ดูรายชื่อรัฐมนตรี “คนนอก” 16 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

คณะรัฐมนตรีชุด "ประยุทธ์ 2" หรือ "คสช. ซีซั่น 2" เข้ารับหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว และได้เห็นหน้าค่าตากันหมดแล้วว่า ใครเป็นใครบ้าง โดยคณะรัฐมนตรี 36 คน ชุดที่ใช้เวลาคัดเลือกกันนานถึง 35 วัน นับตั้งแต่รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี หรือ 109 วันนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป ประกอบไปด้วยโควต้าจากพรรคพลังประชารัฐ 18 คน พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน พรรคภูมิใจไทย 7 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และพรรคชาติพัฒนา 1 คน 
แม้กระบวนการก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จนถึงกระบวนการนับคะแนน คิดคำนวนที่นั่ง และการประกาศผล จะสร้างข้อครหาให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นวาระที่สองอย่างสง่างาม แต่พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ยังคงยืนยันว่า วาระที่สองนี้ตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรี "จากการเลือกตั้ง" และจากระบอบประชาธิปไตย ขณะที่เมื่อพลิกดูรายชื่อคณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คน ก็พบว่า จำนวน 16 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้าข่ายเป็นรัฐมนตรี "คนนอก" คือ ได้รับแต่งตั้งมาจากบุคคลที่อยู่นอกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นโควต้าของพรรคพลังประชารัฐถึง 11 คน
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ได้จำกัดคุณสมบัติว่า รัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. หรือต้องผ่านสนามการเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งมาด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถมาเข้ามาทำงานบริหารประเทศได้ แต่การเดินหน้าแต่งตั้งให้ "คนนอก" มานั่งเก้าอี้ต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งใหญ่ๆ อย่าง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ย่อมส่งผลต่อความสง่ามงามของรัฐบาล "คสช. ซีซั่น 2" 
โดยรัฐมนตรี "คนนอก" ทั้ง 16 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจแบ่งเป็นประเภทได้ ดังนี้
1. ทีมงานเก่า ยกมาจากรัฐมนตรีชุด คสช. 7 คน
สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ กลุ่มคนที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557 สามคน ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสำคัญๆ ในยุครัฐบาลจากการรัฐประหารและกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ขาดไปเสียไม่ได้ ก็เดินหน้า "ลอยมา" รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่อ ในซีซั่นสอง ได้แก่ 
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งนั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2557 ก็ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีต่อ
พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี 2557 ก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อ
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งนั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มาตั้งแต่ปี 2558 ก็ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีต่อ
ส่วนตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่สอง ซึ่งอาจยังพอกล่าวได้ว่า มีส่วนยึดโยงกับการเลือกตั้ง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่ออยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ต้น และประชาชนที่ไปเลือกตั้งก็ทราบได้ว่า การเลือกพรรคพลังประชารัฐเท่ากับการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยัง "ลอยมา" นั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรงกลาโหมเพิ่มไปด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยและปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่น่าสนใจ พล.อ.ชัยชาญ ไม่ได้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมมาตั้งแต่ปี 2560 และก็ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมต่ออีกสมัย แสดงให้เห็นว่า เป็นบุคคลที่ทำงานและได้รับความไว้วางใจจากพล.อ.ประยุทธ์ ให้ดูแลกิจการทหาร
อีกสองคนที่มีบทบาทโดดเด่นในยุคของ คสช. และก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีให้นั่งต่อยาวๆ โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ วิษณุ เครืองาม ซึ่งนั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2557 และได้กลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งได้รับตำแหน่งรัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในปี 2558 และได้กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศต่ออีกสมัย
2. แกนนำพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีชุด คสช. 3 คน
ช่วงก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ส่งรัฐมนตรีสี่คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นให้มาเป็นแกนนำจัดตั้งและเดินงานของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อจะส่งพล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อให้ได้ รัฐมนตรีสี่คนที่เปิดตัวเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ ได้แก่ อุตตม สาวนายน รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค สุวิทย์ เมษินทรีย์ รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค กอบศักดิ์ ภูตระกูล รับตำแหน่งโฆษกพรรค
ทั้งสี่คนทำงานให้กับพรรคพลังประชารัฐควบคู่กับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ไปด้วย จนกระทั่ง 29 มกราคม 2562 ก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อไปทำงานหาเสียงกับพรรคพลังประชารัฐแบบเต็มตัว แต่ทั้งสี่คนไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วย เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ ไม่ได้ลาออกภายใน 90 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จึง "ขาดคุณสมบัติ" ไม่สามารถเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ระหว่างที่ทำกิจกรรมหาเสียงจึงเป็นการหาคะแนนให้กับลูกพรรคเท่านั้น ไม่ได้หาเสียงให้ตัวเองไปด้วย
และเมื่อประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แกนนำพรรคพลังประชารัฐสามคน จึงคว้าตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ไปได้ ดังนี้
อุตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้รับตำแหน่ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ส่วนกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่มาร่วมเป็นแกนนำขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐด้วยกัน เป็นคนเดียวที่ไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีให้กลับเข้ามามีอำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง
3. มาแทนญาติพี่น้อง ไม่สมัคร ส.ส. ก็เป็นรัฐมนตรีได้ 3 คน 
รัฐมนตรีของรัฐบาล "คสช. ซีซั่น 2" สามคน ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเองแต่มีญาติพี่น้องลงสมัคร และสุดท้ายด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันตัวเองกลับ "ลอยมา" นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีเสียเอง ได้แก่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ, มนัญญา ไทยเศรษฐ์ สองคนจากโควต้าพรรคภูมิใจไทย และนิพนธ์ บุญญามณี จากโควต้าพรรคประชาธิปัตย์
พิพัฒน์ รัชกิจประการ 
เป็นสามีของนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 ของพรรคภูมิใจไทย นาทีมีโอกาสได้เป็น ส.ส. หลังประกาศผลการเลือกตั้งอยู่ไม่กี่วัน ก่อนที่ 9 กรกฎาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะสั่งให้นาทีมีความผิดฐานยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ให้มีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี นาทีจึงต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งทรัพย์สินส่วนที่นาทีไม่ได้ยื่นแจ้งให้ครบถ้วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งเป็นของสามี คือ พิพัฒน์ นั่นเอง ถึงนาทีจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่พิพัฒน์ก็ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอยู่ดี
มนัญญา ไทยเศรษฐ์ 
เป็นน้องสาวของชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. เขต 2 จังหวัดอุทัยธานี และเป็นมารดาของเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส. เขต 1 จังหวัดอุทัยธานี ของพรรคภูมิใจไทย ระหว่างการเลือกตั้งในปี 2562 มนัญญาดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ซึ่งถูกสำนักข่าวอิศรา ขุดคุ้ยพบประวัติการอนุมัติก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียหลายร้อยล้านบาทที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ ตอนแรกผู้ที่ถูกวางให้รับตำแหน่งรัฐมนตรี คือ ชาดา แต่เนื่องจากมีชื่อเสียงพัวพันกับคดีความในทางไม่ดี ชาดาจึงส่งมนัญญามารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นิพนธ์ บุญญามณี เป็นนักการเมืองที่มีประวัติโชกโชน โดยเคยเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็น ส.ส. จังหวัดสงขลา 5 สมัย ในระหว่างการเลือกตั้งในปี 2562 นิพนธ์ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเองแต่ส่งลูกชาย สรรเพชร บุญญมณี ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 จังหวัดสงขลา แต่ได้คะแนน 24,540 คะแนน แพ้ให้กับวันชัย ปริญญาศิริ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ 37,134 คะแนน แต่ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ส่งนิพนธ์ ให้มารับตำแหน่ง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย"
4. ส.ส. สอบตก แต่ได้เป็นรัฐมนตรี 3 คน
ยังมีรัฐมนตรีของรัฐบาล "คสช. ซีซั่น 2" สามคน ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วยตัวเอง แต่ "สอบตก" หรือไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเพียงพอให้ทำหน้าที่เป็น ส.ส. แต่ถึงพลาดตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ก็ยังสามารถ "ลอยมา" นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ได้แก่ อิทธิพล คุณปลื้ม จากพรรคพลังประชารัฐ, เฉลิมชัย ศรีอ่อน จากพรรคประชาธิปัตย์ และกนกวรรณ วิลาวัลย์ จากพรรคภูมิใจไทย 
อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นลูกชายของ "กำนันเป๊าะ" หรือ สมชาย คุณปลื้ม และน้องชายของสนธยา คุณปลื้ม ตระกูลนักการเมืองเจ้าของพื้นที่จังหวัดชลบุรี อิทธิพลเป็นอดีตนายกเมืองพัทยาที่ถูกปลดจากตำแหน่งด้วย "มาตรา 44" ในยุคของ คสช. อิทธิพลยังเป็นอดีต ส.ส. ของจังหวัดชลบุรีสองสมัยและเคยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย แต่ในการเลือกตั้ง 2562 อิทธิพลย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และรับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพร้อมกับลงสมัคร ส.ส. เขต 6 จังหวัดชลบุรี แม้ในจังหวัดนี้พรรคพลังประชารัฐจะกวาดไปได้ 5 ที่นั่งจากทั้งหมด 8 ที่นั่ง แต่ที่เขต 6 กลับมีเหตุการณ์ "ล้มช้าง" เมื่อตัวเต็งอย่างอิทธิพล แพ้ให้กับจรัส คุ้มไข่น้ำ จากพรรคอนาคตใหม่ ไป 33,440 ต่อ 36,189 คะแนน อย่างไรก็ดี ผลงานที่อิทธิพลสร้างไว้ให้กับพรรคพลังประชารัฐยังเข้าตา และเขาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปัจจุบันเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์หลายสมัย ในการเลือกตั้ง 2562 ลงสมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ "สอบตก" พ่ายแพ้ให้กับพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทยแบบเฉียดฉิว 32,401 ต่อ 32,507 ต่างกันเพียง 106 คะแนน บีบีซีไทย รายงานว่า เฉลิมชัย ถูกมองว่าเป็นคน "ใจถึง พึ่งได้" จนมีการตั้งกลุ่ม "เพื่อนเฉลิมชัย" เพื่อกดดันพรรคให้มอบเก้าอี้ รมต. ให้แก่เขา เขารับบท "มือประสาน" พูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ และเขาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และผู้สมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 16 เป็นลูกสาวของสุนทร วิลาวัลย์ อดีต ส.ส. จังหวัดปราจีนบุรีหลายสมัย 
กนกวรรณเคยเป็น ส.ส. จังหวัดปราจีนบุรีพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ตระกูลนี้จะย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยและในการเลือกตั้ง 2562 พรรคภูมิใจไทยก็กวาดได้ทั้งสามที่นั่งในจังหวัดปราจีนบุรี แม้พรรคจะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 12 คน และกนกวรรณไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็ยังได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ