เลือกตั้ง 62: ระบบนับที่นั่ง MMA ทำพรรคใหญ่แตกตัว พรรคเล็กเกิดไม่ได้

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 กำลังเดินหน้าไปตามกติกาที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางเอาไว้หมดแล้ว ทั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ) และกฎหมายอื่นๆ ที่ออกมาภายใต้ระบอบของ คสช. กลไกสำคัญที่มีขึ้นและจะถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก คือ ระบบการเลือกตั้งและการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบใหม่ ที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) 
ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งการแบ่งเขตเพื่อเลือก ส.ส. 350 เขตได้ประกาศออกมาแล้ว โดยใช้ระบบเลือกแบบ "หนึ่งเขตหนึ่งคน" ประชาชนทุกคนมีสิทธิหนึ่งเสียงที่จะกากบาทเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็น ส.ส. ตัวแทนของเขตเลือกตั้งนั้นๆ 
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อผลการเลือกตั้ง คือ จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช. เลือกมา 250 คน จะมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น ในรัฐสภาหลังการเลือกตั้งจะมีสมาชิกที่รวมกันออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี 750 คน ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง หากพรรคการเมืองใดต้องการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องหา ส.ส. มาสนับสนุนให้ได้ 376 เสียง แต่หาก คสช. จะกลับมาเป็นรัฐบาลก็มีเสียงของ ส.ว. อยู่ในมือแล้ว 250 เสียง ต้องอาศัยเสียง ส.ส. สนับสนุนอีกเพียง 126 เสียงเท่านั้น
การได้มาซึ่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ตามระบบ MMA ก็ใช้วิธีคำนวนแบบใหม่จากสูตรคณิศาสตร์อันซับซ้อนที่ออกแบบมาเพื่อหวังผลทางการเมือง ประชาชนทุกคนต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ดังนี้
การเลือกตั้ง 62 ประชาชนกาบัตรใบเดียว เลือกทั้งคนที่รักและพรรคที่ชอบ
"เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" เป็นคำขวัญที่ กกต. ใช้รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนมาตั้งแต่หลังปี 2540 เมื่อการเลือกตั้งแบ่งเป็นสองระบบ คือ ระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อเป็นครั้งแรก เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่คนไทยเรียนรู้การไปเลือกตั้งโดยต้องกาบัตรสองใบ ใบแรกเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต ใบที่สองเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งประชาชนจำนวนไม่น้อยก็อาจกากบาททั้งสองใบให้ ส.ส. จากต่างพรรคกัน เพราะในระดับท้องถิ่นอาจจะเห็นว่า ผู้สมัครบางคนทำประโยชน์ให้ท้องถิ่นได้มาก ขณะที่ในระดับประเทศชื่นชอบนโยบายของพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่ง 
การเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้ประชาชนกากบาทเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเท่านั้น ประชาชนไม่มีสิทธิกากบาทเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบผ่านระบบบัญชีรายชื่อให้แตกต่างออกไป แล้วคะแนนที่เลือกในระบบแบ่งเขตจะถูกนำไปใช้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นภายหลัง ประชาชนไม่มีโอกาสแล้วที่จะเลือกคนที่รักอยู่คนละพรรคการเมืองกับพรรคที่ชอบ หากมีบุคคลในใจกับพรรคการเมืองในใจแตกต่างกันก็ต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
สูตรคำนวนที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์
สูตรที่ใช้คำนวนจำนวนที่นั่งของ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ แบบพิเศษของ MMA นั้น ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 128 สรุปได้ว่า 
(1) นำจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ไม่รวมบัตรเสียเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด คือ 500 จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขชุดหนึ่ง ที่อนุมานว่า เป็นค่าเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อ ส.ส. หนึ่งที่นั่ง
(2) เมื่อจะหาจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองใด ก็นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้จากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำตัวเลขที่ได้จากข้อ (1) ไปหาร ผลลัพธ์จะเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
(3) นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ จากข้อ (2) มาเป็นตัวตั้ง ลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้มาแล้ว ผลลัพธ์ คือจำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ 
หรืออาจจะจัดเรียงเป็นสูตรคำนวนแบบสั้นๆ ได้ ดังนี้
วิธีการคำนวนเช่นนี้ ส่งผลให้พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. จากระบบแบ่งเขตจำนวนมาก เท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้จากสูตรคำนวนในข้อ (2) จะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกเลย และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตน้อยกว่าจำนวน ส.ส. ที่ควรจะมีได้ ก็จะได้รับการ "เกลี่ย" จัดสรรที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อให้ได้เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดจะได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อจนทำให้มี ส.ส. เกินจำนวนที่จะควรจะมีได้จากผลลัพธ์ในข้อ (2) 
เมื่อคิดคำนวนตามสูตรนี้แล้ว ได้ผลลัพธ์เป็นเศษทศนิยม จะคิดทศนิยมสี่หลัก และจะคำนวนโดยให้แต่ละพรรคได้จำนวน ส.ส. ตามจำนวนเต็มก่อนยังไม่ปัดเศษทศนิยม โดยตั้งเป้าหมายว่า สุดท้ายแล้วจะได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 150 คน พอดี หากยังได้ไม่ครบ ก็ให้พรรคการเมืองที่ได้เศษทศนิยมสูงสุด ได้ ส.ส. เพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับไปเรื่อยๆ จนครบ 150 คน 
กรณีที่คำนวนตามสูตรนี้แล้วปรากฏว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อแล้วเกินกว่า 150 คน ให้เริ่มคำนวนด้วยวิธีใหม่ โดยเอาจำนวนที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคจะได้คูณด้วย 150 และหารด้วยจำนวนส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่คำนวนได้ในรอบแรก โดยถ้าได้ผลลัพธ์เป็นเศษทศนิยม ก็ให้พรรคการเมืองที่ได้เศษทศนิยมสูงสุดได้ที่นั่งไปก่อนตามลำดับ
ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ทำให้การเลือกตั้งในบางเขต หรือบางหน่วยเลือกตั้งต้องเลือกตั้งใหม่ เพราะมีข้อสังสัยเรื่องการทุจริต ตามพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 130, 132 ไม่ให้เอาผลคะแนนของเขตเลือกตั้งนั้นๆ มาคำนวนเพื่อหา ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วย และมาตรา 131 กำหนดว่า หากภายในหนึ่งปีนับจากวันเลือกตั้ง ถ้ามีเหตุทุจริตทำให้ต้องเลือกตั้งใหม่ในบางเขต ก็ให้คำนวนหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ โดยไม่เอาคะแนนของเขตเลือกตั้งที่เลือกใหม่นั้นมาคำนวนด้วย
ผลของ MMA พรรคใหญ่จะได้ ส.ส. น้อยลง พรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส. มากขึ้น
หากนำผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นฐานในการทดลองคำนวนโดยสูตรคณิตศาสตร์ตามระบบ MMA จะพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ดังนี้
หนึ่ง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ น้อยลง 
พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนมาก เมื่อนำจำนวน ส.ส. ที่ควรจะมีได้จากการคำนวนสูตร MMA ไปลบจำนวน ส.ส. ที่ชนะในระบบแบ่งเขต ในขั้นตอนที่ (3) แล้วเหลือจะจำนวน ส.ส. ที่จะได้จากระบบบัญชีรายชื่อไม่มากนัก ซึ่งจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. น้อยลงเทียบกับการคำนวนด้วยระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550
อีกสาเหตุหนึ่งที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะเสียเปรียบเพราะ พรรคการเมืองขนาดใหญ่มักจะเป็นตัวเลือกในระดับประเทศ ที่ประชาชนบางคนอาจจะเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขต ที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง "เจ้าของพื้นที่" แต่ในระดับประเทศก็เลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เมื่อในระบบ MMA ประชาชนเหลือบัตรใบเดียวให้กากบาท แล้วเอาคะแนนจากระบบแบ่งเขตมาคำนวนหาที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อ คะแนนที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้รับมาเพื่อใช้เป็นฐานในกาคำนวนจึงแตกต่างไปมาก ตัวอย่างเช่น
พรรคเพื่อไทย ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ครบ 375 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 14,125,219 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 61 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 18 คน น้อยลง 43 คน
สอง พรรคการเมืองขนาดกลาง ที่มีฐานเสียงในท้องถิ่น ได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ เพิ่มขึ้นมาก
พรรคการเมืองขนาดกลางๆ จะเป็นผู้ได้เปรียบในการเลือกตั้งระบบนี้ สาเหตุหลักเพราะพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงเข้มแข็งอยู่ในท้องถิ่นมักจะได้คะแนนจาก ส.ส. ระบบแบ่งเขตมาก เพราะประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุน แต่ได้คะแนนจาก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อน้อยกว่า เพราะประชาชนในท้องถิ่นบางคนก็อาจจะ "เลือกพรรคที่ชอบ" โดยกากบาทให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในระดับชาติด้วย แต่เมื่อเหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้กากบาทในระบบแบ่งเขต และนำคะแนนจากระบบแบ่งเขตมาใช้คำนวนหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ คะแนนที่ใช้ตั้งต้นคำนวนของพรรคการเมืองขนาดกลางจึงสูงขึ้น 
อีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดกลางมีกำลังสามารถส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้หลายเขต อาจจะได้คะแนนหลักพันหรือหลักหมื่นในหลายเขตเลือกตั้ง เป็นลำดับที่สองหรือสาม แต่ไม่ได้รับเลือกในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ในระบบเดิมคะแนนที่ประชาชนออกเสียงให้เหล่านี้แทบจะสูญเปล่าไป แต่ระบบ MMA จะกวาดคะแนนเหล่านี้มาคำนวนเป็นที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่ออีกครั้ง 
นอกจากนี้ผลจากระบบ MMA ที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อน้อยลง ทำให้มีที่ว่างในระบบบัญชีรายชื่อที่จะ "เกลี่ย" มาให้พรรคการเมืองขนาดกลางด้วย ตัวอย่างเช่น
พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ครบ 375 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 10,095,250 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 44 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 45 คน เพิ่มขึ้น 1 คน
พรรคภูมิใจไทย ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ 189 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 3,485,153 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 5 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 26 คน เพิ่มขึ้น 21 คน
พรรคชาติไทยพัฒนา ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ 153 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 1,515,320 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 4 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 9 คน เพิ่มขึ้น 5 คน
พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ 288 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 1,242,084 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 2 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 14 คน เพิ่มขึ้น 12 คน
พรรคพลังชล ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ 11 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 246,879 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 1 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 0 คน ลดลง 1 คน
พรรครักษ์สันติ ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ 108 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 138,758 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 1 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 2 คน เพิ่มขึ้น 1 คน
พรรคมาตุภูมิ ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ 47 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 369,526 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 1 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 4 คน เพิ่มขึ้น 3 คน
สาม พรรคการเมืองขนาดเล็ก จะไม่ได้ ส.ส. เลย
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีกระแสของพรรคการเมืองขนาดเล็กที่นำเสนอนโยบายแตกต่างเป็น "พรรคการเมืองทางเลือก" และลงสนามเลือกตั้งโดยส่งผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งน้อยมาก หรือไม่ส่งเลย แต่ก็ยังได้รับคะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศมากพอให้ได้ที่นั่ง ส.ส. บ้าง แต่พรรคการเมืองลักษณะนี้จะมีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยมากในระบบการเลือกตั้งแบบ MMA ซึ่งต้องอาศัยคะแนนเสียงจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นหลัก พรรคการเมืองขนาดเล็กมักจะประสบปัญหาในการหาตัวผู้สมัครมาลงรับสมัครในระบบแบ่งเขตให้ได้ครบ 350 คน สำหรับ 350 เขต และต้องหางบประมาณในการประชาสัมพันธ์หาเสียงในระดับเขตแข่งขันกับผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ด้วย หากในเขตใดที่มีผู้สนับสนุนพร้อมจะออกเสียงให้แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กหาตัวแทนพรรคที่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครในเขตนั้นไม่ได้ก็ไม่มีโอกาสจะได้คะแนนจากเขตนั้นๆ เลย
ตัวอย่างเช่น พรรครักประเทศไทย นำโดยชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ในปี 2554 ไม่ได้ส่ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลย ส่งเฉพาะผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งแต่ได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อถึง 998,603 คะแนน และได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ 4 คน หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบ MMA แล้วจะไม่ได้ ส.ส. เลย 
ตารางเปรียบเทียบการคำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อตามระบบเดิม กับระบบ MMA ด้วยผลการเลือกตั้งปี 2554
ชื่อพรรคการเมือง คะแนนจากระบบแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งปี 2554 จำนวน ส.ส. ที่ส่งแบบแบ่งเขต ในปี2554 จำนวน ส.ส. ที่ได้จากระบบแบ่งเขต ในปี2554 จำนวน ส.ส. ที่ได้จากระบบบัญชีรายชื่อ ในปี 2554
จำนวน ส.ส. ที่จะได้จากระบบบัญชีรายชื่อ แบบMMA
ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น หรือลดลง
พรรคเพื่อไทย 14,125,219 375 204 61 18 -43
พรรคประชาธิปัตย์ 10,095,250 375 115 44 45 +1
พรรคภูมิใจไทย 3,485,153 189 29 5 26 +21
พรรคชาติไทยพัฒนา 1,515,320 153 15 4 9 +5
พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1,242,084 282 5 2 14 +12
พรรคพลังชล 246,879 11 6 1 0 -1
พรรครักษ์ประเทศไทย 0 0 0 4 0 -4
พรรครักษ์สันติ
 
138,758
108 0 1 2 +1
พรรคมาตุภูมิ 369,526 47 1 1 4 +3
ข้อดี ทุกคะแนนเสียงไม่เสียเปล่า 
การนับที่นั่ง ส.ส. ด้วยระบบ MMA มีข้อดี คือ ทำให้คะแนนเสียงของประชาชนในระบบแบ่งเขตไม่เสียเปล่าไป เพราะในระบบเดิมการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตใช้ระบบผู้ชนะได้ทุกอย่างไป หรือ Winner takes all หมายความว่า ผู้ที่ได้คะแนนในแต่ละเขตเป็นอันดับสองหรือสามอาจจะได้เสียงจากผู้สนับสนุนจำนวนมาก ในบางเขตเมื่อรวมกันแล้วอาจจะมากกว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเสียอีก แต่คะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกผู้สมัครลำดับอื่นๆ นอกจากลำดับแรกกลับไม่มีค่าถูกนำไปคำนวนใดๆ เพราะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตพิจารณาเพียงว่า ใครได้คะแนนสูงสุดคนนั้นก็ได้ที่นั่ง ส.ส. ในเขตนั้นไปเลย
แต่การนับที่นั่ง ส.ส. ด้วยระบบ MMA คะแนนของผู้สมัครลำดับอื่นๆ ยังมีความหมาย คือ จะนำไปใช้คำนวนเพื่อหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่ออีกขั้นตอนหนึ่ง ระบบเช่นนี้เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองขนาดกลางๆ ที่มีผู้สนับสนุนจำนวนไม่น้อยและสามารถส่งผู้สมัครลงสนามการเลือกตั้งได้หลายเขต ซึ่งระบบเดิมพรรคการเมืองเหล่านี้อาจจะต้องแพ้การเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่จริงๆ แล้วก็ได้รับคะแนนที่ประชาชนกากบาทให้จำนวนไม่น้อย ด้วยระบบ MMA พรรคการเมืองลักษณะนี้จะยังได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยจากระบบบัญชีรายชื่อ 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อธิบายข้อดีของ MMA ว่า ระบบนี้นอกจากจะไม่ทำให้คะแนนของประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ยังเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และจะทำให้ทุกพรรคคัดเลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะ แม้จะรู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่มีความหวังจะได้คะแนนเพื่อคำนวณในบัญชีรายชื่อ
ข้อเสีย พรรคใหญ่ไม่ได้ตั้งรัฐบาล ส่งเจ้าพ่อท้องถิ่นเข้มแข็ง 
ระบบการคำนวนที่นั่งแบบ MMA นั้น ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตจำนวนมากเสียเปรียบ หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ถึง 200 เขตขึ้นไป ก็มีโอกาสจะได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อน้อยมาก หรือไม่ได้เลย หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ทุกเขต คือ ได้ ส.ส.350 ที่นั่ง ก็แน่นอนว่าจะไม่ได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเลย และจะยังได้ที่นั่งไม่ครบ 376 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
พรรคการเมืองที่เสียประโยชน์มากที่สุดจากระบบ MMA ก็คือ พรรคเพื่อไทย เพราะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นพรรคเดียวที่การเลือกตั้งครั้งก่อนได้จำนวน ส.ส. มากในระดับที่จะได้รับผลเสียโดยตรงจากระบบนี้ ส่วนขนาดของพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งว่าจะได้หรือเสีย ดังนั้น คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า ระบบ MMA ถูกคิดค้นและนำมาใช้ในการเลือกตั้ง 2562 ก็เพื่อให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลได้โดยง่าย
ในทางตรงกันข้ามระบบเช่นนี้ จะทำให้คะแนนเสียงจากระบบแบ่งเขตมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะนอกจากจะใช้ตัดสินที่นั่ง ส.ส. จากระบบแบ่งเขตแล้วยังนำไปใช้คำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อด้วย ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางๆ ที่มีฐานเสียงเข้มแข็งในระดับพื้นที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เพิ่มมากขึ้น นักการเมืองระดับท้องถิ่นจึงกลายเป็นตัวผู้เล่นสำคัญในการเลือกตั้งระบบ MMA และเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครที่ทุกพรรคการเมืองต้องการ ปรากฏการณ์ "ดูด ส.ส." จากพื้นที่ต่างๆ จึงเกิดขึ้น และผู้มีอิทธิพลระดับ "เจ้าพ่อท้องถิ่น" เหล่านี้ก็กลายเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ต้องการได้
ระบบ MMA นำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ 
ระบบการคิดคะแนนแบบ MMA จะทำให้หลังการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่มาก และมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีอำนาจต่อรองในสภามากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนจาก ส.ส. ระบบแบ่งเขตพอสมควรก็จะยังได้รับที่นั่ง ส.ส. พอสมควรและโตขึ้นเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางๆ ทำให้สถานการณ์ในรัฐสภาประกอบไปด้วยพรรคการเมืองจำนวนมากที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน
เมื่อไม่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่พอจะมีจำนวน ส.ส. มากพอเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในปี 2562 จึงต้องเป็นรัฐบาลผสม ที่ประกอบด้วยพรรคขนาดกลางๆ นำโดย "เจ้าพ่อท้องถิ่น" เป็นเสียงหลักที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ หากแนวคิดทางการเมืองไม่ตรงกับพรรคร่วมรัฐบาล หรือแบ่งปันผลประโยชน์กันไม่ลงตัวทำให้พรรคขนาดกลาง "ย้ายข้าง" ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ง่าย
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คาดการณ์ว่า ผลการเลือกตั้งในปี 2562 จะได้พรรคการเมืองขนาดเล็กกระจัดกระจายที่อ่อนแอกว่าระบบก่อนหน้านี้ เราจะเห็นพรรคการเมืองสามประเภท คือ พรรคที่สนับสนุน คสช. พรรคที่ไม่สนับสนุน คสช. และพรรคที่พร้อมจะอยู่ทั้งสองข้าง โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่และได้เสียง ส.ส. หลักร้อยคนเป็นไปได้ยากมาก พรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส. 25-70 ที่นั่งจะมีอำนาจต่อรองสูงในการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองภายใต้ระบบแบบนี้จะอ่อนแอแน่นอนอยู่แล้ว ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็จะบริหารประเทศลำบากภายใต้การเมืองแบบหลายพรรค  
ปรากฏการณ์ของการเลือกตั้ง 2562 ที่เป็นผลจาก MMA
จากระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกทั้งคนทั้งพรรค หากเขตใดที่มีผู้สนับสนุนพร้อมจะลงคะแนนให้แต่พรรคการเมืองไม่ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งลงในเขตนั้น ก็จะไม่มีทางได้คะแนนจากผู้สนับสนุนในเขตนั้น ดังนั้น ระบบนี้จึงกดดันให้ทุกพรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครลงทุกเขต หรือส่งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงคาดหมายได้ว่า แต่ละเขตจะเกิดปรากฏการณ์การมีผู้สมัคร ส.ส. เยอะมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครไม่จำเป็นต้องหวังที่จะได้รับชัยชนะในระดับเขต ขอเพียงส่งผู้สมัครให้มากที่สุดเพื่อจะขอลุ้นได้คะแนนเพียงเล็กๆ น้อยๆ เอามารวมคิดคำนวนในระบบบัญชีรายชื่อด้วยเท่านั้น 
ขณะที่ระบบการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบใหม่ที่จะส่งผลต่อทุกพรรคการเมืองก็ทำให้พรรคการเมืองต้องปรับตัวเพื่อแก้เกมการเลือกตั้ง โดยพอจะเห็นปรากฏการณ์ ดังนี้
1. พรรคเพื่อไทย 
ในฐานะพรรคขนาดใหญ่ ที่เคยได้ ส.ส. จำนวนมากที่สุด หากยังหวังที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวนมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่สามารถแบกสถานะพรรคขนาดใหญ่พรรคเดียวไปลงสนามเลือกตั้งเช่นเดิมได้อีก ภายใต้ระบบ MMA หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตจำนวนมาก ก็จะมีผลให้พรรคได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อน้อยลง เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์การแยกตัวออกเป็นพรรคที่ขนาดเล็กลงหลายพรรค หรือที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ "แตกแบงค์พัน"
ระหว่างที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังยึดกุมพรรคเพื่อไทยนั่งตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักไทยเก่าที่พ้นโทษจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หลายคนได้กระจายตัวไปอยู่หลายพรรคการเมือง เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ย้ายไปอยู่กับ "พรรคไทยรักษาชาติ" ขณะที่ลูกชายเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตแกนนำของพรรคพลังประชาชน ก็ควงคู่กับจตุพร พรมพันธุ์ ประธาน นปช. มาปรากฏตัวที่ "พรรคเพื่อชาติ" ด้าน นลินี ทวีสิน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยก็ไปเป็นหัวหน้า "พรรคเพื่อธรรม" ซึ่งถูกมองว่า จะเป็นพรรคสำรองหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ ในฝั่งพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็รวมพลพรรคมาจัดตั้งพรรคประชาชาติขึ้นมาอีกเช่นกัน
ทั้งห้าพรรคการเมืองภายใต้บารมีของบุคลากรใน "เครือข่ายทักษิณ" ประกาศจุดยืนเพื่อประชาธิปไตยไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. เช่นเดียวกัน และเนื่องจากในระบบ MMA พรรคขนาดกลางที่กุมคะแนนระดับพื้นที่อย่างเหนียวแน่นจะได้ประโยชน์ ดังนั้น หากทั้งห้าพรรคแบ่งเขตพื้นที่ในการลงสมัครรับเลือกตั้งกันอย่างมีเอกภาพและทุกพรรคได้คะแนนจากระบบแบ่งเขตพอสมควร ก็ยังมีโอกาสที่เครือข่ายทั้งห้าพรรคจะรวมเสียงกันแล้วเป็นกลุ่มการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียงได้ แต่ก็ยังยากที่จะได้ครบ 376 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ
2. พรรคขนาดกลาง 
พรรคขนาดกลางๆ จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล ฯลฯ รอรับประโยชน์จากระบบ MMA อยู่แล้ว จึงมีหน้าที่เพียงแค่เกาะกุมฐานเสียงในพื้นที่ของตัวเองให้แน่นหนา ด้วยการพยายามดึงดูด ส.ส. ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นให้ลงสนามในนามพรรค และรอการ "เกลี่ย" จากสูตรคำนวนแบบ MMA ให้ได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อมากขึ้น ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่ทุกพรรคการเมืองจะเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคการเมืองเหล่านี้ก็จะมีอำนาจมากและมีโอกาสได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลสูง
ในระหว่างการเลือกตั้งพรรคการเมืองเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้องพยายามนำเสนอนโยบายในระดับประเทศเพื่อชักจูงใจประชาชนส่วนใหญ่ และไม่มีความจำเป็นต้องพยายามแข่งกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในทุกเขตเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคการเมืองขนาดกลางเหล่านี้จะไม่ต้องแถลงจุดยืนของตัวเองในประเด็นใหญ่ๆ เช่น จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อรอการเจรจาและเข้าเป็นรัฐบาลร่วมกับฝ่ายใดก็ได้
3. พรรคขนาดเล็ก 
เนื่องจากชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เพิ่งได้รับโทษจำคุกตามคำพิพกาษาถึงที่สุดและขาดคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรครักประเทศไทยจึงไม่ใช่ตัวเลือกในการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีนโยบายและจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ก็เกิดขึ้นใหม่มาเป็นตัวเลือกให้ประชาชนจำนวนมาก เช่น พรรคกลาง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเกียน พรรคพลังประชาชนปฏิรูป พรรคสามัญชน ฯลฯ ซึ่งพรรคเหล่านี้อาจได้รับความนิยมอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีฐานเสียงที่เข้มแข็งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ 
ในสนามการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองขนาดเล็กจึงจะพบอุปสรรคอย่างมาก เพราะพรรคที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ไม่มี ส.ส. หน้าเก่าที่จะยึดเกาะพื้นที่เพื่อชิงที่นั่งจากระบบแบ่งเขต แต่หากจะลุ้นได้รับจัดสรร ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อบ้าง ก็มีภาระที่ต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตให้ได้จำนวนมากที่สุด ซึ่งพรรคขนาดเล็กย่อมมีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรและเงินทุน ดังนั้น ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบ MMA นั้น คนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์จึงเข้าสู่ระบบการเมืองได้ยาก และยากที่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีนโยบายโดดเด่นในระดับประเทศจะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
4. พรรคของ คสช.
พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดยทีมรัฐมนตรีสี่คนจากรัฐบาล คสช. เป็นพรรคการเมืองที่ชัดเจนที่สุดที่จะทำหน้าที่สืบทอดอำนาจของ คสช. หากต้องการจะพา คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลต่อเนื่องภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ก็มีเสียงจาก ส.ว. 250 คนอยู่ในมือแล้ว ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจึงต้องลงสนามเลือกตั้งโดยต้องหาที่นั่ง ส.ส. มาสนับสนุนอีก 126 เสียงเท่านั้น 
พรรคพลังประชารัฐเริ่มต้นด้วยฐานเสียงจาก "กลุ่มสามมิตร" สมศักดิ์ เทพสุทิน, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งรายแรกเป็นนักการเมืองหน้าเก่าที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นอยู่แล้วในจังหวัดสุโขทัย พรรคพลังประชารัฐจึงพอมีฐานตั้งต้นเป็นพรรคขนาดกลางที่หวังจะได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตจำนวนหนึ่งและรอได้ผลประโยชน์จากระบบ MMA เพื่อจะได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่ออีกจำนวนหนึ่ง หลังจากตั้งขึ้นพรรคพลังประชาชนรัฐก็ยัง "ดูด" อดีต ส.ส. ที่มีฐานเสียงในพื้นที่จากพรรคอื่นๆ อีกหลายคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ทำให้พรรคพลังประชารัฐกำลังจะกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางที่มีฐานเสียงแน่นหนากระจายอยู่ทั่วประเทศ หรืออาจจะเป็นพรรคขนาดกลางที่มีฐานเสียงกว้างขวางที่สุดก็ได้
พรรคพลังประชารัฐจะได้รับประโยชน์เต็มๆ จากระบบ MMA และก็มีความพร้อมที่จะฉวยประโยชน์จากระบบนี้อยู่แล้ว ส.ส. ที่ลงแข่งขันในระบบแบ่งเขตของพรรคพลังประชารัฐไม่จำเป็นต้องชนะการเลือกตั้งในทุกเขตก็ได้ เพียงแค่ทำหน้าที่หาคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด เพราะ "ทุกคะแนนเสียงจะไม่เสียเปล่า" จะเอาไปคิดคำนวนเป็นจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อให้พรรคได้อีก ภายใต้ระบบเช่นนี้หากพรรคพลังประชารัฐต้องการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอนโยบายที่ชนะใจคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพียงแค่ทุ่มเทกำลังเพื่อชนะการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตในบางเขต และได้รับจัดสรรที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อ รวมแล้วให้ได้ ส.ส. หลัก 40-50 ที่นั่ง แล้วชวนพรรคขนาดกลางอื่นๆ เข้าร่วมให้ได้เสียงครบ 126 เสียงก็สามารถพา คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลได้

พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2554 ส่งผู้สมัครได้ครบ 375 เขต ได้คะแนนจากระบบแบ่งเขต 10,095,250 คะแนน ระบบเดิมได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 44 คน เมื่อคำนวนสูตร MMA จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 45 คน เพิ่มขึ้น 1 คน