5 ปี คสช.: จาก “ขอเวลาอีกไม่นาน” สู่การสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ

22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น) ประกาศยึดอำนาจทำการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่า 'ขอเวลาอีกไม่นาน' ทหารที่เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะ "คืนอำนาจ" ให้กับประชาชน
จนเวลาล่วงเลยเข้าปีที่ 5 ของคณะรัฐประหาร แม้ว่า คสช. จะ 'ยอม' จัดให้มีการเลือกตั้งไปแล้ว ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ คสช. ก็ยังไม่ได้ "คืนอำนาจ" การปกครองตัวเองให้กับประชาชน แต่กลับพยายามวางรากฐานอำนาจของตัวเองให้แน่นหนา ผ่านการกระจายตัวไปอยู่ในกลไกต่างๆ ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนขึ้นเอง และกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในสนามการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ คสช. ยังอยู่ในอำนาจต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี
จากเครือข่ายคสช. สู่ พรรคพลังประชารัฐ
หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (กฎหมายพรรคการเมือง) มีผลบังคับใช้ และหัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตาม 'มาตรา 44' ออกคำสั่งที่ 53/2560 เปิดทางให้พรรคการเมืองหน้าใหม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ สังคมไทยก็ได้รู้จักกับพรรค 'พลังประชารัฐ' พรรคการเมืองที่เอาชื่อมาจากนโยบาย 'ประชารัฐ' ของรัฐบาลคสช.
ในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ มีชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นผู้จดจองชื่อ ก่อนจะมีกลุ่มการเมืองอีกสองกลุ่มใหญ่มาร่วม
กลุ่มการเมืองแรกที่มาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ คือ  'กลุ่มสาม ส.' หรือ 'สามมิตร' ซึ่งมี 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน ส่วนมิตรที่สาม คือ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.
ส่วนกลุ่มการเมืองที่สอง คือ สี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้แก่ อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล โดยรายชื่อสองคนแรกได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งสี่คนมีความเชื่อมโยงกับ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ในฐานะลูกศิษย์หัวกะทิ
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มสามมิตรและสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. พรรคพลังประชารัฐสามารถดึงดูดนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มาได้ถึง 82 คน แบ่งเป็น อดีต รมต. 19 คน อดีต ส.ส. 62 คน และอดีต ส.ว. 1 คน เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง พร้อมประกาศว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" โดยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ 
แม้พรรคพลังประชารัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า 'เอาเปรียบ' พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือกระแสการจัดโต๊ะจีนรับบริจาคเงินซึ่งปรากฎชื่อของหน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้เงินบริจาค รวมถึงการที่รัฐบาล คสช. "ลดแลกแจกแถม" เงินและนโยบายช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 
แต่การเลือกตั้งผลก็ปรากฎว่า พรรคพลังประชารัฐคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ถึง 115 ที่นั่ง เป็นพรรคใหญ่ลำดับที่สองในสภา และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย 
จากแม่น้ำห้าสาย สู่ ส.ว. แต่งตั้ง
ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกจำนวน 250 คน มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ 50 คน และการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้ง อีก 194 คน ซึ่งรายชื่อผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. จะมี คสช. เป็นคนคัดเลือกด่านสุดท้ายอีกครั้ง
อีก 6 คนที่เหลือ มาจากปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.), ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมเป็น 250 คน
จากรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 พบว่า มี 'คนหน้าซ้ำ' ที่ทำงานอยู่เครือข่ายของ คสช. อย่างน้อย 157 คน แบ่งเป็น เคยมีตำแหน่งใน คสช. 20 คน เคยมีตำแหน่งในครม. 18 คน เคยมีตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 89 คน เคยมีตำแหน่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 26 คน เคยมีตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 35 คน เคยมีตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 จำนวน 5 คน รวมถึงเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คน และเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 26 คน หลายคนเคยมีหลายตำแหน่ง
นอกจากนี้ ในรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ยังมี สถานะเกี่ยวข้องกับ คสช. ในฐานะญาติพี่น้องของบุคคลในรัฐบาล คสช. เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ด้านความมั่นคง, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย และ สม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ
หรือ มีสถานะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของบุคคลสำคัญในรัฐบาล คสช. เช่น เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 ของ พล.อ.ประวิตร ทั้งสิ้น 5 คน ที่ได้เป็น ส.ว. ได้แก่ พลเอก นพดล อินทปัญญา, พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, พลเอก ไพโรจน์ พานิชสมัย และ พลเอก อู้ด เบื้องบน เป็นต้น
รวมถึงยังมี ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ เช่น จิรดา สงฆ์ประชา พี่สาวของมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส. เขต 2 จ.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ, ภัทรา วรามิตร น้องสาวของ ชานุวัฒน์ วรามิตร ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชารัฐ, สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล พี่ชายของสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 25 พรรคพลังประชารัฐ และอมร นิลเปรม พี่ชายของอดุลย์ นิลเปรม ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 อุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ
บทบาทของ ส.ว. แต่งตั้ง มีความสำคัญมากในความเป็นไปของการเมืองไทยอีกอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า เพราะ ส.ว. เป็นตัวแปรหลักเลือกนายกรัฐมนตรี เปิดทาง 'นายกคนนอก' หรือ การเป็นองค์ประกอบสำคัญในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการตรวจสอบรัฐบาลให้เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการรวบอำนาจออกกฎหมายเกี่ยวก้บการปฏิรูปประเทศด้วย
จากเป้าหมาย 'ปราบโกง' สู่การยึดครององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
องค์กรอิสระกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทมากๆ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งการทำหน้าที่รับรองอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร และการจัดการขั้วทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช.
ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2560 ยัง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้องค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบนักการเมืองให้เข้มข้นขึ้น แต่ด้วยการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของ คสช. ทำให้ที่มาของกรรมการในองค์กรอิสระในยุคสมัยนี้ ล้วนแต่มี คสช. เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งการสรรหาและการลงมติเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง
เริ่มจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คสช. เคยใช้ 'มาตรา 44' เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหา โดยกำหนดให้ประธาน สนช. และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหา และต่อมาได้ส่งรายชื่อดังกล่าวให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบ ซึ่ง สนช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 9 คน 
องค์กรที่สอง คือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" โดยหลังการรัฐประหารปีแรก สนช. ได้เห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างลงจำนวน 2 คน ต่อมามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คนที่กำลังจะหมดวาระ แต่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต่ออายุให้ตุลาการจำนวน 5 คน ให้ยังทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 
องค์กรที่สาม คือ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" โดยหลังการรัฐประหาร ได้เปลี่ยนให้พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา และส่งรายชื่อให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบทั้งสิ้น จำนวน 3 คน หรือ เท่ากับว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันทั้งหมด ผ่านการคัดเลือกมาโดย สนช. 
องค์กรที่สี่ คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)  ซึ่ง คสช. เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขที่มาของคณะกรรมการสรรหา หลังจากนั้น ที่ประชุม สนช. จึงได้เห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีวาระแค่สามปีเท่านั้นตามการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ต่อมา เมื่อ คตง. และ ผู้ว่าฯ สตง. ชุดดังกล่าวใกล้หมดวาระ คสช. จึงใช้มาตรา 44 อีกครั้ง โดยเพิ่มประธานสนช. เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ก่อนจะส่งให้ที่ประชุมสนช. ก็มีมติเห็นชอบ คตง. ชุดใหม่ จำนวน 7 คน และได้ใช้อำนาจมาตรา 44 อีกครั้ง แต่งตั้งให้พรชัย จำรูญพาณิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนที่ สนช. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ประจักษ์ บุญยัง" ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
องค์กรที่ห้า คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งคณะกรรมการชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนการรัฐประหารไม่มีผู้ใดต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ คสช. เคยใช้มาตรา 44 ปลด "สมชัย ศรีสุทธิยากร" กกต. ออกจากตำแหน่ง ก่อนที่มีจะมีการจัดทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ฉบับใหม่ เพื่อ 'เซ็ตซีโร่' (ต้องสรรหา กกต. ชุดใหม่) จากนั้นที่ประชุม สนช. จึงได้ลงมติเห็นชอบบุคคลจำนวน 7 คนดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทำภารกิจจัดการเลือกตั้งในปี 2562
องค์กรสุดท้าย คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยหลังการรัฐประหาร กสม. ที่รับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2552 หมดวาระลงในปี 2558 ต่อมา สนช. ได้ลงมติเห็นชอบบุคคลจำนวน 5 คน ดำรงตำแหน่ง กสม. จากทั้งหมด 7 คน และต่อมาได้ลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง กสม. ในภายหลังอีก 2 คน ต่อมา หลังมี พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการเซ็ตซีโร่ และเริ่มกระบวนการสรรหากันใหม่อีกครั้ง 
จากมา "รักษาความสงบเรียบร้อย" สู่การวางอนาคตประเทศด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 
คำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" ถูกเขียนขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในรัฐบาล คสช.
สำหรับขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ถูกกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดให้รัฐบาล คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้นสายของทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานตามตำแหน่ง และมีคณะกรรมตามตำแหน่งรวมแล้ว 18 คน 
สำหรับคณะกรรมการตามตำแหน่งจะประกอบไปด้วย ฝ่ายการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ประสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ถัดมาเป็นฝ่ายกองทัพที่ประกอบด้วย 6 ผู้นำเหล่าทัพ ถัดมาเป็นฝ่ายข้าราชการ ได้แก่ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ อีกทั้ง ยังมีกลุ่มทุน ได้แก่ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ประธานสมาคมธนาคารไทย 
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังมีอำนาจในการแต่งตั้ง "ผู้ทรงคุณวุฒิ" ได้ถึง 18 คน ซึ่งปัจจุบันมีการแต่งตั้งไปแล้ว 12 ตำแหน่ง และตำแหน่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 5 ปี และการเปลี่ยนตัวผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งก็เป็นเรื่องยาก รายชื่อของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เต็มไปด้วยคนที่เคยทำงานให้กับ คสช. และมีตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ เช่น คสช., รมต., สนช., ป.ย.ป. และคณะกรรมการโครงการประชารัฐ 
บุคคลในเครือข่ายเดียวกันเหล่านี้ จะมีบทบาทในการวางแผนยุทธศาสตร์ให้ทุกรัฐบาลเดินตาม หากรัฐบาลไม่ทำตามจะมีบทลงโทษ คือ ให้ ครม. พ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป
แผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. ที่เขียนกันเสร็จแล้วนั้นถูกวางไว้ให้มีอายุ 20 ปี และต้องถูกยกขึ้นมาปรับปรุงทุก 5 ปี โดยในการปรับปรุงทุกครั้งผู้ที่มีอำนาจหลักก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตรชาติ ที่เต็มไปด้วยคนกลุ่มเดิม และหากพล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็จะสามารถนั่งคุมการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ที่เขียนขึ้นเองนี้ต่อได้อีกยาวนาน
จากมา "ปฏิรูปประเทศ" สู่ผลลัพธ์เป็นแผน 3,000 หน้า
นอกจากการมียุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังเขียน "หมวดปฏิรูป" ขึ้นมาใหม่ ให้ต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูป ซึ่งต่อมาคือ "พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ" หรือ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 10 คณะเพื่อร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ 
ทั้งนี้ ขั้นตอนการร่างแผนปฏิรูป คือ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศร่างแผนการปฏิรูปประเทศเสร็จแล้วจะต้องนำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะส่งร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้ ครม. เห็นชอบ เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้วให้รายงานให้ สนช.รับทราบ และประกาศใช้ องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมีที่มาจากแหล่งเดียวกันทั้งหมด
หลัง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ มีผลบังคับใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จำนวน 120 คน ทั้งนี้ จากรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ได้รับการแต่งตั้ง เห็นว่า หลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช. มาก่อน ในจำนวนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมี อดีต สปช. และ สปท. อยู่ถึง 46 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ของกรรมการทั้งหมด ทุกคนล้วนนั่งควบตำแหน่งในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย และก็ยังได้ไปต่ออีกเป็นคำรบที่สาม 
แผนการปฏิรูปประเทศที่เสร็จแล้วความยาวรวมกว่า 3,000 หน้า จะถูกใช้เป็นแผนแม่บทในการทำงานของหน่วยงานรัฐ ซึ่ง ครม. มีหน้าที่กำกับดูแลและสนับสุนให้หน่วยงานดำเนินการ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่หน่วยงานที่ไม่ดำเนินการตามแผนปฏิรูป อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีหน้าที่และอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอีกด้วย
เท่ากับว่า 'ปลายทาง' การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ ก็คือ การทำแผนแม่บทเพื่อให้ คสช. ควบคุมทิศทางการบริหารประเทศในภายภาคหน้านั้นเอง
You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง