เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ

7 มีนาคม 2562 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีที่พรรคไทยรักษาชาติยื่น “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2)

การยุบพรรค

เวลา 14.50 น. เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายขั้นตอนให้แก่คู่ความที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีฟังว่า ให้แสดงความเคารพเมื่อศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ ขอให้ทำให้ธุระส่วนตัวให้เสร็จก่อนศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เนื่องจากระหว่างที่ศาลอ่านคำพิพากษาไม่อนุญาตให้ผู้ที่นั่งฟังอยู่ในห้องพิจารณาลุกออกไปด้านนอก และขออยู่ในความเรียบร้อยอย่าแสดงอาการที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ซึ่งอาจเป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลได้

เวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นนั่งบัฝอลลังก์เจ้าหน้าที่กล่าวรายงานต่อองค์คณะฯว่า “นำเรียนการรายงานมาศาลของคู่ความ ฝ่ายผู้ร้องมี พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา นายทะเบียนพรรคการเมืองมาศาล ฝ่ายผู้ถูกร้องมีร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติมาศาล ทุกฝ่ายพร้อมฟังคำวินิจฉัย

นุรักษ์ มาประณีต ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า วันนี้ศาลแถลงด้วยวาจา โดยองค์คณะฯได้ปรึกษา หารือและลงมติกันแล้ว ตุลาการทุกท่านมาประชุมทุกคน และเนื่องจากคำวินิจฉัยอาจจะยาว อนุญาตให้คู่ความนั่งฟังได้ มีคำร้องที่ยื่นต่อศาล ศาลได้แยกกลุ่มคำร้องและมีคำสั่งต่อไปนี้

๐ กรณีคำร้องของรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทนายเสือธนพล สุขปาน ธนพล บุญมาลี พงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณกับพวก มิ่งขวัญ พุกเปี่ยม บุญวัฒน์ เขียววิจิตร และวัฒนชัย สืบศิริบุษย์ ร้องสอดขอเป็นคู่ความ ผู้ยืนคำร้องไม่ใช่คู่กรณี กรณีนี้คู่กรณีคือ กกต. ผู้ร้องและพรรคไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง  พิจารณายังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะรับเป็นคู่กรณี ยกคำร้อง

๐ กรณีคำร้องของพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักชาติ ขอคัดถ่ายเอกสารสำนวนคดีประกอบการจัดทำคำชี้แจง ต่อมาได้มีการยื่นคำชี้แจงต่อศาลแล้ว ยกคำร้อง

๐ กรณีเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ ชัช ชลวร ขอให้ส่งองค์กรวินิจฉัยการพ้นตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอระงับกระบวนการพิจารณาไว้ก่อนและจำหน่ายคดีชั่วคราว พิจารณาแล้วเนื่องจากเรืองไกรไม่ได้เป็นคู่กรณี จึงคัดค้านไม่ได้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 ยกคำร้อง

๐ กรณีคำร้อง พฤฒิชัย วิริยะโรจน์ขอศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารขอเพิ่มเติม พยานเอกสารและคำชี้แจงเพิ่มเติม พิจารณาแล้วเห็นว่า คู่กรณีได้แก่ กกต. ผู้ร้อง ไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง ศาลสั่งไม่อนุญาตให้เป็นพุฒิชัยเป็นคู่กรณี ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารได้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60

๐ กรณีเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยความชอบของมติของผู้ร้อง ศาลไม่อนุญาตร้องสอดเป็นคู่กรณี การยื่นคำร้องทั่วไปในคดีนี้จึงไม่อาจกระทำได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง

คำวินิจฉัยได้มอบหมายให้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อ่านคำวินิจฉัยดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นแห่งคดีที่กกต.ได้ร้องของยุบพรรคไทยรักษาชาติ 3 ประเด็นดังนี้

1.    มีเหตุให้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติว่าด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่

2.    คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่

3.     ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการพรรคไทยรักษาชาติและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบปี ตามพ.ร.ป. มาตรา 94 วรรคสอง

ประเด็นที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งสยาม 2475 และหมวด 1 พระมหากษัตริย์มาตรา 11 กำหนดว่า พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2475 ถึงพระยามโปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎร ระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นชอบด้วยทุกประการ

สาระสำคัญที่เป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ว่า กล่าวโดยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ เหนือความที่จะถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงอันจะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่น ในเมื่อเวลาทำการรณรงค์ อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อย สมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย

ส่วนในทางที่เจ้านายจะช่วยทำนุบำรุงประเทศบ้านเมืองก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและในตำแหน่งอันเกี่ยวกับวิชาชีพเป็นพิเศษอยู่แล้ว หลักการพื้นฐานดังกล่าวถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบปกครองของไทย ไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มแรก อันเป็นฉันทามติที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรได้ให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้ามีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมืองอันอาจจะนำมาซึ่ง การโจมตี ติเตียนและกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎร ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถึงแม้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม 2475 ทั้งฉบับอันนำมาสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2489 ซึ่งได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ในการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยฐานะของสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องถูกลบล้างไปไม่

ดังปรากฎเป็นที่ประจักษ์ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้เลขาธิการพระราชวังมีหน้าที่แจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีบุคคลใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่ายหรือได้รับการยกเว้นมิต้องไปแจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2450 มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามคติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ ทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด หากกำหนดให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันกับหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 71 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี  รัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 22 และมาตรา 23

หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามนัยของวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญข้างต้นสอดคล้องกับหลักการที่ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง อันเป็นหลักการทางรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน

การปกครองในระบอบธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมีความแตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรงในการใช้อำนาจทางการเมือง ดังปรากฎในระบบราชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์ หรือการปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นทรงประมุขของรัฐและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง โดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งหน้าฝ่ายบริหาร ดังเช่นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศในปัจจุบัน

ดังนั้นการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในนามของพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการณ์อันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครองต้องถูกเซาะกร่อนทำลาย ให้เสื่อมทราม ไปโดยปริยาย

อนึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่งคือ มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนฐานของความรู้รักสามัคคี ปรองดองภายใต้กฎเกฑณ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และลักษณะสังคมไทย อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจน และกว้างขว้าง ความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของชนชาวไทย ปรากฎชัดในข้อเท็จจริงที่ว่า ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม2562 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวนมากกว่า 10,000 คน มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวนทั้งสิ้น 77 พรรคการเมือง และมีพรรคการเมืองที่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวนทั้งสิ้น 44 พรรคการเมือง

แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น ย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน ทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไป

ด้วยเหตุฉะนี้ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาอารยะประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลและพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ ดังนั้นแม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายบัญญัติไว้ด้วยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ของพรรคการเมืองย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า การกระทำนั้นจะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่าและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเองเพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณว่า พระองค์จักทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นประมุขทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นศูนย์รวมของจิตใจของชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกชนชั้น วรรณะ เพศ และวัย ทรงเคารพรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโบราณราชประเพณี และทรงอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง

ทั้งยังทรงต้องระมัดระวังมิให้สถาบันกษัตริย์ของไทยต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่ง หรือฝักฝ่ายทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด เพราะอาจถูกกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยย่อมสูญเสียไป เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์ และปกป้องสถาบันให้อยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้การเป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยจะต้องเสื่อมโทรมลง หรือถึงกับสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่

สำหรับประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับจากการกระทำหรือพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญนั้น ถึงแม้จะไม่มีนิยามศัพท์เป็นการเฉพาะแต่ก็พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่า มีองค์ประกอบ 4 ประการ ตามเนื้อความที่ปรากฏในชื่อเรียกนั้นเอง กล่าวคือ

1. หมายถึงประเพณีการปกครอง ที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานจนเป็นประเพณีที่ดีงามทางการเมืองการปกครอง มิใช่ในประเพณีในกิจการด้านอื่น

2. ต้องเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยที่ยอมรับนับถือกันว่าดีงามในประเทศไทย อันควรแก่การถนอมรักษาและสืบสานให้มั่นคงต่อไป มิใช่ประเพณีการปกครองของประเทศอื่น ลัทธิอื่น หรืออุดมการณ์อื่น

3. ประเพณีการปกครองประเทศไทยดังกล่าว หมายถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในวาระสมัยที่ประเทศมีการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

และ 4. ประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยนั้น หมายถึง ระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรืออุดมการณ์อื่น ตัวอย่างที่ชัดแจ้งขององค์ประกอบข้อนี้ได้แก่ ประเพณีการปกครองโดยธรรมที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องใช้ ทรงใช้พระราชอำนาจโดยธรรมและทรงดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมเพื่อให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการจำเป็นที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่องเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ไทยต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยฝักฝ่ายทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถึงสถานะที่ต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะก็ต้องนำประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคสอง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

1. กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสองมาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 42 หรือมาตรา 44

4. มีเหตุอันควรยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด

พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองประเทศ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีส่วนกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ทั้งนี้โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเหมือนมันสมองในระบบจิตใจ เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจตัดสินและกระทำการใดๆ แทนพรรคการเมือง ดังนั้นผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจและการกระทำของพรรคการเมืองที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนของประเทศชาติและระบอบการปกครองของประเทศ

ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เป็นการล้มล้าง หรือเป็นเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้นรวมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นย่อมจะต้องถูกลงโทษทางการเมืองตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) แล้วแต่กรณี จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็นความเชื่อของตน มาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นไม่ได้

ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า ล้มล้าง และ ปฏิปักษ์ ไว้แต่ทั้ง 2 คำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองว่า ล้มล้าง หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่หรือมีอยู่ต่อไป ส่วนคำว่า ปฏิปักษ์ นั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชํารุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลงก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจริงเสียก่อนไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายไปจนเป็นมหันตภัยที่มิอาจต้านทานได้ในวาระต่อไป

อนึ่งบทบัญญัติในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ที่ว่าอาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ในทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขทางภววิสัย กล่าวคือ ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำว่าจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์และการกระทำนั้นๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนหรือคนทั่วๆ ไป จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ที่ว่า “น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง” นั้น ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานมั่นคงไว้ว่า การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่น จนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนโดยทั่วไปเป็นเกณฑ์ คำพิพากษาฎีกาที่ 3167/2545 และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ต้องถือเอาความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ที่ได้เห็นได้ฟัง คือไม่เกี่ยวกับเจตนาหรือความรู้สึกของผู้กระทำเอง ส่วนผลของการใส่ความผู้อื่น จะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยได้เอง ไม่จำต้องอาศัยคำเบิดความของพยาน คำพิพากษาฎีกาที่ 2371/2522

เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำไปโดยรู้สำนึกและโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังคงดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง

ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนคนไทยทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผลเหมือนเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในทางการเมืองอันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง

ระบบการปกครองในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนมาถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบการปกครองที่ว่านี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวไทยมาโดยตลอดเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนไว้ อันสังเกตได้จากภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับมีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์และบทที่เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะและละเมิดมิได้

ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อันเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง

มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องแล้วจะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำให้ได้สัดส่วนกับโทษที่จะได้รับซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล

เมื่อพิจารณาลักษณะการกระทำของผู้ถูกร้องดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำผู้ถูกร้องเป็นการกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีก ทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองของประเทศชาติ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ได้น้อมรับพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีภายหลังที่รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ซึ่งจะสอดคล้องระยะเวลาตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคสอง ที่ห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ถูกร้องที่จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ไม่ได้ ดังนั้นจึงให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิด มีกำหนดเวลา 10 ปี  นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง

 

ประเด็นที่ 3 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้วในนายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อย่อหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองซ้ำหรือพ้องกับชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น

 

และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการพรรคการเมืองมีส่วนร่วม หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีก ทั้งนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว บัญญัติว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งบริหารพรรคผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 8 อันเป็นวันที่กระทำยุบพรรคผู้ร้องไปจดทะเบียนขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  มาตรา 94

อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคสอง

สรุปได้ว่า ในประเด็นที่หนึ่ง ศาลมีมติเอกฉันท์  ในประเด็นที่สอง ศาลมีมติหกต่อสาม และประเด็นที่สาม มีมติเอกฉันท์
 

You May Also Like
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน