พรรคมหาชน: เพื่อความเท่าเทียมของ LGBTs และสิทธิผู้ให้บริการทางเพศ

พรรคมหาชน ไม่ใช่หน้าใหม่ในการเมืองไทย แต่เป็นพรรคที่จดทะเบียขึ้นตั้งแต่ปี 2541 ชื่อเดิมของพรรค คือ พรรคราษฎร และลงสนามการเลือกตั้งมาหลายรอบแล้ว ก่อนหน้านี้พรรคมหาชนเคยมีชื่อเสียงในยุคสมัยที่มีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นแกนนำ และมีดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรค
ในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคมหาชนได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง แต่หัวหน้าพรรค และพลตรี สนั่น ซึ่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาพลตรีสนั่น จึงพาลูกพรรคจำนวนหนึ่งออกไปอยู่กับพรรคชาติไทย และดร.เอนกเองก็ลาออกจากพรรค จนกระทั่งมาอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย และในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคมหาชนได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง จากระบบบัญชีรายชื่อ  คือ หัวหน้าพรรค อภิรัต ศิรินาวิน 
ชื่อของพรรคมหาชนห่างหากจากการเมืองไทยไปนาน และในการเลือกตั้ง 2562 พรรคมหาชนก็กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง โดย อภิรัต ศิรินาวิน ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค เป็นผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อเบอร์หนึ่ง และอยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่คราวนี้พรรคมหาชนมาในภาพลักษณ์ใหม่ ดึงเอาคนดังที่เป็น “เกย์-กะเทย-ทอม-ดี้” หรือกลุ่ม LGBTs เข้าร่วมงานกับพรรคเป็นจำนวนมาก พร้อมชูนโยบายเพื่อสิทธิของชาว LGBTs “จากไทยไม่เท่ากัน สู่ไทยที่เท่าเทียม”
ตัวอย่างคนดังที่เข้าร่วมกับพรรคมหาชน เช่น บิ๊บ-กิจจาณัฏฐ์ ชัยยศบูรณะ เจ้าของฉายา “ทอมพันล้าน” นักธุรกิจที่เปิดเฟซบุ๊กแจกเงินช่วยเหลือคนจน, เฟิสตี้ ชวธิดา คุปตะวาทิน กะเทยเน็ตไอดอล นางแบบ นักแสดง และ “พอลลีน งามพริ้ง” หรือ พาลินี งามพริ้ง transgender ชื่อเดิม คือ พินิจ อดีตแกนนำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ซึ่งเป็นกองเชียร์ฟุตบอลกลุ่มสำคัญของทีมชาติไทย ที่ต่อมาเปลี่ยนวิถีชีวิตมาใช้ชีวิตแบบผู้หญิง 

สร้างพรรคขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเฉพาะ

นาดา ไชยจิตต์ กะเทยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศ เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่สนั่นฝากไว้กับเลขาฯ คือ ขอให้รักษาพรรคมหาชนไว้ อย่าให้ล้มหายตายจากไป สักวันหนึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยจะได้มาใช้ประโยชน์ หลังการเลือกตั้งเป็นโมฆะในปี 2557 สถานการณ์ตอนนั้นก็ทำให้เห็นว่า การทำพรรคการเมืองต้องอาศัยกลุ่มทุนใหญ่ พรรคมหาชนก็หาแนวทางว่า จะไปทางไหนต่อ จึงคิดถึงที่สนั่นฝากไว้ คิดถึงคนที่มีตัวตนอยู่ในสังคมแต่ถูกมองข้าม แล้วก็คิดถึงกลุ่มคน LGBTs กลุ่มคนชนเผ่า และกลุ่มคนทำงานบริการทางเพศ (Sex workers) ก็เลยได้ติดต่อนาดาและเพื่อเข้ามาร่วมงานกัน 
นาดา ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานฝ่ายนโยบายของพรรคมหาชน กล่าวว่า ในสนามเลือกตั้งพรรคขนาดใหญ่พยายามทำงานนโยบายระดับมหภาค ให้กับทุกคนเท่ากัน แต่พรรคมหาชนเห็นว่า คนเราไม่เท่ากัน รัฐไม่สามารถปูพรมให้แบบเท่ากันหมดได้ เช่น สำหรับกลุ่ม LGBTs หรือ sex worker ซึ่งถูกรัฐใช้ชูโรงเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย นโยบายแบบมหภาคแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ แต่ต้องการพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มุ่งแก้ปัญหาตรงประเด็น
เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ถูกบีบบังคับโดยกฎระเบียบใหม่ๆ นาดาอุทานว่า “โอ้ยยย แทบอยากฆ่าตัวตาย” เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคต้องใช้เวลาอย่างมากไปกับการจัดการเอกสารที่ยุ่งยาก ต้องทำเอกสารส่ง กกต. เรื่องไพรมารี่โหวต เรื่องระบบฐานข้อมูลสมาชิก เอกสารที่ส่งให้ กกต. ก็มีปัญหาทางเทคนิคหลายอย่าง ทำให้ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล ทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งหมด และที่สำคัญ การเปลี่ยนค่าสมัคร ส.ส. จาก 5,000 บาท เป็น 10,000 บาท ทำให้พรรคขนาดเล็กเดือดร้อน ไม่เหลือเงินจากค่าสมัครใช้ผลิตสื่อ หรือจัดการพูดคุยกลุ่มย่อยได้มากกว่านี้ ถ้าต้นทุนในการจัดการต่ำกว่านี้พรรคก็จะมีโอกาสเข้าถึงประชาชนได้มากกว่านี้ 
“กฎระเบียบแบบนี้ ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า การเมืองที่จำเป็นต้องเปิดให้เราเข้าไปทำงานอาสาเพื่อประชาชน แต่ระบบกลับบีบให้ต้องใช้งบประมาณหมดเลย ลำพังเข้าไปแล้วได้เงินเดือน ส.ส. จะเพียงพอตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างไร?” นาดา กล่าว 

เป้าหมายในการเลือกตั้ง 2562 

นาดา ให้ข้อมูลว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคมหาชนส่งผู้สมัคร ส.ส. ในระบบแบ่งเขตไปกว่า 160 เขต และผู้สมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 11 คน ส่งรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี 3 คน คือ อภิรัต ศิรินาวิน หัวหน้าพรรค, พาลินี หรือ พอลลีน งามพริ้ง และสุปกิจ คชเสนี ในจำนวนนี้มีคนที่เปิดตัวต่อสาธารณะว่า เป็น LGBTs 11 คน
นาดา เล่าว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคมหาชนคาดหวังเสียงสนับสนุนประมาณ 900,000 เสียง ซึ่งน่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 10-11 ที่นั่ง และทางพรรคก็ส่งคนที่มีชื่อเสียงไปสมัคร ส.ส. ระบบแบ่งเขตในพื้นที่ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ เช่น ที่เขตคลองเตย ซึ่งมีซอยนานาอยู่ เป็นพื้นที่ของ Sex Workers และในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีชาว LGBTs อยู่กันเยอะ เช่น พัทยา เชียงใหม่ ซึ่งก็มีคนที่ทำงานกับคนกลุ่มเฉพาะและมีชื่อเสียงอยู่แล้วไปลงสมัคร
นาดา ยังมองด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่นำไปสู่รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ภารกิจหลังการเลือกตั้งยังเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ แต่เราคาดหวังจะเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า

เสนอให้อาชีพขายบริการถูกกฎหมาย ให้ LGBT แต่งงานได้ ให้มีธุรกิจคาสิโน 

นโยบายที่โดดเด่นของพรรคมหาชน ได้แก่
1. เสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราการค้าประเวณี ที่เอาผิดทางอาญากับผู้ที่ทำงานให้บริการทางเพศ ซึ่งเป้าหมายของพรรคมหาชน คือ เสนอยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เลย แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องการทำหน้าที่เปิดประตูให้ข้อเสนอของเจ้าของปัญหาได้เข้าไปสู่การถกเถียงในสภา
2. เสนอกฎหมายเพื่อเสรีภาพในการก่อตั้งครอบครัว ได้แก่ กฎหมายการสมรส การรับบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ สำหรับกลุ่ม LGBTs ต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนสามารถเลือกใช้คำนำหน้านาม และการระบุเพศได้ด้วยตัวเอง
3. ส่งเสริมการรองรับสัญชาติไทยให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังตกหล่น 
4. ส่งเสริมธุรกิจคาสิโน แบบมีเงื่อนไข เพื่อแก้ไขปัญหาเงินตราไหลออกนอกประเทศจากการที่คนไทยข้ามชายแดนไปเล่นการพนันในประเทศเพื่อนบ้านตามชายแดน
5. ยกเลิกระบบจ้างเหมาแรงงานและระบบค่าจ้างขั้นต่ำ เปลี่ยนมาใช้ระบบค่าจ้างและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม “หนึ่งคนหา สามคนอิ่ม”
6. ผลักดันให้ทุกจังหวัดต้องได้จัดการตนเอง ผลักดันให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองได้

จุดยืนประชาธิปไตย ไม่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

เมื่อถามถึงประเด็นจุดยืนทางการเมืองต่อการพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านการเลือกตั้งว่า พรรคมหาชนคิดอย่างไร นาดาตอบว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พรรคมหาชนก็ถูกจี้ทุกวัน ผู้ใหญ่ในพรรคบอกว่า เรายังเป็นพรรคขนาดเล็กไม่อยากอยู่ตรงกลางแล้วมีเชือกเส้นหนึ่งมามัดเราแล้วเล่นชักกะเย่อกัน พรรคของเราไม่อยากถูกบังคับให้ต้องเลือกฝ่าย แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มีจุดยืนว่า ต้องการประชาธิปไตย และการยึดอำนาจไม่อาจใช่ประชาธิปไตย 
เมื่อถามต่อว่า หากทางพรรคมหาชนได้มี ส.ส. เข้าไปนั่งในสภาจะลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นาดาตอบว่า ไม่เลือกอย่างแน่นอน ทุกคนในพรรคนี้รู้รสชาติเป็นอย่างดีว่า กฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง ที่ คสช. เขียนขึ้น มันทำร้ายเรามามากขนาดไหน หากวันหนึ่งสถานการณ์เดินไปถึงจุดที่จำเป็นต้องให้เลือกพล.อ.ประยุทธ์ กลับมา ส.ส. ก็อาจจะลาออกจากพรรค แต่ในประเด็นว่า พรรคมหาชนจะร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองไหนได้บ้าง ยังเป็นเรื่องที่ตอบยาก