สำรวจ ‘ห้าเงื่อนไข’ กำหนดวันเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

แม้ว่า คสช. เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ภายหลังการหารือ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล คสช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และพรรคการเมือง เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ก็ได้ข้อสรุปที่เป็นไปได้มากที่สุดว่า วันเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

จนกระทั่ง หลังมีการประกาศเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกมา ก็ดูเหมือนว่าวันเลือกตั้งดังกล่าวจะถูกขยายออกไปอย่างไม่มีกำหนดที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม วันเลือกตั้งยังต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หรือ ‘กฎหมายเลือกตั้ง’ ที่กำหนดเงื่อนไขวันเลือกตั้งไว้อย่างน้อย 5 ข้อ ดังนี้

 

1. กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ 

รัฐธรรมนูญปี 2562 มาตรา 268 กำหนดว่า 

“ให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว” 

การเลือกตั้งต้องจัดขึ้นภายใน 150 วันหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับบังคับใช้ ซึ่งพ.ร.ป.ทั้งสี่ฉบับบังคับไปใช้หมดแล้ว ‘กฎหมายเลือกตั้ง’ ที่เป็นพ.ร.ป. ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งหากนับไป 150 วัน เวลาอย่างช้าที่สุดที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ก็คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งปกติการเลือกตั้งต้องจัดในวันอาทิตย์ วันอาทิตย์สุดท้ายที่เป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562

2. พ.ร.ฎ. เลือกตั้งต้องประกาศภายใน 90 วัน หลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 171 กำหนดว่า 

“ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ”

พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งส.ส. เป็นการทั่วไป หรือ ‘พ.ร.ฎ เลือกตั้ง’ จะต้องประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาภายใน 90 วันนับแต่ ‘กฎหมายเลือกตั้ง’ บังคับใช้ หรือจะต้องไม่เกินวันที่ 11 มีนาคม 2562 ‘พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง’ จะทำหน้าที่ประกาศว่า “ประเทศไทยมีการเลือกตั้งส.ส. เป็นการทั่วไปอย่างเป็นทางการแล้ว”  ซึ่งตามกำหนดการเดิม พ.ร.ฎ. เลือกตั้งจะประกาศในวันที่ 2 มกราคม 2562 แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้ออก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แล้ว

3. กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน หลังพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งบังคับใช้

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 12 กำหนดว่า

“ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ (1) กำหนดวันเลือกตั้ง”

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 5 วันหลัง ‘พ.ร.ฎ เลือกตั้ง’ ประกาศใช้ หมายความว่าหลัง ‘พ.ร.ฎ เลือกตั้ง’ ประกาศว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งส.ส. เป็นการทั่วไป จากนั้น ภายใน 5 วัน กกต. ต้องระบุวันเลือกตั้งอย่างชัดเจนและเป็นทางการว่าเป็นวันที่เท่าใด

4. กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังวันเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 127 กำหนดว่า

“ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมดซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง”

กกต. ต้องนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 95% ภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่หกสิบ หากทุกอย่างดำเนินการเรียบร้อย กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งก่อนกำหนดเวลาดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ ซึ่งการเลือกตั้งสามครั้งหลังสุด ปี 2548 ปี 2550 และปี 2554 กกต. ใช้เวลาประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้น เฉลี่ย 8 วัน ประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 23 วัน เท่านั้น

5. พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน หลังประกาศผลเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดว่า

“ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก”

และ มาตรา 122 กำหนดว่า 

“พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม

พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธี”

รัฐสภาใหม่ต้องเปิดประชุมครั้งแรกภายใน 15 วันนับแต่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 95% และพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์จะทรงเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งถ้านับตั้งแต่วันเลือกตั้งรัฐสภาต้องเปิดประชุมครั้งแรกภายใน 75 วันหลังการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาสามครั้งล่าสุด ปี 2548 ปี 2550 และปี 2554 ใช้เวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงเปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งจนเสร็จสิ้นเฉลี่ยเวลา 33 วันเท่านั้น 

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่