เลือกตั้ง 62: บัญชีนายกฯและอนาคตที่ไม่แน่นอนของพรรคไทยรักษาชาติ

หลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เกิดปรากฎการณ์คล้ายแผ่นดินไหวสะเทือนการเมืองไทยครั้งใหญ่ หลังพรรคไทยรักษาชาติ พรรคการเมืองที่รวมอดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งปี 2562 ยื่นชื่อโดยผ่านการยินยอมของ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงคนเดียว เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้ออึง ในแง่ความเหมาะสมของ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” และประชาชนบางส่วนตั้งคำถามว่า เป็นการกระทำที่มิบังควรหรือไม่  ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า บัญชีนายกฯพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินครั้งนี้สร้างความสนใจให้แก่พรรคไทยรักษาชาติอย่างมาก ในทางกลับกันก็นำไปสู่ความไม่ชัดเจนของอนาคตทางการเมืองของพรรคและเหล่าสมาชิก
 

“ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” เป็นสมาชิกราชวงศ์หรือสามัญชน?

 

ย้อนไปเกือบ 47 ปีที่แล้ว    วันที่ 25 กรกฎาคม 2515 “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์  เอกสารระบุว่า การดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นกิจพิเศษ ไม่สามารถปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ 
 

หลังแกนนำพรรคไทยรักษาชาติยื่น “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคแล้ว “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” โพสต์อินสตาแกรมย้ำชัดว่า ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ตั้งแต่ปี 2515 และเป็นสามัญชนแล้ว
 

แต่ในวันเดียวกันเวลา 22.30 น.  โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเผยแพร่ประกาศจากสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ”เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล หากยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกราชวงศ์จักรี
 

การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” อยู่ในเหตุการณ์สำคัญในราชสำนักมาโดยตลอดและปรากฏในการรายงานข่าวพระราชสำนักเรื่อยมา เท่าที่สามารถสืบค้นได้คือ ครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2561
 

ไพบูลย์-ศรีสุวรรณ ประสานเสียงยุบพรรคไทยรักษาชาติ
 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 คล้อยหลังเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปเข้ายื่นหนังสือต่อกกต.ให้วินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติว่า เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   2561 ที่ระบุว่า ห้ามผู้สมัคร  พรรคการเมือง  หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

 

ซึ่งหากพิจารณาแล้วเข้าข่ายนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง กกต.จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 92(2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560(พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค
 

กระทั่ง 10 กุมภาพันธ์ 2562 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยประกาศจะยื่นขอกกต.ยุบพรรคไทยรักษาชาติ อ้างอิงตามพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ระบุว่า “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” ยังคงเป็นสมาชิกราชวงศ์ ทำให้การเสนอชื่อ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติจึงเป็นการเสนอผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 17 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561
 

กกต.รับเผือกร้อนพิจารณาบัญชีนายกฯ

 

หลังพระราชโองการประกาศว่า “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์และการยื่นคำร้องของไพบูลย์ นิติตะวัน  และศรีสุวรรณ จรรยา  แน่นอนว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 กกต.จะต้องพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติอย่างเร่งด่วน  โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
 

1. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  2561 หมวด 4 เรื่องลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งระบุว่า ห้ามผู้สมัคร  พรรคการเมือง  หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

 

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง)มาตรา 92 เมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางในรัฐธรรมนูญหรือกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข หรือตามกฎหมายกำหนด ให้กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

 

3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.) มาตรา 41 ระบุว่า เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อกกต. ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่  และมีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอในการสืบสวนว่า มีการกระทำที่ขัดต่อระเบียบหรือกฎหมายเลือกตั้ง หรือจะมีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.จะต้องไต่สวน หากพบว่า ไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง แต่หากมีมูลให้กกต.สั่งการดำเนินคดีต่อไป

 

จากอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กกต. สามารถหยิบคำร้องของทั้งไพบูลย์และศรีสุวรรณมาพิจารณา หรือจะชงเรื่องเองอาศัยอำนาจตามพ.ร.ป.กกต. มาตรา 41 ก็ได้ โดยหากพิจารณาแล้วเรื่องมีมูลความผิด ทั้งสองทางเลือกมีปลายทางที่ศาลรัฐธรรมนูญในการชี้ขาดยุบพรรคเช่นกัน
 

“ยุบพรรค” หนังฉายซ้ำของเหล่าพรรคทักษิณ
 

การยุบพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ของการเมืองไทย โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่ถูกผู้มีอำนาจมองว่า เป็นพรรคเครือข่ายหรือเป็นพรรคของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาพรรคเหล่านี้ถูกสั่งยุบมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง
 

๐ ไทยรักไทย : ฮั้วพรรคเล็กลงเลือกตั้ง
 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 สั่งยุบพรรคไทยรักไทย จากข้อกล่าวหาที่ว่า พรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยให้จัดหาผู้สมัครลงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เคยมีพรรคฝ่ายค้านลงสมัครเช่น เขตเลือกตั้งในจังหวัดภาคใต้, สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในกรณีที่ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น โดยพรรคพัฒนาชาติไทยออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคเท็จและได้ปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกในฐานข้อมูลของ กกต. ซึ่งกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
 

ขณะที่พรรคแผ่นดินไทยถูกกล่าวหาว่า ออกใบรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จให้แก่ผู้สมัคร และรับเงินจากผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ พิจารณาแล้วมีความผิดสั่งยุบพรรคไทยรักไทย, พรรคพัฒนาประชาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคห้าปี โดยคดีนี้ผู้ร้องเรียนต่อกกต.คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทยและอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์

 

ในปี 2559 ศาลฎีกายกฟ้องกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในคดีจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งในปี 2549 และในคดีที่พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและพวก ถูกกล่าวหาในคดีความผิดเกี่ยวกับการว่าจ้างให้แก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งหมด ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องพลเอกธรรมรักษ์และอัยการไม่ได้ยื่นฎีกาเพื่อขอให้ลงโทษ ทำให้พลเอกธรรมรักษ์พ้นความผิดฐานว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงเลือกตั้ง

๐ พลังประชาชน : ซื้อเสียงสิบกำนันเชียงราย
 

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 20/2551 สั่งยุบพรรคพลังประชาชน จากข้อกล่าวหาที่ว่า ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนได้พูดคุยกับกลุ่มกำนันอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จำนวนสิบคนอันเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า ยงยุทธมีการให้ เสนอให้ทรัพย์สินตอบแทนเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่พรรคพลังประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ยงยุทธได้กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งเขาเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรครวมทั้งกรรมการบริหารพรรคได้รู้เห็นถึงการกระทำนี้
 

ถือว่า พรรคพลังประชาชนกระทำการเพื่ออำนาจปกครองด้วยวิถีทางที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเมื่อชนะการเลือกตั้ง จนได้ก่อตั้งรัฐบาล สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงสั่งให้ยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิทางการเมืองของยงยุทธและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนห้าปี โดยคดีนี้ผู้ร้องเรียนต่อกกต.คือ วิจิตร ยอดสุวรรณ อดีต ส.ส. จังหวัดเชียงราย พรรคชาติไทย