พรรคกลาง: ใช้เทคโนโลยีสร้างประชาธิปไตยให้มีคุณภาพ

ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2561 มีพรรคการเมืองที่ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ทั้งสิ้น 104 พรรค และมีจำนวนของพรรคการเมืองหน้าใหม่ถึง 44 พรรค ดังนั้น การกล่าวว่าการเมืองเต็มไปด้วย “คนหน้าเก่า” อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป
หนึ่งในตัวเลือกของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่อาจปรากฎอยู่ในหน้าสื่อไม่น้อย คือ “พรรคกลาง” พรรคที่ต้องการเสนอตัวเลือกเป็นสื่อกลางของคนที่มีความคิดหลากหลายแบบ พร้อมทั้งยังประกาศด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงการเมืองด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคกลาง ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขต 46 คน ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 6 คน และใส่ชื่อชุมพล ครุฑแก้ว ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี

พรรคกลาง พรรคที่เริ่มต้นจากคนที่กลัวการเมือง

พรรคกลาง เริ่มต้นจัดตั้งในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 โดยมีแกนนำเป็น ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว อดีตหัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรบานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ชุมพล เคยให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเดินบนเส้นการเมือง เขาเองก็เคยเป็นคนที่ “กลัวการเมือง” มาก่อน เพราะภาพลักษณ์ของคำว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ดูไม่ดี ดูแปดเปื้อน แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เลือกเล่นการเมือง เพราะเขาอยากจะเป็นตัวอย่างให้กับคนที่มัวแต่บ่นเรื่องการเมือง แต่ไม่กล้าเข้ามายุ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าในประเทศไทยยังมีคนแบบนี้อีกเยอะมาก ที่อึดอัด ที่เบื่อ กับการเมือง และอยากจะทำอะไรบางอย่างแต่ไม่มีโอกาส ไม่กล้า ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม 
ด้วยเหตุนี้ ดร.ชุมพล จึงร่วมทีมกับเพื่อนเพื่อทำพรรคกลางด้วยความตั้งใจว่าจะเป็นเวทีกลาง รวมคนที่พร้อมจะมาร่วมกันพัฒนา มาก้าวหน้าด้วยกัน ซึ่งอยู่บนพืื้นฐานของความเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละคน เพียงแต่ต้องพร้อม ถ้าจะต้องทำงาน ต้องวางความเห็นส่วนตัวมาทำงานเพื่อประเทศได้ 

พรรคที่จะใช้เทคโนโลยี สร้างประชาธิปไตยให้มีคุณภาพ

สำหรับนโยบายของพรรคกลางที่ชัดเจนที่สุด คือ นโยบาย “ทุกคนเป็นนักการเมืองได้” โดยแนวคิดดังกล่าวพยายามจะอุดช่องโหว่ของระบบประชาธิปไตยตัวแทน ที่หลายครั้งตัวแทนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
สิ่งที่พรรคกลางพยายามจะสร้างคือ แอปพลิเคชันที่สามารถให้ประชาชนเข้ามีส่วนปกครองประเทศโดยตรง โดยผ่านอุปกรณ์สื่อสารอย่างเช่นสมาร์ทโฟน โดยมีรัฐทำหน้าที่รวบรวมคะแนนที่ประชาชนกดมาและทำตามผลการลงคะแนนนั้น ซึ่งพรรคกลางนิยามแนวทางนี้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอุดช่องโหว่ของระบบตัวแทน และจะช่วยลดต้นทุนการมีส่วนร่วมของประชาชน
แต่ทว่า ประชาธิปไตยทางตรงก็มีข้อจำกัด พรรคกลางจึงเสนอนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับวิธีคิดเรื่อง Liquid Democracy หรือ ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถ “โอนเสียง” การตัดสินใจของตัวเองไปให้ผู้ที่ตัวเองไว้ใจและมีความเชี่ยวชาญกว่าตัดสินใจแทนได้
ยกตัวอย่าง เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง ถ้าบางคนไม่มีความรู้ทางวิศวกรรม ก็สามารถมอบโหวตนั้นให้กับผู้รู้ที่เขาไว้วางใจ เช่น มีเพื่อนที่เป็นวิศวกรไปโหวตแทน แต่การโอนสิทธินั้นจะเป็นการโอนสิทธิเฉพาะเรื่องและสามารถถอนคืนเมื่อไหร่ก็ได้

พรรคที่ชัดเจนว่าไม่เอา “นายกฯ คนนอก”

สำหรับประเด็น “นายกฯ คนนอก” หรือ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน เช่น ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง, ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. หรือ ไม่ได้เป็นแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอนั้น ดร.ชุมพล แกนนำของพรรค เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการต้องตอบว่าพรรคการเมืองสนับสนุนนายกฯ แบบไหน เนื่องจาก เป็นการชี้นำให้ประชาชนไม่สนใจว่านโยบายพรรคเป็นยังไง และไปสนใจที่ตัวบุคคล
แต่ในมุมมองของ ดร.ชุมพล ก็มองว่า นายกฯ ควรมาตามครรลองคลองธรรมของประชาธิปไตย คือ ประชาชนเลือก และ ส.ส. สนับสนุน ดังนั้นตามหลักผู้นำพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากหรือพรรคที่ร่วมก่อตั้งรัฐบาลก็น่าจะได้เป็นนายกฯ เพื่อให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากสามารถควบคุมนโยบายตามที่ได้รับเลือกเข้ามา 

“ผมว่ามันเป็นอะไรที่เคลียร์อยู่แล้ว ถ้าเราสนับสนุนประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายจึงออกมาตรงนั้น”

ดร.ชุมพล

พรรคที่เน้นการเป็นสถาบันการเมืองที่ยั่งยืนมากกว่าที่นั่งในสภา

ดร.ชุมพล เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนแรกเขาไม่ได้ศึกษากฎหมายมากนัก และตั้งใจว่าจะคว้าที่นั่งเฉพาะแบบปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ) เพื่อหวังจะได้ร่วมรัฐบาล ได้เป็นรัฐมนตรี และลองไปทำกระทรวงต้นแบบ
แต่เมื่อรู้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคต้องมี ส.ส. เขตลงเลือกตั้ง กาใบเดียว และเอาคะแนนของ ส.ส. ทุกคนมาเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ก็เห็นข้อจำกัดของพรรคเล็กที่ทุนน้อยไม่สามารถส่ง ส.ส. เขตได้ ทำให้ความคาดหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ อยากจะชนะ ส.ส. เขตบ้าง
แต่เป้าหมายสูงสุดของการทำพรรคการเมืองในสายตา ดร.ชุมพล คือการเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืน มีคนที่มีอุดมการณ์คล้ายกันลงมาทำงานและเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนที่เชื่อและศรัทธาในแนวทางของพรรค