นักนิติศาสตร์ชวนทบทวนมรดกกฎหมายอาญาในยุค คสช. เสนอรัฐบาลหน้าเร่งแก้ไข

 

กฎหมายอาญานับเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะผู้ที่ถูกต้องโทษในคดีทางอาญา หมายถึงการที่ต้องถูกจองจำในคุก หรือถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ หากกฎหมายอาญาไม่ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน นั่นหมายถึงชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับโทษ ในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แก้ไขกฎหมายอาญา และการออกประกาศ คำสั่ง ด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งมีผลให้ประชาชนได้รับโทษทางอาญาหลายฉบับ โดยแม้ว่า คสช. จะลงจากอำนาจแล้วก็ตาม กฎหมาย และประกาศ/คำสั่ง เหล่านั้น จะเป็นดั่งมรดกที่ยังคงบังคับใช้อยู่ต่อไป 
27 เมษายน 2562 เวลา 09.15-12.00 น. ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเสวนา เรื่อง "วิพากษ์มรดกกฎหมายอาญายุค คสช." โดยนักวิชาการด้านกฎหมายร่วมกันวิเคราะห์การปรับปรุงกฎหมายอาญาทั้ง 6 ครั้ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 5 ครั้ง กับพ.ร.บ.อีกหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาของประชาชน โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 
ประกาศ คำสั่ง คสช. ไม่หายไป ถ้าไม่ยกเลิก
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในยุค คสช. อย่างเช่น การออกประกาศ และคำสั่ง คสช. อย่างน้อย 537 ฉบับ ที่ให้ทหารเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ให้ทหารมีอำนาจแทนตำรวจในการสืบสวน สอบสวน และการให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร เป็นการสร้างวัฒนธรรมอย่างหนึ่งทางการเมืองที่ให้กฎหมายเป็นเครื่องมือตอบสนองผู้มีอำนาจ มากกว่าใช้จำกัดอำนาจรัฐและส่งสเริมสิทธิของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย
ยิ่งชีพ กล่าวว่า การทำงานกับมรดกจากยุค คสช. มีสิ่งที่ต้องช่วยกันทำอีกเยอะมาก ต้องศึกษาความงานทางความรู้ให้ชัดเจนอีกหลายเรื่อง เช่น พ.ร.บ ชุมนุมฯ ที่ถูกนำมาใช้ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน จะยกเลิก หรือแก้ไข ประกาศ/คำสั่ง คสช. ต่างๆ ต้องมีการยกเลิก โดยที่ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก 
อย่างไรก็ดี ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ iLaw กำลังทำ และจะยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง
การแก้ไขกฎหมายที่มีทิศทางดีขึ้น 
รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ภาคกฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายอาญาโดย สนช. ซึ่งมีทั้งด้านที่พัฒนาไปในด้านที่ดี และในด้านลบและก่อให้เกิดปัญหา อย่างแรก สิ่งที่เป็นด้านบวก เช่น การแก้ไขพ.ร.บ ยาเสพติดให้โทษ ในปี 2560 จากเดิมที่สมัยสงครามยาเสพติด เคยเขียนว่า ผู้ใดครอบครองยาเสพติด ตามจำนวนที่กฎกระทรวงกำหนด ให้ถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย หมายความว่า จะต้องถูกลงโทษอย่างหนักหน่วงเท่าพ่อค้ายา ทั้งๆ ที่เขาอาจจะครอบครองเอาไว้ 15-16 เม็ดไว้เพื่อเสพ ส่งผลให้คนที่ถูกจับกุมต้องถูกลงโทษหนัก สร้างปัญหานักโทษล้นเรือนจำ 
ซึ่งในปี 2560 ได้แก้ไขปรับคำนิดเดียว แต่มีผลดีมหาศาล คือ ให้เปลี่ยนเป็นว่า ใครก็ตามครอบครองยาเกิน 15 เม็ดเป็นต้นไป "ให้สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย" ผลก็คือ จำเลยที่เคยถูกจับได้ว่า ครอบครองยา 10-15 เม็ด สามารถพิสูจน์ได้ว่า เขาไม่เคยค้ายา ก็จะถูกลงโทษเบา แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่คนถูกจับจะพิสูจน์ตัวเองอยู่ดี
อย่างไรก็ดี ปกป้อง มองว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ ท่ีอาจไม่ได้แก้ไขด้วยการแก้ พ.ร.บ. ฉบับเดียวในปี 2560 ต้องแก้ทั้งระบบ ในเรื่องของโครงสร้างการมองว่า ยาเสพติดคืออะไร คือ ปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาสุขภาพ เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันต่อไป
อย่างที่สองที่เป็นสิ่งที่ดีในกระบวนการยุติธรรม คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญาฯ) มาตรา 161/1 กับ 165/2 เพื่อป้องกันการฟ้องคดีกลั่นแกล้งกัน หรือการฟ้องคดี "ปิดปาก" ในอดีตก่อนที่จะมีการแก้ไขทั้งสองมาตรานี้ เวลาที่ผู้เสียหายหรือประชาชนจะไปใช้สิทธิฟ้องกันเอง ระบบศาลยุติธรรมบ้านเรา จะให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องก่อน ถ้าคดีไม่มีมูล ศาลก็ยกฟ้องไปในชั้นนี้เลย แต่ยังมีปัญหาเพราะการไต่สวนมูลฟ้องเป็นการฟังความข้างเดียว ส่วนมาตรา 161/1 กับ 165/2 เป็นวิธีคิดใหม่ว่า ถ้าศาลเห็นในคำฟ้องของประชาชน ที่ไม่ได้เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิอย่างสุจริต เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก ศาลสามารถเอาพยานหลักฐานมาดูและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย 
ศาลอาจจะสั่งยกฟ้อง โดยไม่ต้องยกคดีขึ้นพิจารณา เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จำเลยต้องถูกคุมขังและไปประกันตัว การประทับรับฟ้อง และมีคดีติดตัวในศาล ซึ่งไม่ได้ใช้ในคดีหมิ่นประมาทอย่างเดียว แต่ใช้ในหลายๆ เรื่อง เป็นผลดี และช่วยลดปริมาณคดีในศาลได้ 
เรื่องที่สามที่เป็นแง่บวกคือ การมี พ.ร.บ กองทุนยุติธรรมฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ ในการเข้าถึงความเป็นธรรม เช่น คนที่ไม่มีทนายความ ไม่มีค่าใช้จ่าย ก็ขอให้กองทุนยุติธรรมช่วยเหลือได้ แล้วกองทุนนี้ก็กระจายไปตามต่างจังหวัด เพื่อให้ประชาชนทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด 
  
นี่คือทั้งสามเรื่องที่ปกป้องมองว่าน่าจะเป็นผลดีที่เกิดขึ้น ทว่าปกป้องกล่าวต่อว่ามีเรื่องที่เป็นด้านลบและมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม และคดีอาญา 
สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่หายไป
โดยเรื่องแรก ปกป้องกล่าวถึงเรื่องสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ ที่ตามปกติสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาเป็นของจำเลย สามารถมอบหมายให้ทนายความมายื่นเพื่ออุทธรณ์ หรือฎีกาได้ แต่ตาม ป.วิ.อาญาฯ มาตรา 198 วรรค 3 มีการแก้ไขใหม่ หากจำเลยหลบหนี ไม่มาแสดงตัว ทนายความมายื่นอุทธรณ์ให้ ศาลสามารถปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ได้ เป็นการสร้างเงื่อนไขว่าจำเลยต้องติดคุกก่อน หรือกลับมารายงานตัวก่อน จึงจะยื่นอุทธรณ์ได้ ทนายไม่สามารถยื่นแทนได้
ปกป้องอธิบายว่า การอุทธรณ์เป็น สิทธิของจำเลยในคดีอาญา และเป็นสิทธิในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยและอีก 60 กว่าประเทศเป็นภาคี ซึ่งเป็นกติกาสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกยอมรับ 
ซึ่งตามหลัก ICCPR ข้อ 14 ย่อหน้าที่ 5 อธิบายว่า จำเลยทุกคน มีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาแล้ว มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า 1 ชั้น นี่คือสิทธิมนุษยชน แต่ ป.วิ.อาญาฯ มาตรา 198 ของเรา เป็นการสร้างเงื่อนไขในการอุทธรณ์ของคน หมายความว่า จำเลยมีคดีอาญาที่ถูกคำพิพากษาอยากอุทธรณ์ ต้องมาติดคุก หรือรายงานตัวก่อน ถึงจะอุทธรณ์ได้ 
ปกป้องยังเล่าด้วยว่า เคยมีคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญ ของประเทศฝรั่งเศส เทียบกับประเทศไทยก็คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญชี้ไว้แล้วว่า บทบัญญัติแบบนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ  
ประเด็นด้านลบอย่างที่สอง คือ ในปี 2559 มีกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดี 2 เรื่อง ที่กำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวน โดยมีบทบัญญัติที่ว่า ถ้าจำเลยไม่มาศาล ให้ศาลพิจารณาคดีไปได้เลย คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559  
  
ปกป้องกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เช่นนี้ เป็นการเอาแบบมาจากฝรั่งเศส แต่เอามาไม่หมด เอามาใส่เพียงครึ่งเดียวในลักษณะที่ว่าดำเนินคดีฝ่ายเดียวไปเลย สั่งลงโทษ หรือยึดทรัพย์ไปได้เลย ในขณะที่หลักการของระบบนี้ในประเทศฝรั่งเศษให้พิจารณาฝ่ายเดียวได้ก็จริง แต่มี "เซฟการ์ด" หมายความว่า หากจำเลยมาศาลในภายหลัง จำเลยสามารถขอพิจารณาใหม่ได้ เพื่อสร้างสิทธิในการต่อสู้คดี และรักษาสิทธิของจำเลยได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องมีหลักฐานใหม่
ปกป้อง กล่าวถึงประเด็นด้านลบสุดท้าย คือ การแก้ไข มาตรา 110 ป.วิ.อาญาฯ เรื่องการให้ประกันตัวจำเลยได้โดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์ประกัน โดยแก้เพียงแค่จากเดิมใช้กับคดีที่มีโทษจำคุกจำคุกไม่เกิน 5 ปีสนช. แก้ให้เป็น 10 ปี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่ดี แต่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เมื่อเรายังยึดหลักการให้ประกันตัวโดยใช้เงิน โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ต้องหาแต่ละคน ปัญหาก็ยังอยู่ ควรจะไปแก้ที่หลักการให้เรียกหลักประกันตามฐานะทางเศรษฐกิจจะดี 
5 ปีผ่านไป กับปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข คนรวยรอด คนจนติดคุก 
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ภาคกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อจากประเด็นของปกป้องว่า เรื่องสิทธิในการประกันตัวเมื่อมีการเมืองเข้ามาเกี่ยว กลายเป็นว่า เอาคนดีๆ ที่ยังไม่ผิดมาขัง คดีอาญาไม่ใช่แค่เรื่องทางอาญาแต่คือเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ควรจะได้รับ เป็นเรื่องความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ถ้าใครจะติดคุกจะต้องติดคุกเพราะทำความผิด ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน
ปริญญา กล่าวต่อในประเด็นเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว่า หลักเกณฑ์ของประธานศาลฎีกาที่ประกาศในปี 2548 ถ้าคดีที่มีโทษประหารชีวิต จะต้องมีเงินประกันถึง 800,000 บาท คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต 600,000 บาท ใช้อัตราเท่ากันหมดทุกคดี ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการแก้ไขเลย ดังนั้น การขยายเพดานกฎหมายไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ ถ้าไม่แก้ไขระเบียบของประธานศาลฎีกา คนจนก็จะล้นคุกต่อไป 
อีกประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญ คือ หากมีคนถูกลงโทษปรับเงิน ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แล้วมีคนติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนมาก ในยุคนี้ สนช. แก้ไข มาตรา 30 เพิ่มอัตราการกักขังแทนจ่ายค่าปรับจากวันละ 200 บาท มาเป็นวันละ 500 บาท หมายถึงว่า จะติดคุกสั้นลง ด้านหนึ่งก็ดีที่ทำให้คนติดคุกสั้นลง แต่เรื่องที่เป็นปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข การเอาคนไปขังรวมกันในเรือนจำทั้งที่โทษของเขา คือ ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับเท่านั้น อันนี้เป็นปัญหา
อีกประเด็นสำคัญที่ปริญญากล่าวถึงคือ สิทธิในการขอทำงานบำเพ็ญประโยชน์แทนการติดคุก ซึ่งศาลมักไม่ได้แจ้ง และผู้ต้องขังก็ไม่ทราบสิทธิของตัวเอง ทำให้ต้องติดคุก ทั้งที่สามารถทำงานบำเพ็ญประโยชน์แทนได้โดยที่ไม่ต้องติดคุก 
รัฐธรรมนูญที่ไม่คุ้มครองสิทธิพลเมือง-อำนาจพิเศษที่เหนือกว่า
แม้ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว ทว่า คดีที่เป็นเรื่องการเมือง โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ที่คิดเห็นต่างกับ คสช. ยังเดินหน้าไปอยู่ ปริญญา กล่าวว่า คดีเหล่านี้ต้องจบแล้ว เพราะพลเรือนได้รับการคุ้มครอง และประกันสิทธิและเสรีภาพ จากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่ 2 ปี ผ่านไปก็ยังไม่จบ แล้วยังจะต่อได้อีก เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 กำหนดให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อไป ผ่านไป 2 ปี หมวดสิทธิและเสรีภาพยังไม่ได้ใช้ มีแต่การใช้อำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ปริญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาของเรื่องยังไม่จบเมื่อมีคณะรัฐมนตรีใหม่หลังการเลือกตั้ง เพราะว่า มาตรา 279 กำหนดให้อำนาจพิเศษ ประกาศ คำสั่ง คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป จะยกเลิกได้ต้องออกเป็น พ.ร.บ. เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ยกเลิกง่ายๆ อย่างไรก็ดี มาตรา 279 แต่มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าเป็นเรื่องในทางบริหาร หรือในทางปกครอง สามารถออกเป็นมติคณะรัฐมนตรียกเลิกได้เลย ซึ่งถ้าหาก พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็จะยกเลิกได้ยาก เพราะเป็นคนออกคำสั่งเอง 
ส่วนเรื่องคดีที่ยังคงขึ้นศาลทหาร ตามหลักแล้วคดีที่ขึ้นศาลทหารต้องย้ายมาขึ้นศาลพลเรือนได้แล้ว ไม่ใช่มาอ้างว่า ทำผิดก่อนหน้า คำสั่ง คสช. ที่ให้ขึ้นศาลพลเรือน เลยต้องไปขึ้นศาลทหาร เป็นการตีความกฎหมายที่ไม่เข้าท่าอย่างยิ่ง และขัดรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง 
ทั้งนี้ ปริญญา กล่าวว่า รัฐบาลหน้าต้องแก้ไขมรดกกฎหมายเหล่านี้ แต่ต้องตั้งรัฐบาลให้ได้เสียก่อน พร้อมเชิญชวนทุกพรรคการเมืองนำสภาผู้แทนราษฎรกลับมาตามกติกา นับเป็นเรื่องที่ประหลาดที่สุดในโลก เพราะประชาชนเลือกตั้งไปแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าใครจะได้เป็น ส.ส. ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็รู้ทันไม่รับตีความสูตร จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งถูกแล้วตามรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมีเรื่องขัดแย้งก่อนจะมาถึงศาลได้ ศาลไม่ได้มีอำนาจรับตีความในทุกเรื่อง นี่คือหลักการในการจำกัดอำนาจศาล ไม่ให้มีเหนืออำนาจอื่น
You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้