กฎหมายคุ้มครองสิทธิ ทำไมต้องรีบผ่านในช่วงโค้งสุดท้ายของ สนช.

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาออกกฎหมาย และทำงานอย่างรวดเร็ว ใช้เวลา 4 ปี 5 เดือนออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 341 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละมากกว่า 6 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยหน่วยงานราชการ และเสนอโดยคณะรัฐมนตรีของ คสช. เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงาน บุคลากร เงินค่าตอบแทน และอำนาจหน้าที่ ให้ข้าราชการทำงานกันได้ง่ายขึ้น แต่หลายฉบับก็ออกมาเพื่อควบคุมประชาชนชัดเจน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 การแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับ พ.ศ.2560
ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่ สนช. จะหมดอายุไปภายหลังการเลือกตั้งต้นปี 2562 และมีรัฐสภาใหม่จากการเลือกตั้ง มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกเสนอหรือเตรียมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างเช่น
ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต: ฝันค้างหลายปีของกลุ่ม LGBT ไทย
ระบบจดทะเบียนคู่ชีวิตถูกสร้างขึ้นมาสำหรับคู่รักที่ไม่ใช่คู่รักเพศชายกับเพศหญิงตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพราะมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การสมรสทำได้ระหว่าง "ชายและหญิง" เท่านั้น แต่เมื่อคนสองคนประสงค์จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน การจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตจึงเข้ามาแทนที่เพื่อช่วยให้คู่รักมีสถานะทางกฎหมายรองรับ และสามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน หรือได้รับมรดกของคู่รักอีกฝ่ายได้  หวังแก้ปัญหาการเรื่องการจัดการทรัพย์สินที่คู่รักเพศเดียวกันต้องประสบมาตลอด
อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ฉบับที่ปรากฎใหเห็นในรัฐบาล คสช. ยังไม่รับรองการมีบุตรร่วมกันของคู่รักที่ไม่ใช่หญิงและชาย จึงไม่ได้กำหนดให้คู่ชีวิตที่จดทะเบียนแล้วมีสิทธิรับบุตรบุญธรรม หรือใช้เทคโนโลยีช่วยมีบุตร (อุ้มบุญ) และเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสอีกหลายฉบับ ยังเขียนให้สิทธิสำหรับ "คู่สมรส" ไว้ ดังนั้นคู่รักที่จดทะเบียนเป็น "คู่ชีวิต" ก็ยังไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ตามมาอย่างครบถ้วน เช่น สิทธิในการตัดสินใจว่าจะรับการรักษาพยาบาลหรือไม่ในกรณีที่อีกคนหนึ่งไม่อยู่ในสภาพที่แสดงเจตนาได้ หรือสิทธิได้รับสวัสดิการในฐานะเดียวกับคู่สมรส ฯลฯ 
ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เคยถูกร่างและนำเสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 2556 แต่คณะรัฐมนตรีชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้รับไปเสนอต่ออย่างจริงจัง ในยุครัฐบาลของ คสช. ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายได้น้อย กฎหมายฉบับนี้ถูกหยิบขึ้นมาทำงานต่ออีกครั้งด้วยรายละเอียดแตกต่างไปจากร่างฉบับเดิมบ้าง และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 25 ธันวาคม 2561
ที่น่าสนใจ คือ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBT จำนวนมากก็ยังไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเชื่อว่า การรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะครบถ้วนสมบูรณ์ควรต้องใช้วิธีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ให้บุคคลสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ โดยไม่จำกัดเพียงแค่ "ชายและหญิง"
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระวัง! จะไม่คุ้มครองถ้าทหารเป็นคนละเมิด
เป็นเรื่องแปลกมากท่ามกลางการพัฒนาทางเทคโนโลยีแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้บริษัท เอกชนยักษ์ใหญ่ รวมทั้งผู้มีอำนาจรัฐ สามารถเข้าถึงการติดต่อสื่อสารและใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน เพื่อเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ ไปทำโฆษณา หรือใช้ประโยชน์ทางธุรกิจและทางการเมืองของตัวเองได้ โดยประชาชนไม่มีเครื่องมือจะไปต่อสู้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเรียกร้องมาตรการการดูแลข้อมูลส่วนตัวทั้งหลายมาต่อเนื่องนับสิบปี ซึ่งมีร่างกฎหมายหลายฉบับเคยถูกเขียนขึ้นแต่ไม่ค่อยก้าวหน้าเมื่อไปถึงมือของผู้มีอำนาจรัฐ
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถูกเสนอในรัฐบาล คสช. ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2558 พร้อมชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลที่มีเสียงคัดค้านดังหนาหู และถูกดองยาวเอาไว้ จนกลับมาอีกครั้ง ในเดือนกันยายน 2561 พร้อมหลักการใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้น คือ การเก็บข้อมูลใดๆ การนำข้อมูลไปใช้ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ต้องไปรับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนเท่านั้น แต่กลับยกเว้นว่า หลักการนี้ไม่ใช้บังคับกับการเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐเพื่อความมั่นคง ไม่ใช้กับการเปิดเผยข้อมูลของสื่อมวลชน และไม่ใช้กับบริษัทข้อมูลบัตรเครดิต นอกจากนี้การเก็บข้อมูลของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการดำเนินการตามกฎหมายหรือการใช้อำนาจรัฐ ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตด้วย
ดังนั้น หากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้โดย สนช. ด้วยข้อยกเว้นกว้างขวางมากมายเช่นนี้ ก็เท่ากับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยังไม่ถูกคุ้มครองในกรณีสำคัญๆ อยู่ดี เพียงแค่ได้ชื่อว่ามีกฎหมายนี้แล้ว ซึ่งซ้ำร้ายหน่วยงานรัฐอาจจะเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลโดยอ้างว่า ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วเสียด้วย
เสรีกัญชายังไม่จริง ! สนช. แค่ขยับไปอีกก้าวหนึ่ง
ข่าวดีช่วงปลายปีสำหรับชาว "สายเขียว" ผู้นิยมใช้กัญชาทั้งในฐานะสิ่งบันเทิงและเพื่อประโยชน์ด้านอื่น เมื่อ สนช. ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยเนื้อหาหลักเป็นการปลดล็อกให้กัญชาและกระท่อมสามารถเอามาใช้งานได้ในบางกรณี จากเดิมกฎหมายถือว่า เป็นสิ่งเสพติดที่ต้องห้ามเสพ ห้ามครอบครองเด็ดขาด ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังเป็นกระแสโลกที่หลายประเทศแก้ไขกฎหมายไปก่อนแล้ว และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองไม่น้อยด้วย
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จะเปิดช่องให้สามารถออกใบอนุญาตเพื่อผลิด นำเข้า และส่งออกได้ ผู้จะขออนุญาตได้ต้องเป็นหน่วยงานราชการ หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และเปิดช่องให้สามารถครอบครองและใช้กัญชาและกระท่อมเพื่อรักษาโรคได้ โดยมีใบรับรองแพทย์ และให้คณะกรรมการกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ข้อเสนอครั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดให้ทุกคนสามารถปลูกหรือเสพกัญชาหรือกระท่อมเพื่อความบันเทิงได้อย่างอิสระ หรือยังไม่ได้ปลดล็อกให้มี "เสรีกัญชา" ได้จริง
และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สนช. ก็ลงมติวาระที่สามผ่านร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด (ฉบับที่ 7) รอวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ลุ้นหนักอีกที่ข้อยกเว้น
หลังความพยายามผลักดันต่อเนื่องหลายปี ประเทศไทยก็ยอมลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) แล้ว ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวสั่งให้ไทยต้องมีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้ การทรมานเป็นความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดฐานทรมานจะถูกดำเนินคดีได้เพียงฐานทำร้ายร่างกายเท่านั้น และยังต้องสร้างกลไกการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยให้มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมากฎหมายเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับความสนใจ และยิ่งดูเหมือนจะผลักดันได้ยากในยุครัฐบาลทหาร
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ถูกเสนอเข้าสู่ สนช. วันที่ 20 ธันวาคม 2561 อีกไม่กี่วันก่อนสิ้นปี ข้อเสนอในร่างนี้ได้กำหนดให้การทรมานและการอุ้มหายบุคคลเป็นความผิดเฉพาะขึ้นมา แต่ประเด็นความรับผิดของผู้บังคับบัญชายังกำหนดให้รับผิดต่อเมื่อได้สั่งงานหรือรู้เห็นโดยตรงเท่านั้น ไม่ได้ให้รับผิดเพราะการปล่อยปละละเลย และยังไม่ได้ห้ามการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน
สำหรับประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงมายาวนาน และทำให้ร่างกฎหมายนี้เดินหน้าอย่างล่าช้าตลอดมา คือ การห้ามส่งกลับผู้ลี้ภัยที่อาจถูกทรมานจากการส่งตัวกลับประเทศ และการกำหนดห้ามทรมานไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ไม่ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินหรือในภาวะสงคราม ซึ่งฝ่ายทหารยังอยากให้เก็บข้อยกเว้นในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ จึงต้องลุ้นต่ออีกว่า เมื่อกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ที่มีสมาชิก 58% เป็นทหาร ข้อยกเว้นจะถูกใส่กลับเข้ามาหรือไม่ และหากการทรมานยังถูกยกเว้นให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีคุณค่าอะไรที่ต้องประกาศใช้อีก
วิเคราะห์ 3 สาเหตุ ร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเข้า สนช. โค้งสุดท้าย
ร่างกฎหมายเหล่านี้ โดยหลักการใหญ่แล้วอาจจะเป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพ และเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น แต่ไม่เคยถูกพูดถึงตลอดการทำงานกว่า 4 ปีของ คสช. และ สนช. เมื่อถูกยกมาพูดถึงและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในช่วงท้ายๆ ก่อนที่ สนช. กำลังจะหมดอายุจึงควรที่จะจับตากระบวนการโค้งสุดท้ายของสภาแห่งนี้ให้ดี ไม่ว่ากฎหมายเหล่านี้จะผ่านการพิจารณาได้ทันเวลาหรือไม่ก็อาจสะท้อนให้เห็นแรงจูงใจทางการเมืองที่ถูกเสนอเข้าสู่ สนช. ในเวลากระชั้นชิดเช่นนี้ได้ ซึ่งอาจพิจารณาความเป็นไปได้ออกเป็นสามประการ
ประการแรก หากกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันให้ผ่าน สนช. และประกาศใช้ได้ทันเวลา โดยยังคงเนื้อหาภายในที่เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็พอจะเป็นผลงานที่ สนช. สามารถนำไปอวดอ้างได้ สามารถใช้สร้างความนิยมให้กับรัฐบาล คสช. ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งได้ และยังเป็นการช่วงชิงเอาเรื่องที่ประชาชนสนใจที่พรรคการเมืองหลายแห่งเตรียมนำเสนอเป็นนโยบายของพรรคมาทำก่อน ทำให้ คสช. ได้เปรียบในสนามการเลือกตั้ง
ประการที่สอง หากกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันให้ผ่าน สนช. และประกาศใช้ได้ทันเวลา แต่เนื้อหาภายในเต็มไปด้วยข้อยกเว้นที่เป็นประโยชน์กับภาครัฐเองมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน คสช. ก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเองได้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพยังไม่เกิดขึ้นจริง และเมื่อตัวกฎหมายที่มีชื่อสวยงามประกาศใช้แล้ว การที่ฝ่ายประชาชนจะอธิบายสวนทางว่า สิทธิเสรีภาพยังมีปัญหาอยู่และยังต้องแก้ไขกฎหมายให้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องยากกว่าการไม่มีกฎหมายออกมาเลย
เนื่องจากรัฐบาลของ คสช. มาจากการทำรัฐประหารและมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตานานาชาติ และยังถูกข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยอำนาจทหารอย่างหนักหน่วง การผ่านกฎหมายเหล่านี้จึงเป็นวิธีการที่ทางรัฐบาลของ คสช. สามารถใช้เพื่อตอบคำถามนานาชาติได้ว่า คสช. พยายามออกมาตรการ หรือกฎหมายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะใส่ข้อยกเว้นในรายละเอียดที่ทำให้การคุ้มครองสิทธินั้นไม่เกิดขึ้นจริงหรือแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ไว้ด้วย ซึ่งต่างชาติอาจไม่ได้ทราบรายละเอียดเหล่านี้
ประการที่สาม หากกฎหมายเหล่านี้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณา แต่ สนช. ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทันก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองของ คสช. ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงได้ว่า หากพรรคของ คสช. ได้รับการเลือกตั้งกลับมาบริหารประเทศจะยกกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาต่ออีกครั้ง