ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ: เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกต้องรอ คสช. อนุญาต

ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ซึ่งจะเป็นแม่บทในการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกระดับจำนวน 7,852 แห่ง ตั้งแต่องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 24 มกราคม 2562 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกต้องรอ คสช. อนุญาต
การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกหลัง ร่าง พ.ร.บ.นี้ บังคับใช้ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นสมควรให้มี โดย คสช. จะแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบและกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และให้ประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการงดการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวนเจ็ดฉบับจะถูกยกเลิกไป (ม.141) ทั้งนี้หาก คสช. สิ้นสภาพไปแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกจะเกิดขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อไปๆ กฎหมายกำหนดเป็นสองกรณี กรณีแรกสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่นครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่ครบวาระ หรือกรณีที่สองสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งตำแหน่งเพราะเหตุอื่นให้จัดเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าสมาชิกสภาฯ เหลือวาระการดำรงตำแหน่งไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้ (ม.10)
แต่งตั้ง กกต. ประจำ อปท. ดูแลการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ กกต. แต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดที่เป็นเขตเลือกตั้งหรือในเขตอำเภอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และจะแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดหรืออำเภอจำนวนไม่เกินสองคนด้วยก็ได้ แต่ไม่ให้แต่งตั้งจากข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ม.25)
ประกาศผลการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใน 30 วัน
การประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้สุจริตและเที่ยงธรรมให้ กกต. ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนให้เสร็จ และประกาศผลการเลือกตั้งหรือจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (ม.16)
หากศาลชี้ว่า กกต. วินิจฉัยผิด ก็ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งที่ดำเนินการไปแล้ว
ในกรณีมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้ผู้บริหาร ประธานหรือรองประธานสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง และ กกต. ได้ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างแล้ว แต่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายหลังว่า การให้พ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ ร่างกฎหมายระบุว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลจะไม่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่ กกต. ได้ดำเนินการไปแล้ว (ม.17)
การกำหนดเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น
ร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งให้จัดให้มีประขาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกันมากที่สุด และพื้นที่ของแต่ละเขตเลือกตั้งต้องติดต่อกัน เว้นแต่บ้างพื้นที่ไม่อาจแบ่งเขตให้มีพื้นที่ติดต่อกันได้ (ม.19) สำหรับหลักการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (ม.18) แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
1) การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ถือเขตเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าเขตใดมีจำนวนประชากรในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเกิน 150,000 คน ให้ กกต. แบ่งเขตนั้นออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่พึงมี โดยแต่ละเขตต้องมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน
2) การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ให้ถืออำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าอำเภอใดมีสมาชิกได้เกินกว่าหนึ่งคนให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีในอำเภอนั้น
3) การเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลตำบล" ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็นสองเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลเมือง" ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็นสามเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลนคร" หรือการเลือกตั้งสมาชิก "สภาเมืองพัทยา" ให้แบ่งเขตเทศบาลหรือเขตเมืองพัทยาเป็นสี่เขตเลือกตั้ง และต้องมีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลเท่ากันทุกเขตเลือกตั้ง
4) การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. ให้ถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่กฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
สำหรับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ให้ใช้เขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 21)
ไม่ไปใช้สิทธิจะถูกตัดสิทธิเป็น 'ข้าราชการการเมือง'
หากไม่สามารถไปเลือกตั้ง ร่างกฎหมาย ระบุให้ผู้มีสิทธิเลิกตั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่ง กกต. กำหนดภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งและภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ให้ดำเนินการตามที่ กกต. กำหนด (ม.39) ซึ่งหากผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิดังนี้ (ม.41)
1) สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
2) สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3) เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
4) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภา
5) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
6) ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
การจำกัดสิทธิทั้งหกข้อมีกำหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ไม่พบชื่อว่ามีสิทธิเลือกตั้งแจ้งก่อนเลือกตั้ง 10 วัน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าตัวเองหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มิสิทธิเลือกตั้ง ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน (ม.43) หรือหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน เช่นกัน (ม.44)
เลือกตั้ง 08.00 – 17.00 น.
ร่างกฎหมายระบุ ในการเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. แต่ กกต. จะกำหนดเวลาการออกเสียงลงคะแนนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ต้องมีเวลาการออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่าเจ็ดชั่วโมง (ม.76)
ผู้สมัครคะแนนน้อยกว่าคะแนนไม่เลือกผู้ใดต้องเลือกตั้งใหม่
ในร่างกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดว่าหลักเกณฑ์ในการชนะเลือกตั้งไว้ดังนี้ (ม.108)
1) “การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น” ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดและมากกว่าเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
2) “การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่มีสมาชิกหนึ่งคน” ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดและได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
3 “การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่มีสมาชิกมากกว่าหนึ่งคน” ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเรียงลำดับลงมาในเขตเลือกตั้งนั้นและได้รับคะแนนมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น หากมีผู้สมัครได้คะแนนเท่ากันให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเลือกตั้งเท่ากันจับสลาก
หากไม่มีผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกตั้ง เพราะเหตุที่ไม่ได้คะแนนมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกตั้งผู้ใด ให้จัดเลือกตั้งใหม่โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งรายเดิมทุกคนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่
หากไม่มีคู่แข่งต้องได้คะแนนร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นเพียงคนเดียวในเขต หรือในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีในเขตนั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มึสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด (ม.109)
การคัดค้านการเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัคร มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อ กกต. ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่ตนสมัครรับเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสามารถยื่นคัดค้านการเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึง 30 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง
สำหรับการคัดค้านเกี่ยวกับการนับคะแนนให้คัดค้านในระหว่างที่ยังนับคะแนนยังไม่เสร็จ หรือในกรณีคัดค้านการรวมคะแนน ให้คัดค้านก่อนประกาศผลการนับคะแนน (ม.111)
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย