ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนายกฯ ต่อได้

วันนี้ (18 กันยายน 2562) เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ทำให้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและไม่ขาดคุณสมบัติ “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” 
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ เนื่องมาจากในวันที่ 27 มิถุนายน 2562 นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย และส.ส. ฝ่ายค้าน รวมตัวกัน 110 คน ยื่นคำร้องต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ จากนั้น ชวนได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งหากมีลักษณะต้องห้ามอันได้แก่การเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งมาตราที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

•  มาตรา 170 วรรค 1(4) ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160
•  มาตรา 160 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 
•  มาตรา 98 (15)  เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
5 เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ ทำไม พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ 
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้เหตุผลอย่างน้อย 5 ข้อ ได้แก่ 



1. หัวหน้า คสช. เป็นผลจากการยึดอำนาจ

2. หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เห็นจากการออกประกาศและคำสั่งคสช.
3. หัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐ
4. หัวหน้า คสช. ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย
5. หัวหน้า คสช. มีอำนาจเฉพาะชั่วคราว เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
 
 
เหตุผลทั้ง 5 ข้อมาจากคำพูดของ วรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยว่า 
“หัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จาก การออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือ การกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานรัฐใด 
ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือฃการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง
โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน
ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา มาตรา 98 อนุ 15
ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 อนุ 6 ประกอบ มาตรา 98 อนุ 15 อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 อนุ 4 ประกอบ มาตรา 160 อนุ 6 ประกอบ มาตรา 98 อนุ 15”