สรุปสถานการณ์หลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา 14 ชาวบ้าน คดีไทรทอง

หลังการรัฐประหารครั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ความพยายามที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหาเรื่องทรัพยากรป่าไม้ โดยได้ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 หรือเรียกกันว่า “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ที่ให้อำนาจทหารร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จัดการจับกุมและดำเนินคดีคนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า ส่งผลให้มีชาวบ้านหลายพันคนถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง และบางส่วนถูกดำเนินคดี
 
ชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ตกอยู่ในความขัดแย้งจากปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และมีการอ้างถึง “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ยึดคืนที่ดินที่ชาวบ้านใช้ทำการเกษตร เนื่องจากมองว่าชาวบ้านได้บุกรุกป่าเพิ่มเติมจากเดิม แต่ชาวบ้านก็ยังยืนยันว่าได้ทำการเกษตรในที่ดินมานานแล้วตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่บกพร่องในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ซึ่งในระหว่างยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกับรัฐ ชาวบ้าน 14 คน ก็ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 19 คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทุกคนมีความผิด
ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมด 14 คน 19 คดี ทุกคดีจำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดียืนยันถึงสิทธิที่อยู่อาศัยในที่ดินมาก่อน จึงไม่มีเจตนาบุกรุกป่า
 
เกือบทุกคดีศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำคุก มีเพียงคดีเดียวที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้มีความผิด แต่รอลงอาญาไว้ และทุกคดีศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นจำนวนมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จำเลยใช้ทำกิน จำเลยทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ 
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ทุกคนมีความผิด พร้อมทั้งเพิ่มการชดใช้ค่าเสียหายในบางคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เริ่มอ่านคำพิพากษาคดีไทรทอง ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยเริ่มจากคดีของนิตยา ม่วงกลาง แกนนำต่อสู้สิทธิที่ดินในชุมชนดังกล่าว จนกระทั่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครบหมดทุกคดี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 โดยทุกคดีศาลอุทธรณ์ยังตัดสินให้ชาวบ้านมีความผิด และสั่งลงโทษจำคุกในเกือบทุกคดี ยกเว้นเพียงคดีเดียวที่ยังยืนยันโทษรอลงอาญาให้แก่จำเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของแต่ละคดีนั้นมีทั้งการปรับลดโทษจำคุกลงจำนวนหนึ่งคดี รวมไปถึงการเพิ่มการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เพิ่มการชดใช้ค่าเสียหายถึงเจ็ดคดี โดยไม่สามารถอธิบายได้วาคดีไหนศาลตัดสินให้เพิ่ม หรือไม่เพิ่มการชดใช้ค่าเสียหายเพราะอะไร 
 
ตารางสรุปผลการตัดสินของศาลชั้นต้น และศาลชั้นอุทธรณ์ 14 ชาวบ้านคดีไทรทอง
 
 
หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา ก็ไม่สามารถประกันตัวชาวบ้านออกมาสู้คดีต่อได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปัจจุบันใช้ระบบ "ศาลสองชั้น" คือ ให้อุทธรณ์คำพิพากษาได้ต่อศาลอุทธรณ์หนึ่งชั้น ส่วนถ้าหากยังไม่พอใจคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และต้องการจะยื่นต่อ "ศาลฎีกา" จะต้อง "ขออนุญาต" ก่อน และศาลฎีกาจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า จะอนุญาตให้ยื่นคดีต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ หากศาลฎีกาเห็นว่า เป็นคดีที่ไม่สำคัญ หรือไม่ใช่คดีที่กระทบต่อสาธารณะ และอาจสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกา จะทำให้คดีสิ้นสุดทันที และชาวบ้านต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ซึ่งในขณะนี้ชาวบ้านทุกคนได้รับการประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกา