เกมจำลองการเลือกตั้ง’62

 

การเลือกตั้งตามกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ใกล้เข้ามา โดยที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจกติกาการลงคะแนน ข้อจำกัดของพรรคการเมือง และวิธีการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภา ไอลอว์นำเสนอกิจกรรมจำลองการเลือกตั้ง ให้ผู้จัดกิจกรรมนำไปใช้จัดกิจกรรมในกลุ่มของตัวเองได้ เพื่อกระจายความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นก่อนถึงวันเลือกตั้ง
กิจกรรมนี้จะสามารถแสดงให้ผู้เล่นทุกคนเข้าใจได้ว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 มีความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้างในระหว่างการลงสนามแข่งขันทางนโยบาย และทำไมพรรคการเมืองบางพรรคที่อาจจะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนน้อย จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีได้
อุปกรณ์ที่จำเป็น
1. กระดาษจับสลากแบ่งบทบาทหน้าที่ในสังคม
2. กระดาษตัดเป็นบัตรเลือกตั้ง และหีบบัตรเลือกตั้ง 
3. กระดานสำหรับเขียน หรือกระดาษแผ่นใหญ่ หรือเครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ สำหรับนับคะแนน และนับจำนวนที่นั่ง ส.ส.
4. อุปกรณ์ทำกิจกรรมหาเสียง เช่น กระดาษแผ่นใหญ่ กระดาษสี ปากกาเมจิก สีชอล์ก กรรไกร ฯลฯ
5. กระดาษโพสต์อิท สีต่างๆ สามสี
จำนวนผู้เล่น
50-100 คน 
จำนวนที่เหมาะสมที่สุด คือ 70 คนพอดี เพราะจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้นเมื่อนำไปเข้าสูตรคำนวนแล้วจะได้เลขที่ลงตัวไม่ต้องมีจุดทศนิยม
ระยะเวลาในการเล่น 
120-150 นาที ไม่รวมการพูดคุยเพื่อถอดบทเรียน
จำนวนผู้ดำเนินกิจกรรม
สามคนขึ้นไป ได้แก่ตำแหน่ง ผู้ดำเนินกิจกรรม กรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ
วิธีการเล่น
1. อธิบายกิจกรรม
ผู้ดำเนินกิจกรรมอธิบายกติกาเริ่มต้นว่า ผู้เล่นทุกคนกำลังจะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อทดลองการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยในการจำลองครั้งนี้ ผู้เล่นทุกคนจะได้เลือกตั้ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขต จำนวน 7 ที่นั่ง และส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3 ที่นั่ง แต่ในสภาจะมี ส.ว. อีก 5 ที่นั่ง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
2. แบ่งบทบาทหน้าที่
ผู้ดำเนินกิจกรรมให้ผู้เล่นทุกคนจับสลากแบ่งบทบาทหน้าที่ในสังคม โดยแบ่งเป็น ดังนี้  
2.1 ประชาชนอาชีพต่างๆ มีจำนวนรวมแล้วเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้เล่นทั้งหมด ตัวอย่างเช่น หากมีผู้เล่น 70 คน ก็มีประชาชน 35 คน โดยแบ่งเป็นอาชีพต่างๆ ตามสัดส่วนที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เช่น เป็นเกษตรกร 10 คน เป็นผู้ใช้แรงงาน 10 คน เป็นข้าราชการ 8 คน เป็นนักธุรกิจ 7 คน เป็นต้น
2.2 สมาชิกพรรคที่หนึ่ง จำนวนเท่ากับผู้เล่นอีกครึ่งหนึ่งหารด้วยสาม เช่น หากมีผู้เล่น 70 คน ก็จะมีสมาชิกพรรคที่หนึ่ง เท่ากับ 35 หาร 3 คือ 11-12 คน
2.3 สมาชิกพรรคที่สอง จำนวนเท่ากับพรรคที่หนึ่ง
2.4 สมาชิกพรรคที่สาม จำนวนเท่ากับพรรคที่หนึ่ง
เมื่อทุกคนได้บทบาทหน้าที่ของตัวเองแล้วให้แยกนั่งกันเป็นกลุ่มตามบทบาทในสังคม เพื่อทำความรู้จักกัน สำหรับสมาชิกพรรคทั้งสามพรรค ให้แจกกระดาษโพสต์อิทสีแตกต่างกันแล้วแปะไว้ที่หน้าอก เพื่อแสดงถึงความเป็นสมาชิกของพรรคนั้นๆ 
3. แบ่งเขตเลือกตั้ง
ผู้ดำเนินกิจกรรมให้ผู้เล่นทุกคนซึ่งยังนั่งอยู่เป็นกลุ่มตามบทบาทหน้าที่นับเลขไล่ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 7 ให้ทุกคนจำหมายเลขประจำตัวไว้ จากนั้นให้แบ่งกลุ่มอีกครั้งหนึ่งตามหมายเลขที่ตัวเองได้ ก็จะแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ซึ่งในกิจกรรมนี้จะใช้เป็น 7 เขตเลือกตั้ง ทุกเขตเลือกตั้งจะมีสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองและมีตัวแทนของคนหลากหลายอาชีพอยู่ด้วยกัน
3.1 กรรมการการเลือกตั้งทำสำมะโนประชากร โดยจดชื่อทุกคนที่อยู่เขตเลือกตั้งว่า แต่ละเขตมีใครบ้าง เพื่อป้องกันการลงคะแนนผิดเขต หรือการโกงการเลือกตั้ง
4. วางแผนการหาเสียงเลือกตั้ง
ผู้ดำเนินกิจกรรมให้ผู้เล่นทุกคนกลับไปนั่งเป็นกลุ่มตามบทบาทหน้าที่ และให้เวลา 20 นาทีในการวางแผนเพื่อการหาเสียง โดยกลุ่มที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะจินตนาการถึงนโยบายที่ต้องการนำเสนอกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนเสียง ส่วนกลุ่มของประชาชนแต่ละอาชีพจะจินตนาการถึงข้อเรียกร้องที่กลุ่มของตัวเองต้องการจากพรรคการเมือง 
ระหว่างนี้ก็แจกอุปกรณ์ทำกิจกรรมหาเสียงให้ทุกกลุ่มได้ทำป้ายหาเสียง หรือป้ายนำเสนอนโยบายของตัวเอง
4.1 พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะต้องเสนอรายชื่อด้วยว่า ใครเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในเขตเลือกตั้งใด และพรรคนั้นต้องการเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง 
5. ประชาชนนำเสนอข้อเรียกร้อง
ผู้ดำเนินกิจกรรมให้โอกาสประชาชนทีละกลุ่มนำเสนอข้อเรียกร้องที่ตัวเองต้องการ โดยพรรคการเมืองมีหน้าที่รับฟัง
6. พรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย
กรรมการการเลือกตั้งจัดให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย โดยจัดสรรเวลาให้ไม่เท่ากัน เช่น พรรคที่หนึ่งให้เวลาสองนาที ระหว่างที่กำลังนำเสนอนโยบายอยู่ กรรมการการเลือกตั้งก็ประกาศว่า หมดเวลา ไม่สามารถนำเสนอต่อจนจบได้ แต่ให้เวลาพรรคที่สองอย่างเต็มที่นานถึงสิบนาทีในการนำเสนอนโยบายของตัวเอง
7. ลงพื้นที่หาเสียง
กรรมการการเลือกตั้งกำหนดเวลา 10 นาที ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองต่างๆ เดินลงพื้นที่เข้าหาประชาชน เพื่อพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อเสนอกันอย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นช่วงที่วุ่นวาย ระหว่างนี้กรรมการการเลือกตั้งก็ติดตามพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งลงพื้นที่แล้วคอยสั่งห้ามว่า การหาเสียงบางประเภทจะเป็นการชักจูงใจโดยสัญญาว่าจะให้บางอย่างตอบแทน หรือเป็นการปลุกระดม ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้งและไม่สามารถทำได้ ส่วนอีกสองพรรคการเมืองสามารถหาเสียงได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีใครติดตาม
8. ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ผู้ดำเนินกิจกรรมประกาศให้ทุกคนกลับไปนั่งแบ่งกลุ่มตามเขตเลือกตั้งทั้ง 7 เขต และประกาศหมายเลขของผู้สมัคร ซึ่งจะเป็นการสลับหมายเลขกันโดยให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันได้ต่างหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นถึงความสับสนของระบบการเลือกตั้งนี้ ตัวอย่างตามภาพ 
หลังจากนั้นให้ผู้เล่นทุกคนได้ออกเสียงเลือกตั้ง สำหรับกิจกรรมที่มีเวลาเพียงพอ และมีจำนวนผู้เล่นไม่มาก ให้ผู้เล่นเดินเรียงแถวมากากบาทและหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบเลือกตั้งทีละคนได้ แต่หากมีจำนวนผู้เล่นมาและมีเวลาไม่เพียงพอก็สามารถให้ผู้เล่นนั่งอยู่กับที่ตามเขตเลือกตั้ง แจกบัตรเลือกตั้งให้ผู้เล่นเขียนคะแนนลงในบัตรเลือกตั้ง แล้วกรรมการการเลือกตั้งเดินเก็บมารวมกันก็จะใช้เวลาน้อยลงมาก
9. นับคะแนนเสียงจากประชาชน
กรรมการการเลือกตั้งนับคะแนนและประกาศทีละเขตเพื่อให้ทุกคนลุ้นผลไปด้วยกัน ขณะที่ผู้ดำเนินกิจกรรมก็จดคะแนนขึ้นให้เห็นว่า ใครได้คะแนนเท่าไร
9.1 หากผู้เล่นทุกคนเล่นตามกติกา คาดหมายว่า สมาชิกพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะเลือกพรรคของตัวเอง ส่วนผู้เล่นที่เป็นประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ อาจจะเลือกพรรคการเมืองแตกต่างกันไปตามนโยบายที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มตนเอง 
9.2 หากผู้ดำเนินกิจกรรมและกรรมการการเลือกตั้งดำเนินกิจกรรมไปได้ด้วยดี คาดหมายว่า พรรคที่ถูกจำกัดการหาเสียงและได้เวลาน้อย จะได้รับความเห็นใจจากประชาชน และได้รับคะแนนสงสารด้วยจำนวนหนึ่ง
9.3 หากเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคนได้คะแนนเท่ากัน ให้ตัดสินกันด้วยวิธีการจับสลาก
10. ประกาศรายชื่อ ส.ส. แบบแบ่งเขต
เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว ผู้ดำเนินกิจกรรมก็ประกาศผลว่า แต่ละเขตพรรคการเมืองใดเป็นผู้ชนะ และขานชื่อของสมาชิกพรรคที่เป็นผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนั้นเพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนในเขตแล้วเดินเข้าสู่สภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
10.1 ในขั้นตอนนี้ หากมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ชนะการเลือกตั้งทั้งหมดทั้ง 7 เขตเลือกตั้ง ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นจากเขตใดเขตหนึ่งทำผิดกฎหมายเลือกตั้งระหว่างการหาเสียง และให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ผู้นั้นขาดคุณสมบัติและไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนลำดับถัดไปได้เป็น ส.ส. แทน
11. จัดสรรที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ
ผู้ดำเนินกิจกรรมรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้จากการเลือกตั้งทุกเขต ไม่นับบัตรเสียและไม่นับคะแนนของผู้สมัครที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง แล้วนำไปใส่กับสูตรคำนวนหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อหาว่า ที่นั่งของ ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งสามที่นั่งจะเป็นของพรรคการเมืองใด
11.1 หากผู้เล่นทุกคนเล่นตามกติกา คาดหมายว่า พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตมากที่สุดจะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเลย หรือได้ที่นั่งเดียวเป็นอย่างมากที่สุด ส่วนพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตน้อย หรือไม่ได้เลย แต่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศระหว่าง 10-15 คะแนน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสมาชิกพรรคของตัวเองที่เลือกตัวเอง ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ 1-2 ที่นั่ง
11.2 หากผู้เล่นทุกคนเล่นตามกติกา คาดหมายว่า ภาพที่ปรากฏหลังการเลือกตั้ง ทั้งสามพรรคการเมืองจะมีที่นั่งอย่างน้อย 1-2 ที่ในสภา อย่างมากที่สุด คือ 6-7 ที่นั่ง
12. จัดสรรที่นั่ง ส.ว.
ผู้ดำเนินกิจกรรมอธิบายว่า สำหรับที่นั่งของ ส.ว. ทั้ง 5 ที่นั่งนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากผู้มีอำนาจคัดสรรไว้แล้ว และส.ว. ทั้ง 5 คน รวมใจกันจะเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ผลการเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาเพียง 1-2 ที่นั่งเท่านั้น
13. เลือกนายกรัฐมนตรี
ผู้ดำเนินกิจกรรมชวนผู้เล่นทุกคนดูจำนวนของผู้แทนในสภา และชวนดูรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมตรีที่มาจากพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อดูว่า ใครมีคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดในสภา 
13.1 หากผู้เล่นทุกคนเล่นตามกติกา คาดหมายว่า พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภา 1-2 ที่นั่ง แต่เมื่อมี ส.ว. สนับสนุนจะเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงสนับสนุนมากที่สุด และสามารถเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วพรรคการเมืองนั้นมีผู้เล่นลงคะแนนให้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้เล่นทั้งหมด
การสรุปกิจกรรม
1. ผู้ดำเนินกิจกรรมเริ่มจากถามความรู้สึก ให้ผู้เล่นทุกคนมีโอกาสได้อธิบายความรู้สึกหลังการเล่นกิจกรรมจำลองการเลือกตั้งครั้งนี้
2. ผู้ดำเนินกิจกรรมอาจถามความรู้สึกเจาะจงเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มสมาชิกพรรคการเมืองที่ประชาชนลงคะแนนให้มาก แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลรู้สึกอย่างไร? กลุ่มประชาชนที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองบางพรรคแต่สุดท้ายพรรคนั้นไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลรู้สึกอย่างไร?
3. ผู้ดำเนินกิจกรรมต้องสามารถเชื่อมโยงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมจำลองเข้ากับสถานการณ์จริงในสนามการเลือกตั้งปี 2562 และกฎกติกาต่างๆ ที่มีอยู่ได้ ดังนี้
3.1 อัตราส่วนของจำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต, ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และส.ว. จำลองมาจากจำนวนจริงในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดให้มี ส.ส. ระบบแบ่งเขต 350 คน มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน มี ส.ว. จากการเลือกตั้งของ คสช. 250 คน จำนวนที่นั่งที่เล่นในเกมจำลองจึงเป็นจำนวนที่ที่นั่งที่หารด้วย 50
3.2 สูตรคำนวนหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสูตรที่จะใช้งานจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 และ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 128
3.3 การให้เวลาหาเสียงที่ไม่เท่ากัน และการบังคับใช้กติกาการเลือกตั้งที่ไม่เสมอภาค จำลองมาจากสถานการณ์จริงที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 สั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง เว้นแต่กิจกรรมที่ คสช. อนุญาตให้ทำไดเท่านั้น จนกระทั่งปลดล็อกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 จึงทำให้ระยะเวลาที่สามารถทำกิจกรรมได้มีไม่เท่ากัน
3.4 การกำหนดให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกัน ได้หมายเลขไม่เหมือนกันในแต่ละเขต จำลองมาจาก พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 48 ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อแต่ละเขตมีผู้สมัคร ส.ส. 40-50 คน อาจนำมาซึ่งความสับสนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้มาก
3.5 การที่กรรมการการเลือกตั้งเจาะจงบังคับใช้กฎกติกากับบางพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ และเมื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้พรรคการเมืองนั้นๆ มีความผิด จำลองมาจากสถานการณ์จริงที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎกติกาต่างๆ ในการเลือกตั้งปี 2562 ต่างมีที่มาจากกลไกของ คสช. เช่นเดียวกัน จึงมีแนวโน้มจะบังคับใช้กฎกติกาเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นโทษกับบางพรรคการเมือง
เทคนิคเพิ่มเติมประกอบการเล่น เพื่อให้สนุกสนานมากขึ้น
1. การแบ่งพรรคการเมืองอาจใช้วิธีการตั้งชื่อให้ตลกๆ ล้อเลียนกับความเป็นจริง หรือาจใช้วิธีการแบ่งเป็นสี เช่น พรรคสีแดง พรรคสีเขียว เพื่อให้ผู้เล่นเห็นได้ชัดเจนและจำได้ง่าย ขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินกิจกรรมจะออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
2. ผู้เล่นทุกคนในกิจกรรมนี้ควรจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งผู้ดำเนินกิจกรรม กรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญด้วย และเพื่อความสนุกสนานทั้งสามคนอาจช่วยพรรคที่ดูเหมือนจะเสียเปรียบในสนามเลือกตั้งหาเสียง รวมทั้งลงคะแนนให้ด้วย
3. หากผู้เล่นทุกคนและผู้ดำเนินกิจกรรมรู้จักกันมาก่อน ผู้ดำเนินกิจกรรมอาจใช้วิธี "เลือก" โดยมอบหมายให้ผู้เล่นสามคนที่มีบุคลิกโดดเด่นและสนุกสนาน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งสามพรรคก็ได้ โดยผู้เล่นสามคนนี้ไม่จำเป็นต้องจับสลากแบ่งบทบาทหน้าที่
4. สำหรับการเล่นในกรณีที่มีเวลาจำกัดประมาณ 1 ชั่วโมง หรือมีผู้เล่นมากเกินไป มากกว่า 100 คน สามารถเล่นกิจกรรมแบบย่อ เพื่อเน้นแสดงให้เห็นถึงระบบการจัดสรรที่นั่งเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยการเลือกผู้เล่นบางคนมาเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อแถลงนโยบาย และข้ามการเล่นแบบมีส่วนร่วมในข้อ 2-7 ไปสู่การลงคะแนนเสียงและนับคะแนนได้เลย