ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ เสนอปฎิรูปเชิงองค์กร นำรัฐวิสาหกิจเข้าสู่บรรษัท

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ หรือ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ โดยจะมีการนำรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่รวมกันภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ ซึ่งจะมีรัฐวิสาหกิจจำนวน 11 แห่ง ประกอบด้วย
1. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ขนส่ง จำกัด
4. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
7. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
9. บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด
10. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
หากจะกล่าวถึงปัญหาหลักของรัฐวิหากิจไทยที่รัฐบาลหลายชุดพยายามจะแก้ไขเรื่อยมา นั่นคือโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัด ส่งผลให้ขาดเอกภาพอิสระที่จะดำเนินงานเอง ทำให้เกิดอุปสรรคในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ขาดความความโปร่งใส ไม่แข็งแรงพอที่จะแข่งขันกับภาคเอกชนได้ เมื่อเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ การร่าง พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมุ่งหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงให้รัฐวิสาหกิจมีคุณภาพที่ดีต่อไป  
พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ฉบับนี้ถูกนำเสนอโดย ครม. วัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปโครงสร้างการกํากับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนพัฒนาระบบการกํากับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรมให้รัฐวิสาหกิจสามารถดําเนินการจัดทําบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ให้แก่ประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยร่างกฎหมายมีสาระสำคัญดังนี้
ตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” เพิ่มประสิทธิภาพ
         
พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ กำหนดให้มีการจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นเป็นนิติบุคคลมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ โดยที่บรรษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจและหน้าที่ คือคอยควบคุมและบริหารความเสี่ยง กำหนดนโยบายการลงทุนของกิจการ และดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล 
อีกทั้งอนุญาตให้บรรษัทฯ มีอำนาจควบคุมกิจการภายในรัฐวิสาหกิจ เช่น ถือกรรมสิทธิในทรัพย์สินและหลักทรัพย์ สามารถก่อตั้งสิทธิและกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอณาจักร สามารถรับรองค้ำประกัน และสามารถกู้ยืมเงินในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อกิจการของบรรษัท ตามหลักเกณฑ์ที่ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ ครน. กำหนด
นอกจากนี้บรรษัทยังสามารถกำหนดสภาพการจ้างงานเองได้ และไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพการจ้าง
            
ที่มาและองค์ประกอบของ “คณะกรรมการบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ”
คณะกรรมการบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ จะมีสมาชิกจํานวนไม่เกินสิบคน ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหาจํานวนไม่เกินเก้าคนเป็นกรรมการ และกรรมการผู้อํานวยการใหญ่บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตําแหน่ง กรรมการบรรษัทฯ จะทําหน้าที่ดําเนินกิจการของบรรษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และ ข้อบังคับของบรรษัทฯ  ตลอดจนมติของ คนร. และให้ คนร. แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบรรษัทฯ
          
ในการสรรหาคณะกรรมการบรรษัทฯ ผู้ทรงคุณวุฒินั้น ให้มีคณะกรรมการสรรหามีจำนวนเจ็ดคน ซึ่งประธาน คนร. แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงพลังงาน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเลขาธิการคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้กรรมการสรรหาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คือใคร?
คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อที่จะกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ โดยกรรมการ คนร. มี 16 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คนร. รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสองคน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานกรรมการบรรษัทรัฐวิสาหกิจฯ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งโดย ครม. จำนวนห้าคน และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ขอบเขตหน้าที่ของและอำนาจของ คนร.
       
คนร. ต้องจัดทําแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เสนอแนะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลการบริหารรัฐวิสาหกิจต่อ ครม. อีกทั้งยังต้องกํากับดูแลการดําเนินงานและสถานะทางการเงิน ตลอดจนการประเมินผลการดําเนินงานของบรรษัทและรัฐวิสาหกิจ กําหนดหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ตามความเหมาะสม  กําหนดแนวทางการกํากับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ สามารถออกประกาศเพื่อกําหนดแนวทางในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอแนะให้มีการตราหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ ที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ
      
นอกจากนี้ คนร. จะเป็นผู้พิจารณาการโอนรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทฯ รวมทั้งกําหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของ หลักทรัพย์ที่จะโอนให้แก่บรรษัท เพื่อเสนอต่อ ครม.  ให้ความเห็นชอบการควบ โอน แยก ยุบเลิก รัฐวิสาหกิจ และการเปลี่ยนแปลงสัดส่วน ในหุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือทําให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอต่อ ครม. อีกทั้งยังพิจารณาการชดเชยผลขาดทุนจากการดําเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนประจําปีหรือการแก้ไขวงเงินดังกล่าว ของรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะกรรมการบรรษัทฯ เสนอ
                 
กล่าวโดยสรุปคือ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กับยกระดับและหน้าที่ของ คนร. โดยการกำหนดให้ คนร. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจพิจารณาสั่งการให้กระทรวงการคลังที่เป็นผู้ถือหุ้นโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจไปยังบรรษัทแห่งชาติ และยังมีอำนาจเห็นชอบวงเงินลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในการดูแลของบรรษัท และมีอำนาจในการลดสัดส่วนหุ้นของรัฐวิสาหกิจ และอาจจะสามารถเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจมาเป็นรูปบริษัทเพื่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้  
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจาก พ.ร.บ การพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ฉบับใหม่
           
รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กทม. ผู้ติดตามเรื่องกิจการพลังงาน อธิบายปัญหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ต้องการที่จะพัฒนาเสริมสร้างในการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ และสามารถดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพโดยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งขัดแย้งกันเอง การจะคงความเป็นรัฐวิสาหกิจและให้มีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์นั้นเป็นไปไม่ได้
อีกทั้ง ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้กำหนดว่ามีการแบ่งแยกคนที่เป็นเจ้าของและคนกำหนดนโยบาย รวมไปถึงการปฏิบัติให้แยกออกจากกัน แต่ถ้าเข้าไปดูในร่าง พ.ร.บ. จะพบว่าไม่ได้มีการแบ่งแยก เช่น การกำหนดนโยบายที่ป้องกันไม่ให้นักการเมืองในอนาคตเข้ามา แต่พบว่า คนร. มีสัดส่วนรัฐมนตรีห้าคน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ข้าราชการห้าคน ผู้ทรงคุณวุฒิอีกห้าคน ที่เลือกมาจาก ครม. และมีผู้อำนวยการใหญ่บรรษัทฯ อีก หนึ่งคน รวมทั้งหมด 16 คน
ขณะที่ บรรยง พงษ์พานิช อดีต กรรมการ คนร. กล่าวว่า แต่เดิมรัฐวิสาหกิจจะแยกกันอยู่สิบกระทรวง ไม่มีมาตรฐานที่จะบริหาร ซึ่งการรวมศูนย์การบริหารรัฐวิสาหกิจที่ คนร. จะเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการและมาตรฐาน และสิ่งที่จะช่วยไม่ให้กินรวบรัฐวิสาหกิจคือมีกลไกธรรมาภิบาลสากล ซึ่ง คนร. จะไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เช่น รัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าบรรษัท กระทรวงยังมีอำนาจอยู่ แต่ตอนนี้จะมี คนร. มาช่วยดู ซึ่งจะเป็นการบูรณาการและคานอำนาจมากกว่า นอกจากนี้บรรษัททำอะไรทุกอย่างไม่ได้ ต้องมอบอำนาจลงไปที่บอร์ด ทำตัวเป็นผู้ถือหุ้น จะทำอะไรก็ต้องไปที่ คนร. แล้วไปที่ ครม. เหมือนเพิ่มกระบวนการแต่เป็นกระบวนการที่มีเหตุมีผลและมีการรับผิดรับชอบมากขึ้น
ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ทำเพื่อแปรรูป แต่ก็ไม่ได้ห้ามการแปรรูป การห้ามนั้นจะขัดขวางทางเลือกในอนาคตและทรัพยากรของรัฐจะบริหารยากขึ้น แต่ถ้าจะแปรรูปกระบวนการเพิ่มขึ้น รัดกุมขึ้นและคานอำนาจกันมากขึ้น เมื่อก่อนเราจะแปรรูปจะถูกส่งเรื่องโดยกระทรวงที่เป็นทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับ และเจ้าของ จุดเดียวไม่มีการคานอำนาจเลย การแปรรูปอาจจะไม่สมบูรณ์ได้ แต่ถ้าจะแปรรูปโครงสร้างใหม่จะมีการคานอำนาจกัน
         
ไฟล์แนบ