เลือกตั้ง 62: ส่องจำนวนผู้แทนในสภาของคนแต่ละเจเนอเรชั่น

เรามักจะพูดกันเสมอว่าคนแต่ละเจเนอเรชั่น (generation) คิดไม่เหมือนกันและมองโลกต่างกันออกไป เพราะเกิดมาคนละยุคคนละสมัย แต่เคยคิดไหมว่า ถ้าเราใช้จำนวนของคนแต่ละเจเนอเรชั่นมาคำนวณเป็นจำนวนผู้แทนในสภาหรือ ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)’ ที่แต่ละกลุ่มพึงได้ เสียงของคนในเจเนอเรชั่นใดจะมีมากกว่ากันและเสียงของคนกลุ่มไหนที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางสังคม
หากนำข้อมูลจำนวนราษฎรไทยของกรมการปกครองมาคำนวณหาจำนวน ส.ส. ที่พึงได้ของแต่ละเจเนอเรชั่น จะพบว่า เจเนอเรชั่นวาย (อายุ 23-39 ปี) มีจำนวนผู้แทนหรือส.ส. มากที่สุดถึง 157 คน รองลงมา ได้แก่ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (อายุ 40-54 ปี) มีจำนวน ส.ส. 150 คน เบบี้บูมเมอร์ส (อายุ 55-73 ปี) มีจำนวน ส.ส.124 คน เจอเนอเรชั่นก่อนเบบี้บูมเมอร์ส (อายุ 74 ปีขึ้นไป) มีจำนวน ส.ส. 35 คน และเจเนอเรชั่นแซส (อายุ 18-22 ปี ) มีจำนวน ส.ส.น้อยที่สุดที่ 34 คน 
วิธีคิดเก้าอี้ ส.ส. ของคนแต่ละเจน
ข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยระบุว่า จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 66,188,503 คน ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ คือผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง ดังนั้น ผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปก็จะมีสิทธิเลือกตั้ง หรือหมายความว่ามีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 51,735,326 คน 
การคำนวณจำนวน ส.ส. ให้คิดจากการเอาจำนวน 'ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง' ทั้งหมดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ดังนั้น หากสมมติให้ผู้มีใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเท่ากับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ 51,735,326 คน มาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด คือ 500 คน ก็จะได้คำตอบว่าจะต้องใช้คะแนนเสียงเลือกตั้ง 103,471 เสียง จึงจะได้ส.ส. 1 คน หรือ “คะแนนเสียงเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คน เท่ากับ 103,471 เสียง”
จากคะแนนเสียงเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คน เราสามารถใช้หาจำนวนผู้แทนในสภาของคนแต่ละเจเนอเรชั่นได้จากการนำ “จำนวนประชากรของคนในเจเนอเรชั่น หารด้วย คะแนนเสียงเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คน
GenY มีจำนวนผู้แทนในสภามากที่สุด 157 คน 
หากแบ่งคนไทยออกเป็นกลุ่มคราวๆ ตามช่วงอายุและลักษณะของแต่ยุคสมัยหรือ ‘เจเนอเรชั่น’ อาจจะแบ่งได้เป็นทั้งหมด 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 
1) เจอเนอเรชั่นก่อนเบบี้บูมเมอร์ส (อายุ 74 ปีขึ้นไป) มีจำนวน ส.ส. 35 คน 
เจอเนอเรชั่นก่อนเบบี้บูมเมอร์ส กลุ่มคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2489 หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 73 ปีขึ้นไป เกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หรือก่อนหน้านั้น ‘คนเจนก่อนเบบี้บูมเมอร์สของไทย’ คือ คนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญของไทยมามากมาย เช่น อยู่ภายใต้ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่คนกลุ่มนี้ปัจจุบันถือว่าเป็น ‘ผู้สูงวัย’ และเป็นปู่ยาตาทวดของคนในเจเนอเรชั่นอื่นๆ ของไทย 
โดยจำนวนประชากรไทยในเจเนอเรชั่นก่อนเบบี้บูมเมอร์ส มีจำนวน 3,636,497 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้แทนในสภาหรือจำนวนส.ส. ได้เท่ากับ 35 คน โดยคำนวณจากการนำจำนวนประชากรในเจเนอเรชั่นนี้จำนวน 3,636,497 คน หารด้วยฐานเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส. 1 ตัวในสภาเท่ากับ103,471 เสียง จึงจะเท่ากับ “จำนวน ส.ส. 35 คน ที่เป็นผู้แทนของคนเจนก่อนเบบี้บูมเมอร์สของไทย”
2) เจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ส (อายุ 55-73 ปี) มีจำนวน ส.ส.124 คน 
 
 
เบบี้บูมเมอร์ส (Baby Boomers) กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2507 ปัจจุบันอายุ 55-73 ปี เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพุ่งสูงขึ้นของอัตราการเกิด(สาเหตุที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเบบี้บูมเมอร์ส) เพื่อสร้างแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ “เบบี้บูมเมอร์สของไทย” คือคนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญ เช่น 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เป็นต้น 
จำนวนประชากรไทยในเจเนอเรชั่นเบบี้บูมมีจำนวน12,767,025 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้แทนในสภาหรือจำนวนส.ส. ได้เท่ากับ 124 คน โดยคำนวณจากการนำจำนวนประชากรในเจเนอเรชั่นนี้จำนวน 12,767,025 คน หารด้วยฐานเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส. 1 ตัวในสภาเท่ากับ103,471 เสียง จึงจะเท่ากับ “จำนวน ส.ส. 124 คน ที่เป็นผู้แทนของเบบี้บูมเมอร์ของไทย"
3) เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (อายุ 40-54 ปี) มีจำนวน ส.ส. 150 คน  
 
 
เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X ) กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2522  ปัจจุบันอายุ 40-54 ปี เกิดในยุคที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอย การจ้างงานต่ำ เติบโตในยุคโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมเติบโตเต็มที่และเริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์ “คนเจนเอ็กซ์ของไทย” คือ คนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญร่วมกัน เช่น พฤษภาทมิฬ วิกฤตต้มยํากุ้ง
จำนวนประชากรไทยในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์มีจำนวน 15,543,455 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้แทนในสภาหรือจำนวนส.ส. ได้เท่ากับ 150 คน โดยคำนวณจากการนำจำนวนประชากรในเจเนอเรชั่นนี้จำนวน 15,543,455 คน หารด้วยฐานเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส. 1 ตัวในสภาเท่ากับ 103,471 เสียง จึงจะเท่ากับ “จำนวน ส.ส. 150 คน ที่เป็นผู้แทนของคนเจนเอ็กซ์ของไทย”
4) เจเนอเรชั่นวาย (อายุ 23-39 ปี) มีจำนวน ส.ส. 157 คน 
 
 
มิลเลนเนียล (Millennials) หรือ เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2539 ปัจจุบันอายุ 23-39 ปี เกิดในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า เติบโตมาพร้อมกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “คนเจนวายของไทย”  คือ คนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญร่วมกัน เช่น การรัฐประหารปี 49 และ ปี 57  ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองและแดง 
จำนวนประชากรไทยในเจเนอเรชั่นวายมีจำนวน 16,252,921 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้แทนในสภาหรือจำนวนส.ส. ได้เท่ากับ 157 คน โดยคำนวณจากการนำจำนวนประชากรในเจเนอเรชั่นนี้จำนวน 16,252,921 คน หารด้วยฐานเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส. 1 ตัวในสภาเท่ากับ 103,471 เสียง จึงจะเท่ากับ “จำนวน ส.ส. 157 คน ที่เป็นผู้แทนของคนเจนวายของไทย”
5) เจเนอเรชั่นแซส (อายุ 18-22 ปี ) มีจำนวน ส.ส. 34 คน 
 
 
เจเนอเรชั่นแซด (Genration Z) กลุ่มคนที่เกิด พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป หรือผู้ที่มีน้อยกว่าอายุ 22 ปีลงมา เกิดในยุคโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ เติบโตมากับการใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่เด็ก เคยชินและสามารถใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียได้อย่างคล่องแคล่ว “คนเจนแซดของไทย” คือ คนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญร่วมกัน เช่น อยู่ภายใต้ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 
จำนวนประชากรไทยในเจเนอเรชั่นแซดที่มีสิทธิเลือกตั้ง(เกิดภายในวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2544) มีจำนวน 3,535,428 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้แทนในสภาหรือจำนวนส.ส. ได้เท่ากับ 34 คน โดยคำนวณจากการนำจำนวนประชากรไทยในเจเนอเรชั่นแซดจำนวน3,535,428 คน หารด้วยฐานเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส. 1 ตัวในสภาเท่ากับ 103,471 เสียง จึงจะเท่ากับ “จำนวน ส.ส. 34 คน ที่เป็นของคนเจนแซดของไทย”