วิวาทะจากสภา: “คสช. สืบทอดอำนาจ” ไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นรูปธรรม

 

การประชุมรัฐสภา วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ใช้เวลาไปเกือบเต็มวัน ส.ส. ฝ่ายหนึ่งก็อภิปรายทำนองว่า คณะรัฐประหารอย่าง คสช. ต้องการ สืบทอดอำนาจ ขณะที่ ส.ส. และส.ว. อีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่า การสืบทอดอำนาจไม่มีจริง เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง
ลองมาดูความจริงในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ว่า ยุคสมัยของ คสช. ได้วางกลไกต่างๆ ให้ตัวเองมีอำนาจต่อหลังเลือกตั้งไว้อย่างไรบ้าง และรูปธรรมของการพยายามสืบทอดอำนาจ ก็ปรากฏเป็นรูปธรรมอยู่ในกลไกเหล่านี้เอง
1. ออกแบบระบบเลือกตั้ง ให้ประโยชน์พวกตัวเอง
คสช. ได้แต่งตั้งคนของตัวเองมาออกแบบระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นใหม่ โดยตั้งชื่อว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม MMA" กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากการเลือกตั้งจำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้รับบัตรเลือกตั้งใบเดียวกากบาทเลือกทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนจะนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อต่อด้วยสูตรคณิตศาสตร์ที่ออกแบบมาซับซ้อนให้ประชาชนเข้าใจยาก และต่อมายิ่งถูกตีความใหม่ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นโดย กกต. 
ระบบการคำนวณที่นั่งแบบ MMA ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตจำนวนมากเสียเปรียบ หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ถึง 120-150 เขตขึ้นไปโดยคะแนนรวมไม่ได้ชนะแบบถล่มทลาย อาจจะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อน้อยมากหรือไม่ได้เลย ซึ่งออกแบบมาโดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายพรรคเพื่อไทยซึ่งะเป็นพรรคเดียวที่การเลือกตั้งครั้งก่อนได้จำนวน ส.ส. มากในระดับที่จะได้รับผลเสียโดยตรงจากระบบนี้ หากมีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ทุกเขต คือ ได้ ส.ส.350 ที่นั่ง ก็แน่นอนว่าจะไม่ได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเลย และจะยังได้ที่นั่งไม่ครบ 376 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
  
ในทางตรงกันข้ามระบบเช่นนี้ จะทำให้คะแนนเสียงจากระบบแบ่งเขตมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางๆ ที่มีฐานเสียงเข้มแข็งในระดับพื้นที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เพิ่มมากขึ้น นักการเมืองระดับท้องถิ่นจึงกลายเป็นตัวผู้เล่นสำคัญ และเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครที่ทุกพรรคการเมืองต้องการ ปรากฏการณ์ "ดูด ส.ส." จากพื้นที่ต่างๆ จึงเกิดขึ้น และผู้มีอิทธิพลระดับ "เจ้าพ่อท้องถิ่น" กลายเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ต้องการได้ ขณะที่นโยบายระดับชาติและจุดยืนทางการเมืองของพรรคถูกลดระดับความสำคัญลง
เมื่อระบบเลือกตั้งถูก คสช. ออกแบบใหม่ขึ้นมาแล้ว พรรคเพื่อไทยจึงต้องใช้ยุทธศาสตร์แก้เกมการเมืองโดยการแตกตัวเป็นพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางหลายพรรคและประสบปัญหาถูกยุบไปหนึ่งพรรค ขณะที่ คสช. ก็ตั้งพรรคของตัวเองขึ้นมาโดยใช้ประโยชน์จากระบบนี้ ถึงขนาดที่สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" ด้านพรรคการเมืองอื่นๆ อย่าง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ ก็กลายเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบใหม่และเดินตบเท้าเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน
หากระบบเลือกตั้งแบบ MMA ไม่ถูกแก้ไขก็จะยังคงใช้เพื่อให้พรรคที่สนับสนุน คสช. ยังคงได้ประโยชน์ต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้าๆ
ดูรายละเอียดระบบเลือกตั้งแบบ MMA ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5059
9 พฤติกรรม คสช. (ส่อ)โกงและเอาเปรียบเลือกตั้ง https://ilaw.or.th/node/5076
2. สร้างพรรคของตัวเอง เพื่อเสนอตัวเองเป็นนายกฯ
พรรคพลังประชารัฐ จดทะเบียนจัดตั้งพรรคโดยชวน ชูจันทร์ คนสนิทของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รัฐมนตรี 4 คน จากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนพรรค ได้แก่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค
ในขณะเดียวกัน ก็มีเหตุการณ์คู่ขนานอย่างการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม 'สาม ส'. หรือ สามมิตร ที่นำโดย 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย, 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' แกนนำกลุ่มมัชฌิมา อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวง และแกนนำกลุ่มวังน้ำยม กลุ่ม ส.ส. ที่เคยสังกัดในพรรคไทยรักไทย ส่วน ส. ที่สาม คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. 
นอกจากพรรคการเมืองนี้จะใช้ชื่อพรรคเหมือนกันกับ "นโยบายประชารัฐ" ของยุค คสช. ที่อุดหนุนสวัสดิการและชุมชนทั่วประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว ก็ยังเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงชัดเจนว่า พรรคการเมืองนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อนำเสนอแนวนโยบายของ คสช. และให้คนของ คสช. กลับเข้าสู่อำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง
ระหว่างการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐใช้ 'พลังดูด' ดึงนักการเมืองจากพรรคอื่นมาเป็นพวกและส่งลงสนามเลือกตั้ง อย่างน้อย 91 คน โดยเฉพาะการดึงตัวนักการเมืองจากพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ พลังดูดที่ว่านี้ อาจไม่ใช่อำนาจเงินตราเพียงอย่างเดียว แต่อาจะเป็นการ "เคลียร์" คดีความที่คั่งค้างอยู่ของตัวนักการเมืองหรือบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งการคืนตำแหน่งให้กับนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยถูกรัฐบาลชุดนี้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบการทุจริตอย่างน้อย 9 คน 
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ เพิ่มเติมที่ https://ilaw.or.th/node/5119
ดูกลเกมสืบทอดอำนาจด้วย ส.ส. "พลังดูด" ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5212
ดูผลงานของ ส.ส. พลังดูดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5266
ดูที่มาของ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5277
3. แต่งตั้ง ส.ว. เอง เพื่อมาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ
ตั้งแต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 คสช. ได้ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามข้อเสนอแนะของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สองสภาที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น ใส่คำถามพ่วงว่าใน 5 ปีแรกของรัฐสภาให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดกระบวนการคัดเลือก ส.ว. ให้สลับซับซ้อน แต่ในขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็น คสช. ที่เป็นผู้คัดเลือกเองอยู่ดี โดยที่มาของ ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ส.ว. แต่งตั้ง 6 คน ให้มาจากตำแหน่งผู้นำทุกเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม 6 คน  2) ส.ว. จากการคัดเลือกกันเองของ 10 กลุ่มอาชีพ แล้ว คสช. จะคัดเลือกรอบสุดท้ายให้เหลือ 50 คน 3) ส.ว. จากคณะกรรมการสรรหา 194 คน ซึ่งมีพล.อ. ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน คัดเลือกบุคคลขึ้นมามา 400 คน และให้ คสช. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คัดให้เหลือ 194 คน 
เมื่อ คสช. คัดเลือกและประกาศรายชื่อ ส.ว. ทั้ง 250 คน พบว่า มี ส.ว. ที่เคยทำงานกับ คสช. มาก่อนแล้วถึง 157 คน เช่น เคยเป็นส่วนหนึ่งของ คสช. 20 คน, เคยเป็นสมาชิก สนช. 89 คน, เคยเป็นสมาชิก สปท. 35 คน, เคยเป็นสมาชิก สปช. 26 คน, เคยมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของ คสช. 18 คน, เคยเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 26 คน, เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คน เป็นต้น นอกกจากนี้ส.ว. บางคนยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหรือญาติพี่น้องกับคนในรัฐบาล คสช. หรือ ส.ว. บางคนก็ยังเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี อีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า ส.ว. แต่งตั้งเหล่านี้ เป็นฐานที่มั่นที่ คสช. ให้คนที่ตัวเองไว้ใจและเคยทำงานให้ยังคงมีตำแหน่งทางการเมืองและมีอำนาจอยู่ต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง
เนื่องจาก คสช. กำหนดให้ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งเอง ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี กับ ส.ส. ได้ ซึ่งการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง ดังนั้น หากต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก็อาจให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. อีก 126 คนก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ขณะเดียวกันหาก คสช. ไม่พอใจรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อมา ก็สามารถเปิดทางให้เกิด “นายกคนนอก” โดยให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส อีก 250 คน เสนอชื่อ “นายกคนนอก” ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ส.ว. กลุ่มนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ที่จะคุ้มครองการ "อยู่ยาว" ของ คสช. ได้ด้วย เพราะ ส.ว. ยังมีอำนาจอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้อีก เช่น อำนาจการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านโดย ส.ส., อำนาจร่วมกับ ส.ส. พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการ "ปฏิรูป" ซึ่งต้องผ่านโดยเสียง 376 เสียง, อำนาจการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ, อำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงอำนาจให้ความเห็นชอบให้บุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรอิสระ
รู้จัก ส.ว. แต่งตั้ง เป็นใครมาจากไหนบ้าง ดูที่ https://ilaw.or.th/node/5261
อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. แต่งตั้ง ดูต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5265
4. เลือกคนมานั่งองค์กรอิสระ วินิจฉัยคุ้มครองตัวเอง
คสช. ใช้อำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" กำหนดกติกาและแก้ไขกลไกการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระทั้งหลายหลายฉบับ และยังให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งมาเองทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติผู้ถูกเสนอชื่อเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ เหล่านี้ตลอดระยะเวลาห้าปี จนกระทั่งกรรมการในองค์กรที่ควรจะเป็นอิสระและทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ล้วนเป็นคนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. แล้วทั้งสิ้น
ในระยะเวลาของ คสช. "องค์กรอิสระ" ล้วนออกคำสั่งให้เป็นประโยชน์กับการอยู่ในอำนาจต่อของ คสช. และคนของ คสช. ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น
1. ป.ป.ช. วินิจฉัยกรณีการครอบครองนาฬิกาหรูของของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า ไม่พบความผิด
2. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
3. กกต. วินิจฉัยว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้รับเงินต่างชาติกรณีจัดโต๊ะจีน และไม่มีความผิด
4. ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" และไม่ขาดคุณสมบัติการสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี
5. กกต. วินิจฉัย คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ฯลฯ
นอกจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้แล้ว ยังมีกลไกหน่วยงานรัฐอื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่ถูก คสช. ใช้อำนาเข้าแทรกแซงและส่งคนที่ "ไว้ใจ" เข้าไปนั่งอยู่และกันคนที่ "ไม่ไว้ใจ" ออกไป เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.), กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (กอ.), อัยการสูงสุด, กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฯลฯ 
กรรมการ "องค์กรอิสระ" ที่ถูกเลือกเข้ามาโดยกระบวนการของ คสช. ทั้งหลายจะยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไปหลังการเลือกตั้ง และจะหมดวาระไปตามกฎหมายของแต่ละองค์กร ซึ่งในการสรรหากรรมการคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งก็ยังต้องผ่านคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบไปด้วย ประธานศาลต่างๆ และตัวแทนจาก "องค์กรอิสระ" แห่งอื่นๆ และยังต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาที่ คสช. เลือกมาเอง ดังนั้นจึงเห็นเส้นทางได้ว่า องค์กรที่ควรจะตรวจสอบอำนาจรัฐเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกนานเพื่อวินิจฉัยประเด็นต่างๆ คุ้มครองการอยู่ในอำนาจของ คสช. ต่อไป
ดูวิธีการที่ คสช. ใช้เวลาค่อยๆ ยึดครององค์กรอิสระทั้งหลาย ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4808
ดูบทบาทของ คสช. ต่อการแต่งตั้งคนในองค์กรต่างๆ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/3779
5. เขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นเครื่องมือให้ตัวเอง
การสืบทอดอำนาจวิธีการหนึ่งที่ คสช. ใช้คือ การให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. บัญญัติเรื่อง 'ยุทธศาสตร์ชาติ' ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบทบัญญัติดังกล่าวระบุให้ ประเทศต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต่อมา รัฐบาลคสช. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้สภานิติบัญญัติชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. พิจารณา และกฎหมายดังกล่าวได้เพิ่มกลไกให้ คสช. เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 
ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบไปด้วยคณะกรรมการโดยตำแหน่งและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีที่มาจากคณะรัฐมนตรี ผู้นำกองทัพ ข้าราชการพลเรือน และภาคเอกชน ที่เคยทำงานร่วมกับคสช. มาก่อนในสภาแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่คสช. แต่งตั้ง โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งตัวเองมานั่งเป็นประธานกรรมการเอง 
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. แต่งตั้งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีอำนาจหน้าที่ในการเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นเพื่อให้มีผลอย่างน้อย 5 ปี รวมถึงมีหน้าที่ร่วมกับวุฒิสภาที่แต่งตั้งมาเอง คอยกำกับทุกรัฐบาลให้ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. เขียนเอาไว้ด้วยถ้อยคำกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาล การกำหนดเงินงบประมาณ หากรัฐบาลชุดใดไม่เดินตามก็จะมีบทลงโทษถึงขนาดหมดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติบางคนยังไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจในการติดตามกำกับรัฐบาล ทำให้กรรมการบางคนได้ทำหน้าที่เป็นทั้งคนร่างแผน และคนกำกับติดตามรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน เช่น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และพรเพชร วิชิตชลชัย ตัวประธานวุฒิสภาเองด้วย รวมทั้งคนสำคัญอย่าง อุตตม สาวนายน และสุวิทย์ เมษินทรีย์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐด้วย
ดูข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4775
6. เขียนแผนปฏิรูป ไว้ทำโทษพรรคฝ่ายตรงข้าม
การสืบทอดอำนาจวิธีการหนึ่งที่ คสช. ใช้ คือ การให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติหมวดพิเศษ ว่าด้วยการปฏิรูปเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก อยู่ในหมวดที่ 16 มาตรา 257-261 กำหนดให้รัฐบาลของ คสช. เองจัดทำกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปภายใน 120 วัน และให้เริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ โดยต้องต้องคาดหวังว่าจะเห็นผลในระยะเวลา 5 ปี  
ต่อมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูป ซึ่งเปิดช่องให้รัฐบาล คสช. ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา 11 ชุด เพื่อเขียนแผนปฏิรูป 11 ด้าน และมีคนได้รับการแต่งตั้งอย่างน้อย 120 คน ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบไปด้วย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งของ คสช. อีกด้วยเช่นกัน สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจเขียนแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลชุดหลังจากนี้ และส่วนราชการต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีบทลงโทษด้วยเช่นกัน
แผนปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จัดทำเสร็จแล้วและประกาศใช้แล้วมีความยาวกว่า 3,000 หน้า ครอบคลุมสารพัดเรื่องและลงรายละเอียดมากพอสมควร แต่คนของ คสช. ที่ไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ เหล่านี้ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ยังคงทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลใหม่ จนถึงปี 2565 
ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศบางคนยังไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจในการติดตามกำกับรัฐบาล ทำให้กรรมการบางคนเป็นทั้งคนร่างแผน และคนกำกับติดตามรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน เช่น เสรี สุวรรณภานนท์, พรทิพย์ โรจนะสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการปฏิรูป ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4602
7. ออกประกาศ+คำสั่ง ไว้ปิดปากคนเห็นต่าง
เป็นเวลากว่า 5 ปีเต็ม ภายใต้การปกครองของ คสช. ซึ่งได้ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่งรวมกันอย่างน้อย 537 ฉบับ โดยเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากากระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ได้รับฟังเสียงคัดค้าน และไม่เคยถูกตรวจสอบโดยศาล
ประกาศและคำสั่งจำนวนมากออกมาเพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหาร และกำหนดข้อห้ามทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ได้จำกัด และแม้จะจัดการเลือกตั้งผ่านไปแล้วก็ยังไม่ถูกยกเลิกหรือแก้ไข ตัวอย่างเช่น 
– ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือความสับสน
– คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 ให้อำนาจทหารปฏิบัติการยึดที่ดินทำกินของประชาชนเพื่อให้เป็นพื้นที่ป่า
– คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 13/2559, 55/2560 ที่ให้อำนาจทหารจับกุมประชาชนไปไว้ในค่ายทหารได้ 7 วัน ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา
ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ยังมีประกาศและคำสั่งอีกหลายฉบับ เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่องความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่สั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมใดๆ ฯลฯ ซึ่งใช้เป็นฐานในการตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับประชาชนและกลุ่มการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางตรงข้ามกับ คสช. มาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นบรรยากาศความเงียบงันขึ้นในสังคมไทย 
ประกาศและคำสั่งทั้งหลาย ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ที่ คสช. เขียนขึ้นเองมาตรา 279 ให้มีสถานะชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับใช้ได้ตลอดไป แม้ว่า คสช. จะหมดอำนาจไปแล้ว ทำให้อำนาจพิเศษและบทบาทของทหารที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งบทบาทของทหารในกระบวนการยุติธรรมจะยังคงอยู่ต่อไปอีกโดยไม่มีกรอบเวลา เพื่อคุ้มครอง คสช. ให้รักษาบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นเช่นเดียวกับที่ผ่านมา 5 ปีต่อไป  
8. เขียนรัฐธรรมนูญฉบับห้ามแก้ ไว้ยึดครองอำนาจยาว
คสช. ใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 กว่า 2 ปี 8 เดือน โดยมีการตั้งกรรมาธิการร่าง 2 ชุด มีร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ กว่าจะประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 นอกจากจะใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คสช. ยังวางเงื่อนไขให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แม้แต่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาก็ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 256 เขียนไว้ว่า มติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด คือ 84 จาก 250 เสียง และระหว่าง 5 ปีแรก ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด
ขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา มี 3 วาระ ได้แก่ วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. จากนั้นจึงเข้าวาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3 วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
นอกจากนี้หากเป็นข้อเสนอแก้ไขในประเด็นสำคัญบางอย่าง เช่น หมวดบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 หลังผ่านการลงมติของรัฐสภาแล้ว จะต้องนำไปทำประชามติก่อน ให้ประชาชนออกเสียงเพื่อเห็นชอบอีกชั้นหนึ่งด้วย 
ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน หากต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหาเสียง ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาให้ได้ถึง 84 เสียง หรือต้องเป็นประเด็นที่ คสช. เห็นชอบด้วยนั่นเอง และยังต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านด้วย แม้ว่า ฝ่ายสนับสนุน คสช. จะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาหรือฝ่ายค้านก็ยังมีอำนาจ "ติดเบรก" การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่ดี
อ่านเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4076