รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อถอดถอน ส.ส. ส.ว. เหมือนยี่สิบปีก่อน

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2562) นับถึงเวลาประมาณ 17.30 น. มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ “ถอดถอน ปารีณาพ้น สภา ส.ส.” ทางเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้ ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร( ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ ออกจากตำแหน่ง แล้วถึง 63,365 คน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 75,000 รายชื่อ
แคมเปญนี้ระบุสาเหตุไว้ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเลือกจากประชาชนเข้าไปทำงานในสภา ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน ทำงานจากเงินภาษีของประชาชน ไม่ควรเป็นตัวอย่างที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง” พร้อมยกตัวอย่างการกระทำของปารีณา เช่น การถ่ายทอดสดทางเฟสบุ๊กส่วนตัวเพื่อด่าทอถึงผู้อื่น และ เคยเป็นข่าวต้องคดีค้าอาวุธสงคราม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอ้างอิง ‘การถอดถอนจากตำแหน่ง’ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 (ไม่ใช่ฉบับปัจจุบัน) ที่บัญญัติว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์รำ่รวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”
อีกทั้ง ได้อ้างอิง มาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งให้อำนาจประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้บุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งได้” ด้วยวิธีเดียวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
อย่างไรดี  รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนนักการเมืองได้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 (20,000 รายชื่อ) หรือ รัฐธรรมนูญปี 2540 (50,000 รายชื่อ) และการลงชื่อทางเว็บไซต์ change.org แม้จะสร้างแรงกดดันทางสังคมได้ แต่ไม่มีผลในทางกฎหมายให้ ปารีณา ไกรคุปต์ พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ได้ เช่นกัน 
 
 
ถึงอย่างนั้น ‘การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม’ รัฐธรรมนูญปี 2560  มาตรา 219 ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานจริยธรรมและใช้บังคับกับ ส.ส., ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานจริยธรรม ได้ผ่านเป็นกฎหมายจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และถ้าใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริจแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่ส่วนและส่งให้ศาลฎีกาตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมืองได้ 
ทว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจประชาชนที่รวบรวมรายชื่อกันในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าชื่อกล่าวหา ป.ป.ช. และเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 
1) มาตรา 138 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
2) มาตรา 236 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถเข้าชื่อกล่าวหา ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช. ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญ
3) มาตรา 256 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาได้