“16 คดีไทรทอง” ศาลชี้ชาวบ้านผิด “บุกรุกป่า” แต่การคิดค่าเสียหายยังมีสองแนว

ชุดคดี “ทวงคืนผืนป่า” ที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ชาวบ้านถูกสั่งจำคุกแล้ว 14 คน ศาลอุทธรณ์พิพากษาออกมาทั้งสิ้น 16 คดี โดยวินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันทุกคดีว่า จำเลยกระทำความผิดฐาน “บุกรุกป่า” เพราะไม่มีรายชื่อในบัญชีสำรวจตามมติ ครม. ปี 2541 และข้อยกเว้นสำหรับผู้ยากไร้และอยู่มาก่อน เอามาใช้ไม่ได้ แต่เห็นต่างเป็นสองแนวในประเด็นการคำนวนค่าเสียหายที่กรมป่าไม้เรียกร้องมา
 
 
พื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” มีชาวบ้านได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 188 คน กินพื้นที่ราว 6,000 ไร่ ตามประวัติศาสตร์ชาวบ้านเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรทองตั้งแต่ช่วงปี 2510 ก่อนการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองในปี 2535 และต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้ประชาชนพื้นที่ที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่เป็นพื้นที่คุกคามต่อระบบนิเวศสามารถทำกินต่อไปได้ มีการสำรวจพื้นที่ที่ประชาชนถือครองสามครั้งในปี 2546, 2549 และ 2553
 
 
อย่างไรก็ตามยังคงมีชาวบ้านบางส่วนที่ “ตกสำรวจ” โดยชาวบ้านเล่าว่า ในการสำรวจแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่สำรวจไม่แจ้งกำหนดการล่วงหน้า หลายคนจึงไม่ได้อยู่เพื่อนำรังวัดแนวเขตที่ดิน และเมื่อ คสช. ประกาศ “คืนความสุข” โดยการ “ทวงคืนผืนป่า” ชาวบ้านที่ตกสำรวจดังกล่าวจึงกลายเป็น “ผู้บุกรุก” พื้นที่ป่าตามคำนิยามของรัฐ แม้ว่าจะบุกเบิกพื้นที่ป่าและอยู่มาก่อนหลายสิบปีก็ตาม
 
 
เป็นเวลาหลายปีหลังความพยายามขับไล่เกษตรกรออกจากที่ดินภายใต้รัฐบาล คสช. เกษตรกรหลายครัวเรือนต้องทิ้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย บางส่วนถูกบังคับหรือหว่านล้อมให้เซ็นยินยอมยกที่ดินให้อุทยานแห่งชาติ บางส่วนยังไม่ละความพยายามต่อสู้ ต่อรองกับรัฐบาล คสช. ผ่านกลไกภาคประชาสังคม จนกระทั่งรัฐบาล คสช. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริง และชะลอการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
 
 
ชาวบ้านซับหวาย อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ขณะฟังสรุปคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 62
 
 
ความไม่มีทางเลือกในการทำกินและความเชื่อว่า คำสั่งชะลอการดำเนินการพอจะเป็นหลักการที่พึ่งพิงได้ ชาวบ้านบางส่วนจึงกลับไปทำกินในพื้นที่ทำกินที่เซ็นคืนไปแล้ว อันเป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องดำเนินคดีฐาน “บุกรุกพื้นที่ป่า” ที่เคยเป็นที่ทำกินเดิมของพวกเขา  จำนวน 14 คน รวม 16 คดี โดยวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 เป็นวันที่ศาลจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคสาม แผนกคดีสิ่งแวดล้อมของคดีความชุดนี้ครบทั้งหมด
 
 
ในบรรดาคดีทั้ง 16 คดีนี้ถูกแบ่งให้กับองค์คณะผู้พิพากษาของศาลอุทธณ์ภาคสาม แผนกคดีสิ่งแวดล้อมสามองค์คณะ องค์คณะที่หนึ่งจำนวนเจ็ดคดี ได้แก่ คดีของวันชัย อาพรแก้ว, สมร สมจิตร, สุวิทย์ รัตนะไชยศรี, สากล ประกิจ,สุณี นาริน, นริศรา ม่วงกลาง องค์คณะที่สองจำนวนเจ็ดคดี ได้แก่ คดีของนิตยา ม่วงกลาง สองคดี, ทองปั่น ม่วงกลาง, ปัทมา โกเม็ด, สีนวล พาสังข์, สุวลี โพธิ์งามและสมพิตร แท่นนอก คดีที่สอง และองค์คณะที่สามจำนวนสองคดี ได้แก่ คดีของพุธ สุบงกช สมพิตร แท่นนอก คดีที่หนึ่ง
 
 
ในการวินิจฉัยคดีมีประเด็นที่องค์คณะผู้พิพากษาทั้งสามเห็นพ้องด้วยกันเช่น โจทก์มีอำนาจฟ้องคดี ทั้ง 16 คดีและจำเลยกระทำความผิดฐาน “บุกรุกป่า” โดยไม่ให้น้ำหนักข้อต่อสู้ของจำเลย แต่ในประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายตามที่กรมป่าไม้เรียกนั้น ศาลทั้งสามองค์คณะเห็นต่างกันในสองทางคือ องค์คณะที่หนึ่งเห็นว่า การเรียกค่าเสียหายของกรมป่าไม้เป็นไปตามหลักวิชาการจึงให้จำเลยทั้ง 16 คนชดใช้ค่าเสียหายตามที่ตั้งมา  องค์คณะที่สองและสามเห็นว่า มีเหตุปัจจัยอื่นให้การคำนวณมีความคลาดเคลื่อนไปได้ และกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายน้อยลง
 
ผู้พิพากษาเห็นพ้อง ชาวบ้านบุกรุกป่า แม้มีข้อยกเว้นตามคำสั่ง คสช.
 
 
ในการพิจารณาว่า จำเลยแต่ละคนกระทำความผิดหรือไม่ ผู้พิพากษาทั้งสามองค์คณะวินิจฉัยสอดคล้องกันในทำนองว่า จำเลยทั้ง 14 คนได้ยินยอมเซ็นในบันทึกข้อตกลงการคืนพื้นที่ให้แก่รัฐและจะเก็บเกี่ยวผลผลิตของฤดูกาลนี้ให้เสร็จสิ้นในระยะผ่อนผัน แต่ภายหลังจำเลยทั้งหมดกลับเข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติจึงมีความผิดและต้องโทษจำคุกต่างกรรมต่างวาระกัน
 
 
ประเด็นนี้จำเลยทั้งหมดต่อสู้คดีในแนวทางเดียวกัน โดยพยายามจะพิสูจน์ว่า จำเลยทั้งหมดอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนหน้าการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติในปี 2525 และ 2535 ตามลำดับ และสมควรได้รับประโยชน์จากคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 ข้อ 2.1 ที่กำหนดว่า “การดําเนินการใดๆ  ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ  ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดําเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อกําหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดําเนินการ ตามขั้นตอนต่อไป
ซึ่ง ศาลใช้ดุลพินิจและวางหลักเกณฑ์พิสูจน์สิทธิในที่ดิน แบ่งเป็นสองส่วน ดังนี้
 
 
หนึ่ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541
 
 
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ได้กำหนดให้มีการสำรวจประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมีการสำรวจสามครั้ง คือ  ในปี 2546, 2549 และ 2553 ผลจากการสำรวจแต่ละครั้งจะถูกบันทึกเป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิทำกินต่อไปในพื้นที่ป่า แต่ห้ามขยายพื้นที่ทำกินออกไปจากเดิม กรณีนี้จำเลยทั้งหมดอ้างว่า ทำกิน อยู่อาศัยหรือสืบสิทธิทางมรดกมาทั้งสิ้น กระบวนการพิสูจน์สิทธิ คือ หากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่มาก่อนจริงจะต้องมีหลักฐานทางราชการที่พิสูจน์ได้และมีน้ำหนักเพียงพอแก่การรับฟังได้ โดยศาลให้น้ำหนักอ้างอิงไปที่บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิทำกินต่อไปในพื้นที่ป่าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541
 
 
กรณีที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดังกล่าวแล้ว ศาลจะเชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นที่และต้องย้ายออกตามระยะเวลาที่ผ่อนผันให้ ซึ่งจำเลยทั้ง 14 คน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดังกล่าว และเมื่อพ้นระยะการผ่อนผันให้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะถือว่า เป็นการบุกรุกใหม่ทันที
 
 
ในคดีทวงคืนผืนป่าไทรทองทั้ง 16 คดีนี้พบปัญหาสำคัญคือ การที่ชาวบ้านแทบทั้งหมดไม่มีเอกสารราชการรับรองสิทธิในที่ดิน และการตกสำรวจหลังจากสืบสิทธิจากบิดามารดา ดังกรณีของสมรและสุวลี
 
 
คดีของสมร สมจิตร  คดีนี้สมรอ้างว่า เขาทำกินมาตั้งแต่ปี 2520 จนกระทั่งปี 2541 เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)สำรวจพื้นที่และปักหลักเขต ปักไปได้สองหลัก ปรากฏว่า หลักหมด แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ให้ทำกินต่อไปได้ จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่มาตลอดและมีหลักฐานนำสืบในชั้นศาล แต่ศาลไม่ให้น้ำหนักโดยศาลระบุว่า การกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ที่สำรวจในปี 2546 อนุญาตให้ทำกินต่อไปนั้นเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้างและเอกสารยืนยันการเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็ไม่ใช่หลักฐานยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541
 
สุวลี โพธิ์งาม หนึ่งในจำเลยคดีชุดทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ชัยภูมิ
 
สุวลี โพธิ์งาม หนึ่งในจำเลยคดีชุด "ทวงคืนผืนป่า" อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ
 
คดีของสุวลี โพธิ์งาม คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ชัดเจนว่า นวลจันทร์ โพธิ์งาม มารดาของจำเลยเป็นผู้ที่มีรายชื่อได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำเลยระบุว่า เป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินจากมารดา แต่จำเลยไม่มีรายชื่อได้รับการผ่อนผัน จำเลยอ้างเพียงว่า จำเลยได้รับมรดกต่อมาจากมารดาในช่วงหลังจากที่มีการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2551 จึงไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ได้รับการผ่อนผัน
 
 
สอง คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ยกเว้นให้ผู้ยากไร้ที่อยู่มาก่อน
 
 
เนื้อหาคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 มีสองส่วนสำคัญที่คือ ข้อ 2.1 การดําเนินการใด ๆ  ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดําเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบ เพื่อกําหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป และข้อ 2.4 กรณีใดๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดําเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้ดําเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กําหนด
 
 
จำเลยทั้งหมดต่อสู้คดีว่า จำเลยทำกินและอาศัยในพื้นที่พิพาทตั้งแต่ก่อนการบังคับของคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งจำเลยอยู่ในข่ายผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว
 
 
จากเงื่อนไขตามข้อที่ 2.1 และ 2.4 เห็นได้ว่า มีหลักเกณฑ์สำคัญคือ เป็นผู้ยากไร้หรือเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน โดยอยู่อาศัยเดิมมาก่อน และต้องเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดี ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ก่อนแล้วจะต้องดำเนินตามกระบวนการต่อไป
 
ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม องค์คณะทั้งสามพิเคราะห์ไปในแนวทางเดียวกันว่า คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ยกเว้นเฉพาะผู้อยู่อาศัยเดิมเท่านั้น ไม่ใช่กรณีที่จำเลยทั้งหมดยินยอมเซ็นคืนที่ดินและกลับเข้าไปทำประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งการกลับเข้าไปทำประโยชน์รอบใหม่จะถือว่า เป็นผู้บุกรุกใหม่
 
 
นอกจากนี้การตีความคำว่า “อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การทำกินหรืออยู่อาศัยก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2557 แต่จำเลยยังต้องนำสืบและพิสูจน์สิทธิเหนือที่ดินที่หนักแน่นเพียงพอที่ศาลจะรับฟังได้ด้วย ซึ่งในชั้นนี้ศาลจะพิจารณาโดยรับฟัง บัญชีรายชื่อตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลักเท่านั้น โดยเห็นได้ชัดเจนในคดีของพุธ สุบงกช
 
 
คดีของพุธ สุบงกช ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินที่จำเลยทำกินเป็นที่ดินของขัน ม่วงกลาง บิดาของภรรยาจำเลย ปี 2552 ขันเสียชีวิต จำเลยจึงอยู่ทำกินในที่ดินมาตลอด ในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ไม่ปรากฏชื่อจำเลย, สุมสวย ม่วงกลาง ภรรยาของจำเลย และขัน ม่วงกลาง บิดาของภรรยาจำเลย แสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้ครอบครองหรืออยู่ทำกินมาก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 บังคับใช้ “จึงไม่อาจถือได้ว่า จำเลยเป็นผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดิน แม้จำเลยจะเข้าทำไร่มันสำปะหลังในที่ดินเกิดเหตุก่อนคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็ตามถือได้ว่าเป็นการบุกรุกใหม่” ไม่เข้าหลักเกณฑ์ยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557
 
เห็นต่าง-สองแนวทางวินิจฉัยเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
 
 
ฝ่ายอัยการโจทก์ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยต้องชดใช้เนื่องจากทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย ให้เพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นเคยกำหนดให้
 
 
ในการคิดคำนวณค่าเสียหายเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการได้ประเมินความเสียหายในพื้นที่บุกรุก โดยการสำรวจแปลงป่าธรรมชาติใกล้เคียงเปรียบเทียบกับที่ดินที่จำเลยเข้าไปทำกิน โดยคำนวณผ่านเส้นรอบวงและความสูงของต้นไม้, ความสมบูรณ์ของดินและความลาดชันของดิน ก่อนจะป้อนข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเปรียบเทียบและประเมินค่าเสียหาย โดยคิดเป็น  ค่าเสียหายจากปริมาณน้ำที่สูญหาย, ปริมาณดินที่สูญหาย, อุณหภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น, ปุ๋ยไนโตรเจน, ปุ๋ยฟอสฟอรัสและปุ๋ยโปแตสเซียม ซึ่งอยู่ระหว่าง 47,339-1,587,211 บาท แตกต่างกันไปตามขนาดของพื้นที่และความเสียหายในแต่ละคดี
 
 
ในทางนำสืบโจทก์ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นชัดเจนว่า สภาพพื้นที่ก่อน และระหว่างการเข้าไปทำการเกษตรเป็นอย่างไร จะมีก็เพียงภาพถ่ายทางอากาศที่เปรียบเทียบความหนาแน่นของพื้นที่ป่า แต่ไม่ได้สะท้อนชัดเจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในเชิงรายละเอียดดยสรุปแล้วศาลอุทธรณ์ ภาคสาม แผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันเป็นสองทางดังนี้
 
หนึ่ง เพิ่มค่าเสียหาย ให้จำเลยจ่ายเต็มตามที่โจทก์เรียกร้องมา
 
 
ผู้พิพากษาองค์คณะที่หนึ่ง วินิจฉัยคดีเจ็ดคดีได้แก่คดีของวันชัย อาพรแก้ว, สมร สมจิตร, สุวิทย์ รัตนะไชยศรี, สากล ประกิจ,สุณี นาริน, นริศรา ม่วงกลาง เห็นพ้องต่ออุทธรณ์ของโจทก์ และสั่งเพิ่มค่าเสียหายให้ครบตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมา ซึ่งทั้งเจ็ดคดีจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่าง 110,762-1,587,211 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ โดยให้เหตุผลไว้ในคำพิพากษาทั้งเจ็ดคดีทำนองเดียวกันว่า
 
 
โปรแกรมคำนวณค่าเสียหายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าความเสียหายตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาความเสียหาย ในการประเมินความเสียหายเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการได้นำข้อมูลป่าสมบูรณ์ที่เป็นแปลงตัวอย่างมาเปรียบเทียบกับที่ดินที่จำเลยบุกรุก จึงเชื่อว่า การคิดคำนวณมูลค่าความเสียหายเป็นไปตามหลักวิชาการและน่าเชื่อถือ
 
 
โดยคำพิพากษาคดีของสุภาพร สีสุข เป็นคดีที่ผู้พิพากษาองค์คณะที่หนึ่งให้เหตุผลชัดเจนที่สุดถึงแนวทางการวินิจฉัยลักษณะดังกล่าว โดยศาลไม่ให้น้ำหนักพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของพื้นที่ก่อนเกิดเหตุ งลซึ่งแตกต่างจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงสภาพป่าก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ การคำนวณดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง และวางค่าเสียหายที่ 190,000 บาทจาก 381,010 บาท ศาลองค์คณะที่หนึ่งเห็นว่า การคำนวณเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการได้นำข้อมูลชุดเดียวกันเช่น ความลาดชัน ดินและอุณหภูมิในแปลงป่าตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดมาเปรียบเทียบ กระบวนการเช่นนี้ก็สามารถคำนวณความเสียหายได้แล้วไม่จำเป็นต้องนำสืบให้เห็นถึงสภาพป่าก่อนและหลังเกิดเหตุว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร
 
 
สอง เดินตามศาลชั้นต้น เห็นว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป
 
 
ขณะที่องค์คณะที่สองที่รับผิดชอบคดีจำนวนเจ็ดคดี ได้แก่ คดีของนิตยา ม่วงกลาง สองคดี, ทองปั่น ม่วงกลาง, ปัทมา โกเม็ด, สีนวล พาสังข์, สุวลี โพธิ์งามและสมพิตร แท่นนอก คดีที่สอง และองค์คณะที่สามที่รับผิดชอบคดีจำนวนสองคดี ได้แก่ คดีของพุธ สุบงกช สมพิตร แท่นนอก คดีที่หนึ่ง ทั้งสองคณะเห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นวางมานั้นมีความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว โดยค่าเสียหายอยู่ระหว่าง 40,000-370,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ
 
 
โดยศาลองค์คณะที่สองมองว่า การประเมินค่าเสียหายมีหลักวิชาการรองรับแต่ไม่ใช่ความเสียหายที่แท้จริง เนื่องจากการประเมินค่าเสียหายเกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุ สภาพแวดล้อมอาจแตกต่างไปจากก่อนและขณะเกิดเหตุ ในบางคดีโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าก่อนเกิดเหตุมีเพียงภาพถ่ายทางอากาศที่ไม่อาจบอกได้ทั้งหมดว่า จำเลยก่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
 
 
ขณะที่ศาลองค์คณะที่สามนั้นให้เหตุผลเช่นเดียวกับศาลองค์คณะที่สอง ในคดีของพุธ สุบงกช ศาลอธิบายว่า การประเมินค่าเสียหายไม่ใช่ค่าเสียที่แท้จริง โดยให้เหตุผลอย่างละเอียดว่า การประเมินความเสียหายมีปัจจัยที่ทำให้ค่าความเสียหายแปรผันได้ ไม่ว่าจะการเก็บดินในแปลงเกิดเหตุและแปลงตัวอย่างที่มีลักษณะการสุ่มเท่านั้น กรณีที่ที่ดินมีความกว้างและลาดเอียงต่างกัน เมื่อมีพายุลมฝนจะทำให้เกิดการชำระล้างหน้าดินที่ต่างกัน รวมทั้งการเก็บตัวอย่างในฤดูกาลที่แตกต่างก็ล้วนเป็นเหตุให้ค่าความเสียหายต่างกันได้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า ก่อนการบุกรุกของจำเลยพื้นที่เกิดเหตุต้นทุนทรัพยากรเท่าใด กรณีความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจนเกิดจากการทำประโยชน์จากบุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงก็เป็นได้
 
 
และให้เหตุผลในคดีของสมพิตร แท่นนอก คดีที่หนึ่งว่า จากการนำสืบปรากฏว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยได้ตัดต้นไม้มีเพียงไม้ขนาดเล็กขึ้นเท่านั้น ซึ่งแปรพันตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดังนั้นเมื่อที่ดินเพิพาทในคดีมีสภาพเป็นป่าไม่สมบูรณ์ แต่โจทก์คำนวณค่าเสียหายเปรียบเทียบกับป่าที่มีสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ย่อมทำให้การประเมินค่าเสียหายคลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงไม่อาจเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสียหายจากจำเลยได้ ทั้งตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 97 ยังกำหนดให้ผู้ที่ทำความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าที่เสียหายไป ซึ่งครอบคลุมความเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น แต่ในทางนำสืบโจทก์ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่แท้จริงที่ได้
 
 
นอกจากนี้คำวินิจฉัยคดีสมพิตร แท่นนอกคดีที่หนึ่ง ศาลยังระบุด้วยว่า การนำพื้นที่ที่แผ้วถางทำไร่มันสำปะหลังและพื้นที่ป่าสมบูรณ์มาเปรียบเทียบกันย่อมทำให้ค่าเสียหายคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง
 
 
เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีทั้ง 16 คดี เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 อันเป็นช่วงที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าเข้าสำรวจพื้นที่ ซึ่งพื้นที่แทบทั้งหมดถูกแผ้วถางเพื่อทำไร่สำปะหลังแล้ว จำเลยทั้งหมดเซ็นคืนที่ดินและได้รับการผ่อนผันให้เก็บเกี่ยวผลผลิตในที่ดินเดิมต่อไป และการดำเนินคดีทุกคดีมาจากการทำกินหลังหมดระยะเวลาผ่อนผันแล้ว
 
 
ดังนั้น การคิดคำนวนค่าเสียหายจึงต้องเริ่มคิดคำนวนจากสภาพพื้นที่ก่อนเริ่มเข้าทำกินตามวันที่ที่ถูกดำเนินคดี ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในขณะนั้นย่อมแตกต่างจากป่าสมบูรณ์ที่ไม่ถูกแผ้วถางอย่างมาก จึงนำไปสู่คำถามว่า บรรทัดฐานของศาลที่จะกำหนดค่าเสียหาย จะคำนวนจากความสมบูรณ์ของพื้นที่ในห้วงเวลาใดจึงจะเป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง สำหรับการเรียกค่าเสียหายในคดี “ทวงคืนผืนป่า” นี้? 
 
 
…. ความสมบูรณ์ในช่วงก่อนชาวบ้านรายแรกเริ่มบุกเบิกพื้นที่
 
หรือความสมบูรณ์ในช่วงหลังจากการเริ่มปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” และหมดระยะเวลาผ่อนผัน…