ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายประชาชนต่อรัฐบาล

เนื้อหานโยบายประชาชน 9 ประเด็นเสนอต่อรัฐบาล
 “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
กับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายประชาชนต่อรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
 
 
เนื้อหานโยบายต่อพรรคการเมือง
1.สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย
1.1 ยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
 
1.2 แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การตีความคำว่า “ชุมนุมสาธารณะ” ที่ถูกตีความอย่างกว้างที่เกิดความสับสนต่อประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมาย, การไม่แจ้งการชุมนุมหรือแจ้งล่วงหน้าอาจไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะเป็นการขออนุญาตที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะอนุญาตหรือไม่, การชุมนุมต้องได้รับการอนุญาตในทุกกรณี เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญคุ้มครองการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้ รัฐต้องเข้ามาดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม มิใช่การเข้ามาขัดขวางหรือเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุม
 
 
ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน มิใช่เพื่อเป็นการขัดขวางการชุมนุมสาธารณะของประชาชนที่จะแสดงออกทางการเมือง
 
 
1.3 แก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 เพื่อป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่ให้ครอบคลุมไปถึงการหมิ่นประมาทหรือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่ถูกใช้สำหรับดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือนักสิทธิมนุษยชน โดยการฟ้องตาม พ.ร.บ.นี้มีโทษสูงกว่า การหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ฯ จึงเป็นการจำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองที่ต้องได้รับการปรับปรุง/แก้ไข
 
 
1.4 ยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ 2562 ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการขอข้อมูล ยึด ค้น เจาะ ทำสำเนาข้อมูล ส่องข้อมูลแบบ Real-Time และในกรณีจำเป็นเร่งด่วนสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องหมายศาล ซึ่งการยึด ค้น เจาะหรือขอข้อมูลใด ๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฉบับนี้มีลักษณะละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายจากการที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฉบับนี้สามารถตีความได้กว้างและครอบคลุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์
 
 
1.5 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในด้านต่างๆ เช่น ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน, สมาชิกรัฐสภา (สส.,สว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน,ประธานศาลฎีกาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ และให้มีการยกร่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของประชาชน
 
 
1.6 ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน
 
2.การกระจายอำนาจ
 
ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม
 
 
2.1 หลักการเพื่อลดการรวมศูนย์ของรัฐส่วนกลางที่มีการผูกขาดทางอำนาจและระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจการจัดสรรอำนาจในเรื่อง
 
 
(1) ภารกิจงาน การบริหารภายในส่วนท้องถิ่น ยกเว้น งานต่างประเทศ และกองทัพ ซึ่งเป็นบทบาท หน้าที่ของรัฐส่วนกลาง 
(2) การคลัง การจัดเก็บภาษีและการบริหารงบประมาณ
(3) การบริหารงานบุคคล การสอบคัดเลือก การโยกย้ายและโอนย้าย
 
2.2 ข้อเสนอเชิงการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง
 
ให้ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค (ผู้ว่าราชการจังหวัด,อำเภอ และกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจของส่วนกลางและขึ้นตรงต่อสายการบังคับบัญชาของรัฐส่วนกลาง ไม่มีอิสระในการบริหารงานและงบประมาณ ให้มีเพียงการปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.,เทศบาล,อบจ., กทม.,เมืองพัทยา,..) และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรงจากประชาชน เพื่อความเป็นอิสระในการบริหารงานและงบประมาณ
 
3. นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
 
(3.1) สถานการณ์และปัญหาที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่กระทบกับประชาชน
(1) ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมมีราคาสูง
(2) การเข้าถึงเอกสารและหลักฐานของทางราชการ
(3) ความไม่รู้กฎหมายของประชาชน
(4) ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
(5) การรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
(6) การแจ้งสิทธิ์ของจำเลยหรือผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม
(7) การรับรู้โครงสร้างปัญหาป่าไม้ที่ดินของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
(8) การใช้มาตรการทางกฎหมายและคดีความ ปิดปากหรือกลั่นแกล้งการต่อสู้ของประชาชน
(9) คนจนติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว
(10) ปัญหาอันเกิดจากการใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
 
 
(3.2) ข้อเสนอ
 
 
(1) ให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง
 
(2) ให้มีการตั้งกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายว่าจะเป็นการปิดปากหรือกลั่นแกล้งประชาชน
 
(3) ขอใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหา ในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับทรัพยากรที่ดิน ป่า ไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะในการพิจารณาคดีและการค้นหาข้อเท็จจริงในคดีทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินป่าไม้ จะต้องไม่ใช่การพิจารณาหลักฐานตามกฎหมายเท่านั้น หากต้องวิเคราะห์จากหลักการทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา ไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณี ในการใช้ที่ดินและป่าของแต่ละพื้นที่
 
(4) ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยการปรับปรุง/แก้ไข พรบ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นี้ให้เกิดการส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน ให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
 
(5) สร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีความยึดโยงกับประชาชน เช่น การเลือกตั้งผู้พิพากษา หรือการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการเผยแพร่การพิจารณาคดีออกสู่สาธารณะอันแสดงถึงความโปร่งใส ยุติธรรมในการพิจารณาคดี ไปจนถึงการสร้างกลไกการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
 
(6) สร้างมาตรการป้องกันการฟ้องคดี SLAPPs (Strategic Lawsuits Against Public Participation) ซึ่งเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีในรูปแบบที่เป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือปิดปากไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือการใช้กระบวนการทางกฎหมายควบคุมการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือแสดงออก
 
(7) ยกเลิกโทษประหารชีวิต สืบเนื่องจากที่ผ่านมานั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ของไทยได้มีการกำหนดโทษเรื่องการประหารชีวิตไว้เพื่อใช้ในกรณีที่เป็นคดีร้ายแรง แต่เมื่อมองย้อนกับไปที่หลักการสิทธิมนุษยชน ก็จะเห็นได้ว่าหลักการสำคัญที่ข้อที่ 1 คือ บุคคลทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ อีกทั้งหากมองในด้านการลดหรือการป้องกันอาชญากรรมภายในประเทศแล้ว ก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่า ไม่ได้มีผลต่อการป้องกันหรือลดการกระทำความผิดแต่อย่างใด
 
 
 
4.นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
 
4.1 กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, มาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินที่เหมาะสมกับการทำเกษตรถูกใช้ไปดำเนินการผิดประเภท และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
 
4.2 ยกเลิก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
 
4.3 ผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร (ในรูปแบบโฉนดชุมชน) ยกระดับรูปแบบการจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการบริหารจัดการที่ดินที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร ชุมชนและเพื่อให้ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดิน
 
4.4 ส่งเสริมหลักจริยธรรมเรื่องที่ดิน ที่ไม่ใช่ แค่เพียงเป็นปัจจัยการผลิตสำหรับการสร้างกำไร เท่านั้น แต่ที่ดินคือรากฐานของชีวิตระบบนิเวศและสัตว์ ตามแนวนโยบายของ P-move เรื่องที่ดินไม่ใช่สินค้า
 
4.5 เรื่องการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรกรรมของเกษตรกรรายย่อย สนับสนุนเทคโนโลยีในการทำการเกษตร, สร้างพื้นที่สำหรับรองรับผลผลิตของเกษตรกรรายย่อย และสร้างหลักประกันในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย
 
4.6 เขตเศรษฐกิจพิเศษ จากกรณีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำการบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการหนุนเสริมศักยภาพของกลุ่มทุนใหญ่เพียงเท่านั้น หากแต่ไม่ได้มีการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายย่อย หรือ ประชาชนทั่วไปที่สนใจที่จะลงทุนพื้นที่ / อีกทั้งที่ผ่านมาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายทำเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในเรื่องของการเวนคืนที่ดินที่ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด, การฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ที่ถือสิทธิในพื้นที่ เป็นต้น
 
4.7 สิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน
4.8 ออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อป้องกันไม่นายทุนยึดครองประเทศ
 
4.9 ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบ (มาตรา 61) และที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า (มาตรา 6) กระจายที่ดิน 1 ล้านไร่ให้ชุมชนไร้ที่ดิน 10 ล้านคน, คืนสัมปทานที่ดินต่างชาติ/นายทุนให้คนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
 
 
5. นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
 
 5.1 ยุติ / ยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
 
(1) ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด/คุกคามชีวิต/ทรัพย์สินและส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ
 
(2) ยุติการนำนโยบาย มติ และระเบียบของ คทช. มาบังคับใช้กับชุมชนที่มีรูปแบบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่
 
(3) ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541รวมทั้งมติอื่นที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน อาทิ มติคณะรัฐมนตรีในการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ
 
(4) ยกเลิกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และพระราชบัญญัติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. … เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาที่ลิดรอนและละเมิดสิทธิชุมชนในเขตป่า
 
(5) ยกเลิกเขตส่งเสริมพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ประกาศทับซ้อนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีและพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
 
 
5.2 แก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย
 
(1) ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2561
(2) ผลักดันพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราก้าวหน้า พ.ศ. …
(3) พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับกลไกและกระบวนการการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
(4) พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ให้มีการปรับปรุงกลไก มาตรการและกระบวนการอนุญาตและลดข้อจำกัดการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน (อาทิ มาตรา 9 และ มาตรา 12)
 
 
5.3 แก้ไขและผลักดันร่างกฎหมายใหม่
 
(1) ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. …..
(2) ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน  (ร่างฉบับประชาชน)
 
 
5.4 ปรับปรุงแก้ไขกลไกและกระบวนการ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบหรือที่ดินทิ้งร้าง
 
(1) ปรับปรุงกลไกและกระบวนการการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบกฎหมายทั้งกรณีโฉนดที่ดิน และการประกาศที่สาธารณะซ้อนทับที่ดินของประชาชน
 
(2) กรณีที่ดินมีที่ปล่อยทิ้งร้าง ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน จัดให้มีกลไก หน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ  และเพิกถอนเอกสารสิทธิ์   
 
 
5.5 การเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 การฟื้นฟูชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ 
 
5.6 การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมือง
 
 
(1) รัฐบาลต้องมีนโยบายในการนำที่ดินรัฐประเภทต่างๆ มาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย รองรับคนจนเมืองในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน  
(2) รัฐต้องมีนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณ ในการจัดที่อยู่อาศัย และพัฒนาสาธารณูปโภคกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมือง
 
 
6.นโยบายภัยพิบัติ
 
6.1 ส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดยเสริมความรู้ความสามารถร่วมกันทุกภาคส่วนในการจัดการภัย เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติไปที่ชุมชนโดยตรง
 
6.2 จัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ อบรมพัฒนาเตรียมความพร้อมการศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติชุมชน การสื่อสารสาธารณะและให้กองทุนระดับท้องถิ่นมีหน้าที่ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนและเครือข่ายฯ เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสมทบกองทุนการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่น
 
 
6.3 ปรับปรุงกลไกคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ต้องมาจากผู้แทนชุมชนที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ ประกอบอยู่ในผู้ทรงคุณวุฒิด้วย เพิ่มอำนาจหน้าที่ ให้เป็นกรรมการที่มีอำนาจสั่งการ บริหารจัดการในขณะเกิดภัยพิบัติ และให้มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด ระดับตำบล เป็นผู้พิจารณาประกาศภัยพิบัติ พิจารณาจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติ พิจารณาให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยมีสัดส่วนจากผู้แทนชุมชน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ และจัดทำแผนเพื่อการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นชุมชนเป็นหลัก 
 
 
6.4 ปรับปรุงกฎหมาย โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อให้เอื้อในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย โดยสาระสำคัญต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ ต้องมีสถาบันส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นองค์กรหลักในการประกาศภัยพิบัติ ป้องกันภัยพิบัติ และบริหารจัดการภัยพิบัติ จึงร้องขอให้อำเภอ จังหวัดเข้ามาช่วยเหลือหากเกินศักยภาพ การส่งเสริมครัวกลาง แทนการจัดซื้อข้าวกล่อง ถุงยังชีพ ที่ชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเป็นการเสริมการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ  ส่งเสริมระบบฐานข้อมูลผู้เสียหาย
 
6.5 ปรับปรุงระบบการเข้าถึงสิทธิในการได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมกับทุกคนที่ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนการปรับปรุงกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการภัยพิบัติ การฟื้นฟูเยียวยา และการเตรียมพร้อมป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
 
 
7.นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์
 
 
7.1 ให้มีคณะกรรมการอำนวยการด้านแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมติ ครม.รับรองสามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์ประกอบจากภาคประชาสังคมและชุมชนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ในการร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา รวมทั้งติดตาม สรุปบทเรียน และประมวลปัญหาที่ติดขัดคั่งค้าง เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงโครงสร้างและนโยบายต่อคณะกรรมการระดับชาติในการติดตามผลการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในภาพรวม
 
 
7.2 เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน จึงเห็นควรให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2562 มาตรา 70 (ยกมาตรา)
 
 
7.3 เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้สัญชาติ และสิทธิสถานะแก่กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายนและ 3 สิงหาคม 2553
 
 
8. นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ
 
 
8.1 นโยบายการแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคล ของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใน 3 ปี
8.2 ให้ขยายมติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548 เพื่อสำรวจคนตกหล่นเป็นการเฉพาะ นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ครอบคลุมปัญหา
8.3 แต่งตั้งกรรมการแก้ปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มี ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มคนไร้สิทธิสถานะ และอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหาอย่างเร่งด่วน
8.4 สั่งการให้เกิดการปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลงาน ให้นำไปสู่การปฏิบัติการได้จริง
 
8.5 จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิติของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหา และการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานทันที
 
 
9. นโยบายรัฐสวัสดิการ
ชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ประเด็น ได้แก่
 
 
9.1 การศึกษา
(1) ข้อเสนอ
 
(1.2) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ ๐-๑๘ ปี จำนวน ๓,๐๐๐ บาท/เดือน
(1.2) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. จำนวน ๓,๐๐๐ บาท/เดือน
(1.3) ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็ก อายุ ๐-๓ ขวบ งบประมาณรายหัวประชากร รายละ ๑๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี
(1.4) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบประมาณรายหัวประชากร รายละ ๑๖,๐๐๐ บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้
(1.5) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร
(1.6) รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีโรงเรียนใกล้ชุมชนที่อยู่อาศัย เพื่อกระจายพื้นที่การศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึง
 
 
(2) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น
 
 
ผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ได้แก่ ประชากรแรกเกิดจนถึงอายุ ๑๘ ปี ประมาณ ๑๕ ล้านคน และผู้ศึกษาในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับประมาณ ๑.๘ ล้านคน รวมทั้งสิ้น ประมาณ ๑๗ ล้านคน หรือ ประมาณร้อยละ ๒๕ ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในระดับทุติยภูมิ ได้แก่ ผู้ปกครองและชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจในระดับฐานราก จากกำลังซื้อในชุมชนเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ให้อำนาจแก่ส่วนท้องถิ่นในการจัดการรายได้ดังกล่าวย่อมสร้างการเติบโตในระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
 
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ ด้านผลประโยชน์ของการเลี้ยงดูบุตร ในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนืออยู่ที่ ๑.๖-๓.๒ เฉพาะสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ ๑.๙ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการยกระดับมาตรฐานอื่นๆ ดังนั้น ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจของไทยจึงประมาณ ๒ เท่า หมายความว่า เงินค่าเลี้ยงดูเด็ก ๓,๐๐๐ บาท ย่อมมีความหมายเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท ในกระเป๋าของครัวเรือน ผลที่เกิดขึ้น คือ การค้ามนุษย์เด็กเป็นศูนย์ การตกออกจากการศึกษาภาคบังคับจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นศูนย์ การลดลงของอัตราการกลั่นแกล้ง เหยียดเชื้อชาติ ศาสนา ในโรงเรียน cและลดอัตราการแข่งขันในระบบการศึกษา
 
 
(3) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี ใช้งบประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน ๐-๖ ปี เดือนละ ๖๐๐ บาท
 
 
9.2 สุขภาพ
(1) ข้อเสนอ
(1.1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง
(1.2) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัวประชากร จำนวน ๘,๐๐๐-๘,๕๐๐ บาท/คน/ปี
 
(2) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น
 
การเพิ่มและปรับงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลรายหัว จากระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบราชการ ให้เป็น ๘,๐๐๐ บาท/คน/ปี หรือประมาณ ๓.๗๕ % ของ GDP จะทำให้การรวมกองทุนสามกองทุนสามารถเกิดขึ้นได้ ในเงื่อนไขที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต และผู้คนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น แม้การคำนวณผลได้ทางเศรษฐกิจจากนโยบายทางด้านการสาธารณสุขค่อนข้างทำได้ยาก แต่สามารถระบุตัวชี้วัดสำคัญได้ดังนี้
 
(2.1) ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ ๑ ของครัวเรือน
(2.2) การล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเป็นศูนย์
(2.3) ความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลหายไป คนที่มีรายได้สูงและคนที่มีรายได้น้อยของประเทศสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมกัน ตั้งแต่โรคที่มีค่าใช้จ่ายน้อยจนถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง
 
 
(3) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี
 
ใช้งบประมาณ ๔๖๗,๐๐๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๓๑๑,๐๐๐ ล้านบาท จากฐานงบประมาณเดิม แต่จะได้งบประมาณเพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบประมาณส่วนราชการ ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
 
9.3 ที่อยู่อาศัยและที่ดิน
(1) ข้อเสนอ
 
(1.1) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ ๒ ต่อปี  เว้นแต่หากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เช่น กลุ่มเฉพาะแบบชุมชนแออัด หรือคนไร้บ้านด้วย ให้มีแนวทางการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเฉพาะนั้นๆ
 
(1.2) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ห้อง
 
(1.3) ผู้อยู่อาศัยในโครงการภาครัฐ สามารถเบิกค่าเช่าจากประกันสังคม รวมค่าน้ำไฟพื้นฐาน ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท/ ๓๕ ตารางเมตร จัดเก็บโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
 
(1.4) ครัวเรือนเกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร ๑๕ ไร่ ต่อครอบครัว
 
(1.5) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด ร้อยละ ๒ ต่อปี สามารถเช่าซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและผ่อนระยะยาว
 
(1.6) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน
 
 
(2) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น
 
(2.1) สร้างที่อยู่อาศัยได้ ๗,๐๐๐,๐๐๐๐ หน่วย รองรับประชาชนได้มากกว่า ๑๐ ล้านคน และทำให้ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเช่าที่อยู่อาศัย ได้ร้อยละ ๗๐ ของค่าใช้จ่ายในตลาด
 
(2.2) การจัดเก็บภาษีที่ดินทำให้การกระจายออก และราคาที่ดินอยู่ในระดับเพื่อการเป็นมูลค่าใช้สอย มากกว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน
 
(2.3) ค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านลดลง  ประมาณ ๔๕ จากดอกเบี้ยร้อยละ ๒/ปี กล่าวคือ บ้านราคา ๑ ล้านบาท จากการผ่อนเดือนละ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท จะลดลงเหลือประมาณ ๓,๕๐๐ บาท/เดือน ทำให้ผู้คนเข้าสู่การเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองได้ง่ายขึ้นและทำให้การเข้ารับสิทธิที่อยู่อาศัยของรัฐน้อยลง
 
 
(3) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี
 
ใช้งบประมาณ ๑๐๘,๐๐๐ ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบประมาณส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง
 
 
9.4 งาน รายได้ ประกันสังคม
 
(1) ข้อเสนอ
 
(1.1) ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค ๕๐๐ บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ
(1.2) ค่าจ้างแรงงานให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ ๒% (การประกาศค่าจ้างอยู่ในเงื่อนไขการจ้างงานของทุกบริษัท)
(1.3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า
(1.4).การสมทบเงินประกันสังคม ขยายเพดานสูงสุดประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน
(1.5) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
   
 
–  แรงงานนอกระบบรายได้สูง ขยายเพดานเงินสมทบไม่จำกัดเพดาน สูงสุดประมาณ ๓,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อมีฐานเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน
 
– แรงงานนอกระบบสามารถสมทบเพิ่มเติมเองได้ ๑,๘๐๐ บาท หรือ ๒,๗๐๐ บาท/เดือน จากอัตราส่วน ๙% จากฐานเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาท/เดือน หรือ ๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่มีเงินเดือนสูงได้รับผลประโยชน์สูงขึ้นและสมทบเองมากขึ้น
 
– แรงงานนอกระบบรายได้น้อย สมทบเงิน ๑๐๐ บาท รัฐสมทบให้ ๙๐๐ บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน ๑๐,๐๐๐ บาท ผู้ที่ไม่สมทบสิทธิไม่ขาดหาย ขาดสมทบได้สูงสุด ๑๒ เดือน และเมื่อยื่นภาษีพบว่ามีรายได้ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท/ปี ถือว่าสิทธิไม่ขาด
 
– แรงงานนอกระบบรับการลาพักร้อนได้ ๕๐% ของค่าจ้างรายวันที่สมทบเป็นเวลา ๑๐ วัน/ปี (ให้แรงงานในระบบได้รับการเพิ่มสิทธิตามกฎหมายให้เป็น ๑๐ วันต่อปีเช่นกัน) ฐานเงินเดือนประกันสังคม ๑๐,๐๐๐ บาท คิดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๓๓๐ บาท รับสิทธิลาพักร้อนได้ ๕๐% ของค่าจ้าง (๓๓๐ บาท) รวมได้รับ ๑,๖๕๐ บาท/ปี (๕๐% x ๓๓๐ บาท x ๑๐ วัน ประมาณ ๑๖๕๐ บาท/ปี ) รับผิดชอบโดยสำนักงานประกันสังคม
 
 
(1.6)การเกษียณอายุ แรงงานนอกระบบรับเงินบำนาญตามฐานเงินเดือน อย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ บาท/เดือน ทำให้ได้รับเงินบำนาญ ๒,๐๐๐- ๕,๐๐๐ บาท/เดือน
 
(1.7)การลาคลอด ๑๘๐ วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก ๑ คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ
 
(1.8) การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี ไม่ว่าเลิกจ้าง ลาออก ไล่ออก เป็นจำนวน ๘๐% ของเพดานสูงสุดของฐานเงินเดือน (๓๐,๐๐๐ บาท/เดือน) เป็นเวลา ๖ เดือน
 
(1.9) การว่างงาน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงาน ระบบประกันสังคม ๖ เดือน ให้ได้รับค่าจ้างรายวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งได้งานใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเข้ารับการฝึกอบรมและสัมภาษณ์งาน และเริ่มงานใหม่ภายในสามเดือน
 
 
(2) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น
 
(2.1) ผู้ที่รับค่าจ้างขั้นต่ำในตลาดแรงงาน ประมาณ ๑๐ ล้านคน
(2.2) แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ ๑๐ ล้านคน
(2.3) แรงงานนอกระบบมีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้จริง มากกว่า ๒๐ ล้านคน
(2.4)สามารถวางแผนชีวิตหลังเกษียณ การว่างงานได้ดีขึ้น สร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน
 
 
(3) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี
ใช้งบประมาณจากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ ๒ แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม
 
 
9.5 ระบบบำนาญแห่งชาติ
(1) ข้อเสนอ
 
(1.1) เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” ๓,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ
(1.2) มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก ๕ ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค
(1.3) รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง
 
(2) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น
(2.1) ผู้สูงอายุ มีหลักประกันยามเกษียณที่สามารถใช้ชีวิตได้จริง ๙-๑๐ ล้านคน
(2.2) ผู้สูงอายุใช้สิทธิ์บำนาญถ้วนหน้าร่วมกับสิทธิประกันสังคม รับเงินบำนาญสูงสุด ๑๘,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท
(2.3) ลดการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงาน จากร้อยละ ๘๐ ให้เหลือร้อยละ ๓๐ ภายใน ๕ ปี
 
 
(3) งบประมาณที่ใช้ และทรัพยากรที่มี
 
งบประมาณที่ใช้เพิ่มขึ้น ๒๗๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ ๒๒๓,๗๖๒ ล้านบาท (เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ)
 
 
9.6 สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ
 
(1) ข้อเสนอ
 
(1.1) เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก ๘๐๐ บาท/เดือน เป็น ๓,๐๐๐ บาท/เดือน
 
(1.2) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ
 
(1.3) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่าจะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น
 
(1.4) ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮออร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
 
(1.5) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙)
 
(1.6) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง
 
(1.7) ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
 
(1.8) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น
 
(1.9) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการ ของประชาชนและชุมชน
(2) ผู้ได้รับประโยชน์ และผลที่เกิดขึ้น
 
(2.1) คนพิการสามารถมีอาชีพที่หลากหลาย และมีอิสระในชีวิตมากขึ้น ประมาณ ๒ ล้านคน
 
(2.2) การตกออกจากระบบการศึกษาและสวัสดิการพื้นฐานจากการเลือกปฏิบัติต้องเป็นศูนย์
 
(2.3) รัฐสวัสดิการวางอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน สลายความเป็นพลเมืองที่ยึดติดกับรัฐชาติ เพศสภาพ วัฒนธรรม ชาติพันธ์ รวมถึงความสามารถในการทำงาน ตัวชี้วัดความสำเร็จของรัฐสวัสดิการคือการนับรวมมนุษย์เข้าถึงระบบสวัสดิการโดยมีการแบ่งแยกน้อยที่สุด
 
9.7 การปฏิรูประบบภาษี
 
งบประมาณเพื่อการจัดทำรัฐสวัสดิการ ประมาณการ ๑.๔ ล้านล้านบาท หากมีการดำเนินการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณโดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้
 
(1) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๒๔๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(2) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น ๓๐% ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(3) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(4) ภาษีที่ดินส่วนเกิน ๑๐ ไร่ (ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร ๒๐ ไร่) (ปัจจุบันที่ดินกว่า ๗๕ ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ ๓ ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ ๒,๐๐๐ บาท/ปี ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี
 
(5) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(6) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด ๔๕% ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(7)ปรับลดงบประมาณกลาโหม ๗๐ % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๘๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(8) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๒๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(9) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๖๓,๐๐๐ ล้านบาท
 
(10) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบประมาณที่ได้รับ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(11) การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากรัฐสวัสดิการ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท
 
(12) ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์
รวมงบประมาณ ๑.๔ ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร