มองฝุ่นตลบในสภาอย่างมีทางออก กับ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค

หลังการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 และ 25 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้คนที่ติดตามการเมืองประเมินสถานการณ์ไปในทางเดียวกันว่า สภาจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียงกันในเรื่องเล็กอย่างการปฏิบัติระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา ไปจนถึงการขอเลื่อนการประชุมสภา เนื่องจากบางพรรคการเมืองยังไม่มีความพร้อมในการลงมติเลือกประธานสภาและรองประธานในวันดังกล่าว ทำให้ระเบียบวาระการประชุมที่ควรใช้ในวันเดียวต้องพิจารณากันถึงสองวัน
คำถามสำคัญที่ตามมาจากนั้น คือ แล้วเสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายสองขั้วหลักทางการเมืองต่างก็มีเสียงในสภาพแบบ ‘ปริ่มน้ำ’ หรือ มีเสียงในสภาแบบเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย อีกทั้งยังต้องเป็นรัฐบาลพรรคร่วมที่ต้องอาศัยพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 18 พรรค ในการร่วมเป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล
ด้วยความต้องการมองหา ‘ความหวัง’ ในฝุ่นตลบทางการเมือง เราจึงไปพูดคุยกับ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าเรามองเห็นอะไรบ้างจากการมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และอนาคตทางการเมืองควรจะเป็นแบบไหน
วันที่เลือกประธานสภาและรองประธานสภา มันสะท้อนภาพการเมืองอย่างไรบ้าง
เนื่องจาก เราอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ปิดมาตลอด 5 ปี การเปิดสภาครั้งแรก จึงเป็นสถานการณ์ที่สำคัญ ที่ตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งพยายามที่จะมีบทบาทเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง และแม้ว่าการเปิดสภาครั้งแรกจะมีญัตติเลือกประธานสภาเท่านั้น แต่กลับมีการอภิปรายด้วย สะท้อนให้เห็นว่าผู้แทนของประชาชน พยายามมีบทบาทเพื่อบอกว่าให้รู้ว่า เราอยู่ตรงนี้แล้ว ประชาชนเลือกเรามา โดยเฉพาะกลุ่ม 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย 
ภาพการเลือกประธานสภาทำให้เห็นว่า การเมืองจะพบกับความขัดแย้งชุดใหม่ แต่ไม่ได้หมายว่าไม่ดี สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันทั้ง การเจรจาตั้งรัฐบาล หรือการเลือกประธานสภา เป็นความขัดแย้งที่ดี เพราะเกิดจากระบอบการเมืองแบบเปิด แค่ทำอย่างไรให้ความขัดแย้งไม่ลงเอยด้วยความรุนแรง และทุกคนมีสิทธิที่จะพูดเหมือนกัน 
ความขัดแย้งในสภา หรือการเปลี่ยนฝั่งย้ายค่ายในสภา ดูเป็นเรื่องปกติหรือผิดปกติ
ในทางรัฐศาสตร์ พรรคการเมืองตั้งขึ้นเพื่อเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองไม่ได้มีเป้าหมายในการต่อสู้เชิงประเด็น เช่น ประเด็นประชาธิปไตย ถ้าเป็นแบบนั้น คือ ขบวนการทางสังคม
การที่พรรคการเมืองบางพรรคเคยสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลที่อยู่กับอำนาจเก่า แต่พอสถานการณ์เปลี่ยนไปกลับไปเข้าร่วมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการเข้าร่วมรัฐบาลสามารถนำนโยบายที่เขาสัญญากับประชาชนตอนหาเสียงไปปฏิบัติได้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ ถ้าเขาเป็นฝ่ายค้าน 
ถามว่าเป็นการผิดสัญญากับประชาชนเวลาหาเสียงหรือเปล่า เรื่องนี้ประชาชนต้องตัดสินเองว่าการเปลี่ยนจุดยืนเพื่อนำนโยบายไปใช้ เมื่อประเมินร่วมกันแล้ว สามารถที่จะทดแทนกันได้หรือไม่ 
ถ้าดูจากที่นั่งในสภาของแต่ละขั้วการเมือง เห็นชัดว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำและมีพรรคร่วมจำนวนมาก ในอดีตเคยมีรัฐบาลลักษณะนี้ไหม
ในประเทศไทย การมีพรรคการเมืองหลายพรรคในสภาหรือการต่อรองเพื่อตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น “การเมืองภาพเก่า” ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งถูกวิจารณ์ตลอดว่า ทำให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์และการทะเลาะกันในสภา หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เปลี่ยนหลักเกณฑ์การเลือกตั้งใหม่ ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข้ง และต้องมีพรรคการเมืองสองพรรคถึงจะมีเสถียรภาพ แต่พอเกิดสิ่งที่เรียกว่า “นายกฯ ทักษิณ” ขึ้นมาในปี 2544 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีกถึงปัจจุบัน 
การมีหลายพรรคการเมืองซึ่งเจรจาต่อรองกันเป็นเรื่องปกติ และเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่าง ในรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคที่มี ส.ส. สูงสุดในตอนนั้น คือ เสนีย์ ปราโมช แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงส่งผลให้พรรคที่ได้รับ ส.ส. อันดับรองลงมารวมเสียงกันจัดตั้งรัฐบาล เกิดรัฐบาลคึกฤทธิ์ ซึ่งเขามี ส.ส. จริงๆ ไม่ถึง 20 คน แต่สามารถรวมหลายๆ พรรคการเมือง จนเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 135 ที่นั่งในสมัยนั้นได้ ทำให้สามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่ารัฐบาลคึกฤทธิ์มีปัญหาอย่างมาก การชุมนุมประท้วง ความรุนแรง การเจราจาต่อรอง รัฐบาลอยู่ได้จริงๆ แค่ 1 ปี 1 เดือนเท่านั้น แล้วก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลเสนีย์ สุดท้ายก็นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ผลของการเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมจำนวนมาก ทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร
ในปัจจุบัน พรรคการเมืองหลายๆ พรรคนั้นเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราออกแบบรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งมาจากสองทาง คือ การเลือกตั้งแบบใช้เสียงข้างมาก และการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จึงทำให้เกิดพรรคการเมืองที่มีความหลากหลาย หรือรัฐบาลผสมซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
การเกิดรัฐบาลผสมนำไปสู่การมีนโยบายสาธารณะกลางๆ ไม่สุดโต่ง ไม่สามารถไปในทางใดทางหนึ่งได้ เช่น พรรคพลังประชารัฐ นโยบายหลัก คือ การให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ตอนนี้เจรจาสองเดือนแล้วยังไม่ลงตัว เมื่อรวมเป็นพรรครัฐบาลผสมไม่สามารถนำนโยบายที่สุดโต่งได้ นโยบายสุดท้ายก็จะเป็นกลาง ๆ และไม่แตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น
ทั้งหมดนี้เคยเป็นสิ่งที่นักวิชาการเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว บอกว่า เป็นลักษณะของรัฐบาลที่มีปัญหา เพราะไม่สามารถมีนโยบายที่ชัดเจน และต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลไม่สามารถอยู่ได้เกิน 4 ปี รัฐบาลมาจากหลายพรรค และต้องเจราต่อรอง สถานการณ์ปัจจุบันเราต้องพิจารณากันอีกทีว่าเราถอยหลังไป 20 ปี หรือเปล่า หรือเรากำลังเดินไปที่จุดไหน การมีพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นคำตอบได้หรือเปล่า
แล้วเราพอจะมีบทเรียนจากต่างประเทศบ้างไหม ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคร่วมจำนวนมาก
การที่มีหลายพรรคการเมืองในรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลจะเป็นอย่างไรให้ดูที่ระบบเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้ง แบ่งเป็น 2 ระบบ ระบบใช้เสียงข้างมาก และระบบสัดส่วน ประเทศที่ใช้เสียงข้างมากมีแค่ 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะเกิดรัฐบาลผสม ประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนมีโอกาสถึง 87 เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดรัฐบาลผสม หนักไปกว่านั้น ประเทศที่ใช้ทั้งสองระบบ (mixed system) มีตัวเลขเกิน 95 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีโอกาสเกิดรัฐบาลผสม
ในการออกแบบระบบเลือกตั้ง ระบบสัดส่วนต้องการให้เกิดพรรคการเมืองที่หลากหลาย เพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่เขาต้องการพรรคการเมืองเฉพาะต่อเป้าหมายของตัวเอง ในต่างประเทศ จะเห็นพรรคกรีน พรรคสิทธิสัตว์ หรือพรรคศาสนาระบบสัดส่วนตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายได้ 
อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงว่านำไปสู่การไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองหรือไม่ ยกตัวอย่าง 3 ประเทศ เบลเยียม ในการเลือกตั้งปี 2010 ใช้เวลาถึง  541 วัน ในการจัดตั้งรัฐบาล อันเป็นผลของความขัดแย้งกันทางการเมืองในปี 2007 หรือ ประเทศที่มีธรรมเนียมปฏิบัติต้องมีรัฐบาลผสม เช่น เยอรมัน ในการเลือกตั้งปี 2017 ก็ใช้เวลา 160 วัน ในการตั้งรัฐบาล แต่อย่างที่เราทราบ เยอรมันก็มีเสถียรภาพทางการเมือง และอีกหนึ่งพื้นที่ปกครองพิเศษของตัวเอง ไอร์แลนด์เหนือ เป็นกรณีที่น่าสนใจมาก ในการเลือกตั้งปี 2018 เขามีกลุ่มพันธมิตร 2 กลุ่มในการแข่งกันจัดรัฐบาล เขาใช้เวลาทั้งหมด 590 วันในการนับคะแนนโดยไม่มีรัฐบาล สุดท้ายเขาก็ตกลงเป็นรัฐบาลร่วมกันแล้วสลับกันมีอำนาจ เนื่องมาจากมีปัญหาการนับคะแนน และทั้งสองพรรคแข่งขันกันสูงและมีความแตกต่างเชิงนโยบาย เช่น การแต่งงานของเพศเดียวกัน การใช้ภาษาไอริชในทางราชการ
จากสามประเทศนี้ ระบบเลือกตั้งระบบสัดส่วน และการเจราจาต่อรองเป็นเรื่องปกติ ในประเทศในยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย แต่เขาสามารถหาจุดลงตัวได้เรียกว่าการจัดสรรอำนาจ (Power Sharing) ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกพรรคการเมืองสามารถมีสนามในการเล่นของตัวเองภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ทุกพรรคการเมืองมีความคิดเห็นที่แตกต่าง สามารถประท้วงได้ แต่อยู่ในกรอบกติกาเดียวกัน และในการตั้งรัฐบาลจะมีการเจรจาต่อรองกันเพื่อสุดท้ายได้ อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่ได้รัฐบาลผสมที่มีจุดลงตัว ทุกพรรคการเมืองอาจไม่สามารถบรรลุนโยบายที่เป็นสูงสุดของตัวเองได้ แต่สามารถเกิดรัฐบาลที่เป็นที่พอใช้สำหรับทุกฝ่ายได้ อาจจะมีคนที่ไม่พอใจก็ประท้วงได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทุกคนเล่นตามกติกาเดียวกัน จัดสรรอำนาจในกติกาเดียว 
แล้วมองกลับมาในบริบทของประเทศไทย เราพอจะเห็นปลายทางสวยงามแบบนั้นบ้างไหม
ต่างประเทศเกิดขึ้นได้ ถามว่าประเทศไทยเกิดขึ้นได้ไหม สถานการณ์ในปัจจุบัน เราพบว่า ตัวแสดงในต่างประเทศ เขามีพรรคการเมือง มีนักการเมือง แต่ประเทศไทยมีตัวแสดงที่มากกว่าและเหนือไปกว่านั้นอีกมาก ซึ่งตัวแสดงเหล่านี้ไม่ได้เล่นการเมืองตรงๆ หรือดูง่ายๆ ตัวแสดงที่อยู่ในการเมืองมาตลอด 5 ปี มีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก หรือ พรรคบางพรรค แกนนำของพรรคไม่ใช่อยู่ในพรรคการเมืองอย่างเดียว แต่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย
ประเทศไทยไม่ได้มีตัวแสดงที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มีตัวแสดงที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมากและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถามว่ามีได้ไหม มีได้ เช่น ระบบราชการ ศาล ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในหลายประเทศ เขาก็อยู่ด้วยกันเพราะเขามีพื้นที่ นิติบัญญัติ พื้นที่ฝ่ายบริหาร ก็จะไม่เข้ามายุ่ง ถ้าเข้ามายุ่งก็แค่เป็นผู้ปฏิบัติตาม แต่ในประเทศไทยเรากลับกัน เรามีการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มที่มีอำนาจมาจากการเลือกตั้ง และกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้เราไม่สามารถมีกติกาเดียวกันในการจัดสรรอำนาจได้ สุดท้ายเราก็ต้องทะเลาะกัน 
ที่ผ่านมา เราเคยเห็นระบบผสมระหว่างกองทัพกับสภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่
เราเคยมีรัฐบาลที่มาจากกองทัพ ในรัฐบาลจอมพลถนอม ตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์จนถึงจอมพลถนอม ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญเกือบ 10 ปี แล้วพอใช้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง จอมพลถนอมได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริง แต่เจอนักการเมืองป่วน ขอตำแหน่ง ฟ้องร้องบ้าง สุดท้ายคุมเสียงในสภาไม่ได้ สุดท้ายกองทัพก็ต้องทำรัฐประหาร 
หลักการในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองได้ความชอบจากการเลือกตั้ง หรือจากทางเข้า หลังเลือกเสร็จอาจไม่ทำตัวตามสัญญาก็ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหา แตกต่างจากกองทัพ เขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาใช้กองทัพในการเข้ามาเพราะฉะนั้น การหาความชอบธรรมมาผลงาน การออกนโยบาย หรือ มาจากทางออก หรือ (Performance Legitimacy) ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการกับตรงนั้นได้ ก็ไม่สามารถอยู่ได้ เช่น จอมพลถนอม ในปี 2514 เขาไม่สามารถเจรจากับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ ถามว่ายุบสภาเลือกตั้งใหม่ไหม ไม่ เพราะในมุมมองความชอบธรรม เขาไม่ได้มาจากทางเข้า เขาก็เลยใช้วิธีการอย่างไรก็ได้เพื่อให้งบประมาณผ่าน มีนโยบายออกมาให้ได้ เลยเกิดการยึดอำนาจตัวเอง เพื่อให้งบประมาณผ่าน 
การมีรัฐบาลผสมไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามีการจัดสรรอำนาจได้ลงตัว แต่ของประเทศไทย การจัดสรรอำนาจไม่ลงตัวเพราะคุณเล่นคนละเกมส์ เกมส์ของคนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ขณะของอีกคน มาจาการทำนโยบายและการปกครองในทิศทางมั่นคงและเสถียรภาพ พออยู่คนละเกมส์จะไม่ลงตัว นำไปสู่ความขัดแย้ง
รัฐบาลจอมพลถนอมหลังเลือกตั้งก็อยู่ได้ไม่นาน เช่นเดียวกับรัฐบาลพล.อ.สุจินดา แต่ทำไมรัฐบาลของพล.อ. เปรมถึงอยู่ได้นาน พอเป็นไปได้ไหมที่ คสช. จะใช้โมเดลเดียวกัน
ความแตกต่างระหว่างยุคของจอมพลถนอมกับพลเอกเปรมคืออะไร พลเอกเปรมไม่ลงมาใช้อำนาจในทางตรง โดยให้อำนาจสภาล่างทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง อำนาจจากการเลือกนายกมาจากสภาเท่านั้น กลุ่มคนที่มาจากการเลือกตั้งยกพลเอกเปรมขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ทหารจะไม่ออกมา และตั้งทีมออกมาพัฒนาเศรษฐกิจและออกแบบนโยบาย ในการเจรจาต่อรองทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตนิรโทษกรรมให้หมด จึงเกิดคำสั่งที่ 66/2523 ให้นักศึกษาออกมาจากป่า
นี่คือการเจรจา ณ ตอนนั้น ให้พล.อ.เปรมอยู่ แต่สภาล่างเป็นของ ส.ส. ทำให้อยู่ได้นานพอสมควร แต่ก็มีแรงกระเพื่อมอยู่เสมอในฝั่งกองทัพและในฝั่งนักการเมือง จนถึงจุดสูงสุด พล.อ. เปรมพอแล้ว นี้เป็นโมเดลอันหนึ่งในการหาข้อตกลงของชนชั้นนำ (Elite Pack) การที่ชนชั้นนำมาหาข้อตกลงทางการเมือง ไม่มีความขัดแย้งกันอีก ถ้ามีคู่ขัดแย้ง เราก็จะมีการนิรโทษกรรมเขากลับมาพัฒนาบ้านเมือง พัฒนาในเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นฝ่ายนำ ที่เอกชนเป็นฝ่ายนำการพัฒนาในหลายๆ พื้นที่ในหลายประเทศ สภาล่างมาจาก ส.ส. กองทัพก็มีพื้นที่ของตนเองโดยการยกคนที่กองทัพเคารพมากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ได้ดำเนินนโยบายด้วยตัวเอง แต่เขามีทีมคณะรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เน้นหลักที่กองทัพ 
ปัญหาคือ ความขัดแย้งใหญ่ กลายเป็นว่า ยุคพล.อ. เปรม อยู่ได้เพราะกองทัพขอแค่เลือกแค่นายกฯ และ ส.ว. แต่กลายเป็นยุค คสช. คิดคนละแบบ ทหารจะเลือกคณะรัฐมนตรีเป็นของตัวเอง ตรงนี้มีปัญหาเพราะนักการเมืองไม่ยอมอีกแล้วถ้าเป็น 5 ปีที่แล้วอาจจะยอม แต่ตอนนี้ไม่ยอมอีกแล้ว ปัจจุบันมีการเลือกตั้ง และต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งมีต้นทุน และนักการเมืองมีต้นทุนลงไปแล้วก็ลงต้นทุนตรงนั้นไปแล้ว รัฐบาลที่อยู่มาแล้ว 5 ปี ถ้าเขาอยากอยู่ต่อก็ต้องเจรจากับคนกลุ่มนั้น ถ้าเขาไม่เจรจาก็มีปัญหาแน่นอน 
ถ้าเราดูจากปรากฏการณ์ มีความเป็นไปได้สูงคือมีการรัฐประหารซ้อนหรือไม่
ไม่ครับ ตอนนั้นไม่มี ส.ว. ที่จะคอยมาคุ้มกันไว้ คือในรอบปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังไงท่าน(พล.อ.ประยุทธ์)ก็เป็นรัฐบาลได้แน่นอนแค่จะทำงานได้หรือเปล่า ถ้าคุณอยากเป็นรัฐบาลที่ทำงานได้จะต้องมีหลักการ 3 ข้อ จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันดับแรก ตั้งรัฐบาลต้องได้เสียง 375 เสียงใน 5 ปีแรก เพราะอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ข้อที่สอง สภาล่างมี 250 หรือเปล่า เพื่อออก พ.ร.บ. งบประมาณ ออกนโยบาย และไม่ให้โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะระบบรัฐสภา รัฐบาลมาจากสภา โดยธรรมชาติ รัฐบาลจะไม่ถูกโหวตกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เว้นแต่เกิดการย้ายข้าง ส่วนการอภิปรายมีไว้เพื่อปรับคณะรัฐมนตรี และยุบสภาเท่านั้น ต่อให้สภาล่างเกินและตั้งรัฐบาลเกิน 375 ได้ สมมติทุกพรรคการเมืองยกเว้นพลังประชารัฐมารวมกันเกิน 375 รวมกัน จะติดเงื่อนไขข้อที่สาม นโยบายต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 
ยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาเกี่ยวกับข้องกับการทำงานรัฐบาลอย่างไรบ้าง
รัฐธรรมนูญวางเอาไว้ นโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และต้องรายงานว่านโยบายที่ทำสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านไหนบ้าง ประเด็นก็คือ ยุทธศาสตร์มี 6 ด้าน ความมั่นคง การแข่งขัน ถามว่ารัฐบาลจะทำยังไง เวลาสมมติว่ารัฐบาลมีนโยบายให้เรานึกถึงนโยบายที่เราเถียงกันในช่วงเลือกตั้ง ที่มีการหาเสียงหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือการเกณฑ์ทหาร เราเห็นใช่ไหมครับว่าทุกเวที เราเถียงเราควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ 
ถ้ารัฐบาลไหนขึ้นมาและใช้นโยบายนี้ขัดกับยุทธศาสตร์ด้านแรกเลยคือด้านความมั่นคง ประเทศคุณไม่สามารถมีนโยบายนี้ได้ เพราะคณะรัฐมนตรี ต้องรายงานกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทุกสามเดือนตามหลักการในรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ทำตาม ถ้าเป็นข้าราชการ อาจถูกพักราชการ หรือไล่ออก ถ้าเป็นรัฐมนตรี มีโอกาสที่จะตัดสิทธิทางการเมือง 
ขั้นตอนเป็นอย่างไร หากมีมติ ครม. นโยบายจากรัฐมนตรี กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถส่งเรื่องไปให้กับวุฒิสภา และวุฒิสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นี่คือขั้นแรก หากวินิจฉัยให้เป็นอย่างไรแล้ว คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แล้ว ปปช. สามารถส่งศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้รัฐมนตรีคนนั้นออกจากตำแหน่ง และตัดสิทธิจากการเลือกตั้ง10 ปี รุนแรงที่สุดมีโอกาสติดคุกด้วย 
เราพบว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของรัฐบาล หากคณะกรรมการยุทศาสตร์ชาติต้องการติดตามการทำงานของรัฐบาล สามารถทำงานร่วมกับ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ หากคุณมีรัฐบาลเรามีคนคอยกำกับนโยบายของรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิบัติและถ้ารัฐบาลมาจากคนละกลุ่มหรือมีนโยบายคนละแบบกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เกิดปัญหาแน่นอน ตัดสิทธิทางการเมือง ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ส.ว.เพราะฉะนั้น รัฐบาลทำงานไม่ได้ ถ้าหากทำงานให้ได้รัฐบาลต้องมาจากยุทธศาสตร์ เราก็รอไปดูได้ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีใครบ้าง อันนี้คือโอกาสที่รัฐบาลมีโอกาสทำงานโดยไม่ถูกยุทธศาสตร์เล่นงาน 
ถามว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นหลักการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นหลักการกว้างๆ ซึ่งมีไว้เป็นเรื่องดีจะได้กำหนดทิศทางประเทศ หลักการกว้างก็เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนได้ ตามยุคสมัย แต่ไม่ดีตรงที่ เรามีกลไกในการบังคับให้หน่วยงานปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และมีบทลงโทษที่รุนแรง ถ้าคุณมีกลไกและบทลงโทษ ยุทธศาสตร์ชาติต้องเขียนให้ชัดเจน แต่ยุทธศาสตร์ชาติของเราเป็นหลักการกว้างๆ เท่านั้น ถ้ารัฐบาลไหนมาทำงานและไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ บอกเลยว่ามันเล่นได้ทุกเรื่องแหละ 
ในกลุ่มนักการเมืองเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องแก้ เพราะไม่สามารถที่นำนโยบายที่สัญญากับประชาชนมาปฏิบัติได้ นี่คือจุดที่นักการเมืองต้องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็กระทบฝั่งที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่อยากให้แก้ ก็เลยกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เวลามีข้ออ้างที่บอกว่า ทำไมมัวแต่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่เอาเวลาไปทำนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้สัญญาที่ทุกๆ พรรคตัวเองสัญญามาใช้ได้ ผมรู้สึกว่านักการเมืองในพรรคใหญ่ๆ หลายพรรค แม้จะอยู่ตรงข้ามกันเห็นด้วยเหมือนกันว่าจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ
อยู่กับรัฐบาลคสช. ก็อาจไม่มีเสถียรภาพ แต่รัฐบาลมาจากเลือกตั้ง ก็โดนล้มอีก เราจะไปต่อกันอย่างไร
ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย เราต้องหาหลักที่ทุกคนในทางการเมืองยอมรับและเล่นในกติกานี้กติกาเดียวกัน หลักในการจัดสรรอำนาจ จะใช้กลไกใดในการจัดสรรอำนาจ หากจะใช้กลไกที่ความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งเล่นเกมส์นี้เกมเดียว ถ้าจะใช้กลไกที่ความชอบธรรมมาจากนโยบายก็เล่นเกมส์นี้เกมส์เดียว ถ้าเล่นคนเกมส์จะเกิดการทะเลาะมีปัญหา ไม่ค่อยมีเสถียรภาพของรัฐบาลแน่นอน 
กติกาที่เรามีอยู่อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 เนี่ย มันกำกึ่ง เพราะมันให้เล่นในเกมส์ที่มาจากการเลือกตั้ง เล่นในเกมส์ที่มาจากการแต่งตั้ง เล่นในเกมส์ที่มาจากยุทธศาสตร์ชาติด้วย พอกติกามันหลากหลายไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็เจออุปสรรคจากโครงสร้างทางการเมือง ไม่ใช่อุปสรรคในการแข่งขันทางการเมือง 
ทางออกตอนนี้คือ นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนต้องรวมกันแก้ไขกติกา ภาพใหญ่ของประเทศคือ รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีกติกาเดียวกัน และทุกคนยอมเล่นในกติกาเดียวกัน ต้องหาจุดนั้นให้ได้ เราจะถึงสามารถมีนโยบายที่นำไปปฏิบัติ สัญญากับประชาชน มีการตรวจสอบถ่วงดุล มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกติกาคนยอมรับ หากไม่สามารถหาจุดที่ทุกคนสามารถยอมรับได้ รัฐบาลเกิดปัญหาแน่นนอน อยู่ได้ไม่นาน รัฐบาลอยู่ได้ 1 ปีก็เก่งแล้ว หรือเลวร้ายที่สุด คือ การเกิดรัฐประหารอีก 
อย่างน้อยสุดนักการเมืองจะอยู่ข้างไหนจะเป็นเรื่องปกติการเจราจาต่อรอง การเกิดงูเห่าก็เป็นเรื่องปกติของการเจรจาต่อรอง แต่ต้องจุดร่วมหนึ่งในการแก้ไขกติกาให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งตอนนี้เป็นโอกาสแล้ว การเมืองเปิดแล้ว ตัวแทนประชาชนเข้าสู่สภาแล้ว ตอนนี้ต้องพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่อย่างที่บอก การแก้รัฐธรรมนูญในฉบับนี้ก็ไม่ง่าย
ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์เสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรัฐบาล มีแนวโน้มที่ดีหรือไม่
ตั้งแต่มีการเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง คือ ทิศทางที่ดี ที่ทุกคนรอคอยมากว่า 5 ปี เป็นการเมืองแบบเปิดที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากยิ่งขึ้น เป็นไปได้อย่างไรช่องโทรทัศน์รัฐสภายอดคนดูถึง 1.6 ล้านคน แสดงว่าคนตื่นตัวทางการเมืองมากคนต้องการการเปลี่ยนแปลง  คนต้องการหาว่านักการเมืองที่เราเลือกไป นั่งตรงไหน นี้คือโอกาสที่นักการเมืองจะโชว์ผลงานต่อประชาชน กติกาเราต้องการแก้ เพื่อเอานโยบายที่เราสัญญาไว้ ไม่อยากให้ประชาชนเบื่อหรือรู้สึกว่าการเมืองเป็นแค่เรื่องผลประโยชน์
พูดว่าการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ มันดูหล่อ แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนจะตามการเมืองอย่างไร ให้สามารถสร้างการเมืองที่เคารพในกติกาและไม่นำไปสู่การเมืองนอกกติกาอีก นั้นต่างหากคือสิ่งที่เราต้องช่วยกันผลักดัน
ถ้าต้องการหาทางออกจริงๆ ไม่ใช่แค่จะตั้งรัฐบาลเพื่อให้อยู่ได้ ต้องแก้ไขกติกาเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
และการแก้ไขกติกาต้องไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้องของประชาชนเหมือนกัน เพราะกติกาไม่สมบูรณ์ รัฐบาลเอานโยบายไปใช้ไม่ได้ ต่อให้มีนโยบายที่สัญญาไว้ขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่หากรัฐบาลอยู่ได้ไม่นานรัฐบาลก็ถูกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นถ้าอยากสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีนโยบายที่ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เราต้องแก้ไขกติกาเพื่อให้สนับสนุนรัฐบาล ที่มาจากประชาชน ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนก็แล้วแต่ให้เกิดประสิทธิภาพในการำทำงานไปพร้อมๆ ไปกับการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นไปตามกติกา
ประเทศไทยยังมีตัวแสดงนอกกติกาอยู่ เราจะจัดการยังไงได้บ้าง
สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่อยู่ในกติกาที่มาจากคัดสรรแต่งตั้งตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา บ้านเมืองมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว นักการเมืองมีขาขึ้นขาลง รัฐบาลปัจจุบัน ส.ว. องค์กรอิสระ จะต้องมามองกติกากันใหม่ ถ้าเราอยากให้ประเทศพัฒนา อยากให้นโยบายที่สัญญาไว้นำมาปฏิบัติได้จริง จะเดินไปทางไหน จะยอมถอย จะยอมยืนอยู่ไหน จะยอมวางตัวเองไว้ตรงไหน ถ้าวางตามที่ตำแหน่งเดิมที่ผ่าน มา ตอนนี้มันไม่ใช่ มันมีการเลือกตั้ง มีสภา มีตัวแทนจากประชาชนแล้ว ต้องร่วมกันแก้กติกา