Roundup การประชุมสภาสามัญสมัยแรก ภายใต้ยุค คสช. 2 ส.ส. และ ส.ว. ทำอะไรไปกันแล้วบ้าง?

จบลงไปแล้วสำหรับการประชุมสภาสมัยแรก ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จุดยืนและลีลาหลากหลายออกมาวาดลวดลายอภิปรายในประเด็นปัญหาต่างๆ ในสภา บรรยากาศการเมืองที่เห็นได้ยากยิ่งตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รัฐสภามีหน้าที่หลักในการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในการประชุมสภาสมัยแรก ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 – 19 กันยายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรได้พยายามอย่างยิ่งที่จะเล่นบทตรวจสอบรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมการทำงานสำหรับการประชุมสมัยถัดๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการร่างข้อบังคับประชุมฉบับใหม่ หรือการตั้งคณะกรรมาธิการหลายสิบคณะ
อย่างไรก็ดี รัฐสภาชุดนี้ยังห่างไกลกับการทำหน้าที่นิติบัญญัติ เพราะออกกฎหมายสำเร็จเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวโยงกับนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนเลย อีกทั้ง สภาผู้แทนฯ ยังล้มเหลวในตั้งคณะกรรมาธิการสามัญผู้มีความหลากหลายทางเพศ “LGBTQ” และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนให้ความสนใจก่อนการเลือกตั้ง

ถึงกระนั้น การประชุมสภาสมัยแรกก็สร้างกระแสได้เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก ในนัดสำคัญแม้จะเป็นวันทำงานแต่ก็มียอดผู้ติดตามชมถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์หลายหมื่นคน “ไฮไลท์” เรื่องเด่นของการประชุมสภาสมัยแรก อาทิ เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวและถูกเชิญออกจากที่ประชุมสภา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เพียง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นจุดสนใจทั้งสองครั้ง และ ส.ว. แต่งตั้ง 250 “พรรค ส.ว.” ที่ปฏิบัติหน้าที่ยังกับเป็นพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล
ประชุมสภาทั่วไปสมัยสามัญ ปีละสองครั้งๆ ละสี่เดือน
รัฐสภา หรือ สภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา มีการประชุมสภา “ปกติ” 2 ครั้งต่อปี หรือที่เรียกว่า “สมัยประชุมสามัญ” โดยการประชุมสามัญประจำปีของรัฐสภาแต่ละสมัยมีระยะเวลา 120 วัน หรือ 4 เดือน ซึ่งมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า จะปิดสมัยการประชุมก่อนครบกำหนดเวลาไม่ได้ แต่จะขยายเวลาออกไปให้ยาวขึ้นได้ 
รัฐสภาจะเปิดประชุมครั้งแรก ภายใน 15 วันหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยพระมหากษัตริย์เสด็จทำพิธีเปิดประชุมสมัยแรกด้วยพระองค์เอง จากนั้น แต่ละสภาเลือกประธานสภาของตัวเอง ซึ่งประธานสภาผู้แทนฯ จะเป็นประธานรัฐสภาด้วย เสร็จแล้วจะมีการประชุมสภาเลือกนายกรัฐมนตรี และเมื่อนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลได้แล้วก็ทำการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ภาพรวมจาการเลือกตั้ง 24 มีนาถึงปิดประชุมสภา 19 กันยา 
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 จากนั้น พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 ประกาศให้เริ่มประชุมสภาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดวันประชุมทุกวันพุธและพฤหัสบดี เริ่มสมัยประชุม ปีที่หนึ่ง สมัยสามัญแรก ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 – 19 กันยายน 2562 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทำพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ในวันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติเลือก พรเพชร วิชิตชลชัย เป็น “ประธานวุฒิสภา” วันถัดมา 25 พฤษภาคม 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ลงมติเลือก ชวน หลีกภัย เป็น “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเท่ากับว่า เป็น “ประธานรัฐสภา” ด้วย เมื่อเลือกประธานสภาเรียบร้อยแล้ว วันที่ 5 มิถุนายน 2562 สองสภาประชุมร่วมกันและลงมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 

ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หลังเลือกตั้งเสร็จกว่าสามเดือน พล.อ. ประยุทธ์ จึงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ได้ 36 คน จากนั้น ประมาณสองอาทิตย์ พล.อ. ประยุทธ์ นำ ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2562 
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สรุปผลงานของการประชุมสภาผู้แทนฯ ชุดที่ 25 ปีที่หนึ่ง และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 มีการประชุมสภาผู้แทนฯ รวม 24 ครั้ง สภาผู้แทนฯ ผ่านกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สองฉบับ ส.ส. ขอปรึกษาหารือในที่ประชุมสภา 1,399 ข้อหารือ ฯลฯ และประชุมรัฐสภา 4 ครั้ง ขณะที่วุฒิสภามีการประชุม 19 ครั้ง
พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2562 ประกาศให้ปิดประชุมสภาตั้งแต่ 19 กันยายน 2562 เป็นต้นไป โดยก่อนปิดประชุม 1 วัน ในวันที่ 18 กันยายน 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ในประเด็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
รัฐสภาผ่าน พ.ร.บ. เหรียญ 2 ฉบับ ยังไม่ออกกฎหมายตามนโยบายที่หาเสียงได้เลย
รัฐสภา หรือ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” มีหน้าที่หลักในการออกกฎหมาย ตรงกันกันข้ามกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่แล้วที่ออกกฎหมายรวมได้ 444 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละแปดฉบับ รัฐสภาไทยชุดปัจจุบันออกกฎหมายไปทั้งสิ้น 2 ฉบับในการประชุมสภาสมัแรก ได้แก่ พ.ร.บ. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และพ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 
ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 คณะรัฐมตรีได้เสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาแทนญัตติอื่น จากนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญของร่างกฎหมาย และ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่กังวลการปลอมเหรียญ หลอกขาย ซึ่งหาได้ง่ายบนเว็บไซต์ขายของออนไลน์ จึงอยากให้รัฐบาลจัดการจับกุม วิษณุ รับไว้พิจารณาและชี้แจงว่า รัฐบาลจัดการมาตลอดอยู่แล้ว
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการ พร้อมตั้งกรรมาธิการเต็มสภา แล้วจึงลงมติเห็นชอบแบบเอกฉันท์ "สามวาระรวด" ในวันเดียวกัน โดยเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … ด้วยคะแนน 455 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … ด้วยคะแนน 464 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ต่อมา ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้ร่างกฎหมายทั้งสองใช้เป็นกฎหมายต่อไป เป็นการผ่านกฎหมายสองฉบับแรกของรัฐสภาชุดปัจจุบัน และเป็นเพียงสองฉบับที่ได้รับการเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมายในการประชุมสภาสมัยแรก 
แม้ว่าก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พรรคการเมืองทั้งหลายต่างหาเสียงด้วยนโยบายที่มีสีสัน เช่น การทำให้บริการ Grab ถูกกฎหมาย, การให้คนรักเพศเดียวกันสมรสได้ หรือการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ออกเพื่อทำตามนโยบายที่พรรคการเมืองได้สัญญาไว้ตอนหาเสียงได้เลย แต่หลายพรรคการเมืองก็ได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายในการประชุมสภาสามัญสมัยถัดไปเดือนพฤศจิกายน 2562 
สภาผู้แทนฯ อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ นายกฯ ประยุทธ์ 1 ครั้ง ปมถวายสัตย์
การตรวจสอบและถ่วงดุล “ฝ่ายบริหาร” หรือ รัฐบาล เป็นอีกหน้าที่สำคัญของรัฐสภา ผ่านวิธีการในสภา อาทิ การตั้งญัตติ การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น จากสถิติของสำนักงานเลขาธิการสภา ส.ส. ตั้งกระทู้ถามรวม 78 กระทู้ และตั้งญัตติรวม 151 ญัตติ ในการประชุมสภาสมัยแรก โดยยังไม่มีการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 
ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ได้ตั้ง “กระทู้ถามสด” พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้มาตอบคำถามเรื่องนี้ โดยส่งหนังสือมาถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า ติดภารกิจ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ส.ส. ฝ่ายค้าน จึงขอเปิด “อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” ต่อคณะรัฐมนตรี หรือ การตั้งญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งให้สิทธิ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภา หรือ 100 คน เข้าชื่อเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปฯ นี้ได้โดยทำได้ปีละหนึ่งครั้ง  
ในวันที่ 18 กันยายน 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ มีนัดพิจารณาญัตติขอเปิด “อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” ต่อครม. ในประเด็น ครม.เข้าเฝ้ากล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และ การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย 
การประชุมสภาผู้แทนฯ นัดนี้ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงเศษ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า แหล่งที่มาของรายที่จะนำมาใช้จ่ายในนโยยายให้ไปดูตอนจัดทำงบประมาณ และวิษณุ เครืองาม ตอบข้อซักถามกรณีถวายสัตย์โดยได้ย้ำว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์”
 
อัพเดตข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลโหวตแพ้สองหน
การเริ่มต้นทำงานสิ่งใดก็ตาม การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ในการประชุมสภาสมัยแรก รัฐสภาจึงได้เตรียมพร้อมด้วยการร่าง “ข้อบังคับการประชุมสภา” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานของสภาให้มีประสิทธิภาพ ทั้ง ส.ว. และ ส.ว. ก็ต่างร่างข้อบังคับการประชุมสภาขึ้นใหม่เป็นของตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว
สภาผู้แทนฯ เริ่มต้นร่างข้อบังคับการประชุมในวันที่ 6 มิถุนายน 2562 โดยระเบียบวาระการประชุม ระบุให้เลือกตั้งคณะกรรมาธิการมายกร่างข้อบังคับการประชุมสภา เมื่อการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ อภิปรายถกเถียงกันเรื่องข้อบังคับการแต่งกายและการใช้ภาษาท้องถิ่นในสภา ฯลฯ แล้วจึงรับหลักการ (วาระที่ 1) ร่างข้อบังคับการประชุมดังกล่าว ด้วยมติเห็นชอบ 461 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง 

จากนั้น น.พ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย เสนอให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจาณาวาระที่ 2 และ 3 ต่อทันที แต่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาปฏิเสธและได้สั่งปิดประชุมสภาไป ซึ่งในที่สุดที่ประชุมสภาในวันถัดมา 11 กรกฎาคม 2562 ก็มีมติเห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (วาระที่ 2) มาพิจารณาร่างข้อบังคับดังกล่าว ด้วยมติ 243 ต่อ 232 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง 

หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ก็นำร่างข้อบังคับฯ เข้าที่ประชุมสภาอีกครั้งเพื่อ “แปรญัตติ” แก้ไขในบางประเด็น ผลปรากฎกว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเสียง “ปริ่มน้ำ” ลงคะแนนเสียงแพ้ถึง 2 ครั้ง 
ครั้งแรก ในที่ประชุมสภาวันที่ 8 สิงหาคม ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แพ้ด้วยคะแนน 205 ต่อ 207 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ในการลงมติแก้ไขร่างข้อบังคับฯ ข้อ 9(1) เกี่ยวกับหน้าที่และและอำนาจของประธานสภา ซึ่ง กมธ. เสียงข้างมาก ขอเพิ่มถ้อยคำให้ ประธานสภา “ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งในที่ประชุมมีทั้งหมด 414 เสียง ส.ส. รัฐบาลขาดประชุม 37 คน 
ครั้งที่สอง ในที่ประชุมวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แพ้ด้วยคะแนนเสียง 223 ต่อ 234 งดออกเสียง 2 เสียง ในการลงมติแก้ไขร่างข้อบังคับฯ ข้อ 13 (1) เกี่ยวกับกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนฯ ซึ่งร่างระบุว่า กรรมการดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อสภาสิ้นอายุ หรือสภาถูกยุบ หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด แต่กมธ. เสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็นให้ตัดคำว่า “หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด” ทิ้ง เพราะคำมีนัยถึงการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร และการพ้นไปของสภาผู้แทนฯ ในรัฐธรรมนูญก็ระบุชัดเจนว่ามีสองเหตุผล คือ อยู่ครบวาระและยุบสภา ซึ่งในที่ประชุมมีทั้งหมด 460 คน ส.ส. รัฐบาลขาดประชุม 25 คน 
ในวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม (วาระที่ 3) อย่างเป็นเอกฉันท์ 450 เสียง และราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมาย ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 สรุปจากวันที่เริ่มพิจารณาร่างข้อบังคับ (10 กรกฎาคม 2562) ถึงวันที่ประกาศใช้ในราชกิจจาฯ ใช้เวลา 51 วัน หรือ เกือบ 2 เดือนในการออกข้อบังคับการประชุม เพื่อกำหนดว่า หลังจากนี้จะประชุมกันภายใต้กรอบกติกาอย่างไร
สาระสำคัญของข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ได้เพิ่ม 'กระทู้ถามแยกเฉพาะ' ขึ้นใหม่ เป็นการถามเรื่องแยกย่อยของแต่ละพื้นที่ และกำหนดให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผู้อภิปรายไม่ต้องนำเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้ในการอภิปรายไปขออนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อน แต่ผู้อภิปรายต้องรับผิดชอบทางอาญา แพ่ง และมาตรฐานทางจริยธรรม
ทางด้านวุฒิสภา เริ่มต้นร่างข้อบังคับการประชุมในวันที่ 6 มิถุนายน 2562 พร้อมกันกับสภาผู้แทนฯ โดยระเบียบวาระการประชุม ระบุให้ตั้งคณะกรรมาธิการมายกร่างข้อบังคับการประชุมสภา เมื่อการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณารับหลักการ(วาระที่ 1)และพิจารณารายมาตรา(วาระ2) จากนั้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ด้วยคะแนน 185 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมาย ในวันที่ 2 กันยายน 2562  สรุปจากวันที่เริ่มพิจารณาร่างข้อบังคับ (19 สิงหาคม 2562) ถึงวันที่ประกาศใช้ในราชกิจจาฯ ใช้เวลา 14 วัน หรือประมาณ 2 อาทิตย์ในการออกข้อบังคับการประชุม
ขณะที่ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาจะใช้ข้อบังคับนี้เวลาประชุมร่วมกันสองสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ยกร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เสร็จแล้ว รอการพิจารณาในวาระที่หนึ่งอยู่ คาดว่าจะมีการพิจารณาในการประชุมสภาสมัยหน้า
ส.ส. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ แบ่งฝ่ายรัฐบาล 17 คณะ และฝ่ายค้าน 18 คณะ
อีกหนึ่งขั้นตอนการเตรียมพร้อมของรัฐสภาก็คือการตั้ง "คณะกรรมาธิการ” ซึ่งเป็นคณะทำงานที่จะลงลึกในรายประเด็นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของสภาใหญ่ ปกติรัฐสภาจะมีคณะกรรมาธิการประจำอยู่แล้วหลายคณะเรียกว่า ‘คณะกรรมาธิการสามัญ’ ส่วนที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ เรียกว่า ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญ’  ซึ่งสภาผู้แทนฯ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญไปแล้ว จำนวน 35 คณะ และวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญไปแล้ว 26 คณะ
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 กำหนดให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญขึ้น 35 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 15 คน ในวันที่ 11 กันยายน 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง กมธ. สามัญ ประจำสภาผู้แทนฯ 35 คณะ ฝ่ายรัฐบาลเป็นประธาน 17 คณะ และฝ่ายค้าน 18 คณะ
ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน 8 คณะ ได้แก่ กมธ. ตำรวจ (นิโรจ สุนทรเลขา), กมธ. การทหาร (สมชาย วิษณุวงศ์), กมธ. สื่อสารมวลชน โทรคมนาคม ดิจิทัลเเละเศรษฐกิจ (กัลยา รุ่งวิจิตรชัย), กมธ. การเงิน การคลัง เเละสถาบันทางการเงิน (สมศักดิ์ พันธ์เกษม), กมธ. การทหาร (สมชาย วิษณุวงศ์), กมธ. ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (สุชาติ อุสาหะ), กมธ. ป้องกันเเละปราบปราม การฟอกเงินและยาเสพติด (นิพันธ์ ศิริธร) และ กมธ. วิทยาศาสต์รและเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (อัครวัฒน์ อัศวเหม)
ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน 4 คณะ ได้แก่ กมธ. พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา (อันวาร์ สาและ), กมธ. เกษตรและสหกรณ์ (กันตวรรณ ตันเถียร), กมธ. แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ (วุฒิพงษ์ นามบุตร) และ กมธ. สวัสดิการสังคม (รังสิมา รอดรัศมี)
ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน 4 คณะ เช่น กมธ. การคมนาคม (โสภณ ซารัมย์), กมธ. ท่องเที่ยว (คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์), กมธ. กีฬา (บุญลือ ประเสริฐโสภา) และ กมธ. การสาธารณสุข (ปกรณ์ มุ่งเจริญพร) 
ส.ส.จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธาน 1 คณะ ได้แก่ กมธ. ส่งเสริมแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม (ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ)
ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน 10 คณะ ได้แก่ กมธ. การศึกษา (นพคุณ รัฐผไท), กมธ. พลังงาน (กิตติกร โล่ห์สุนทร), กมธ. อุตสาหกรรม (วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์), กมธ. ศึกษา จัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ (ไชยา พรหมา), กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค (มานะ โลหะวณิชย์), กมธ. กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (มุกดา พงษ์สมบัติ), กมธ. การปกครอง (นายไพจิต ศรีวรขาน), กมธ. การต่างประเทศ (ศราวุธ เพชรพนมพร), กมธ. กิจการองค์กรศาล รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน (จิรายุ ห่วงทรัพย์) กมธ. การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย (วุฒิชัย กิตติธเนศวร)
ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน 6 คณะ เช่น กมธ. กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (ปิยบุตร แสงกนกกุล), กมธ. ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์), กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (พล.ท.พงศกร รอดชมภู), กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ (ศิริกัญญา ตันสกุล) กมธ. การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (ปดิพัทธ์ สันติภาดา) และ กมธ. การแรงงาน (สุเทพ อู่อ้น)
ส.ส.จากพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน 1 คณะ ได้แก่ กมธ.ป้องกันปราบปรามการทุจริตเเละประพฤติมิชอบ (พล.ต.อ. เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส) ขณะที่ส.ส.จากพรรคประชาชาติ เป็นประธาน 1 คณะ ได้แก่ การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ (ซูการ์โน มะทา)

สุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า คาดหวังกับการตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านช่องทางกรรมาธิการสามัญของสภาไว้มาก เพราะเป็นกลไกทำงานตามระบบรัฐสภา เชื่อว่า จะตรวจสอบฝ่ายบริหารได้เข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีอำนาจสามารถเรียกบุคคลมาชี้แจง เรียกเอกสารหรือข้อมูลสำคัญจากหน่วยงานราชการและเอกชนได้ 

 
 
ทางด้านวุฒิสภา ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 78 กำหนดให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญประจำวุฒิสภาขึ้น 26 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการ 10-19 คน ในวันที่ 10 กันยายน 2562 มีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา พบว่า ประธาน กมธ. หลายคณะเคยรับตำแหน่งในช่วง คสช. ไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐมนตรีรัฐบาล คสช., สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัวอย่างเช่น
เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสปช.และสปท. เป็นประธานกมธ. การการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน 
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาล คสช.1 เป็นประธานกมธ. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  
สมชาย แสวงการ อดีตดาวสภาของสภานิติบัญญัติเป็นแห่งชาติ เป็นประธานกมธ. การสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค  
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานกมธ. การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล 
สภาผู้แทนฯ ล้มเหลวตั้งคณะกรรมาธิการ LGBT และศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ระหว่างการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้แปรญัตติขอเพิ่ม “คณะกรรมาธิการสามัญผู้มีความหลากหลายทางเพศ" แยกออกมาจาก กมธ. สามัญ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ที่ประชุมสภาลงมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 365 เสียง ต่อ 101 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แถลงว่า ทางกลุ่มพยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะสร้างที่ยืนให้คนหลากหลายทางเพศ การจัดตั้ง กมธ. ดังกล่าวเป็นเป้าหมายหลักที่จะพยายามทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับสังคมในตอนหาเสียง แม้ผลจะไม่สำเร็จ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นและยืนยันว่า จะเดินหน้าต่อ เร่งตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อทำงานเรื่องนี้ และยกร่างกฎหมายการสมรสให้เท่าเทียมกันทุกเพศ
 
 
ขณะที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีคืบหน้ามากนัก เป็น 7 พรรคฝ่ายค้านที่เริ่มรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญกับประชาชนก่อนใคร และเสนอญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 
จนกระทั่งโค้งสุดท้ายของการประชุมสภาสมัยแรก ช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 พรรคประชาธิปัตย์มีมติยื่นญัตติขอจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนามีมติพรรคเช่นเดียวกัน 
ตามมาด้วย ส.ส. พลังประชารัฐ ยื่นญัตติด่วนขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 
สุดท้าย ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ที่ ประชุมสภาผู้แทนฯ มีมติเอกฉันท์คะแนน 436 เสียง ต่อ 0 เสียง ให้เลื่อนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับที่ 6 ซึ่ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาแจ้งว่า ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำมาพิจารณาในการประชุมสภาสมัยหน้าในเดือนพฤศจิการยน 2562 
เรื่องเด่นรัฐสภา ส.ส. ธนาธรไม่ได้เข้าสภา/ ประยุทธ์เข้า 2 ครั้ง/ พรรค ส.ว. ฝ่ายรัฐบาล
หนึ่งวันก่อนรัฐพิธีเปิดประชุมสภา 23 พฤษภาคม 2562 ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัยกรณีสิ้นสุดสภาพการเป็น ส.ส. จากการถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. 
ในวันประชุมสภาผู้แทนฯ นัดแรกเพื่อเลือกประธานสภา 25 พฤษภาคม 2562 ธนาธร เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ด้วยเพื่อร่วมปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ แต่เมื่อ ชัย ชิดชอบ ประธานสภาชั่วคราวได้แจ้ง “วาระด่วน” และให้อ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเชิญธนาธรออกจากที่ประชุมสภา จากนั้น บรรยากาศสภาเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ธนาธรลุกขึ้นกล่าวรับทราบคำสั่งศาลและจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางการลุกขึ้นประท้วงและกล่าวตอบโต้กันโดยที่ระบบไมโครโฟนยังไม่สมบูรณ์ ท้ายสุดธนาธรโค้งคำนับที่ประชุมก่อนเดินออกจากห้องไปและหันหลังกลับมาชูสามนิ้ว
ตลอดระยะเวลาการประชุมสมัยแรกกว่า 4 เดือน ธนาธรไม่ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกรัฐสภาอีกเลย แม้จะมีความพยายามขอความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ไม่ว่า จะยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ซึ่งศาลยกคำร้องเพราะเห็นว่า ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง หรือขอให้ศาลกำหนดวันไต่สวน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการนัดไต่สวนเลยโดยให้เหตุผลว่า หลักฐานที่ธนาธรยื่นมาเพียงพอแล้ว
 
 
ในอีกด้านหนึ่ง ภายหลังที่ประชุมร่วมกันของสองสภาลงมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว  พล.อ. ประยุทธ์เข้าที่ประชุมสภาทั้งหมดเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรก ในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 24-25 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม. มายืนอ่านเอกสารแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง หลังจากนั้นระหว่างการอภิปรายของสมาชิกพล.อ.ประยุทธ์ ตอบโต้กับ พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เกิดเป็นวาทะ "ตัดพี่ตัดน้อง" สุดท้าย พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ ถูกเชิญออกจากสภา การประชุมนัดนี้กินเวลาร่วม 34 ชั่วโมง
ครั้งที่สอง ในวันที่ 18 กันยายน 2562 พล.อ. ประยุทธ์ เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เนื่องจาก ส.ส. ได้ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปฯ แบบไม่ลงมติ ในกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน และกรณีแถลงนโยบายไม่ชี้แจงที่มาของรายได้ พล.อ. ประยุทธ์ใช้เวลาพูดในการประชุมครั้งนี้ทั้งหมด 20 นาที แต่ไม่ตอบคำถามเรื่องการถวายสัตย์ หลังจากนั้นก็เดินออกจากที่ประชุมไป และการประชุมนัดนี้กินเวลาร่วม 8 ชั่วโมง เท่ากับว่า พล.อ. ประยุทธ์เข้าประชุมสภา 2 ครั้ง รวมเวลา 42 ชั่วโมงเท่านั้น
แม้ "ส.ว. แต่งตั้ง” 250 คน ที่มาจาก คสช. จะยืนยันว่า จะทำหน้าที่อย่างอิสระ แต่ในที่ประชุมร่วมของสองสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะธนาธร ไปด้วยคะแนน 500 เสียง ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ผลปรากฎว่า ส.ว. แต่งตั้ง “ไม่แตกแถว" ออกเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ เกือบทั้งหมด 249 เสียง มี พรเพชร วิชิตชลชัย ที่งดออกเสียง เนื่องจากเป็นรองประธานรัฐสภา 
นอกจากนี้ ในการประชุมสภานัดแถลงนโยบาย มหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ได้ลุกขี้นหารือกับฝ่ายรัฐบาลและยินดี “โอนเวลา” หรือแบ่งเวลาอภิปรายให้รัฐบาล 1 ชม. เนื่องจากเวลาของคณะรัฐมนตรีหมดแล้ว หรือ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ อย่างชัดเจน และพูดว่าตนนิยม “เผด็จการประชาธิปไตย”