เลือกตั้ง 62: ‘ม.44’ ไพ่ใบสุดท้ายที่คสช. อาจใช้หากต้องการเลื่อนเลือกตั้ง

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยออกมาชี้แจงหลังหารือเรื่องวันเลือกตั้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า “วันเลือกตั้งต้องมีขึ้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแน่ เนื่องจากอยู่ในช่วง 150 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 โดยวันอาทิตย์สุดท้ายที่อยู่ในวันที่กำหนดคือ วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจัดเลือกตั้งในวันนั้นไม่ได้เนื่องจากเป็นวันที่จัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก หากจะเลื่อนไปหลังจากนั้นก็เกิน 150 วัน ซึ่ง 150 วันนี้ เขียนในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ก็แก้ไม่ได้”

การชี้แจงของวิษณุ ที่กล่าวในทำนองว่า มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ อาจทำให้คนจับตาการใช้มาตรา 44 เลื่อนเลือกตั้งเบาใจ แต่แท้จริงแล้ว มาตรา 44 ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ และเคยถูกใช้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมาแล้ว อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่

หนึ่ง คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขเนื้อหาในเรื่องเรียนฟรี จาก 12 ปี เป็น 15 ปี 

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มาตรา 54 วรรคแรก ระบุว่า “รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวถูกโจมตี ทำให้กรอบการตีความเรื่องการได้รับสิทธิทางศึกษาลดลง เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับ “การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี”

แต่เนื่องจาก ร่างรัฐธรรมนูญผ่านขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญและจะเข้าสู่กระบวนการประชามติแล้ว ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ สุดท้าย หัวหน้า คสช. จึงใช้ อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก้จากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ เรียน ฟรี 12 ปี เปลี่ยนเป็น เรียนฟรี 15 ปี ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว ทั้งนี้แม้ความตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ประกาศใช้จะยังเขียนรับรองสิทธิการเรียนฟรี 12 ปี แต่กฎหมายที่บังคับใช้ในประเด็นนี้อยู่ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 28/2559 ซึ่งขยายเวลาการเรียนฟรีจาก 12 ปี 15 ปี  

สอง คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขเนื้อหาในเรื่องศาสนา 

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ระบุว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาพุทธและศาสนาอื่น” และวรรคต่อมา “ในการคุ้มครองอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ให้รัฐสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่ หลักธรรมของพุทธศาสนานิกายเถรวาท และให้มีมาตรการและกลไกไม่ให้มีการบ่อนทำลายไม่ว่าในรูปแบบใด” ในขณะนั้นที่ยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะทำการประชามติ มาตรา 67 ถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเจาะจงให้อุปถัมป์เฉพาะศาสนาพุทธ ริดรอนสิทธิ และเลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่น

หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย โดยขยายให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองศาสนาและอุปถัมภ์ทุกศาสนา และให้รัฐสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องของแต่ละศาสนา โดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ประกาศใช้จะยังเขียนไว้ให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาพุทธและศาสนาอื่น แต่ในทางปฏิบัติก็ให้เป็นไปตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 49/2559 ที่มีผลบังคับใช้อยู่แทนข้อความในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การใช้ ม.44 แก้ไขสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง จึงเป็นเครื่องการันตีว่า หาก คสช. จะใช้ มาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งก็เป็นเรื่องที่ยังทำได้ และเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะจับตาต่อไปในขณะที่วันเลือกตั้งที่ชัดเจนยังไม่เกิดขึ้น