กำเนิด ความหมายและพลวัติของ “ความเป็นคนไทย”

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน

 

 

ที่มาภาพ Johan Fantenberg

 

 

             

             เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ พล.. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ [1] ผู้บัญชาการทหารบก ที่แสดงความไม่พอใจที่นักศึกษา นักวิชาการสื่อมวลชน ได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า เราอยู่กันแบบไทย นี่คือวัฒนธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ขอให้รักกันจะไปร่ำไปเรียนที่ไหนมาเอาของเขามาแล้วมาดูด้วยว่าควรจะมาดัดแปลง แต่ไม่ใช่พยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อย่าไปเอาความซ้ายจัดที่ไปเรียนมาแล้วมาดัดจริตนี่คือเมืองสยาม เมืองแห่งรอยยิ้ม เมืองที่เรามีระบอบประชาธิปไตยของเราแบบนี้สิ่งที่ประชาธิปไตยแบบไทย ต้องการคือมีคนไทยรักกัน หันหน้าเข้าหากัน” 
 

             ผู้เขียนเห็นว่า วาทะกรรมความเป็นไทยถูกฝ่ายรัฐนำมาใช้บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง หรือต้องการโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับตน มีงานศึกษาที่พูดถึง กำเนิด ความหมายและพลวัติของความเป็นคนไทยของนักวิชาการมีชื่อเสียงหลายท่าน ที่ได้ศึกษาและตีความวาทะกรรมความเป็นไทยไว้อย่างครอบคลุมและน่าสนใจ ทำให้เรา โดยเฉพาะคนที่ฝักใฝ่การเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตย สามารถทำความเข้าในสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้การรวบรวมความคิดและข้อเสนอในที่นี้มีความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนจึงได้จัดทำออกมาในรูปแบบกึ่งวิชาการ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถกลับไปค้นหารายละเอียดเพื่อศึกษาเชิงลึกต่อไปได้ …..

             “ความเป็นไทยมีลักษณะเป็นวาทะกรรมและมโนทัศน์หลวมๆ ที่ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงไปมาจนไม่สามารถนิยามให้ชัดเจนได้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาและตอกย้ำอย่างเป็นระบบ จนทำให้สังคมไทยเชื่อว่า เป็นลักษณะจริงของสังคมไทย[2] ทั้งไม่ได้เกิดจากการรวบรวมเอามาจากลักษณะที่หลากหลายของประชาชน แต่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยรัฐเองว่าคนไทยจะต้องเป็นอย่างไร[3] รวมทั้งความเป็นไทยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบปัญหาทางการเมืองที่ชนชั้นนำในแต่ละยุคสมัยต้องเผชิญ โดยมุ่งให้ความเป็นไทยช่วยจรรโลงโครงสร้างสังคมและการเมืองที่ชนชั้นนำต้องการ พร้อมทั้งได้ผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องจนคนเชื่อว่าเป็นความจริง[4]
 

             ดังนั้น การทำความเข้าใจกับความหมายของความเป็นไทย” (เพื่อพิจารณาลักษณะการใช้อำนาจที่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนที่ไม่ใช่คนไทย) ต้องพิจารณาจากที่มาทางความคิดและบริบทแวดล้อมที่ทำให้เกิดแนวความคิดแบบนั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเป็นไทยไม่สามารถนิยามความหมายแบบตายตัวได้ แต่เพื่อเป็นกรอบคิดในการวิเคราะห์ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยจึงสรุปภาพรวมของมโนทัศน์ให้พอเข้าใจ ดังนี้ 
 

             การกำหนดนิยามความเป็นคนไทยนั้น ในทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามบริบทการเมืองในแต่ละยุคสมัย โดยก่อนยุคสมัยการสร้างรัฐชาติ (รัชกาลที่ 5) ความเป็นคนไทยไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก ในทางตรงกันข้ามผู้ปกครองกลับมีค่านิยมว่าการมีราษฎรที่หลากหลายชาติพันธุ์มาอยู่อาศัยถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นการแสดงว่ากษัตริย์ของรัฐนั้นมีบารมี จึงมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาขอพึ่ง เมื่อถึงยุคการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สถานการณ์ทางการเมืองทำให้สยามต้องเร่งรวมชาติ ซึ่งการนิยามความเป็นคนไทยก็ไม่ได้มีความซับซ้อน โดยผู้ปกครองถือว่าทุกคนในผืนแผ่นดินสยามเป็นคนในบังคับสยาม ตราบใดที่ยอมรับในอำนาจปกครองของกษัตริย์สยามและพูดภาษาไทย ซึ่งการนิยามความเป็นคนไทยในช่วงนี้ ตั้งอยู่บนเงื่อนไขการรวมชาติให้เป็นปึกแผ่น ส่วนหนึ่งคือเพื่อต่อต้านการบีบบังคับทางการเมืองจากประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 การเมืองของสยามได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของแนวคิดทางการเมืองโลก ที่หลั่งไหลเข้าในมาภูมิภาครวมทั้งสยามด้วย อันเป็นการคุกคามต่อสถานะและอำนาจของกษัตริย์ ที่สำคัญการปฏิวัติของจากระบอบกษัตริย์ไปสู่ระบอบสาธารณะรัฐในประเทศจีน และแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตก ทำให้รัชกาลที่ 6 ต้องใช้นโยบายชาตินิยมที่มีเป้าหมายเพื่อระดมความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์โดยถือว่า คนไทยคือคนที่มีความจงรักภักดีต่อพระมาหากษัตริย์ โดยไม่กีดกันทางชาติพันธุ์ 
 

             จากที่กล่าวมานี้จุดเน้นของความเป็นไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช คือ ลักษณะของคนที่มีจิตใจที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ นับถือศาสนาพุทธ และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับวัฒนธรรมไทย โดย พูดภาษาไทย มีกิริยามารยาทแบบไทย มีคุณธรรม และมีความศิวิไลซ์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ต้องรักษาวัฒนธรรม (แบบเดิม) ส่วนใหญ่เอาไว้ แล้วรับเอาความเจริญทางวัตถุแบบตะวันตกมาประยุกต์ เพื่อมิให้ความเป็นไทยถูกมองว่าป่าเถื่อน ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่จรรโลงโครงสร้างสังคมที่รวมศูนย์อำนาจและแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น[5] 
 

             ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดสถานการณ์ทางการเมืองทั้งระดับภายในประเทศไทยและระดับระดับโลก รวมทั้งการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนและช่วงชิงนิยามความหมายของความเป็นไทยกล่าวคือ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี .. 2475 ค่านิยมหลักหรือศูนย์รวมความเป็นไทยอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ แต่ช่วงระหว่างหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี .. 2475 ถึงช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหมายของความเป็นไทยเปลี่ยนศูนย์กลางจากสถาบันกษัตริย์ หันมาให้ความสำคัญกับพลเมือง โดยการสร้างวาทะกรรมความเป็นคนไทยที่เน้นอุปนิสัย คือ เป็นคนที่มีศิลปะไทย รักอิสรภาพ มีนิสัยใจคอที่รักความก้าวหน้า มุมานะอุตสาหะขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคี แต่ไม่ขัดแย้งกับฐานคติเรื่องการจงรักภักดีต่อกษัตริย์และนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นการปรับนิยามให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้นำประเทศ ที่ต้องการเน้นฐานะนำผู้ผู้นำประเทศที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่กษัตริย์เหมือนในอดีต โดยเฉพาะในยุคที่จอมพล . พิบูลย์สงคราม มีอำนาจ แนวคิดชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยมจึงถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น โดยมีเป้าหมายเพื่อกีดกันคนจีนไม่ให้เข้าไปมีอำนาจทางการเมือง และกีดกันอำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดทางให้แก่นโยบายทุนนิยมแห่งชาติ
 

             แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ความหมายของความเป็นไทยก็กลับมารวมศูนย์ทางความคิดที่การมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยอธิบายว่า เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ทำให้ชาติไทยมีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้า และนับถือศาสนาพุทธในฐานะแหล่งที่มาของศีลธรรม ที่สำคัญคือ การเน้นย้ำว่าคนไทยต้องรู้ที่ต่ำที่สูง ไม่เบียดเบียนกัน รักการปกครองแบบไทย พูดภาษาไทย รู้วรรณคดีไทยและศิลปะไทย มีขนบธรรมเนียมและประเพณีแบบไทย[6] 
 

             ที่สำคัญคือวาทะกรรมการปกครองแบบไทยมีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมไทยโดยรวมอย่างมากแม้กระทั่งปัจจุบัน ซึ่งมีการตอกย้ำว่าคนไทยต้องยอมรับการปกครองแบบไทย หมายถึง 1. ยอมรับการใช้อำนาจของผู้ปกครองและข้าราชการ 2. ยอมรับโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น โดยเชื่อว่าจะทำให้สังคมเกิดระเบียบ มีความมั่นคงและสงบสุข รวมทั้งทำให้คนไทยยอมรับการมีอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่ม และยอมรับในความไม่เป็นธรรมที่เกิดแก่ตนหรือคนอื่นในสังคม 3. มีระเบียบ ในความหมายที่ยอมรับความไม่เสมอภาค รู้ฐานะต่ำสูงของตนเอง ไม่ใช้เสรีภาพเกินขอบเขตและไม่สร้างความวุ่นวาย ซึ่งผู้ที่ที่มีบทบาทสูงในการกำหนดนิยามความเป็นไทยในช่วงนี้คือ ... คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ที่มีเป้าหมายในการใช้ความเป็นไทย จัดระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย[7]
 

             หลังสงครามเย็นสิ้นสุด สังคมไทยก็เข้าสู่บริบทของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และเกิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่นิยามความเป็นไทยก็ยังคงยึดติดกับหลักคิดเดิม ซึ่งระเบียบที่ถูกกำหนดไว้ในความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไทย คับแคบเกินกว่าจะรองรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้[8] 

 

             สรุป จะเห็นว่าการนิยามความหมายของความเป็นไทยเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นและมีความเข้มข้นตั้งแต่ยุคการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบัน ความหมายของความเป็นไทยมีแก่นของแนวคิดอยู่ที่ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ นับถือศาสนาพุทธ และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับวัฒนธรรมไทยที่มีความศิวิไลซ์ อย่างไรก็ตามในแต่ละยุคสมัยมีการแต่งเติมเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการเข้าไป เพื่อให้ความเป็นไทยมีความหมายที่สมบูรณ์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้น  

……………………………………
อ้างอิง

1 อภิรัชต์ คงสมพงษ์ : นักการเมืองเดิมพวกซ้ายตกขอบ สร้างวาทกรรมแบ่งแยกประชาชน, บีบีซีไทย,หนังสือพิมพ์ออนไลน์, วันที่ 2 เมษายน 2562, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47782717

2 ธงชัย วินิจกุล, คนไทย คนอื่น, (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2560), หน้า 17. 

3 นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม [ออนไลน์ล],  ปาฐกถาในการประชุมวิชาการ  ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2551, แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2008/12/19495, (25 กรกฎาคม 2561).

4 สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง, ใน ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (เชียงใหม่, 2550), หน้า 42.

5 สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง, ใน ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (เชียงใหม่, 2550), หน้า 42 – 43.

6 สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง, ใน ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (เชียงใหม่, 2550), หน้า 42 – 43.

7 สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง, ใน ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (เชียงใหม่, 2550), หน้า 58- 63.

8 สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง, ใน ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (เชียงใหม่, 2550), หน้า 64.

 

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม