เลือกตั้ง 62: Vote No ที่จ.แพร่ มีความหมาย รัฐธรรมนูญรับรองไว้

“ส.ส. ที่ตั้งใจจะไปเลือก ก็ไปอยู่พรรคที่ถูกยุบ ส.ส.พรรคอื่น ก็ไม่รู้จัก ไม่อยากจะเลือก”  

หลังจากเกิดเหตุการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ประชาชนจำนวนมากที่ตั้งใจจะสนับสนุนพรรคนี้อาจจะเกิดความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกขึ้นมาในใจ แต่ก็มีคนเสนอทางออกให้ไปเลือกพรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” พรรคอื่นที่อยู่ข้างเดียวกับไทยรักษาชาติ แต่ทางออกนี้ยังไม่ใช่สำหรับชาวจังหวัดแพร่ ที่เริ่มรณรงค์ชักชวนกันให้กาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ Vote No เพื่อให้จังหวัดแพร่มีการเลือกตั้งใหม่ทั้ง 2 เขต 

จังหวัดแพร่มีเงื่อนไขพิเศษ อดีต ผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 คน เคยได้คะแนนถล่มทลาย

 “จังหวัดแพร่มีเงื่อนไขพิเศษ อาจจะทำให้การกาช่องไม่เลือกใครทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ได้”

มาจากทวีตของ จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งของอดีตพรรคไทยรักษาชาติ

เงื่อนไขพิเศษ” ที่จาตุรนต์หมายถึง คือ จังหวัดแพร่เป็นพื้นที่ของพรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน และเพื่อไทย ที่สามารถชนะการเลือกตั้งโดยคะแนนมากกว่าอันดับ 2 คือ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปปัตย์อย่างน้อย 2 เท่า มาโดยตลอด เรียกได้ว่า เป็นจังหวัดที่ฐานเสียงเหนียวแน่น ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคไทยรักษาชาติ ทั้ง 2 เขตในรอบนี้ ก็เป็นอดีต ส.ส. ที่เคยได้รับคะแนนเสียงชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอยหลายสมัย ทั้ง ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. แพร่ เขต 1 และวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส. แพร่ เขต 2 ทั้งสองคนมีประสบการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ ดังนี้

ทศพร เสรีรักษ์ หรือที่คนแพร่คุ้นหูกันในชื่อ “หมอทศ” เริ่มเป็น ส.ส. จังหวัดแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2539 ในสังกัดพรรคชาติไทย และหลังจากนั้นก็ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนขาดลอยและย้ายไปอยู่กับพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และ 2548 จนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และพรรคไทยรักไทยถูกสั่งยุบพรรคเมื่อปี 2550 จากนั้นหมอทศจึงได้ส่งภรรยา คือ ปานหทัย เสรีรักษ์ ลงรับสมัครเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกเป็น ส.ส. โดยได้รับคะแนนเสียงมากกว่าอันดับ 2 ที่มาจากพรรคประชาธิปปัตย์ถึง 2 เท่า และปานหทัยก็ได้เป็น ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2554 อีกครั้ง ภายใต้พรรคเพื่อไทยด้วย จนกระทั่ง ทศพร พ้นกำหนดโทษตัดสิทธิทางการเมืองกลับมาเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 และการเลือกตั้งปี 2562 ก็ไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลงรับสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดแพร่ เขต 1 ก่อนพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ 

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นน้องสะใภ้ของ ทศพร เสรีรักษ์ เริ่มเป็น ส.ส. จังหวัดแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2539 ในสังกัดพรรคชาติไทย และหลังจากนั้นก็ชนะเลือกตั้งโดยคะแนนขาดลอยและเป็น ส.ส.พรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และ 2548 จนกระทั่งพรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 จึงย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2550 อีกทั้งยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และปี 2554 ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการเลือกตั้งปี 2562 ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง จังหวัดแพร่ เขต 2 พรรคไทยรักษาชาติ จนกระทั่งพรรคไทยไทยรักษาชาติถูกยุบ

เรียกได้ว่า ทั้งสองคนเป็น “เจ้าของพื้นที่” จังหวัดแพร่ตัวจริงมาหลายสมัยและเป็นเต็งหนึ่งที่พรรคไทยรักษาชาติหวังเก็บที่นั่ง ส.ส. ให้ได้จากจังหวัดนี้ 

ไทยรักษาชาติไม่อยู่แล้ว ตัวเลือกอื่นไม่น่าไว้วางใจ 

พื้นที่จังหวัดแพร่ ในปี 2562 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น จำนวน 374,725 คน จากเดิมมีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 3 เขต มาโดยตลอด โดยทศพร เสรีรักษ์ เป็น ส.ส. แพร่ เขต 1 และวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จะเป็น ส.ส.แพร่ เขต 3 โดยคะแนนเลือกตั้งทั้งสองคนเคยได้รับคะแนนเสียง 60,000-70,000 คะแนน มาโดยตลอด โดยอันดับที่ 2 จะได้คะแนนประมาณ 20,000-30,000 คะแนน ซึ่งในครั้งนี้เขตเลือกตั้งถูกลดไป 2 เขต ทศพร ก็มั่นใจว่าทั้ง 2 เขตจะได้คะแนนอย่างน้อย 100,000 คะแนน  

วรวัจน์ เคยสัมภาษณ์กับ Spring news ว่า “เนื่องจากที่แพร่มีผู้สมัครเป็นตัวเต็งทั้ง 2 เขต จึงทำให้พรรคอื่นๆ ส่งเพียงตัวสำรองลงสมัครเท่านั้น เพื่อให้ไม่เปลืองกำลังหลัก” 

ด้านพรรคเพื่อไทยเมื่อเห็นว่า พรรคไทยรักษาชาติส่งเจ้าของพื้นที่ลงในเขตนี้แล้วก็ “ถอยให้” ไม่ส่งใครลงสมัครในจังหวัดแพร่เลย ถึงแม้จะมี พรรคเพื่อชาติ ที่เป็นเครือข่ายเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติและเพื่อไทย แต่ผู้สมัครทั้ง 2 เขต คือ ธนกฤต ตุ้ยดี ผู้สมัคร เขต 1 และ ทักษิณ ฝากมิตร ผู้สมัครเขต 2 ก็ไม่เป็นที่รู้จัก และลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วย 

ด้านผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในเขต 1 และ เขต 2 ของจังหวัดแพร่ คือ ธนินจิตรา ศุภศิริ ผู้สมัค เขต 1 และ คณาธิป มุดเจริญ เขต 2 ซึ่งที่พอจะมีชื่อเสียง ก็มีเพียงธนินจิตราเนื่องจากเป็นพี่สะใภ้ของ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย 

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ส่ง เอกการ ซื่อทรงธรรม ผู้สมัคร ส.ส. เขต1 และกฤติดนัย สันแก้ว ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 ก็เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ คนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นฐานเสียงไทยรักษาชาติยังไม่ให้ความไว้วางใจ แต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่จังหวัดแพร่ ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง คัดค้านการกล่าวโทษและสาดโคลนน้ำเน่าของบุคคลที่นิยมการเมืองน้ำเน่า เพื่อแสดงว่าผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ ทั้ง 2 เขต ได้ผ่านการคัดเลือกตามระบบของพรรค และมีคุณภาพพอที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดแพร่ 

และในบรรดาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตในจังหวัดนี้อีก 51 คนที่เหลือ มีคนที่เคยลงสมัคร ส.ส. เมื่อปี 2554 คือ เช่น เนาวรัตน์ คณะนัย ลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนไปทั้งหมด 3,545 คะแนน ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ แทบจะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกทั้งสิ้น

ดังนั้น สำหรับคนแพร่ที่ตั้งใจจะเลือกพรรคไทยรักษาชาติอยู่แล้ว เมื่อพรรคถูกยุบจึงเรียกได้ว่า ไม่มีตัวเลือกที่อยากจะเลือกหลงเหลืออยู่ 

รณรงค์โหวตโนในจังหวัดแพร่ ไม่อยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้

ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ หนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์โหวตโน ในจังหวัดแพร่ ให้สัมภาษณ์ว่า ในความคิดของชาวบ้านที่ร่วมกันไปให้กำลังใจวรวัจน์ และตัดสินใจจะโหวตโนกันนั้น เนื่องจากมีความเห็นอกเห็นใจ และต้องการให้กำลังใจแก่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ อดีต ส.ส.ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในจังหวัดแพร่ ทั้งยังเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบประชาชนกลุ่มนี้ก็เกิดความรู้สึกเคว้ง ไม่รู้จะไปเลือกใคร เนื่องจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในจังหวัดแพร่นั้นผู้สมัครคนอื่นๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักเพียงพอ ซึ่งกลุ่มคะแนนอาจจะกระจายกันออกไปจนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยแพ้เลือกตั้ง ในจังหวัดแพร่ก็ยังมีพรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงอยู่ เมื่อไม่รู้จะเทคะแนนให้กับใครก็เลยหาข้อตกลงกันเพื่อโหวตโน ไม่เลือกใคร เพื่อให้เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ให้ได้จัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้อดีตผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 คน ลงรับสมัครได้ และจะได้เปลี่ยนตัวผู้สมัครพรรคอื่นๆ ให้ประชาชนในจังหวัดมีทางเลือกมากขึ้น 

หากคนโหวตโนมากกว่าผู้ชนะการเลือกตั้ง ต้องจัดเลือกตั้งใหม่

ในมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ว่า “เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และมิให้นับคะแนนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคํานวณตามมาตรา ๙๑ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น”  

ความหมายของมาตรานี้ คือ ในเขตเลือกตั้งใดที่คนลงคะแนนในช่องไม่เลือกผู้สมัครใด มากกว่าคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้น ให้ในเขตนั้นจัดการเลือกตั้งใหม่ และไม่ให้นับคะแนนในเขตนั้นเข้าไปรวมในแบบบัญชีรายชื่อด้วย โดยผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเดิมในเขตนั้นทุกคนที่แพ้โหวตโน ไม่มีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งซ้ำอีก 

เช่น ในจังหวัด ก. เขต 1 หากคนลงคะแนนในช่องไม่เลือกผู้ใด 60,000 คะแนน แล้วผู้สมัครที่ได้รับคะแนนอันดับ 1 ได้คะแนน 20,000 คะแนน จะเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 92 ทันที จังหวัด ก. เขต 1 ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด โดยห้ามผู้สมัครเดิมจากทุกพรรคลงสมัคร เนื่องจากถือว่า ประชาชนในเขตนั้นไม่ไว้วางใจจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ผู้สมัครไทยรักษาชาติ อาจลงสมัครใหม่ได้หากสักกัดพรรคใหม่ครบ 90 วัน

หากผลคะแนนในจังหวัดแพร่ออกมาว่า ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่เลือกผู้สมัครใดสูงที่สุด จนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้ง เขต 1 และ เขต 2 อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ ทั้ง 2 คน อาจจะลงรับสมัครรับเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากถือว่า ไม่ได้เป็นผู้ผ่านการรับเลือกตั้งในวันจริงมาก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งให้ครบ 90 วันนับถึงวันเลือกตั้งใหม่ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 97(3) กำหนดไว้