การจัดการป่าไม้ฉบับคสช. : ยึดที่ทำกินจากคนจน ยกผืนป่าให้นายทุน

ความขัดแย้งของการจัดการทรัพยากรที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนเป็นปัญหาที่ดำเนินมายาวนานอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุค ฝ่ายรัฐก็ต้องการเพิ่มพื้นที่ "ป่า" เพื่อการอนุรักษ์ ส่วนฝ่ายประชาชนก็ต้องการที่ดินสำหรับทำเกษตรและอยู่อาศัย
นิยามของคำว่า “ป่า” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ซึ่งกำหนดนิยามไว้ว่า “ป่า” หมายถึง “ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน” ที่ผ่านมาใจความสำคัญของความขัดแย้งเรื่องป่า คือ การที่รัฐอ้างกฎหมายเข้าแย่งยึดที่ดินจากประชาชนและนำไปแจกจ่ายให้แก่นายทุน โดยเห็นแก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
 
 
 
ความขัดแย้งครั้งแรกๆ เริ่มขึ้นเมื่อรัฐให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า เช่น ทำธุรกิจตัดไม้ขาย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวหลายครั้งมีชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเจ้าของมาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่พวกเขาไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่เคยถูกสำรวจและเข้าสู่กระบวนการจัดทำเอกสารออกฉโนด การให้สัมปทานแก่เอกชนส่งผลให้ต้องอพยพชุมชนดั้งเดิมออกจากพื้นที่ ปี 2531 สถานการณ์แย่ลงเมื่อเอกชนลักลอบตัดไม้ในป่า ท่อนไม้ที่ไหลหลากมาตามน้ำเป็นภาพที่ทำให้ประชาชนทนไม่ไหว และลุกขึ้นมาเรียกร้องที่จะมีสิทธิในการอยู่อาศัยและเป็นผู้ดูแลผืนป่าด้วยตนเอง พวกเขาต่อสู้กดดันจนกระทั่งรัฐบาลต้องยกเลิกสัมปทานเอกชนทั่วประเทศ* 
 
 
แนวคิดการไล่คนออกจากป่าและเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนยังดำเนินต่อไป ปี 2534 รัฐบาลของชาติชาย ชุณหะวัณทำโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งหมายถึงการบังคับย้ายคนที่เคยอยู่มาก่อนออกจากถิ่นที่ทำกินเดิมและไปหาที่ใหม่ให้ ฝ่ายรัฐอ้างว่า ต้องการช่วยประชาชนผู้ยากไร้ จัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่พร้อมออกเอกสารสิทธิ แต่ในความเป็นจริงที่ดินที่รัฐจัดสรรให้กลับมีผู้ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วทั้งสิ้น อีกด้านหนึ่งรัฐกลับเปิดพื้นที่สัมปทานการตัดป่าและให้เอกชนเช่าปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ยูคาลิปตัส
 
 
และประวัติศาสตร์วนซ้ำอีกครั้งในปี 2557 เมื่อ คสช. ทำรัฐประหาร ประกาศนโยบาย "คืนความสุข" และออกคำสั่งจัดการผืนป่าสำคัญสองคำสั่ง คือ คำสั่งคสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ให้อำนาจทหารเข้ายึดคืนที่ดินจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อเติมเต็มความฝันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ แต่ระหว่างทางกลับกำหนดข้อยกเว้นให้เอกชนได้ เช่นที่เคยเป็นมาในอดีต  
 
 
ฝัน "ทวงคืนผืนป่า" จากนายทุน แต่ทุกข์ตกที่คนจน
 
 
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 ระบุถึงปัญหาป่าไม้ว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2504 ไทยมีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 53.3 ต่อมาในปี 2553 มีพื้นที่ป่าเหลือร้อยละ 33.6 โดยเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ระบุว่า ระหว่างปี 2551-2556 ลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณปีละ 1,000,000 ไร่จากการบุกรุกทำลายป่า
 
ดูแล้วเหมือนจะเป็นเหตุอันสมเหตุสมผลในการยึดคืนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน 2557 คสช.ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 คำสั่งดังกล่าวมีชื่อเล่นว่า "ทวงคืนผืนป่า" สัปดาห์ต่อมา คสช. ออกคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ยกเว้นไม่ให้ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากระทบต่อผู้ยากไร้ ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้
 
 
“…ให้กระทรวงกลาโหม  กระทรวงมหาดไทย  สํานักงานตํารวจแห่งชาติ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  กองกําลังรักษาความสงบเรียบร้อย  กองกําลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก  และ กองทัพเรือ  ตลอดจนหน่วยงานที่มีภารกิจและอํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดําเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก  ยึดถือ  ครอบครอง  ทําลาย  หรือกระทําด้วยประการใดๆ  อันเป็นการทําให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า…” คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557
 
 
“…การดําเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดําเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกําหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป…” คำสั่งคสช.ที่ 66/2557
 
 
เป้าหมายหลักของนโยบายทวงคืนผืนป่า คือ การจัดการยึดคืนที่ดินจากกลุ่มนายทุนที่เข้ามาบุกรุกใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยมิชอบ พื้นที่ที่ได้จากการทวงคืนจากกลุ่มทุนจะนำมาฟื้นฟูสภาพป่าหรือดำเนินการจัดที่ทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในรูปแบบแปลงรวม และตั้งเป้าให้ไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด แม้ว่า คสช. จะกำหนดข้อยกเว้นไว้ไม่ใช้บังคับกับผู้ยากไร้ แต่ในทางปฏิบัติผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่กลับเป็นชาวบ้านผู้ยากไร้ ชาวบ้านต้องถูกบังคับย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีที่ทำกินรองรับ หลายคนยังไม่มีที่อยู่อาศัยใหม่จนปัจจุบัน ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นหลายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่านและสุราษฎร์ธานี
 
 
ทวงคืนผืนป่าที่ชัยภูมิ : ติดคุก 13 คน ไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายร้อยคน
 
 
ตัวอย่างกรณีที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า คือ อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 188 คน กินพื้นที่ราว 6,000 ไร่ ตามประวัติศาสตร์แล้วชาวบ้านเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรทองตั้งแต่ในปี 2510 ก่อนการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองในปี 2535 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้ประชาชนพื้นที่ที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่เป็นพื้นที่คุกคามต่อระบบนิเวศสามารถทำกินต่อไปได้ มีการสำรวจพื้นที่สามครั้งในปี 2546, 2549 และ 2553
 
 
อย่างไรก็ตามยังคงมีชาวบ้านบางส่วนที่ตกสำรวจเนื่องจากชาวบ้านอ้างว่า ในการสำรวจแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่สำรวจไม่มีการแจ้งกำหนดการล่วงหน้า และเมื่อ คสช. ประกาศทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านที่ตกสำรวจดังกล่าวจึงกลายเป็น “ผู้บุกรุก” พื้นที่ป่าตามคำนิยามของรัฐ แม้ว่าจะบุกเบิกพื้นที่ป่าและอยู่มาก่อนหลายสิบปีก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนต้องยอมเซ็นคืนพื้นที่ทำกินด้วยความหวาดกลัวและไม่รู้เท่าทันถึงผลกระทบ แต่ยังไม่ละความพยายามต่อสู้ ต่อรองกับรัฐบาล คสช. ผ่านกลไกภาคประชาสังคม จนกระทั่งรัฐบาล คสช. จำต้องตั้งคณะกรรมการและชะลอการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
 
 
ความไม่มีทางเลือกในการทำกินและความเชื่อว่า คำสั่งชะลอการดำเนินการพอจะเป็นหลักการที่พึ่งพิงได้ ชาวบ้านบางส่วนจึงกลับไปทำกินในพื้นที่ทำกินที่เซ็นคืนไปแล้ว อันเป็นเหตุให้เวลาต่อมาชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องดำเนินคดีจากการบุกรุกพื้นที่ป่าที่เคยเป็นที่ทำกินเดิมของพวกเขา  จำนวน 14 คน รวม 16 คดี ทั้งหมดต้องโทษจำคุกโดยรอลงอาญา มีเพียงคนเดียวที่ได้รับการรอลงอาญาโทษจำคุก และทั้งหมดต้องจ่ายค่าเสียหายจากการบุกรุกป่าหลายแสนถึงหลายล้านบาท
 
 
ศาลอุทธรณ์ภาคสาม แผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า พวกเขาทั้ง 14 คนมีความผิดฐานบุกรุกและสร้างความเสียหายในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ในชั้นศาลพวกเขาต่อสู้ว่า พวกเขาเป็นผู้ยากไร้และใช้ประโยชน์ในที่ดินมาก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 จะมีผลบังคับใช้ ทั้งถือเป็นผู้ได้ประโยชน์ตามข้อยกเว้นในคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 การพิจารณาว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินมาก่อนหรือไม่ ศาลรับฟังหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องตามมติ ครม. ปี 2541 โดยมติดังกล่าวผ่อนผันให้ผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อนมติออกสามารถทำประโยชน์ต่อไปได้ หากจำเลยไม่มีรายชื่อผู้ได้รับการผ่อนผันก็จะถือว่า เป็นผู้บุกรุกใหม่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ซึ่งทั้งหมดไม่มีรายชื่อในการสำรวจตามมติครม. ปี 2541
 
 
แม้จำเลยทั้งหมดจะสู้ว่า ไม่ได้ยินยอมเซ็นคืนพื้นที่ แต่ศาลมองว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้บุกรุกก็ย่อมต้องถูกบังคับย้ายออกไม่ใช่เป็นสิทธิของจำเลยที่จะเลือก
 
 
นอกจากนี้พนักงานอัยการยังเรียกค่าเสียหายจากการบุกรุกแผ้วถางป่าของจำเลย โดยในชั้นอุทธรณ์ ศาลวางแนววินิจฉัยสองลักษณะ คือ ให้น้ำหนักการวิเคราะห์ค่าเสียหายของเจ้าพนักงานกรมป่าไม้และวางค่าเสียหายตามที่เรียกร้องมาตามคำฟ้อง และรับฟังการวิเคราะห์ค่าเสียหายของเจ้าพนักงานกรมป่าไม้แต่พิจารณาถึงตัวแปรทางสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยที่ทำให้การสำรวจค่าเสียหายอาจไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง รวมทั้งมองว่า การเรียกค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจะเป็นการกระทำซ้ำต่อผู้ยากไร้จึงยืนตามค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นวางไว้ ซึ่งน้อยกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานฯเรียกร้องมา ค่าเสียหายในการบุกรุกทำลายป่าเป็นเงินระหว่าง 100,000-1,500,000 บาท
 
 
ไล่ชาวบ้านออกจากป่า แต่เดินหน้าอนุญาตเอกชนทำประโยชน์
 
 
แม้ว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าจะตั้งเป้าจัดการกับเหล่านายทุนและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 40 ด้านหนึ่ง คสช. ดำเนินนโยบายอย่างแข็งขันต่อชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่ป่า แต่อีกด้านหนึ่ง คสช. กลับวางข้อยกเว้น อนุญาตให้เอกชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนได้ กรณีที่มีปัญหาอยู่เรื่อยมา คือ การขออนุญาตทำเหมืองแร่ในเขตป่าสงวน ตัวอย่างเช่น
 
 
ป่าสงวนแห่งชาติดงหมู จังหวัดมุกดาหาร
 
 
24 สิงหาคม 2561 กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เพื่อขอให้ตรวจสอบ พฤติกรรมเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ มห.1(คำป่าหลาย) ระบุว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ฯ ได้ใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ตรวจยึดพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่ระหว่างเขตรอยต่อป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบแนวเขตและพิสูจน์สิทธิ์การครอบครอง แต่เวลาเดียวกันกลับมีการริเริ่มโครงการเหมืองแร่หินทรายอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ป่าเดียวกัน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงสุ่มเสี่ยงที่จะส่อว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน 
 
 
ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทินและป่าคลองตีบ จังหวัดเพชรบูรณ์
 
 
19 มกราคม 2562 จากกรณีที่กรมป่าไม้ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชน เข้าสำรวจแร่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทินและป่าคลองตีบ ตำบลหนองไผ่และตำบลยางงาม จังหวัดเพชรบูรณ์โดยไม่รับฟังความเห็นสภาท้องถิ่น กลุ่มคนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่จึงยื่นฟ้องกรมป่าไม้ต่อศาลปกครองนครสวรรค์ เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตการเข้าสำรวจแร่ของบริษัทเอกชนข้ามชาติ ซึ่งอ้างสำรวจแร่ในเชิงวิชาการในพื้นที่ 2 ตำบลรวมเนื้อที่ราว 1,867 ไร่
 
 
ก่อนหน้านี้ในปี 2559 บริษัทดังกล่าวเคยเข้าไปสำรวจติดตั้งเครื่องจักรขุดเจาะแร่บริเวณพื้นที่ป่าดังกล่าว จนถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ภายหลังกลับได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าสำรวจแร่ได้

 

 
ป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
 
 
4 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผ่อนผันให้ปูนซิเมนต์ไทยเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็กเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ (พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์) รวมเนื้อที่ 3,300 ไร่  พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อยู่ติดเขตป่าอนุรักษ์ที่เป็นพื้นที่คุ้มครองป่าไม้ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ, วนอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ขณะเดียวกันพื้นที่ขออนุญาตทำเหมืองบางส่วนยังมีการอาศัยอยู่ของเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอีกด้วย 
 
 
ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 มีมาตรการห้ามไม่ให้นำพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เพื่อรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติและระบบนิเวศ แต่เนื่องจากรัฐมีข้อผูกพันกับเอกชนไว้ก่อนหน้าแล้วจึงควรดำเนินมาตรการผ่อนผันยกเว้น โดยระบุว่า ปูนซีเมนต์ไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน
 
 
ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
 
 
ข้อมูลจากแลนด์ วอทช์ไทยระบุว่า ปี 2562 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่อนุญาตบริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ถ่านหินในเขตป่าอมก๋อย ตำบลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 284 ไร่ 30 ตารางวา พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ตั้งอยู่ใกล้เคียงและเหนือแหล่งต้นน้ำ ขณะที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลอมก๋อยกลับถูกปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า
 
—-
*สรุปความจากบทความเรื่อง การเมืองเรื่องป่าชุมชน: ปัญหาเชิงนโยบายและระบบกรรมสิทธิ์ร่วมในสังคมไทยโดยบัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ