กฎหมายต่อต้าน “ข่าวปลอม” มีมากมาย ไม่ควรใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

 

กระแสความเป็นห่วงเป็นใยต่อการแพร่หลายของ "ข่าวปลอม" หรือ Fake News มาพร้อมกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย และความสนใจรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของประชาชนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์ทางการเมืองของหลายประเทศพบว่า มีขบวนการสร้างข่าวปลอมเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งที่ประชาชนผู้รับข่าวสารต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ทำให้หลายประเทศออกกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Law
กฎหมายที่รัฐบาลอ้างว่า ต้องออกมาเพื่อต่อต้านหรือควบคุมการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง กลายเป็นประเด็นการเมืองในทุกประเทศ เพราะในแง่หนึ่งการควบคุมข่าวปลอมก็คือ การควบคุมข้อมูลข่าวสารนั่นเอง หากผู้บังคับใช้กฎหมาย "เป็นกลางและเป็นธรรม" บังคับใช้กฎหมายโดยไม่เลือกข้างทางการเมืองกฎหมายก็อาจจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่หากการบังคับใช้กฎหมายตกอยู่ในมือของขั้วอำนาจทางการเมือง ข้ออ้างว่า "ต่อต้านข่าวปลอม" อาจกลายเป็นการต่อต้านการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตก็เป็นได้
สำหรับประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายใดเพื่อรับมือหรือควบคุมการนำเสนอข่าวปลอม เพราะกฎหมายที่มีอยู่ก็มีบทบัญญัติเอาผิดการนำเสนอ "ข้อมูลเท็จ" อย่างชัดเจนแล้ว และที่ผ่านมารัฐก็หยิบมาใช้เพื่อควบคุมเนื้อหาทางการเมืองอยู่ไม่น้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
เผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" ที่กระทบต่อรัฐ ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่แก้ไขและประกาศใช้ในปี 2560 มาตรา 14 กำหนดว่า
               "มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
               (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
               (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
               (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
               (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้"
มาตรา 14(2) กำหนดองค์ประกอบของความไว้ตรงประเด็นกับการมุ่งเอาผิด "ข่าวปลอม" มากที่สุด กล่าวคือ การเผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" ที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเป็นความผิดตามมาตรานี้ ในขณะที่หากเป็นข้อมูลเท็จที่มุ่งโจมตีหรือทำให้บุคคลบางคนเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้นยังไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ มาตรานี้จึงตีกรอบอยู่แล้วว่า การโกหกหรือการพูดเรื่องที่ไม่จริงโดยทั่วไป ยังไม่ใช่การกระทำที่เป็นเรื่องร้ายแรงต่อสังคมในระดับที่จะต้องบัญญัติให้เป็นความผิดในที่นี้
ขณะที่มาตรา 14(1) เป็นมาตราที่มุ่งจะเอาผิดการหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท พิจารณาจากถ้อยคำที่ว่า "โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง" และมาตรานี้มุ่งเอาผิดเฉพาะกรณีการหลอกลวงต่อสาธารณชน พิจารณาจากถ้อยคำที่ว่า "โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" หากเป็นการหลอกเพื่อน แกล้งเพื่อน หรือหลอกลวงคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ประกาศต่อสาธารณะและไม่ได้ทำให้คนหลงเชื่อจำนวนมากๆ ก็จะมีอัตราโทษเบาลงและเป็นความผิดที่ยอมความได้ตามวรรคท้าย
หากมีคนที่จงใจเผยแพร่ "ข่าวปลอม" เพื่อให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อและทำให้ตัวเองได้ไปซึ่งผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 14(1) ได้โดยทันที นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่า เป็นข่าวปลอมที่ทำให้ผู้ปล่อยข่าวได้ไปซึ่งประโยชน์ทางทรัพย์สิน ส่วนจะสามารถดำเนินคดีด้วยมาตรา 14(2) ได้ ต้องเป็นกรณีที่ "ข่าวปลอม" นั้นเข้าข่ายร้ายแรง มีลักษณะที่น่าจะสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเศรษฐกิจ หรือสร้างความตื่นตระหนกได้ หากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเป็นข้อมูลเท็จที่ไม่น่าจะมีอิทธิพลจูงใจให้คนจำนวนมากเชื่อหรือสนใจได้ ก็ยังไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อาจจะเป็นความผิดฐานอื่นได้
เผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" ใส่ร้ายป้ายสีกระทบต่อบุคคล ใช้ข้อหาฐาน "หมิ่นประมาท"
ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ใน มาตรา 326 โดยมีมาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษที่ใช้กันบ่อย ดังนี้
             "มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
             "มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่พื้นฐานที่สุดที่จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ดำเนินคดีเพื่อปกป้องชื่อเสียงจากการถูกใส่ร้าย หรือการโจมตีด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง ที่ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การใส่ร้ายป้ายสีกันก็เกิดขึ้นในทางสาธารณะได้ง่ายและจำนวนมากขึ้น เมื่อการหมิ่นประมาททำผ่านสื่อ รวมทั้งสื่อออนไลน์ ก็จะต้องใช้มาตรา 328 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" ก็จะมีโทษเพิ่มสูงขึ้น
ข้อเสียของการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจและอัยการ รวมทั้งศาล จะถูก "ยืมมือ" ให้เข้ามาทำงานให้กับผู้เสียหาย กระบวนการดำเนินคดีทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระต้องเดินทางมารายงานตัว หาเงินมาประกันตัว และต้องหาทนายความมาช่วยเหลือทางกฎหมาย ต้องแสวงหาหลักฐานมาต่อสู้คดีด้วยตัวเอง ซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก และผลของการดำเนินคดี คือ การเอาผู้ที่กระทำความผิดไปจำคุก หรือเสียค่าปรับ ก็ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และไม่ส่งผลให้ผู้ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีได้ชื่อเสียงกลับคืนมาแต่อย่างใด
นอกจากการเลือกดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาแล้ว ผู้ที่เห็นว่า ตัวเองถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างไม่เป็นธรรม ยังมีทางเลือกอีกประการหนึ่ง คือ การฟ้องคดีแพ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหมวดของการ "ละเมิด" กำหนดเรื่องการหมิ่นประมาทไว้ ดังนี้
            "มาตรา 423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
              ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่"
จะเห็นได้ว่า การเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงทำให้คนอื่นเสียชื่อเสียงถือเป็นการทำ "ละเมิด" ลักษณะของคดีแพ่งต่างจากการดำเนินคดีทางอาญา คือ ไม่มีตำรวจ อัยการ หรือกระบวนการของรัฐเข้ามาดำเนินคดีให้ หากผู้เสียหายต้องการได้รับการชดเชยความเสียหายก็ต้องฟ้องคดีด้วยตัวเอง และเมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิด ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าเสียหายชดใช้ทดแทนให้กับผู้เสียหายเป็นตัวเงิน หรือลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาหรือโฆษณาเรื่องที่เป็นความจริงตามปริมาณที่ศาลสั่ง เพื่อชดเชยผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ตัวเองได้ก่อขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขความผิดที่ตรงประเด็น
สำหรับผู้ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วย "ข้อมูลเท็จ หรือ "ข่าวปลอม" หากเห็นว่า การเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นทำให้ตัวเองได้รับความเสียหาย แต่ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐหรือประชาชน ก็มีทางเลือกอยู่สองทางที่จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาททางอาญาหรือทางแพ่ง หรือดำเนินคดีทั้งสองทางพร้อมกันก็ได้ กฎหมายที่มีอยู่ก็พร้อมที่จะทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์และเอาผิดผู้ที่เผยแพร่สิ่งที่ไม่เป็นความจริงอยู่แล้ว
เผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" ทำให้คนตกใจ เป็นความผิดลหุโทษ
ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดฐานความผิด "บอกเล่าความเท็จ" ไว้เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีโทษไม่มาก ดังนี้
               "มาตรา 384 ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
หากมีการเผยแพร่ข่าวปลอม หรือ "ข้อมูลเท็จ" ที่ไม่ใช่การโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ก็ยังมีความผิดอยู่ตามมาตรา 384 ซึ่งมีโทษไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดี การเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ต้องมีองค์ประกอบ คือ ทำให้คนอื่นตกใจด้วย หากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในลักษณะที่ไม่มีความน่าเชื่อถือเอาเสียเลย ไม่น่าจะทำให้ใครเชื่อ หรือจูงใจใครได้ ไม่ได้ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ และไม่ได้ก่อความเสียหายต่อผู้อื่นหรือรัฐ เช่นนี้ก็ยังเป็นเพียงเรื่องโกหกทั่วไปที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ
มาตรา 384 นั้นดูเขียนขึ้นมาพร้อมกับประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 แสดงให้เห็นว่า วิธีคิดสมัยก่อนมีโซเชียลมีเดียมองว่า การบอกเล่าความเท็จทำให้ประชาชนตื่นตกใจก็ยังถือเป็นความผิดเล็กน้อย ที่มีโทษไม่สูง แม้ว่าจะทำให้ประชาชนตื่นตกใจก็ตาม แต่เมื่อมาถึงยุคของสื่อออนไลน์ สังคมเสพย์ข่าวจากคนที่ไม่รู้จักกันและส่งต่อกันได้ง่ายมากขึ้น จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า ความผิดฐานนี้จะควรมีโทษมากน้อยเพียงใด
เผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" ถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองที่อันตราย
ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยุคของ 'คสช.2' ขึ้นได้สำเร็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็ประกาศประกาศกร้าวทันทีว่า นโยบายเร่งด่วน คือ การจัดตั้ง Fake News Center หรือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กลไกใหม่เช่นนี้จะจัดตั้งได้สำเร็จหรือไม่ และมีกระบวนการทำงานอย่างไร แต่เมื่อดูจากแนวทางของรัฐบาลยุค คสช.1 ก็จะพบว่า มีความพยายามจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจด้วยกฎหมายต่างๆ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และกฎหมายหมิ่นประมาท จนสร้างกระแสความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นทั่วไปในสังคม
ตัวอย่างเช่น กรณีรินดา โพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับการโอนเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยังไม่มีการชี้แจงว่า ข่าวลือนี้เป็นจริงหรือเท็จอย่างไร แต่รินดาถูกดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ที่ศาลทหาร ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ศาลอาญา โดยต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง หรือกรณีของวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทย ที่โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณว่า "อีคิวต่ำไปหน่อย" ก็ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องเช่นกัน ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ข้อความเป็นการโจมตีไปที่ตัวบุคคลที่มีอำนาจในขณะนั้นๆ แต่เมื่อต้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐกลับหยิบเอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ ทั้งที่เนื้อหาข้อความนั้นไม่ว่าจะเป็นเท็จหรือจริงไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ทำให้สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง
หรือกรณีที่นักกิจกรรมจัดชุมนุมเรียกร้องให้หยุดโกงการเลือกตั้ง และให้ กกต. ลาออกจากตำแหน่ง กลายเป็นที่มาของการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หรือกรณีนักสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต่อมาถูก กอ.รมน. ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ประชาชนใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นวิจารณ์การทำงานของรัฐที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสี หรือปล่อย "ข่าวปลอม" โดยไม่สุจริต แต่กฎหมายหมิ่นประมาทก็ถูกนำมาใช้ และส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นในทางตรงข้ามกับรัฐตกอยู่ในบรรยากาศที่ปิดกั้น
หากปฏิบัติการต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการไปอย่างสุจริตเพื่อสร้างสังคมออนไลน์ที่ "สะอาด ปลอดภัย" และเลือกใช้กฎหมายดำเนินคดีต่อเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐจริงๆ เท่านั้น ก็อาจส่งผลดีที่ช่วยลดปริมาณข้อมูลเท็จ และช่วยลดความกังวลให้ผู้เสพสื่อได้บ้าง ซึ่งก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่หากปฏิบัติการต่อต้านข่าวปลอมโดยอำนาจรัฐมุ่งดำเนินการโดยมีเป้าหมายทางการเมือง ต้องการสนับสนุนการอยู่ในอำนาจของตัวเอง และต้องการทำลายฝ่ายตรงข้าม การต่อต้านข่าวปลอมก็อาจกลายเป็นเพียงข้ออ้างทางการเมืองเพื่อใช้อำนาจ "ปิดปาก" การวิจารณ์ และควบคุมข้อมูลข่าวสารที่เห็นแตกต่างไม่ให้มีพื้นที่ทางสังคม
หากการอ้างปฏิบัติการต่อต้านข่าวปลอมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่าโดยฝ่ายใด ย่อมส่งผลเป็นการใช้กฎหมายในทางที่ผิด และจะทำให้ผู้มีอำนาจควบคุมข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว เผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเองโดยไม่ต้องคำนึงว่า เป็นจริงหรือเป็นเท็จ ขณะที่ฝ่ายที่เห็นต่างไม่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่งได้