขนาน ให้รถวิ่งในช่องทางคู่ขนานได้ตามปกติ
 
สอง ถนนที่ไม่มีช่องทางคู่ขนาน จะมีเกาะกลางถนนหรือไม่มีก็ตามและมีช่องทางเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่สองช่องทางขึ้นไป ให้เปิดการจราจรให้รถวิ่งสวนกับขบวนเสด็จฯ ได้ตามปกติ แต่ไม่อนุญาตให้ “รถที่วิ่งสวน” ใช้สัญญาณไฟ ยกเว้นรถพยาบาลที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น
 
สาม ถนนที่ไม่มีเกาะกลางถนน แต่ละฝั่งมีช่องทางเดินรถสวนกันได้เพียงช่องทางเดียว ฝั่งตรงข้ามไม่ต้องปิดการจราจร แต่ให้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก
 
สี่ เส้นทางเสด็จฯ ที่มีสะพานลอยรถข้ามให้เปิดการจราจรวิ่งปกติ หรือเป็นสะพานลอยคนเดินข้ามให้เปิดให้ประชาชนเดินข้ามตามปกติ แต่ต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยเมื่อขบวนเสด็จฯ ผ่าน
 
 
อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวเมื่อประกาศออกมาในปี 2553 แล้ว มีสถานะอย่างไรและยังคงบังคับใช้หรือไม่ นอกจากนี้ในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเสด็จพระราชดำเนินยังมีระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษา ความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทน พระองค์ พระบรมวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ 2546 ที่กำหนดบททั่วไป คือ การถวายความปลอดภัยจะต้องมีความพร้อมทั้งการป้องกันและการตอบโต้และการวางแผนที่รัดกุม รวมทั้งการถวายพระเกียรติด้วย ซึ่งจัดให้มีศูนย์รักษาความปลอดภัย มีกรรมการคณะหนึ่ง
 
 
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชฐานหรือที่ประทับให้คณะกรรมประกอบด้วยสมุหราชองครักษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัย โดยให้ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนพฤติการณ์ และสืบสวนหาข่าวที่อาจจะเป็นภัย หรือ “พฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม” อื่นๆ ก่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง โดยเปิดช่องว่า หากพบ “พฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม” ให้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ได้