เลือกตั้ง 62: เปิดรายชื่อ 13 นักการเมืองท้องถิ่นพ้นตรวจสอบทุจริตหันหนุนพลังประชารัฐ

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 กระแสความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก็กลับมาคึกคักทันที ตามปฏิทินการเลือกตั้งของ กกต. วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ สำหรับพรรคการเมืองหนึ่งที่น่าจับตามากลำดับต้นๆ คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ แต่ประกอบด้วยสมาชิกพรรคที่เป็นคนเก่าคนแก่ในวงการการเมืองจำนวนหลายคน รวมทั้งรัฐมนตรีสี่คนในรัฐบาล คสช. และพรรคนี้มาพร้อมกับการเปิดตัวสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยถัดไป
พรรคพลังประชารัฐ ถูกกล่าวหาว่าดูดอดีต ส.ส. และรัฐมนตรีจากหลายพรรคการเมือง นอกจากนี้หนึ่งในกลุ่มคนที่ย้ายเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และหันมาสนับสนุนพรรค คือกลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เคยถูก หัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทุจริต ซึ่งพบว่ามีผู้บริหาร อปท. ทั้งหมด 9 คนที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ จากทั้งหมด 22 คน ที่ได้รับการคืนตำแหน่งโดย หัวหน้า คสช. และมีอีก 4 คนที่ยังไม่ได้รับการคืนตำแหน่ง แต่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน

หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ออกคำสั่ง 10 ฉบับ ระงับการทำงานของผู้บริหาร อปท. 192 คน

ตลอดระยะเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปกครองประเทศ หนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยหัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ถึง 10 ฉบับ เพื่อระงับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารและสมาชิกสภา อปท. เพื่อทำการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งมีนักการเมืองท้องถิ่นในระดับตั้งแต่ สภาจังหวัด สภาเทศบาล สภาตำบล ถูกระงับตำแหน่งถึง 192 คน

ตำแหน่งที่ถูกหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ระงับ

ตำแหน่ง

จำนวน

ผู้ว่าฯ กทม.         

1 คน

นายก อบจ.         

15 คน

รองนายก อบจ.    

1 คน

นายกเทศมนตรี    

60 คน

รองนายกเทศมนตรี

5 คน

เลขานุการนายกเทศมนตรี   

1 คน

ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี     

1 คน

ประธานสภา และสมาชิกสภาเทศบาล

2 คน

นายก อบต.         

100 คน

รองนายก อบต.    

3 คน

ประธานสภา และสมาชิกสภา อบต.    

3 คน

 

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้ระงับตำแหน่ง

คำสั่งหัวหน้า คสช.

จำนวนคนที่ถูกระงับตำแหน่ง

ฉบับที่ 16/2558

17 คน

ฉบับที่ 19/2558

42 คน

ฉบับที่ 1/2559

44 คน

ฉบับที่ 43/2559

40 คน

ฉบับที่ 44/2559

1 คน

ฉบับที่ 50/2559

2 คน

ฉบับที่ 52/2559

1 คน

ฉบับที่ 59/2559

6 คน

ฉบับที่ 35/2560

37 คน

ฉบับที่ 39/2560

2 คน

หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4 ฉบับ เพื่อคืนตำแหน่งให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 22 คน
หลังจากที่ใช้ ม.44 ทยอยออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. เพื่อระงับตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น -ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อคืนตำแหน่งให้กับคนที่ถูกระงับตำแหน่งแล้วตรวจสอบไม่พบการทุจริต โดยแบ่งเป็นการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4 ฉบับ ได้แก่ 
คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2559 คืนตำแหน่งทั้งหมด 2 ตำแหน่ง, 
คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561 คืนตำแหน่งทั้งหมด 4 ตำแหน่ง, 
คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 10/2561 คืนตำแหน่งทั้งหมด 12 ตำแหน่ง
คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2562 คืนตำแหน่งทั้งหมด 4 ตำแหน่ง
การคืนตำแหน่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี 22 คน มีคนเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด 9 คน
จากการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4 ฉบับ เพื่อคืนตำแหน่งให้กับผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 22 คน พบว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐถึง 9 คน โดยแบ่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ดังนี้
คืนตำแหน่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561
1. สถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 และได้รับการคืนตำแหน่งนายก อบจ.ยโสธร เมื่อปี 2561 โดยพบว่า สถิรพร นาคสุข นั้นได้สนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในจังหวัดยโสธร 
2. บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 44/2559 หลังจากได้รับการคืนตำแหน่ง พบว่า บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ได้ขึ้นเวทีร่วมปราศรัยที่งานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ และคนสนิทของบุญเลิศ เป็นผู้สมัครด้วย
3. มลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 หลังจากได้รับการคืนตำแหน่ง พบว่าวีระพงษ์ ทองผา พี่ชายสามีของ มลัยรัก ทองผา ได้เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดมุกดาหาร 
4. ชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 35/2561 หลังจากได้รับการคืนตำแหน่ง พบว่า ชัยมงคล ไชยรบ ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานกลุ่มยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ 4 จังหวัด คือสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ  และร่วมชูมือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่จังหวัดสกลนคร และนครพนม 
คืนตำแหน่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 10/2561
1. อนุสรณ์ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยนาท ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 พบว่าอนุสรณ์ นาคาศัย มีความสัมพันธ์เป็นน้องชายของ อนุชา นาคาศัย ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 
2. โกมุท ทีฑธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครสกลนคร ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 หลังจากกลับเข้ารับตำแหน่งพบว่า โกมุท ทีฆธนานนท์ ได้สนับสนุนลูกชาย คือสุมนิศร์ ทีฆธนานนท์ ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศมนตรีนครสกลนคร เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดสกลนคร เขต 1 
3. อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์ ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 35/2560 ก่อนที่ได้รับตำแหน่งคืนเมื่อเดือนตุลาคมปี 2561 พบว่าพ่อของอัครเดช ทองใจสด คือ เอี่ยม ทองใจสด อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดเพชรบูรณ์ เขต 5 ได้ย้ายพรรคไปเป็นว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดเพชรบูรณ์ เขต 5  
คืนตำแหน่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2562
1. สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งคืนเมื่อ 15 มกราคม 2562 โดย สุนทร รัตนากร มีศักดิ์เป็นพี่ชายของ วรเทพ รัตนากร ซึ่งเป็นคนที่พา ส.ส. กำแพงเพชร ยกทีมย้ายจากพรรคเพื่อไทย ไปสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 
2. สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 หลังจากการได้รับตำแหน่งคืน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 มีข่าวรายงานว่า สมชอบ นิติพจน์ ไปร่วมชูมือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และเมื่อเครื่องเสียงพังยังได้นำรถยนต์ตัวเองมาช่วยใช้แทนเครื่องเสียงด้วย 
มีอีก 4 คนที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่ได้รับการคืนตำแหน่ง
นอกจากคนที่ได้รับการกลับเข้าสู่ตำแหน่ง และสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐแล้ว ยังมีอดีตผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางคนที่ยังไม่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับตำแหน่ง แต่มีข่าวการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่
1. ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 และไม่ได้รับการคืนสู่ตำแหน่ง โดยชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ได้นำ “กลุ่มปากน้ำ” หรือในชื่อใหม่ที่ว่า “สมุทรปราการก้าวหน้า” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของตระกูล “อัศวเหม” โดยได้ส่ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ 
2. พรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 ซึ่งพรชัย โควสุรัตน์ เป็นหลานของ สิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกลุ่มตระกูลการเมืองใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดย สิทธิชัย โควสุรัตน์ ได้ย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว 
3. ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 โดย ยุทธนา ศรีตะบุตร ยังไม่มีคำสั่งให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง และพบว่ายุทธนา เป็นผู้สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐในจังหวัดหนองคาย โดยได้ร่วมไปให้กำลังใจ ว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดหนองคาย เขต 1 ด้วย 
4. วิเชียร อุดมศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญ ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช ฉบับที่ 35/2560 ยังไม่มีคำสั่งให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง โดยวิเชียร อุดมศักดิ์ เป็นอดีต ส.ส. อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะย้ายไปพรรคภูมิใจไทย และย้ายเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยผ่านทาง สมศักดิ์ เทพสุทิน