มาตรา19 (5) พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ‘มาตรการสยบ’ การชุมนุมโดยสงบ

เป็นเวลา3 ปีเศษแล้วที่สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้กลายเป็นเครืองมือสำคัญของเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้ามา"จำกัดและแทรกแซง" การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยเฉพาะมาตรา19 (5) ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้"ดุลยพินิจ" วางเงื่อนในการชุมนุมจนกลายเป็นการลดทอนคุณค่าของการใช้เสรีภาพในการชุมนุม
มาตรา19 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯอยู่ในหมวดการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะทำให้มาตราดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ"ดูแลการชุมนุม" เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังนี้
(1) อํานวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม
(2) รักษาความปลอดภัยอํานวยความสะดวกหรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม
(3) รักษาความปลอดภัยหรืออํานวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม
(4) อํานวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด
(5) กําหนดเงื่อนไขหรือมีคําสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมผู้ชุมนุมหรือผู้อยู่ภายในสถานที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม(1) (2) (3) หรือ(4) 
นอกจากนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา19 กฎหมายยังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ดูแลการชุมนุมอาจมีคําสั่งให้ปิดหรือปรับเส้นทางการจราจรเป็นการชั่วคราวได้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนหรือการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
หากมองแต่เพียงผิวเผินมาตราดังกล่าวดูเป็นเรื่องดีในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนแต่ทว่าในทางปฏิบัติมาตราดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ตำรวจใช้วางเงื่อนไขจนเป็นการลดทอนคุณค่าของการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการกำหนด"พื้นที่ในการชุมนุม" หรือ"รูปแบบของการชุมนุม" ซึ่งเป็น"หัวใจ" ของการชุมนุมที่ต้องใช้ศิลปะในการสร้างอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุม 
ทั้งนี้หลายครั้งในการแจ้งการชุมนุมตำรวจจะหยิบยกมาตรา8 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาอ้างว่าการชุมนุมดังกล่าวจะก่อให้เกิดการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ราชการ สถานที่ขนส่งหรือสถานศึกษาตามที่กฎหมายกำหนดและใช้อำนาจตามมาตรา19 (5) มากำหนดพื้นที่และรูปแบบการชุมนุมซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการชุมนุม
ยกตัวอย่างเช่นการชุมนุมของ"กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ที่ต้องการชุมนุมกันเพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีให้หยุดกระบวนการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545  หรือที่รู้จักกันในชื่อ'กฎหมายบัตรทอง' (บัตร30 บาท) แต่ภายหลังกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลการชุมนุมอาศัยอำนาจตามมาตรา19 (5) ในการขอให้'ย้ายพื้นที่การชุมนุม' และให้งดใช้เครื่องขยายเสียงเพราะจะเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการประชาชนของหน่วยงานรัฐ
ทั้งที่การแจ้งการชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะใช้พื้นที่"เกาะกลางถนน" จึงเป็นไปได้ยากที่การชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้มาตรา11 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯยังระบุอีกว่าในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา7 หรือมาตรา8 ให้ผู้รับแจ้งมีคําสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กําหนดแต่ทว่าในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แจ้งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขก่อนแต่กลับลัดขั้นตอนในการ'สั่งห้ามชุมนุม' ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดีการใช้อำนาจลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่24 มิถุนายน2562 เมื่อตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์แจ้งการชุมนุมกับสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อเพื่อนำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อเสนอให้ออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรบริเวณถนนประดิพัทธ์แขวงพญาไทเขตพญาไทกรุงเทพมหานคร 
แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างอำนาจตามมาตรา19 (5) ห้ามมิให้การเดินขบวนตามเส้นทางที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้โดยอ้างว่าเส้นทางในการเดินขบวนเป็นทางแคบอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจรอีกทั้งเส้นทางเดินจะต้องผ่านโรงเรียนอนุบาลสามเสนอาจทำให้รบกวนการเรียนของเด็กในโรงเรียนได้ทางตำรวจจึงไม่อาจให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนโดยใช้วิธีการดังกล่าวได้และแนะนำผู้ชุมนุมจัดตัวแทนไปยื่นหนังสือที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดเจ้าหน้าที่มารับหนังสือที่บริเวณด้านข้างกระทรวงการคลังแทน
ทั้งที่ในความเป็นจริงเส้นทางในการเดินขบวนตามที่แจ้งตำรวจไปมีทางเท้าที่พอดีกับการเดินขบวนโดยไม่รบกวนท้องถนนได้และตำรวจไม่ยอมให้ทางกลุ่มผู้แจ้งการชุมนุมได้ลองแก้ไขว่าจะจัดรูปแบบการชุมนุมแบบใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างสมบูรณ์
ยิ่งไปกว่านั้นตามมาตรา11 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดไว้ด้วยว่าในกรณีที่ผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นชอบด้วยกับคําสั่งตำรวจให้ยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้รับแจ้งขึ้นไปหนึ่งชั้นและให้ผู้รับอุทธรณ์วินิจฉัยและแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงคําวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นให้เป็นที่สุดแต่ในระหว่างที่มีคําสั่งห้ามชุมนุมการอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้งดการชุมนุมสาธารณะซึ่งส่งผลให้การกำหนดจังหวะเวลาในการชุมนุมซึ่งเป็นสาระสำคัญในการชุมนุมถูกลดทอนลงถ้าตำรวจไม่เห็นด้วยกับพื้นที่หรือรูปแบบในการชุมนุม
นอกจากนี้ในมาตรา29 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯยังระบุด้วยว่าผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุมตามมาตรา11 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ 
กล่าวโดยสรุปก็คือพ.ร.บ.ชุมนุมฯได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการ'สยบ' การชุมนุมโดยสงบของประชาชนด้วยการเข้ามาแทรกแซงเปลี่ยนแปลงและจำกัดรูปแบบหรือพื้นที่ในการชุมนุมจนไม่สามารถทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมยังสมบูรณ์อยู่ได้นั้นเอง