พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย: ส่งผู้สมัคร ส.ส. แค่สี่เขต ยืนยันนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

“พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย” อาจชื่อไม่คุ้นหูนักแต่ไม่ใช้พรรคการเมืองใหม่ เพราะพรรคถูกเปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 โดยมีธนพร ศรียากูล อดีตนายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหัวหน้าพรรค พรรคคนธรรมดาฯ ถูกจัดตั้งท่ามการกระแสการชุมนุมเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของกลุ่ม กปปส. ซึ่งสวนทางกับ ธนพรกับเพื่อนๆ ที่ร่วมจัดตั้งพรรคที่เห็นว่าการปฏิรูปและการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพราะการปฏิรูปจะไม่มีทางสำเร็จได้เลยหากไม่มีการเลือกตั้ง

การเปิดตัวของพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2557 มาพร้อมกับนโยบายที่ก้าวหน้าและแตกต่าง เช่น แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ปฏิรูปกองทัพด้วยระบบกำลังสำรอง ซึ่งนโยบายเช่นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคการเมืองใดประสบความสำเร็จในการทำนโยบายเพื่อปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไปมาก อาจเป็นโอกาสทำให้พรรคคนธรรมดาประสบความสำเร็จ 
อย่างไรก็ตามพรรคคนธรรมดาก็ยังไม่มีโอกาสลงเลือกตั้ง เพราะเกิดการรัฐประหารปี 2557 โดย คสช. สำหรับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคคนธรรมดาฯ กลับมาอีกครั้ง พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามโดยเงื่อนไขของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กทำให้พรรคคนธรรมดาฯ ส่งผู้สมัคร ส.ส. ไม่มากนัก

นโยบายส่งเสริมเกษตรแบบยั่งยืน ประกันรายได้ให้เกษตรกรไม่ใช้สารเคมี

สำหรับนโยบายที่สำคัญของพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย ได้แก่ 

1) แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอกฎหมายโดยประชาชนให้ง่ายขึ้น รวมทั้งให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายในระดับกฎกระทรวงได้ 

2) ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้อย่างเสรี นอกจากนี้ก็จะจัดพื้นที่ส่งเสริมเสรีภาพการชุมนุม 

3) ปฏิรูปการปกครองให้ทุกจังหวัดมีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำเนินการให้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ
4) ส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยจะมีการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบยั่งยืนไม่ใช้สารเคมี 
5) ผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส เพื่อให้บุคคลทั้งต่างเพศและเพศเดียวกันสมรสกันได้โดยเสมอหน้าโดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน 
6) ให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO เพื่อรับรองให้ผู้ใช้แรงงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้อย่างเสรี และทำให้ผู้ประกอบอาชีพข้าราชการ และแรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้างได้ด้วย
สนับสนุนนายกฯ ที่เป็น ส.ส. จากพรรคที่ชนะเลือกตั้ง

div style=”text-align: justify;”>สำหรับจุดยืนทางการเมืองของพรรคคนธรรมดาฯ หลังการเลือกตั้ง คือยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง คือพรรคที่มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลเป็นอันดับแรก เพราะถือว่าได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีที่พรรคจะให้การสนับสนุนจะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสังกัดพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงจากประชาชนมากเป็นอันดับที่หนึ่ง พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทยจะไม่ให้การสนับสนุนบุคคลที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่งผู้สมัคร ส.ส. 6 คน หวัง ส.ส. 1 ที่นั่ง

สำหรับความคาดหวังการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ พรรคคนธรรมดาคาดหวังว่าจะได้รับ ส.ส. หนึ่งคน โดยพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตสี่คน ในสี่จังหวัดได้แก่ สุรินทร์ นราธิวาส ปราจีนบุรี และ อุดรธานี และส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสองคนได้แก่ ธนพร หัวหน้าพรรค และ สมชาย ศรีสัมพันธ์ รองหัวหน้าพรรค      

บัตรเลือกตั้งใบเดียวตัดโอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็ก

สำหรับข้อจำกัดและกติกาของการเลือกตั้งครั้งนี้ ธนพร หัวหน้าพรรค เห็นว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือการที่กำหนดให้การจดจัดตั้งพรรคต้องใช้ผู้ริเริ่มถึง 500 คน ทำให้กลุ่มคนชายขอบบางกลุ่มที่ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อนำเรื่องราวของตัวเองเข้าไปในสภาไม่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เพราะไม่สามารถรวบรวมคนได้ครบ 500 คน นอกจากนี้การเปลี่ยนการเลือกตั้งจากแบบใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เลือก ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อแยกกัน เป็นแบบใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือก ส.ส.เขตอย่างเดียวแล้วได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นของแถม ส่งผลให้ประชาชนมีตัวเลือกที่จำกัดและตัดโอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็กในการเลือกตั้ง