มองบทเรียนหลังเลือกตั้ง ‘ความบิดเบี้ยวบนความตั้งใจ’

เนื่องในวาระรำลึกถึง 'ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม' ครั้งที่ 9 คณะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘บทเรียนการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 60’ เพื่อถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งผ่านมุมมองของตัวแทนนักวิชาการสายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และภาคประชาชน 
ทั้งนี้ บทเรียนที่ถูกสะท้อนในวงเสวนาช่วยขยายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ถอยหลังไกลห่างจากความเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวไม่ได้หลักการ และการวางบทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเอื้อไปในทางรักษาอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิม อย่างคณะรัฐประหารให้อยู่ต่อไปได้
 ภาพจาก เฟซบุ๊กคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
คุณค่าของการเลือกตั้งคือ ‘ความเท่าเทียม’ ของคะแนนเสียง
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นถอดบทเรียนการเลือกตั้งผ่านสามเป็นประเด็นหลัก ได้แก่ “ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม” “การแบ่งเขตเลือกตั้ง” และ “สิทธิรับสมัครการเลือกตั้ง” โดยเน้นย้ำว่า แม้ประชาธิปไตยไม่เท่ากับไม่เท่ากับการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็น แต่การเลือกตั้งเป็นองค์ปะกอบที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเสียแล้วมันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย 
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตย ต้องเป็นระบบเลือกตั้ง จะต้องมี universal suffrage ก็คือผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทุกคนๆในชาติที่เป็นพลเมืองย่อมมีสิทธิเลือกตั้ง แต่แน่นนอนต้องมีเกณฑ์คนที่จำกัดสิทธิ อย่างคนวิกลจริต คงไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งเกณฑ์เลือกอายุเด็กอายุสี่ขวบไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามผู้มีสิทธิลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างกว้างขวางที่สุด 
รศ.ดร.ณรงค์เดช อธิบายต่อว่า การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ต้องเป็นการเลือกตั้งทางตรง หมายความว่าประชาชน พลเมืองเมื่อเป็นคนกำหนดตัวผู้แทนของเขา ไม่ใช่เลือกคณะคนกลางขึ้นมาและคนกลางไปเลือกคนอื่นต่อเขาต้องแสดงเจตจำนงและกำหนดผลการเลือกตั้ง direct election 
ส่วนข้อที่สาม พื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยมันมาจาก individualism ปัจเจกชนนิยม คนแต่ละคนเท่ากันมันคุณค่าเท่ากัน โดยสะท้อนผ่านคะแนนเสียงที่ต้องเท่ากันในการกำหนผลการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้คนผู้ไปใช้สิทธิกลัว กล้าแสดงออกในเจตจำนงที่แท้จริงของเขา เสียงที่โหวตไปต้องเป็นความลับไม่สามารถสืบย้อนกลับมาได้ว่าคนๆนั้นเขาโหวตเลือกใคร มิเช่นั้น ก็เหมือนกกับเกาหลีเหนือที่มีเลือกตั้งนะประธานธิปดี คิม จอง อึน แต่ร้อยเปอร์เซนต์เลือกคิมจองอึน เพราะเขากลัว ใครกล้าไม่เลือก ดังนั้นการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม มีกระบวนการที่ให้การแข่งขันมีความเป็นธรรม และมีการกำหนดเวลาแน่นอนเป็นประจำเพื่อให้คนมีตัวเลือกหรือทางเลือกใหม่
รศ.ดร.ณรงค์เดช อธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบเลือกตั้งของไทยว่า ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญไทยพูดต้องการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ไม่ต้องการให้มี “คะแนนเสียงทิ้งน้ำ” เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นระบบ the First past the post คือ ใครได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในเขตนั้นก็ได้เป็นผู้แทน ทำให้มีคะแนนเสียงทิ้งน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิแสนคน นาย ก. ชนะเลือกตั้งได้ไป 150,000 อีก 85,000 ที่เลือกคนอย่างอื่นหายไป จนมีข้อวิจารณ์ว่านี้คือ คะแนนเสียงทิ้งน้ำ ทำให้เกิดระบบที่จะแก้ปัญหาพวกนี้ก็คือระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนเพื่อจะกระจายกันไปทุกพรรคการเมืองทุกผู้สมัครที่อยู่ในเขตนั้นก็จะกระจายกันไป ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย 
แต่ทว่า รศ.ดร.ณรงค์เดช ก็ย้ำว่าต้องยอมรับความจริงเช่นกันว่า ไม่มีระบบเลือกตั้งแบบไหนที่จะแก้ปัญหาคะแนนเสียงทิ้งน้ำได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการออกแบบระบบเลือกตั้งจึงต้องมองไปที่ใจสำคัญของการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยว่า ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกไปถูกนำมานับและกำหนดผลการเลือกตั้ง ดังนั้นแม้ว่า the First past the post เขตเดียวคนเดียวคนที่ชนะคะแนนเสียงสูงสุดได้เป็น ส. ส  มันจะมี wasted vote อยู่บ้างแต่ก็ทุกคะแนนเสียงก็นับ และอีกข้อที่สำคัญมาก คือทำให้ระบบการการเมืองมีประสิทธิภาพกับเสถียรภาพ
ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม “ผลผลิตแห่งความบิดเบี้ยว”
รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งของไทย มีความพยายามจะคล้ายกับระบบเลือกตั้งแบบ MMP (Mixed-member proportional) ซึ่งหัวใจของระบบนี้คือคะแนนบัญชีรายชื่อจะเป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองแต่ะพรรคพึงมีในสภา เช่น ถ้าประชาชนเลือกพรรค ก 30% จาก 500 แปลว่าประชาชนต้องการให้พรรค ก มี สส.ในสภา 150 คน หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของ 500 นี่คือตัวตั้ง จากนั้นดูว่าได้ ส.ส.เขตเท่าไหร่ ก็เอาจำนวน สส.เขตที่ได้ไปลบจาก 150 นี่คือหัวใจ
ที่สำคัญคือ ระบบเลือกตั้งแบบ MMP จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่ง เลือกพรรค อีกใบเลือก ส.ส. ในเขต แต่ของเราไม่ใช่ ของเราออกแบบ Mixed-member apportionment เราออกแบบให้มีบัตรเดียว เราเดินเข้าคูหาแล้วเลือก สส.เขต แล้วเอาคะแนนของ สส.เขตไปรวมกันทั้งประเทศเป็นตัวกำหนดของ ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง พูดง่ายๆคือมีบัตรใบเดียวแล้วเอาความคิดของ MMP มาใช้ นี่ก็คือของไทยเราที่เป็นอยู่ 
รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า ในต่างประเทศเคยมีการใช้เหมือนกัน แต่มีปัญหาจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เช่น ที่เกาหลีใต้เคยใช้ระบบเลือกตั้งแบบที่เราใช้ แล้วก็มีเรื่องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าระบบเลือกตั้งนี้สอดคล้องกับหลักเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเกาหลีหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส. เขตแล้วเอาคะแนนไปรวมเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อขัดต่อระบบ direct election เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้มาจากเลือกตั้งของประชาชน 
“ระบบเลือกตั้งที่ดีจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละบุคคล แต่ระบบเลือกตั้งแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีวินิจฉัยว่าไม่ accurate reflection of people’s opinions หรือ ไม่ได้ตอบสนองเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เพราะเขาต้องเลือกว่าจะเลือกคนในเขตหรือคนในพรรคโดยที่เข้าไม่ได้ชอบทั้งคู่ จะเกิดปัญหาทันทีซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตย เท่านั้นยังไม่พอ คนถูกบังคับถ้าชอบคนไม่ชอบพรรค ชอบพรรคไม่ชอบคน เขาถูกบังคับให้สละ choiceใด choiceหนึ่งออกจึงขัดต่อหลัก free election” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว
ต่อมาสิ่งที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วทำให้เกิดปัญหา คือ เรื่องสูตรคำนวณ โดยเฉพาะเรื่อง minimum threshold หรือ จำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองที่ลงแบบบัญชีรายชื่อจะต้องมี ถ้าคุณไม่ผ่านเกณฑ์นี้คุณตัดออก โดยหลักคิดเรื่อง minimum threshold จะมีในหลายๆประเทศที่ต้องการให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพ การที่ไม่มี minimum threshold เลยจะทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยอย่างที่เราเห็นกันอยู่ 
ต่อมาวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า ของบ้านเราก็มีประเด็นเยอะ มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และสามารถตีความได้ถึงสามแนวทาง ทั้งนี้ การตีความควรสอดคล้องกับระบบสัดส่วนที่สุดคือทำให้สัดส่วนเบี้ยวน้อยที่สุด ดังนั้น ควรใช้วิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเฉพาะพรรคที่มีส.ส.พึงมีมากกว่าหนึ่งที่นั่ง ถ้าต่ำกว่านั้นให้ตัดออกตั้งแต่การคำนวณรอบแรก แต่แนวทางที่ กกต. เลือกใช้อยู่ในปัจจุบัน ดันเก็บจำนวน ส.ส.พึงมีทุกพรรค รวมพรรคต่ำกว่าหนึ่งที่นั่งมาด้วย
แบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิเศษทำให้การเลือกตั้งไม่โปร่งใส
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมาต่อว่า เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะกำหนดได้เลยว่าใครชนะหรือแพ้ ซึ่งมีอยู่สองเทคนิค cracking กับ packing โดย cracking คือทำให้แตกตัว เช่น พรรคไหนมีเสียงในเขตมาก ก็ใช้วิธีการแตกอำเภอเป็นสองกลุ่มหรือสองเขต ส่วนวิธีการแบบ packing คือ จับมายัดไว้แน่นๆ หรือรวมเขตที่สนับสนุนพรรคของตัวเองไว้ด้วยกัน
รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า หลักการสากลในการแบ่งเขตเลือกตั้งคือ องค์กรที่จะแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีความเป็นกลาง และการแบ่งเขตเลือกตั้งต้องคำนึงถึงสัดส่วนประชากรให้ใกล้เคียงกันที่สุด ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ต้องคำนึงถึงความเป็นผู้แทน กระบวนการต้องมีความโปร่งใส ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน ของพรรคการเมือง ของผู้สมัคร 
แต่ในกรณีของไทย อย่างจังหวัดสุโขทัย ซึ่ง กกต.ไปรับฟังความคิดเห็น ระเบียบ กกต.ว่าด้วยเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งบอกว่าให้ทำสามรูปแบบไปรับฟังความคิดเห็น พื้นที่ติดต่อกัน จำนวนประชากรใกล้เคียงกัน ภูมิหลังทางภูมิศาสตร์เหมือนกันเคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน แต่จู่ๆ ก็เกิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ให้อำนาจ กกต. แก้ไขเขตเลือกตั้งได้ถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับข้อร้องเรียน ผลสุดท้ายได้เขตเลือกตั้งที่คล้ายกับกรณี gerrymandering หรือ การแบ่งเขตโดยทุจริตเพื่อให้เอื้อต่อแก่พรรคการเมือง
ภาพจาก เฟซบุ๊กคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ผู้ร่างกฎหมายต้องการเปลี่ยนความหมายของพรรคการเมือง
ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นการวิเคราะห์การเมืองว่า การมองต้องเริ่มจากโจทย์ที่ว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญมีเป้าประสงค์อะไร หวังให้เห็นผลลัพธ์อย่างไร และได้ผลลัพธ์ตามโจทย์ที่ตั้งไว้หรือเปล่า
ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ผู้ร่างกฎหมายพยายามเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง เช่น มีการระบุเรื่องทุนประเดิมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกัน เจตนารมณ์ของการทำพรรคก็ต้องเป็นพรรคมหาชนที่ทุกคนมีความเป็นเจ้าของผ่านการระดมทุน เพื่อให้พรรคมีความเป็นสถาบันทางการเมือง มีการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote)
นอกจากนี้ กฎหมายยังไปกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยเนื้อหานโยบายที่จะหาเสียงด้วย เพราะไม่ต้องการให้พรรคการเมืองขายฝัน เพราะในการเลือกตั้ง ปี 2554 ในสมัยที่งบประมาณประเทศไทยยังปีละสองล้านล้านบาท พรรคการเมืองขายนโยบายที่ต้องใช้เงินปีละแปดล้านล้านบาท ดังนั้นเราก็จะเห็นว่า กฎหมายมีความตั้งใจดี
“ผมมองในเชิงวิชาการว่าเขาพยายามจะเปลี่ยนนความหมายของพรรคการเมือง เวลาเราถาม พรรคการเมืองคืออะไร ทุกคนก็จะตอบว่ามันคือกลุ่มคนมารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์อย่างนึงและลงเลือกตั้งเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมือง คำถามก็คือว่ามันก็พูดถึงนักการเมืองอย่างเดียวไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ” ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังต่อว่า ถ้าย้อนกลับไปปี 2539 เหตุผลในการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากแบบเสียงข้างมากมาเป็นผสม คือการอิงเข้าไปกับแบบเสียงข้างมาก เพราะปัญหาการเมืองตอนนั้นคือมีพรรคมากเกินไป เป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงคือ 6-8 เดือน จาก 11 พรรค มันมี 4 พรรคกว่าที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถทำงานได้จริงๆ ในสภา 
พอถึงปี 2548 อรรถสิทธิ์อธิบายว่า เราอยากได้ 2 พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ทว่ามี 4 พรรคเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้ง ความเป็นสัดส่วนไม่เป็นปัญหา เพราะเราไม่ได้บอกว่าความเป็นสัดส่วนมีปัญหาตั้งแต่ต้น แต่การเมืองไทยอยากได้ 2 ตัวเลขนี้จาก 4 พรรคต่างหาก ถ้าหากลงเลือกตั้งแล้วมีประมาณ 2.4 พรรคที่จะชนะจาก 4 พรรค จะกลายมาเป็น 2 พรรคใหญ่ อีกครึ่งหนึ่งจะสู้ไม่ได้
พอมาปี 49 ก็แก้ไขใหม่ ไม่เอาระบบแบบน้อยพรรค ก็ทำให้ได้พรรคการเมืองมา 7 พรรค มีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่สักพัก ปี 2554 ก็เปลี่ยนใหม่ พอมาปี 62 ได้ 26 พรรค และพรรคเล็กมีบทบาทในสภาหมด ถ้าลองไม่มาสัก 10 พรรค ปัญหาไม่ใช่งูเห่า อาจจะต้องระวังกรณีงูป่วยด้วย 
ประเด็นสุดท้าย อรรถสิทธิ์มองว่าอีกจุดหนึ่งก็คือ การไม่เปิดเผยคะแนนรายหน่วย ซึ่งปกติไม่มีการเปิดเผยต่อคนทั่วไปอยู่แล้ว เหตุผลที่อ้างตลอดเวลาคือ ให้ไปขอจาก กกต.จังหวัด เพราะ กกต.กลางไม่มี ทั้งที่เป็นอำนาจของ กกต. กลางที่จะสามารถสั่งได้ และที่สำคัญ กกต. บอกว่าประชาชนไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง นักการเมืองในเขตเท่านั้นที่จะขอข้อมูลชุดนี้ไป
ร่างกติกาเพื่อให้เขาอยู่ต่อ ผลลัพธ์ที่คาดหมายได้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองรัฐธรรมนูญตัังแต่เมื่อครั้งฉบับร่างตั้งแต่ต้นปี 2559 เรื่อยมารวมทั้งสิ้น 4 ฉบับร่างด้วยกัน พอจะจินตนาการได้ว่า รัฐธรรมทั้ง 4 ร่างนี้ร่างมาเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ หนึ่งคือให้ทหารอยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้งโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สองคือทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทหาร นั่นคือพรรคเพื่อไทย ส่วนกติกาโดยรายละเอียดที่ว่าพรรคการเมืองต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ยิ่งชีพมองว่าเป็นกติกาที่ร่างขึ้นมาเพื่อทำลายพรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. โดยชัดเจน
โดยยิ่งชีพทำการสรุปประเด็นการมองเลือกบทเรียนหลังเลือกตั้งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่เรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้วก่อนการเลือกตั้งกับเรื่องที่คาดหมายไม่ได้ 
เรื่องแรกที่ยิ่งชีพบอกว่า พอจะคาดหมายได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้อยู่ต่อหลังการเลือกตั้ง โดยมีกลไกประมาณ 10 กว่าอย่างที่มันจะนำไปสู่วันนี้ เรื่องที่สองคือ การที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ เพราะระบบออกแบบมาเพื่อให้พรรคการเมืองใหญ่ได้ที่น้อย เพียงแต่ว่าสิ่งที่คาดไม่ได้ก็คือพรรคเพื่อไทยจะแตกแบงก์ เราก็คาดไม่ได้ว่าแต่ละแบงก์จะเจออะไรบ้าง แต่ว่าการที่พรรคใหญ่ชนะเขตเยอะและไม่ได้ party list นั้นถูกออกแบบมาแล้ว ส่วนระบบ MMA พรรคที่สนับสนุน คสช.ก็ออกแบบตัวเองมาเพื่อเดินหน้าไปสู่สิ่งนั้น
เรื่องที่สามคือ สว. 250 คนที่ประยุทธ์เลือกมาจะเลือกประยุทธ์ นี่ก็คาดหมายได้ แต่มีเพียงคนเดียวที่คาดหมายไม่ได้นั่นคือประยุทธ์ เรื่องที่สี่คือ พรรคฝ่ายตรงข้ามถูกยุบก็เดาได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มเงื่อนไขในการยุบพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมาให้กว้างขึ้น ส่วนเรื่องที่ห้าที่คาดหมายได้คือ เรื่องคุณสมบัติ ส.ส.ที่จะกลายเป็นปัญหาเพราะออกมาใหญ่โตและมีถ้อยคำออกมากว้างขวาง 
ส่วนเรื่องที่คาดหมายไม่ได้ ยิ่งชีพ กล่าวว่า เรื่องแรกคือ การเลือกตั้งล่วงหน้ามีการแจกบัตรผิดเขต มีหลายเขตที่คนได้รับบัตรที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง เมื่อกาก็จะเป็นบัตรเสีย และ กกต. ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ หรือตรวจสอบใดๆ
ข้อต่อมา ในส่วนของการนับคะแนนผิด ซึ่งการรวมคะแนน กกต. ใช้ rapid report พอนับเสร็จ เจ้าหน้าที่จะกรอกข้อมูลเข้าไปในแอพพลิเคชั่น กกต.จังหวัดจะส่งไปศูนย์กลาง คนที่จะรู้ว่าคะแนนเขตนั้นมีเท่าไรบ้างคือ กกต.เขต ส่วนคนที่จะรู้คะแนนทั้งประเทศคือ กกต.กลาง ยิ่งชีพมองว่า หากมีการเปลี่ยนผลคะแนนจะเกิดตรงนี้ คะแนนบางหน่วยที่ไม่เปิดเผย พอเข้าไปรวมที่เขตก็ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละหน่วยมันเท่าไร
เรื่องสุดท้ายคือ การเปลี่ยนวิธีคำนวณปาร์ตีลิสต์ ยิ่งชีพอธิบายย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม สำนักข่าวต่างๆ ล้วนคำนวณปาร์ตีลิสต์ตามสูตรที่เข้าใจ ซึ่งออกมาเหมือนกัน คือพรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ได้ 254 คะแนน โดย กกต. ยังไม่ชี้แจง จนถึงเดือนเมษายนจึงบอกว่าใช้อีกสูตรหนึ่ง ตรงนี้ยืนยันได้ว่ามีการเปลี่ยนเกิดขึ้น ซึ่งถ้า กกต. รู้อยู่แล้วว่าต้องคำนวณอีกแบบหนึ่งตั้งแต่วันแรก กกต. ต้องชี้แจงตั้งแต่วันแรกนั้น เว้นแต่ กกต. จะมีการไปคุยกับ 11 พรรคเล็กว่าจะเลือกอยู่ด้วยกันไหม
อย่างไรก็ดี ยิ่งชีพ มองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีกลไกที่ยังไม่ได้ใช้ ทั้งที่มันมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เพื่อให้บางฝ่ายเสียอำนาจ และให้บางฝ่ายได้อำนาจอย่างมีนัยยะสำคัญ เพียงแต่ยังไม่ค่อยถูกใช้ และยังถูกใช้ไม่มากพอ 
เรื่องแรกคือนายกฯ คนนอก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้นายกฯ มาจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ แต่สุดท้ายไม่ถูกใช้ ข้อถัดมาคือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. ที่จะแจก อันต่อมาคือ มาตรฐานจริยธรรม ที่ร่างไว้กว้างมาก คือทำอะไรก็ผิดหมด กว้างกว่ากฎหมายที่เคยมีมา 
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เป็นคนร่างขึ้น สิ่งนี้ยังไม่ค่อยถูกใช้ เพราะฝ่ายต่อต้าน คสช. ไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง แต่เครื่องมือนี้รออยู่แล้วว่าเมื่อไหร่ที่มีการเสนอกฎหมายหรือนโยบายที่อ้างได้ว่าขัดกับยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ร่างไว้ ผู้ตีความบังคับใช้คือ สว. 250 คน หรือก็คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีพลเอกประยุทธ์นั่งเป็นประธาน
ส่วนอันสุดท้ายคือ แผนการปฏิรูปประเทศ  ซึ่งแผนปฏิรูปประเทศนี้จะใช้คล้ายกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือกฎหมายใดต่อไปนี้ถูกเสนอโดยฝ่ายค้านหรือฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ถ้าเขาไม่อยากให้มันผ่าน เขาก็อาจจะอ้างว่ามันขัดกับบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งใน 3,000 กว่าหน้าของแผนปฏิรูปประเทศ แล้วก็คนกำกับดูแล ตีความ บังคับใช้ ก็เป็นคนกลุ่มเดิม