เลือกตั้ง 62: คสช./กกต. อาจใช้อะไรเป็นเครื่องมือคุมนักการเมืองบ้าง?

การเลือกตั้งตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับปากเอาไว้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ทว่า บรรดานักการเมืองหรือผู้ที่ต้องการสมัครรับเลือกตั้งยังต้องผจญกับสารพัดข้อหาหรือความเสี่ยงจากกฎหมายที่มาจากคสช. เอง หรือ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. 
ก่อนการเลือกตั้ง 2562 บรรดานักการเมืองต้องเสี่ยงต่อกฎหมาย อย่างน้อย 2 อย่าง ได้แก่
หนึ่ง บรรดาประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. 
หลังการรัฐประหาร คสช. ได้ออกประกาศเพื่อควบคุมพรรคการเมือง นักการเมืองอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ คสช. ที่ 57/2557, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 แม้ว่าประกาศและคำสั่งคสช. หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช. บางฉบับจะถูกยกเลิกไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 22/2561
แต่ทว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีการยกเลิกเฉพาะข้อ 12 ที่ระบุว่า "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ในขณะที่คำสั่งดังกล่าว ยังให้อำนาจ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย"  เรียกคนมารายงานตัว ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน จับกุมคนที่กระทำความผิดซึ่งหน้า บุก ตรวจค้น บุคคล ที่อยู่ศัย ยานพาหนะ และสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ หากพบผู้กระทำความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.
นอกจากนี้ เจ้าพนักงานดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยยังมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว จำหน่าย แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
สอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ในการเลือกตั้งปี 2562 กฎหมายสำคัญที่จะถูกนำมาใช้กับนักการเมืองก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ที่จะเข้ามาควบคุมการหาเสียงของนักการเมือง รวมถึงให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษนักการเมืองได้ 
พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 69 กำหนดให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด ห้ามโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่ เป็นการโฆษณาหาเสียงภายใต้การควบคุมของ กกต. ขณะเดียวกัน ในมาตรา 70 และ 71 ยังระบุด้วยว่า การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทําโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นใด ต้องกระทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กกต. กําหนด
หากนักการเมือง หรือผู้ใด ไม่ได้กระทำตามกฎหมายมาตรา 69 70 และ 71 จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 
อีกทั้ง พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ยังให้อำนาจ กกต. ในการกำกับเรื่องเนื้อหาของการหาเสียงด้วย เช่น มาตรา 74 ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กําหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง รวมไปถึง ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจํานวนค่าใช้จ่ายตามที่ กกต. กำหนด
นอกจากนี้ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 132 ยังให้อำนาจ กกต. ว่า ในช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น "ให้ กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี" นับแต่วันที่มีคําสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่
สาม ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 คสช. ได้ใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการควบคุมประชาชนหรือนักเคลื่อนไหวที่ออกมาแสดงออกในทางคัดค้าน ต่อต้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างเช่น
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ที่ระบุว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืน ใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
อย่างไรก็ดี หลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับแรก (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2560 คสช. พุ่งเป้าการดำเนินคดีไปที่นักการเมืองอย่างน้อย 5 คน อย่างเช่น 
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต หรือ "หมวดเจี๊ยบ" ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ , มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการเปิดทำเนียบต้อนรับนักดนตรีที่อยู่ระหว่างทำกิจกรรมวิ่งเพื่อระดมทุนให้โรงพยาบาลแต่กลับไม่ยอมให้ชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่จังหวัดสงขลาเข้าพบ
หรือ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เรื่องห้ามจำหน่ายนิตยสารไทม์ในไทยและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูดตัว ส.ส. พรรคเพื่อไทย