เปิดตัว “คณะรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ปักหมุดรัฐธรรมนูญประชาชน

วันที่ 19 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา อย่างน้อย 28 เครือข่าย รวมตัวกันจัดงานเปิดตัว "คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" หรือ ครช. โดยวางเป้าหมายสื่อสารและรณรงค์เกี่ยวปัญหารัฐธรรมนูญปัจจุบันและแสวงหาฉันทามติร่วมต่อการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานครช. กล่าวชี้แจงที่มาว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปลี่ยนฐานะของประชาชนที่เป็นองค์ประธานแห่งสิทธิ ให้กลายเป็นผู้รับการสงเคราะห์ รัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนประชาชนถูกทำให้ตัวเล็กลง สังคมก็จะเล็กลงไปเช่นกัน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้เขากล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีกลุ่มอื่นได้ประกาศตัวว่าจะเป็นกำลังหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อในความแตกต่างหลากหลาย จึงได้มีการพูดคุยกันเพื่อตั้ง ครช. ขึ้นมา
“ครช.ตั้งพันธกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ส่วนในช่วงสั้นๆ ราว 3 เดือนเศษ เราทำสามสิ่งคือ 1.สร้างการรับรู้และเข้าใจในปัญหาของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็จะกระตุ้นให้เกิดเจตจำนงค์ในการแก้ จนกลายเป็นมติมหาชน 2.ทำให้ดูว่ามีประเด็นอะไรที่สังคมให้ความสำคัญ และจำเป็นต้องระบุในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีเรื่องไหนที่จำเป็นต้องแก้และรอไม่ได้ และ 3.วิธีการ รูปแบบ กลไกใด ที่สามารถนำเราไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว
โดยในช่วงเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ ครช. และองค์กรเครือข่ายจะมีกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง
สามชาย ศรีสันต์ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวว่า จะเดินหน้าสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 30 แห่ง ในประเด็นความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 3 ตอนคือ 1.การเข้ามามีส่วนร่วมใส่ใจสังคมการเมืองรับรู้ปัญหามากน้อยแค่ไหน 2.หลังจากใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันมา นักศึกษาเห็นว่า ปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 3.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะแก้รายมาตราหรือทั้งฉบับ พร้อมทั้งจะให้นักศึกษาช่วยกันตั้งฉายา
ด้านกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า มีจุดยืนประชาธิปไตยกินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีเลย เปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ ทำให้ออกกฎหมายกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ ไม่เห็นเราเป็นคนเลย ต้องแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งมาจากประชาชน สมัชชาคนจนกำลังชวนพรรคต่างๆลงไปรับฟังปัญหาในแต่ละพื้นที่ จะยืนยันให้รัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายในเดือนต.ค. สมัชชาคนจน จะส่งเสียงภายในสิ้นปีนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข กุล่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย กล่าวว่า ตอนนี้ได้รวบรวมล่าชื่อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แกนนำเสื้อแดงแต่ละจังหวัดปรึกษาหารือกัน ผลักดันส.ส.ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายประชาธิปไตย ผลักดันให้เกิดการทำประชามติ ในประเด็นเช่น ให้มีการเลือกตั้งครม.โดยตรง ตัดส.ว.ออกให้เหลือเพียงสภาเดียว เพราะเปลืองงบประมาณ ทำงานซ้ำซ้อน องค์กรอิสระมาจากสภาผู้แทนราษฎร กระจายอำนาจให้เลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด ให้มีเขตปกครองพิเศษสำหรับชายแดนภาคใต้ได้ มีการประกันสิทธิการชุมนุม และสุดท้ายล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าพยายามรวบรวมความเห็นจากหลายแวดวง ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และไม่อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นต้นตอความขัดแย้งในอนาคต 
โดยกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้ายึด 3 หลักคือ 1.กติกาต้องเป็นกลาง ทำให้คนที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แตกแยก 2.ประเทศต้องเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่คัดค้านกันตลอด หาคุณค่าหลักที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันได้ 3.ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญของเราแก้ปัญหาในอนาคตตั้งแต่วันนี้ เช่น สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำ 
สำหรับกิจกรรมแรกของครช. จะเริ่มต้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2562 เพื่อแสดงเจตจำนงในการแก้รัฐธรรมนูญ และเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นจากตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้ง มีงานเสวนาครบรอบ 43 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จากนั้น วันที่ 10 ธันวาคม 2562 จะสรุปผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องใด รวมทั้ง จะสรุปวิธีการและกลไกในการแก้ไขรัฐธรรมนุญด้วย และตลอด 3 เดือนหลังจากนี้ แต่ละกลุ่มจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ  รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว เข้าใจและให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ