เลือกตั้ง 62: คุมเข้มการใช้จ่ายพรรคการเมือง ใช้เงินได้น้อยลง กฎระเบียบหยุมหยิม เสี่ยงติดคุก

11 มกราคม 2561 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศและระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างน้อย 4 ฉบับ เกี่ยวกับจำนวนเงินค่าใช้จ่าย ประเภทค่าใช้จ่าย การให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และแบบบัญชีรายรับรายจ่าย ในการเลือกตั้ง ส.ส.

ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กกต. จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายรวมของทั้งผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ไว้สูงสุดไม่เกิน 560 ล้านบาท ลดลงจากการเลือกตั้งปี 2554 ประมาณ 200 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน กกต. ก็เพิ่มประเภทค่าใช้จ่ายละเอียดมากขึ้นถึงขนาดค่าถ่ายเอกสาร ค่าอาหารและเครื่องดื่มยังต้องนับรวมในค่าใช้จ่าย และถ้า ส.ส. จะใส่ซองทำบุญในงานประเพณีต้องไม่เกิน 3,000 บาท ทั้งนี้ภายใน 90 วันหลังการเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่ง กกต. ซึ่งส่งไม่ทันเวลาหรือส่งไปไม่ถูกต้องครบถ้วนก็มีโทษทั้งจำคุก ปรับ และตัดสิทธิทางการเมือง

จำกัดวงเงิน ส.ส. ใช้จ่าย 1.5 ล้านต่อคน-พรรคใช้จ่าย 35 ล้านต่อพรรรค 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ไม่เกินคนละ 1,500,000 บาทต่อคน ขณะที่พรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ไม่เกินพรรคละ 35,000,000 บาท ซึ่งระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ’พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส.’ มีผลบังคับใช้ถึงวันเลือกตั้ง หรือตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2562 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือ ‘ส.ส. เขต’ 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ‘ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์’ 150 คน ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. เขต ครบทุกเขตก็ใช้จ่ายได้ 525,000,000 บาท และแต่ละพรรคการเมืองสามารถใช้จ่ายได้อีก 35,000,000 บาท ถ้าพรรคการเมืองใดส่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ครบ 150 คนจะใช้จ่ายได้เพียง 233,333 บาท ต่อ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อรวมเงินของ ส.ส. เขตทุกเขต 525,000,000 บาท กับเงินของพรรคที่ใช้ได้ไม่เกินพรรคละ 35,000,000 บาท พรรคการเมืองหนึ่งพรรคที่ส่ง ส.ส. ครบทุกเขตจะใช้เงินรวมได้ 560,000,000 บาท

เลือกตั้งซ่อม ผู้สมัครเดิมใช้จ่ายได้ไม่เกินห้าแสนบาท

ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือ “การเลือกตั้งซ่อม ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง” ในเขตเลือกตั้งที่ไม่ต้องรับสมัครผู้สมัครรายใหม่ หรือให้ผู้สมัครรายเดิมลงเลือกตั้งซ่อมได้ ให้ผู้สมัคร ส.ส. คนนั้นใช้จ่ายได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ในเขตเลือกตั้งที่ต้องรับสมัคร ส.ส. รายใหม่ หรือในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด หรือ ‘โหวตโน’ ให้ผู้สมัคร ส.ส. คนใหม่ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 750,000 บาท  ส่วนถ้ามีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วและมีเหตุให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง หรือ “การเลือกตั้งซ่อม หลังประกาศผลการเลือกตั้ง” ให้ ส.ส. ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท

ส.ส. ใช้เงินเกินวงเงินติดคุกสูงสุด 5 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ‘กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ’ มาตรา 152 กำหนดว่า ผู้สมัคร ส.ส. เขต รายใดใช้เงินในการเลือกตั้งเกิน 1,500,000 บาท มีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่เกินมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้สมัคร ส.ส. รายนั้นจะถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี

ถ้าพรรคการเมืองใดใช้เงินในการเลือกตั้งเกิน 35,000,000 บาท มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 – 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหรือปรับเป็นจำนวน 3 เท่าของจำนวนเงินที่เกินมา แล้วแต่จำนวนใดมากกว่ากัน และถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค หรือเหรัญญิกพรรครู้เห็นเป็นใจด้วยต้องรับโทษและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี 

การเลือกตั้งสี่ครั้งก่อน ส.ส. กับพรรคการเมืองรวมกันใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

การจำกัดวงเงินสำหรับผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองในการหาเสียงไม่ได้มีครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่หากเราดูการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ย้อนหลังไปจะพบว่า

๐ การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 มี ส.ส. จำนวน 500 คนแบ่งเป็น ส.ส. เขต จำนวน 375 คน และ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 125 คน กกต. กำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ส. เขต ใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 1,500,000 บาท ขณะที่พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวน ผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคคูณด้วย 1,500,000 บาท ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. เขต ครบทุกเขตก็ใช้จ่ายได้ 562,500,000 บาท และถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ครบจะใช้จ่ายได้ 187,500,000 คน ดังนั้น เงินที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองใช้ได้รวมกันจะเท่ากับ 750,000,000 บาท

๐ การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 มี ส.ส. จำนวน 480 คน แบ่งเป็น ส.ส. เขต จำนวน 400 คน และส.ส. สัดส่วน จำนวน 80 คน โดยแบ่งเป็นแปดกลุ่มจังหวัดกกต. กกต. กำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ส. เขต ใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 1,500,000 บาท ขณะที่พรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน ได้ไม่เกินจำนวนกลุ่มจังหวัดละ15,000,000 บาท และใช้ได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนค่าใช้จ่ายที่พรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบสัดส่วนทุกเขตเลือกตั้งรวมกัน ด้วยเหตุนี้ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. เขต ครบทุกเขตก็ใช้จ่ายได้ 600,000,000 บาท ขณะที่ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. แบบสัดส่วนครบแปดกลุ่มจังหวัดจะใช้จ่ายได้ 120,000,000 คน และใช้ได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนค่าใช้จ่าย ส.ส. แบบสัดส่วนทุกเขตรวมกัน เท่ากับ 24,000,000 บาท ดังนั้น เงินที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองใช้ได้รวมกันจะเท่ากับ 744,000,000 บาท

๐ การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 มี ส.ส. จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 100 คน กกต. กำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ส. เขต ใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 1,500,000 บาท ขณะที่พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองคูณด้วย 1,500,000 บาท  ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. เขต ครบทุกเขตก็ใช้จ่ายได้ 600,000,000 บาท ขณะที่ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ครบจะใช้จ่ายได้ 150,000,000 คน ดังนั้น เงินที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองใช้ได้รวมกันจะเท่ากับ 750,000,000 บาท

๐ การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 มี ส.ส. จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 100 คน  กกต. กำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ส. เขต ใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 1,500,000 บาท ขณะที่พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองคูณด้วย 1,000,000 บาท  ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. เขต ครบทุกเขตก็ใช้จ่ายได้ 600,000,000 บาท ขณะที่ถ้าพรรคการเมืองส่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ครบจะใช้จ่ายได้ 100,000,000 คน ดังนั้นเงินที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองใช้ได้รวมกันจะเท่ากับ 700,000,000 บาท

ค่าถ่ายเอกสาร ค่าอาหารและเครื่องดื่มนับเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง

นอกจาก กกต. จะจำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแล้ว กกต. ยังกำหนด ‘ประเภท’ ของค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองต้องระบุและนับรวมเข้าไปในจำนวนเงินนั้นอย่างละเอียดอีกด้วยตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง มีด้วยกัน 13 ชนิด ได้แก่

1) ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ค่าสมัครรับเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครรับเลือกตั้ง 

2) ค่าจ้างแรงงาน เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ค่าจ้างในการปิดป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าจ้างแจกใบปลิว แผ่นพับ รวมทั้ง ค่าจ้างแรงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 

3) ค่าจ้างทำของ เช่น ค่าจ้างทำเสื้อแจ็กเก็ต หมวก และเสื้อยืด หรืออื่นๆ สำหรับผู้ช่วยหาเสียง เป็นต้น

4) ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ เช่น ค่าสื่อสิงพิมพ์ต่างๆ ค่าผลิตสื่อเพื่อการออกอากาศรวมถึงค่าโฆษณาอื่นที่เป็นการกระทำเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

5) ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง

6) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์หรือค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตราแกรม กูเกิ้ล แอปพลิเคชัน เป็นต้น 

7) ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

8) ค่าเช่าสถานที่ และค่าตกแต่งสถานที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าสถานที่เพื่อปราศัยหาเสียง เป็นต้น

9) ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าจ้างเหมายนต์ เรือยนตร์หรือยานพาหนะอื่นๆ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าที่พัก เป็นต้น

10) ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการทางไปรษณีย์ ค่าถ่ายเอกสาร เป็นต้น

11) ค่าอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง

12) ค่าอบรมผู้สมัครหรือผู้ช่วยหาเสียง

13) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

ค่าหาเสียงออนไลน์ ค่าผู้ช่วยหาเสียง เป็นประเภทค่าใช้จ่ายใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ในการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 กกต. กำหนดประเภทของค่าใช้จ่ายไว้เพียงแค่ 2 ชนิด ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง และค่าจ้างแรงงงาน ต่อมาในการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 กกต. กำหนดประเภทของค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 9 ชนิด ซึ่งสิ่งที่เพิ่มมา ได้แก่  ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่าและค่าตกแต่งสถานที่, ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง, ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ ยกเว้นการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ อันเป็นการห้ามตามกฎหมาย, ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง, ค่าสาธารณูปโภคและค่าไปรษณียากร และค่าใช้จ่ายอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ส่วนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กกต. กำหนดประเภทของค่าใช้จ่ายเพิ่มอย่างน้อย 4 ชนิด ได้แก่ ค่าจ้างทำของ ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ “ค่าหาเสียงออนไลน์” ค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ช่วยหาเสียง และค่าาอบรมผู้สมัครหรือผู้ช่วยหาเสียง

ระหว่างหาเสียง ห้ามใส่ซองงานบุญ แต่เป็น ส.ส. แล้วให้ได้ไม่เกิน 3,000 บาท 

ระหว่างหาเสียง กกต. กำหนดวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ระบุ ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ แต่เมื่อพ้นระยะเวลาหาเสียง กกต. กำหนดประเภทของค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองต้องนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไปถึงการให้เงินตามงานบุญประเพณีและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

สำหรับการให้ตามประเพณี ผู้สมัคร ส.ส. สามารถ ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในงานประเพณี เช่น งานวันเกิด งานบวช งานโกนจุก งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ การเทศกาล งานขึ้นปีใหม่ งานศพ เป็นต้น ซึ่งผู้สมัคร ส.ส. สามารถ ‘ใส่ซอง’ ทำบุญได้ แต่ทำได้ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ถ้าเกินจะต้องคำนวณรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่นๆ กกต. เรียกว่า “การให้ตามเหตุอันควร” พรรคการเมืองให้ได้แต่ละครั้งไม่เกิน 3,000,000 บาท ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่นคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึง ส.ส. ของพรรคให้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าเกินจะต้องคำนวณรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง


อย่างไรดี กกต. ไม่นับว่าการให้เงินแก่พ่อแม่ บุพการี ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดาหรือมารดาเดียว กัน บุตรบุญธรรม หรือผู้รับบุตรบญธรรม ซึ่ง กกต. เรียกว่า “การให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยา” เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

กกต. คอยตรวจการใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง

เมื่อผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ใครก็ตาม หรือ ให้เงินตามงานบุญประเพณี และให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทำหน้ารวมรวมข้อเท็จจริงพร้อมเสนอความเห็นให้ กกต. และ กกต. จะพิจารณาสั่งให้เลขาธิการ กกต. บันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง

ถ้าผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการบันทึกค่าใช้จ่ายของเลขาธิการ กกต. มีสิทธิคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กกต. โดยสามารถยื่นต่อ กกต. ที่สำนักงาน กกต. แจ้งวัฒนะ ด้วยตัวเอง หรือยื่นทางไปรษณีย์ หรือมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้อื่นยื่นแทนก็ได้

กกต. ให้พรรคการเมืองทำเอกสารการเงินไม่ต่ำกว่า 12 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 90 วัน

กกต. กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้ง ให้กับผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนและหัวหน้าพรรคการเมืองผู้จัดทำ ซึ่งมีเอกสารอย่างน้อย 12 ฉบับที่ใช้ในการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ได้แก่ 

1) ใบรับเงิน (สส./บช. ๑) 

2) ใบรับทรัพย์สิน/ประโยชน์อื่นใด (สส./บช. ๒) 

3) ใบสำคัญรับเงิน (สส./บช. ๓) 

4) ใบรับรองการจ่ายเงิน (สส./บช. ๔) 

5) บัญชีรายรับ ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (สส./บช. ๕) 

6) บัญชีรายรับ ของพรรคการเมือง (สส./บช. ๕/๑) บัญชีรายจ่าย (สส./บช. ๖) 

7) บัญชีจ่ายแทนกัน (สส./บช. ๗) 

8) บัญชีค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (สส./บช. ๘) 

9) รายงานรายรับและรายจ่าย ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (สส./บช. ๙) 

10) รายงานรายรับและรายจ่าย ของพรรคการเมือง (สส./บช. ๙/๑)  

11) หมายเหตุประกอบรายงานรายรับและรายจ่าย (สส./บช. ๑๐) 

12) แบบสรุปค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและแบบรายการเอกสารนำส่ง (สส./บช. ๑๑)

เอกสารทั้งหมดนี้ กกต. ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองยื่นบัญชีและรายจ่ายในการเลือกตั้ง รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้ง แล้ว กกต.จะเปิดเผยสรุปรายงานรายรับรายจ่ายของผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนและพรรคการเมืองให้ประชาชนทราบ

ของฟรี ของแถม ลดราคา หรือให้ยืม นับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด

ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. นอกจากจะเป็นตัวเงินแลัว ยังต้องรวมถึง ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ และไม่ว่าจะเป็น การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ การให้ ‘ส่วนลด’ โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า หรือ ‘ของแถม’ รวมถึงการให้สถานที่ ยานพาหนะ หรือ ‘ให้ยืม’ ก็ต้องคิดตามอัตราค่าเช่าในพื้นที่นั้น ๆ การให้หนี้ลดลงหรือระงับหนี้สินให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งสิ้น นอกจากนี้ กกต. ยังกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองต้องรวมถึงเงินบุคคลอื่น “จ่ายให้” หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทน หรือ “ให้ฟรี”

ไม่ส่งบัญชีรายรับรายจ่ายภายใน 90 วัน หรือปลอมบัญชี ปรับสูงสุดแสนบาท จำคุก 5 ปี ตัดสิทธิ 10 ปี

กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 67 กำหนดว่า ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคน และพรรคการเมืองต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อกกต. โดยอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง และผู้สมัคร ส.ส. หรือหัวหน้าพรรคต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของบัญชีรายรับและรายจ่าย

ถ้าผู้สมัคร ส.ส. หรือหัวหน้าพรรคไม่ยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายต่อ กกต. ภายใน 90 วัน หรือจงใจยื่นเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 155 กำหนดโทษไว้ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ถ้าบัญชีรายรับและรายจ่ายที่ยื่นเป็นเท็จ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี  และปรับ 20,000 – 100,000 บาท และศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี