Civil Space Project พื้นที่กิจกรรมสาธารณะสำหรับภาคประชาสังคมไทย

 

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนจึงถูกปิดกั้น ไม่เพียงโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมาย แต่โดยการใช้อำนาจทางอ้อมเข้ากดดัน ทำให้กิจกรรมของภาคประชาสังคมเกิดขึ้นได้ยาก
ภายใต้ระยะเวลากว่าห้าปีที่กิจกรรมสาธารณะถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความพยายามเข้าปิดกั้นหรือแทรกแซงรวมมากกว่า 200 ครั้ง เมื่อภาคประชาสังคม ต้องการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกต่อประเด็นที่เห็นต่างจากรัฐก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันสารพัดรูปแบบ เช่น การขอให้เปลี่ยนหัวข้อ การขอให้เปลี่ยนผู้พูด การบีบเวลาหรือบีบพื้นที่จัดกิจกรรม โดยแนวทางหลักที่ใช้คุกคามบ่อยที่สุด คือ การกดดันเจ้าของสถานที่ให้เลิกการอนุญาตให้ใช้สถานที่
หากสถานที่ที่จะใช้จัดกิจกรรมอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐ หรือเป็นสถานศึกษา ผู้ถืออำนาจรัฐก็ใช้ “ส่งสัญญาณ” ผ่าน “คอนเนคชั่น” เพื่อให้ยกเลิกการใช้สถานที่ได้โดยง่าย หากสถานที่ที่จะใช้จัดกิจกรรมเป็นการเช่าสถานที่ของเอกชน เพียงการโทรศัพท์สายเดียวของตำรวจหรือทหารก็มีผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่อยากมีปัญหาตัดสินใจ “คืนเงินมัดจำ” ได้ในทันที
และเพื่อให้เกิดความยากลำบากกับผู้จัดกิจกรรมมากที่สุด
การกดดันเพื่อให้ยกเลิกกิจกรรมมักเกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 วัน ก่อนจัดกิจกรรมจริง
ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือหาสถานที่ใหม่ได้ทัน
บรรยากาศที่ถูกบีบคั้นเช่นนี้ ส่งผลต่อการแสดงออกของภาคประชาสังคมอย่างมาก

 
ประการแรก ภาคประชาสังคมต้องถูกบีบให้เหลือสถานที่ที่เลือกใช้จัดกิจกรรมได้ไม่มากนัก เมื่อจะจัดกิจกรรมพูดถึงเนื้อหาที่มีความขัดแย้ง การเช่าโรงแรม ขอใช้สวนสาธารณะ หรือสถานที่ราชการ แทบจะเป็นไปไม่ได้ เหลือเพียงมหาวิทยาลัยบางแห่งที่การเดินทางไม่สะดวกเท่านั้นที่ผู้บริหารพยายามยึดหลักการและยอมเปิดพื้นที่ให้ใช้ห้องเพียงบางห้องเท่านั้น

ประการที่สอง ภาคประชาสังคมที่จะจัดกิจกรรมต้องเรียนรู้วิธีการ “หลบหลีก” การปะทะโดยตรง เช่น การไม่เชิญวิทยากรที่พูดจาตรงไปตรงมา หรือการตั้งชื่อหัวข้อที่ฟังดู “ไม่รุนแรง” จนเกินไป เพื่อให้เจ้าของสถานที่สบายใจ และให้ตำรวจหรือทหารยอมปล่อยให้กิจกรรมพอจะดำเนินไปได้

ประการที่สาม ภาคประชาสังคมที่จะจัดกิจกรรมใดๆ ก็ต้องใช้สมาธิไปอย่างมากกับการขออนุญาตและชี้แจงกับเจ้าของสถานที่ รวมทั้งฝ่ายตำรวจหรือทหาร หลายครั้งต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ และต้องเตรียมแผนการรองรับหากกิจกรรมถูกกดดันให้ต้องยกเลิกในวันสุดท้าย

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคเช่นนี้ ส่งผลให้กิจกรรมสาธารณะของภาคประชาสังคม ลดลงทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ 

หลายต่อหลายครั้งที่กลุ่มนักศึกษาหรือภาคประชาชน วางแผนจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารในประเด็นสำคัญแล้วต้องยกเลิกไปเพราะหาสถานที่ไม่ได้ทันเวลา หรือหลายครั้งที่ต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหา จนที่เหลือออกสู่สาธารณะไม่ได้เป็นไปตามความตั้งใจจริงของผู้จัด ซึ่งสภาวะเช่นนี้ สาธารณชนที่ติดตามข่าวสารอาจไม่ได้รับรู้ว่า มีประเด็นที่สำคัญมากขนาดไหน และจำนวนเท่าใด ที่ถูกกดดันให้ไม่มีพื้นที่แสดงออกจนประเด็นเหล่านั้นต้องเลือนหายไปจากสังคม สำหรับคนที่พยายามสร้างสรรค์กิจกรรมอยู่เสมอก็จะทราบดีว่า ส่วนที่ประสบความสำเร็จสามารถสื่อสารต่อสาธารณะได้จริงนั้น เหลือความเข้มข้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
เมื่อมองสถานการณ์สังคมและการเมืองไทยไปภายภาคหน้า การเดินหน้าไปสู่ “สังคมประชาธิปไตย” ยังเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อกลไกทางการเมืองยัง “ติดล็อก” ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ออกมาในยุค คสช. ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจากฐานราก จึงแทบจะเป็นหนทางเดียวและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ได้ และจำเป็นที่ต้องช่วยกันสร้างให้มีปริมาณและคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ 
ไอลอว์และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งติดตามเก็บข้อมูลกรณีการปิดกั้นการจัดกิจกรรมมานานกว่าห้าปี ทราบดีถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากบรรยากาศเช่นนี้ จึงต้องการลงแรงร่วมกันสร้าง “Civil Space Project” เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับภาคประชาสังคมไทย ที่สามารถใช้จัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะได้ทุกประเด็น และทุกเวลา
พื้นที่แห่งนี้ ในทางกฎหมายจะเป็นเจ้าของโดยไอลอว์ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะรับประกันว่า เจ้าของสถานที่จะไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจนอกกฎหมายกดดันให้ยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรม ส่วนในทางสังคมจะเป็นเจ้าของร่วมกันโดยผู้ที่ลงทุนลงแรงสร้างสรรค์ขึ้นด้วยกันทุกคน
พื้นที่ “Civil Space” ที่จะเหมาะสมสำหรับการจัดกิจกรรมสาธารณะ ให้ทุกคนสามารถเดินทางไปร่วมกิจกรรมได้ จะต้องตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่เดินทางสะดวก ซึ่งต้องใช้ต้นทุนในการเริ่มต้นเป็นจำนวนไม่น้อย
ในระยะเริ่มต้น เราจึงแสวงหาความร่วมมือจากสาธารณะ ดังนี้
๐ ขอรับบริจาคที่ดินในทำเลที่เหมาะสม เพื่อสร้าง Civil Space หรือ
๐ ขอความอนุเคราะห์ เจ้าของที่ดินในทำเลที่เหมาะสม เพื่อซื้อในราคาพิเศษ หรือ
๐ ขอความอนุเคราะห์ เจ้าของที่ดินในทำเลที่เหมาะสม เพื่อเช่าในราคาพิเศษ เป็นระยะเวลาสามสิบปี
ในระยะกลาง ถ้าหากมีที่ดินที่เหมาะสม เราจะแสวงหาความร่วมมือจากสาธารณะ ดังนี้ 
๐ ขอรับบริจาคเงินรายใหญ่และรายย่อย เพื่อสมทบทุนในการสร้าง Civil Space ให้เป็นจริง
๐ ขอรับบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับการจัดสร้าง Civil Space เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องเสียง เวที อุปกรณ์จัดกิจกรรม ฯลฯ
๐ ขอความอนุเคราะห์ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ร่วมกันออกแบบและลงแรงต่อเติมรายละเอียดของสถานที่แห่งนี้
ในระยะยาว ถ้าหากสร้าง Civil Space สำเร็จ เราจะแสวงหาความร่วมมือสาธารณะ โดยขอเชิญชวนทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อ

๐ จัดกิจกรรมแสดงออกต่อสาธารณะ โดยไม่ต้องเกรงกลัวการปิดกั้นหรือแรงกดดันจากรัฐ
๐ พบปะ สังสรรค์ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในประเด็นปัญหาทางสังคมที่สนใจ
๐ ทำงาน อ่านหนังสือ พักผ่อน ตามอัธยาศัยร่วมกับเพื่อนที่สนใจประเด็นคล้ายๆ กัน 
โดยเสียค่าใช้จ่ายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อรักษาพื้นที่นี้ไว้อย่างมีคุณภาพ
สำหรับผู้ที่สามารถให้ความอนุเคราะห์เรื่องที่ดินในระยะเริ่มต้นได้ ติดต่อเราทาง [email protected]