เลือกตั้ง 62: คู่มือสังเกตการณ์เลือกตั้ง ฉบับง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

ถึงเวลาเลือกตั้งกันเสียทีหลังห่างหายไปนาน 8 ปี และกว่าจะได้วันเลือกตั้งมาก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลื่อนแล้วเลื่อนอีกตั้ง 6 ครั้ง ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นแต่ความตื่นตัว ทุกคนต่างห่วงแหนสิทธิของตัวเอง ด้วยความหวังว่า การเลือกต้ังจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ให้ออกจากวังวนเดิมๆ 

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาต่างก็เกิดความสับสนอลหม่าน แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น การแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ซึ่งอาจทำให้เป็นบัตรเสียได้ การติดประกาศรายชื่อผู้สมัครผิด หรือการจัดการไม่ดีทำให้ผู้มาใช้สิทธิต้องต่อคิวรอนาน ยังไม่นับรวมอุปสรรคในการหาเสียงและข้อสงสัยการโกงเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งอีกมากมาย ซึ่งไอลอว์รวบรวมไว้จากการที่ทุกคนช่วยกันจับตา และจากที่สื่อต่างๆ ช่วยกันรายงาน 

วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เราในฐานะผู้มีสิทธิเลือกต้ัง นอกจากรักษาสิทธิของตัวเองด้วยการไปลงคะแนนเสียงแล้ว ยังสามารถมีส่วนช่วยพัฒนาให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีคุณภาพมากขึ้นได้ โดยการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เมื่อลงคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจจะอยู่เฝ้าหน่วยเลือกตั้งต่ออีกสักหน่อย หรืออยู่รอดูการนับคะแนนตอนเย็นด้วยก็ยิ่งดี ไอลอว์เตรียมคู่มือสังเกตการณ์เลือกตั้งฉบับง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ มาไว้ให้แล้ว 

1. เตรียมพร้อมความรู้ กฎ และกติกา อ่านกฎหมายเลือกตั้งก่อนไป 

ก่อนไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง เราควรเตรียมความพร้อมด้วยการทำความเข้าใจกฎ กติกา ของการเลือกตั้งเสียก่อน ตัวบทกฎหมายสำคัญที่ควรอ่านเพื่อใช้อ้างอิงมีอย่างน้อย 2 ฉบับ 1) พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะบอกหลักการกว้างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ และมีโทษอย่างไร เช่น ถ้าเราพบเห็นการซื้อสิทธิขายเสียงก็ให้ไปดูมาตรา 73 ว่า เข้าข่ายหรือไม่ ถ้าพบการโกงเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ให้ไปดูมาตรา 94-101 เป็นต้น 2) ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งบอกรายละเอียดในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น ข้อ 187 บอกว่า คนที่ไปแสดงตนเพื่อใช้สิทธิให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาไว้เป็นหลักฐาน โดยเราอาจจะพิมพ์กฎหมายแล้วพกไปหรือถ่ายภาพมาตราสำคัญๆ เก็บไว้ดูเปิดดูบนโทรศัพท์มือถือก็ได้

ตัวบทกฎหมาย ก็มีเพียงให้ติดตัวไว้อุ่นใจในยามสงสัยเท่านั้น ถ้าหากใครเข้าใจระบบเลือกตั้งพอสมควรแล้ว เช่น ระบบการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีความหมายหลายอย่าง หรือ ระบบที่ผู้สมัครแต่ละเขตจะได้หมายเลขไม่ซ้ำกัน ก็สามารถเดินหน้าสังเกตการณ์ได้เลย ไม่จำเป็นต้องท่องจำเลขมาตราทั้งหลายให้ได้ก็สามารถสังเกตการณ์ได้

2. เฝ้าดูนอกหน่วย เห็นสิ่งน่าสงสัย ถ่ายภาพ/วิดีโอ เผยแพร่ผ่านโซเชี่ยล

ประชาชนทั่วไปสามารถยืนสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนนได้ด้านนอก ‘สถานที่เลือกตั้ง’ บริเวณป้ายปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง และป้ายบอกที่เลือกตั้งได้ แต่จะเข้าไปสังเกตการณ์ด้านใน “ที่เลือกตั้ง” คือ รอบบริเวณตั้งแต่ที่ลงลายมือชื่อรับบัตรเลือกตั้ง และคูหาที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้  

ถ้าใครพบเห็นความไม่ปกติในการจัดการเลือกตั้ง หรือการกระทำที่สงสัยว่าอาจเข้าข่ายการทุจริตการเลือกตั้งและการโกงการเลือกตั้ง อาจบันทึกไว้ด้วยการถ่ายรูป หรือถ่ายคลิป หรือจดบันทึกไว้ก็ได้ สำหรับคนที่พร้อมช่วยกันเปิดเผยก็สามารถโพสต์ข้อความลงในสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม พร้อมตั้งค่าให้เป็นโพสต์สาธารณะได้เลย เพื่อไม่เป็นการใส่ร้ายใครให้ละเมิดสิทธิของเขา ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง อาจโพสต์ข้อความในเชิงการตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นเป็นความผิดหรือไม่ หรือตั้งข้อสังเกตต่อการกระทำนั้นพร้อมอธิบายรายละเอียดการกระทำที่พบเห็นเฉพาะส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง โดยอย่าเพิ่งรีบตัดสิน 

หากใครยังไม่อยากเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์ ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ถ่ายภาพหลักฐานเก็บไว้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยส่งข้อมูลต่อ โดยไม่เปิดเผยตัวตนตามข้อ 6.

ข้อควรระวัง คือ เราสามารถถ่ายภาพหรือวิดีโอได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพหรือวิดิโอการออกเสียงลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิคนอื่น เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเขา และห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว 

ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง และระเบียบ กกต. ไม่มีข้อห้ามการถ่ายภาพบริเวณสถานที่เลือกตั้ง และไม่ได้ห้ามถ่ายภาพการนับคะแนน หากมีเจ้าหน้าที่คนใดเข้าใจผิด หรือมีความไม่มั่นใจว่า สามารถ่ายภาพได้หรือไม่ ก็เพียงชี้แจงกับเจ้าหน้าที่อย่างสุภาพว่า ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไว้

3. ช่วยกันจับตาความไม่ปกติ  การทุจริต การโกงการเลือกตั้ง 

สิ่งที่ควรจับตาในการสังเกตการณ์มีตั้งแต่เรื่องการจัดการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ จนถึงการทุจริตการโกงการเลือกตั้ง การกระทำที่เอาเปรียบของพรรคการเมืองอื่น โดยทางไอลอว์แนะนำสิ่งที่ควรสังเกตเป็นข้อๆ ไว้ ดังนี้

1. สภาพการจราจรบริเวณหน่วยเลือกตั้ง มีความสะดวกสำหรับประชาชนหรือไม่  

2. ความแออัดภายในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิหรือไม่

3. ข้อมูลผู้สมัครของพรรคการเมืองในเอกสารของหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ แนะนำผู้สมัครถูกต้องหรือไม่ และยังมีรายชื่อผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิไปแล้วหรือไม่ เช่น รายชื่อของผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ

4. เนื่องจากบัตรเลือกตั้งรอบนี้แต่ละเขตใช้ต่างกันจึงมีบัตร 350 แบบ ควรสังเกตดูว่า บัตรเลือกตั้งที่ประชาชนได้รับมาตรงกับเขตที่อยู่ตามทะเบียนที่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

5. มีการแจกจ่ายเงินบริเวณใกล้เคียงหน่วยเลือกตั้งหรือไม่

6. มีคนเดิมที่เดินวนมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า 1 ครั้งหรือไม่

7. มีการใช้เครื่องขยายเสียงหาเสียงบริเวณเขตเลือกตั้ง หรือมีคนมาชี้นำให้กาผู้สมัครพรรคใดพรรคหนึ่งบริเวณเขตเลือกตั้งหรือไม่

8. อื่นๆ กรณีมีเหตุไม่คาดฝัน เช่น การฉีกบัตร การกระทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้งทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ที่ผ่านมา การออกเสียงนอกราชอาณาจักรมีปัญหาในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคูหาเลือกตั้งที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้สิทธิทำให้ต้องต่อแถวรอคิวนาน หรือ กรณีเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครสร้างความสับสน เพราะชื่อพรรคและผู้สมัครไม่อยู่ด้วยกัน ส่วนผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ ก็มีกรณีเอกสารตกหล่นมาถึงล้าช้า หรือ ส่งเอกสารบัตรเลือกตั้งไปแล้วแต่ถูกตีกลับ เพราะหาที่อยู่ผู้รับไม่พบ เป็นต้น

4. เฝ้าดูการการนับคะแนน จับตาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า

หลังจากเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งปิดการออกเสียงลงคะแนน และจัดการกับบัตรเลือกตั้งที่เหลือเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเปิดหีบเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง แล้วดำเนินการนับคะแนน

กกต. ประจำหน่วยจะขานว่า บัตรใดเป็นบัตรดี บัตรเสีย หรือ ไม่เลือกผู้สมัครใด โดยจะชูบัตรเลือกตั้งแต่ละใบเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เลือกตั้งได้เห็นด้วย ในระหว่างการนับคะแนนนี้ ถ้าเห็นว่า มีการนับคะแนนไม่ถูกต้อง สามารถทักท้วงและให้กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งบันทึกไว้เป็นหลักฐานได้  หรือหากได้ยินว่า เป็นบัตรเสีย แล้วมองเห็นไม่ชัดก็สามารถขอให้ กกต. ชูบัตรขึ้นเพื่อให้เราเดินเข้าไปดูชัดๆ ได้ ซึ่งเมื่อ กกต. นับคะแนนเสร็จแล้วและขึ้นคะแนนไว้บนป้ายปิดประกาศ เราสามารถถ่ายรูปผลการนับคะแนนของแต่ละหน่วยเก็บไว้ได้

บัตรเลือกตั้ง จากการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะถูกนำส่งมาทางไปรษณีย์กระจายไปยังหน่วยเลือกตั้งกลางตามเขตที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามบัตรเลือกตั้งนั้นๆ ไว้ก่อนแล้วเพื่อรอนับคะแนนพร้อมคนที่มาลงคะแนนในวันเลือกตั้งจริง ซึ่งหากมีบัตรเสียในบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า หรือนอกราชอาณาจักร อยากให้ช่วยกันดูว่า บัตรเสียนั้นเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่แจกบัตรเลือกตั้งผิดเขตหรือไม่ หากเป็นบัตรเสียที่เกิดจากเจ้าหน้าที่แจกบัตรผิดเขต ควรถ่ายรูปและจดบันทึกสถิติไว้ เพื่อให้ได้จำนวนบัตรเสียจากกรณีดังกล่าวเพื่อประเมินความเสียหายจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของ กกต.

5. ทักท้วงและให้ กกต. ประจำหน่วยบันทึกไว้เป็นหลักฐาน 

ถ้าเราพบเห็นความไม่ปกติ การทุจริต การโกงการเลือกตั้ง หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือระเบียบ กกต. ในระหว่างการออกเสียงลงคะแนนหรือระหว่างการนับคะแนน เราในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงผู้แทนพรรคการเมืองหรือผู้แทนองค์กรซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ในที่หน่วยเลือกตั้งนั้น สามารถทักท้วงโดยยื่นหรือขอคำทักท้วงที่ชื่อว่า “แบบทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการนับคะแนน” หรือ ส.ส. 5/10  จากเจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้ง และให้ กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบและวินิจฉัยชี้ขาดได้ 

โดย กกต. ประจำหน่วยจะบันทึกคำทักท้วงและคำวินิฉัยลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส. 5/6) และให้ผู้ทักท้วงและ กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามคนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานไม่น้อยกว่าสองคน

6. ส่งข้อมูลได้ห้าช่องทางทั้งองค์กรรัฐและเอกชน ให้ช่วยขยายผล

หากใครพบเห็นความผิดปกติในการจัดการเลือกตั้ง หรือ การทุจริตเลือกตั้งและการเอาเปรียบคู่แข่งมีทางเลือกในการแจ้งข้อมูลห้าช่องทาง ดังนี้

1) แจ้งมาทางเฟซบุ๊กเพจไอลอว์ หรือทางทวิตเตอร์ @ iLaw club 

2) แจ้งไปที่เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง (We Watch) ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอ ที่มีประสบการณ์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายประเทศ และทำงานเพื่อสร้างอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ทางเว็บไซต์ ได้ที่ https://wewatchthailand.org/report_election_problem หรือทางไลน์ ที่ @we-watch

3) สามารถแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้เลย คือ กกต. โดยมีสายด่วนเลือกตั้ง โทร. 1171 กด 1 หรือทางเว็บไซต์ www.ect.go.th/ect_th/report_corruption.php หรือใช้แอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด

4) หากใครพร้อมจะเปิดเผยเรื่องราวที่พบเห็น สามารถโพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดียของตัวเองได้และใส่ #จับตาเลือกตั้ง62 #FFFE และ #สารวัตรเลือกตั้ง ไว้ด้วย เพื่อให้ค้นคว้าได้ร่วมกันว่า มีเหตุการอะไรเกิดขึ้นบ้าง

5) หากมีเหตุคนพิการถูกเลือกปฏิบัติในการเลือกตั้ง แจ้งข้อมูลไปได้ที่เพจ ThisAble.me หรือทางอีเมล [email protected]